20141108

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางสาธารณสุขครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ในกลุ่มประเทศแถบแอฟฟริกาตะวันตก ซึ่งยังไม่สามารถหาวิธีควบคุมได้ และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดไปยังส่วนอื่นของโลกรวมถึงทวีปเอเชียและประเทศไทยได้เช่นกันนะคะ

บุคคลที่ทำงานหนักที่สุดเพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นทีมแพทย์และพยาบาลจากทั่วโลก รวมถึงอาสาสมัครทางการแพทย์อีกหลายพันคน ที่ยอมอุทิศตนเข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยหวังว่าจะบรรเทาเหตุการณ์ให้ดีขึ้นได้ ทั้งที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของตนเองมากก็ตาม

Ella Watson-Stryker อาสาสมัครสาธารณสุขสาวชาวอเมริกัน จากเมืองนิวยอร์ค วัย 34 ปี ก็เป็นอีกคนที่เข้าไปทำงานกับองค์กร Médecins sans Frontières’ (MSF) ในเมืองมอนโรเวีย ประเทศไลบีเรีย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอีโบลา และมันไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอไป แต่มันคือครั้งที่สามแล้วนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กร MSF โทรมาถามว่า เธอสนใจไปทำงานอาสาสมัครที่กีนีหรือไม่ นาทีนั้นเธอนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Outbreak และพยายามจินตนาการว่าต้องเตรียมตัวรับมือหรือหาความรู้เรื่องอีโบล่าอย่างไรให้เร็วที่สุด ก่อนจะตกลงรับปากไปร่วมเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ทันที

เอลลาคิดว่า อีโบลานั้นได้สร้างความหวาดกลัวและคุกคามชีวิตผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเริ่มหวาดกลัว พวกเขาก็จะใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ดังนั้นพวกเขาต้องให้ข้อมูลและทำให้ญาติผู้ป่วยเข้าใจว่า การที่อาสาสมัครนำคนป่วยไปรักษาในพื้นที่ควบคุม เป็นวิธีที่ถูกต้องและดีที่สุด

หน้าที่ของเอลลาในฐานะอาสาสมัคร คือ การพูดคุยและเจรจาทำความเข้าใจกับคนในชุมชน (ควบคู่กับการทำงานทางการแพทย์) เพื่อสร้างให้เกิด “พื้นที่ที่มีความเป็นมนุษยธรรม” อันจะทำให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ในเมืองมอนโรเวีย มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกว่า 20 คน ที่ทำงานกระจายตัวในพื้นที่ ตั้งแต่ 7.30 น.ทุกวัน ก่อนจะกลับมารวมตัวประชุมกันสั้นๆตอนสองทุ่ม เพื่อสรุปรายงานสถานการณ์ในแต่ละวัน นอกจากการต่อสู้กับการติดเชื้อของตัวเองแล้ว อาสาสมัครเหล่านีั้จึงยังเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิด ความเกรี้ยวกราด การถูกทำร้าย การโจมตีและใส่ความจากชุมชนอีกด้วย

หลายคนสงสัยว่า ทำไมเธอจึงกลับมาที่แอฟริกาเป็นครั้งที่สาม ทั้งๆที่งานนี้ทั้งยากและอันตราย เอลลาบอกว่า เธอเคยเห็นเด็กที่นอนตายอย่างเดียวดายในกล่องใบหนึ่ง และคนแก่ที่เคยรอดตายจากสงคราม แต่ต้องนั่งมองชุมชนของตนเองถูกกลืนกินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโดยไม่สามารถทำอะไรได้ เธอจึงต้องกลับมาเพื่อช่วย “ผู้ป่วยที่ยังรอดชีวิต” เพราะถ้าพวกเขายังอดทนสู้ต่อ เธอก็ยังยืนยันที่จะกลับมาสู้ไปด้วยกันอีกครั้งค่ะ…

ขอบคุณบทความดีๆจาก http://www.theguardian.com/…/ebola-volunteer-liberia-why-re…