20150528-1-0

บทบาทอาสาสมัครในภัยพิบัติ (ระดับที่ 4)

**อาสาสมัครกับงานฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ (Recovery Stage)กรณีศึกษางานฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยองค์กร “JOCA (The Japan Overseas Cooperative Association)” ในเมืองโทโฮกุประเทศญี่ปุ่น

“JOCA” คือองค์กรที่ก่อตั้งโดยอาสาสมัครของ Japan Overseas Cooperative เกิดขึ้นในปี 1983 มีพันธกิจในการใช้ทักษะความสามารถเข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านต่างๆ

ในช่วงเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น ในปี 2011 JOCA ส่งอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติเพื่อลงไปสำรวจความต้องการของชุมชน หลังจากนั้น จึงมีแผนงานด้านการฟื้นฟู โดยมีโครงการการทำงานอาสาสมัครในระยะยาว

JOCA มีระบบในการลงทะเบียนอาสาสมัคร ที่จะรับอาสาสมัครที่มีประสบการณ์จาก Japan Overseas Cooperation Volunteer มาช่วยในงานภัยพิบัติ สามารถระดมอาสาสมัครจำนวน 306 คนไปช่วยที่ Tohoku และมีอาสาสมัครที่ลงทะเบียนกับองค์กรกว่า 1,000 คน

งานอาสาสมัคร ด้านการฟื้นฟู ของ JOCA มีหลายรูปแบบ เช่น

-อาสาสมัครทำความสะอาดพื้นที่ประสบภัย รวมถึงมีการจัดทำแผนก lost and found ที่ช่วยในการนำของที่สูญหายคืนกลับสู่เจ้าของ

– อาสาสมัครที่ไปคอยพูดคุย ดูแล รับฟังปัญหาของผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือที่พักพิงชั่วคราวที่อาจมีภาวะโดดเดี่ยว หรืออาจประสบปัญหากับการปรับตัวในสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ และอาสาสมัครที่จะคอยช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจให้ผู้ประสบภัยลุกขึ้นมาฟื้นฟูบ้านและชุมชนของตนอีกครั้ง

– อาสาสมัครสร้างพื้นที่ในชุมชน จัดกิจกรรมเพื่อให้คนในชุมชนได้ผ่อนคลายหรือมีกิจกรรมร่วมกัน เช่นการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือมีการจัดกลุ่มให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา

– อาสาสมัครที่ช่วยทางด้านสุขภาพ เช่น อาสาสมัครที่คอยไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยตามบ้าน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต หรือช่วยประสานงานในการส่งต่อทางการแพทย์ รวมถึงการให้ความรู้ ให้คำแนะนำในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ

– อาสาสมัครที่ไปช่วยในโรงเรียน เช่นการช่วยสอน การช่วยจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน รวมถึงช่วยงานอื่นๆของโรงเรียน

– อาสาสมัครจัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชุมชน อาสาสมัครสามารถช่วยระดม คัดแยกหนังสือ และช่วยสร้างห้องสมุด รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมให้คนมาใช้ห้องสมุด เป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงผู้คนในชุมชน

– อาสาสมัครช่วยสอนการบ้านให้กับเด็กมัธยม ซึ่งไม่สามารถไปโรงเรียนได้ รวมถึงเป็นการช่วยแนะแนว ชวนให้เด็กๆมองออกไปถึงสิ่งรอบๆตัว เรียนรู้สังคม เรียนรู้โลก

จะเห็นว่างานอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูนั้น สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานฟื้นฟูเชิงโครงสร้างอาคาร ที่พักอาศัยและงานฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า องค์อาสาสมัครมองเห็นปัญหาใดบ้างในพื้นที่และออกแบบให้งานอาสาสมัคร ครอบคลุมความต้องการของคนในพื้นที่ประสบภัยนั้นๆ นะคะ

จากการนำเสนอกรณีศึกษาบทบาทอาสาสมัครทั้ง 4 ระดับที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการทำงานอาสาสมัครในภาวะภัยพิบัติเป็นงานที่ต้องการความรู้และความชำนาญเฉพาะทางอย่างมากและต้องการอาสาสมัครที่มีจิตใจและร่างกายที่แข็งแรง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเข้าไปทำงานในพื้นที่

หากสังเกตให้ดี ภายหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในประเทศเนปาลที่ผ่านมานั้น องค์กรอาสาสมัครหลายแห่งก็ยังไม่ได้ประกาศรับอาสาสมัครเพื่อลงไปทำงานทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ค่ะ เนื่องจากในภาวะดังกล่าวมักจะมีความสับสนวุ่นวายของข้อมูลเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน ระบบการติดต่อสื่อสารและเส้นทางการเดินทางก็อาจจะถูกตัดขาด หรือแม้กระทั่งอาหารและยารักษาโรคที่มีอยู่ ก็ต้องนำไปให้ผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยในพื้นที่ก่อน หากอาสาสมัครที่ไม่มีความรู้หรือความชำนาญ พยายามจะลงไปในพื้นที่เพราะความตั้งใจดี ก็อาจจะไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากนัก และอาจจะกลายเป็นผู้ประสบภัยที่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสียเอง

เครือข่ายจิตอาสาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำเสนอข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยทำให้หลายๆ คนที่กำลังคิดอยากทำงานอาสาสมัครในภาวะภัยพิบัติ ตระหนักถึงประเด็นสำคัญต่างๆ และเตรียมพร้อมตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในแง่การป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และในแง่การสำรวจความพร้อมและทักษะของตนเองไว้แต่เนิ่นๆ หากอยากทำงานอาสาสมัครในภัยพิบัติเพื่อช่วยผู้อื่นในภายภาคหน้านะคะ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก http://www.joca.or.jp/…/activ…/disaster_recover_support.html