“จะมาทำงานช่วยสวนโมกข์เหรอ นู้น! กุฏิมีตั้งกี่หลัง ทำไม่ทันหรอก หลวงพี่ว่าไปทำสวนโมกข์ให้อยู่ในใจดีกว่า ในวัดมันก็แค่ในวัด หากพวกโยมไปทำใจให้เป็นสวนโมกข์ได้ โลกจะเย็นขึ้นเยอะเลย”

คำพูดของหลวงพี่สิงห์ทอง พระสงฆ์แห่งวัดธารน้ำไหลหรือสวนโมกขพลารามยังดังก้องอยู่ในใจฉัน อาสาสมัครตัวเล็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมอาสาไปพบธรรม ณ สวนโมกขพลาราม ในช่วงที่ผ่านมา

หลวงพี่ท่านพูดพลางเป็นไกด์กิติมศักดิ์ไปพลาง ด้วยการพาเดินไปสถานที่สำคัญๆในสวนโมกขพลารามเริ่มจาก“ลานหินโค้ง” ลานเอนกประสงค์ สถานที่สำหรับทำวัตรเช้า-เย็น ฟังธรรม ทำบุญ ฯลฯ ลานแห่งนี้แม้ชื่อจะว่าเป็น”หิน”แต่กลับเป็นลานทรายกว้างครึ่งวงกลมที่มี ระดับลดหลั่นลงไป

หลวงพี่สิงห์พูดต่อไปว่า ใครเป็นมิตรกับธรรมชาติได้จะโชคดี เหมือนลานแห่งนี้ที่เป็นลานทรายธรรมดา ไม่ใช่ลานกระเบื้องหรือหินอ่อนสวยๆที่เห็นบ่อยๆ ถ้าเป็นแบบนั้นเวลาไก่ หมาหรือแมวมาอึ มาฉี่ เรานั่งเป็นอย่างไร? เราก็ด่าพวกมันไม่มีดี นั่งฟังธรรมก็ไม่ได้ฟัง มัวแต่หงุดหงิดใจ แต่พอเป็นลานทรายจะอึ ฉี่มันก็กลับไปสู่ธรรมชาติ ฝนตกลงมาน้ำก็ไม่ขัง

ง่าย ประหยัด เป็นธรรมชาติ ปล่อยวาง และไม่ยึดติดในตัวตนเช่นนี้เอง คือ สิ่งที่ฉันเห็นในทุกท่วงท่ากิริยาของสวนโมกข์

ดังที่ท่านพุทธทาสเคยพูดถึงการสร้างสถานที่แห่งนี้ว่า “โบสถ์สวยงาม ราคาเป็นล้านฉันจะทำก็ทำได้ แต่จะทำให้คนยึดมั่นและยึดติดจนกลายเป็นกรงขังจิตไปในฝ่ายจะพัฒนาแต่วัตถุ เราจะทำในสิ่งที่เป็นทางแก้ไขกันก็แล้วกัน เราจะให้ความสว่างในความเข้าใจในธรรมะของพระพุทธเจ้าให้ถึงที่สุดแทนแล้ว กัน”

ไม่เพียงแค่ลานหินโค้ง แต่เราได้เห็นรายทางชีวิตของท่านพุทธทาสในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน กุฏิ ที่สรงน้ำ จนถึงที่เก็บศพของท่าน ซึ่งแสดงความเป็นครูทางจิตวิญญาณที่แท้ โต๊ะทำงานของท่านเป็นโต๊ะไม้ยาว วางไว้ท่ามกลางดงไม้ ห้องที่ท่านจำวัดเป็นเพียงห้องหับเล็กๆ ที่สรงน้ำก็เป็นเพียงโอ่งหนึ่งใบ ขัน และก๊อกน้ำ ส่วนที่เก็บศพของท่านนะหรือ ก็อยู่ห่างจากกุฏิที่ท่านนอนอาพาธเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น แต่ก็หาทำให้ท่านหวั่นใจหรือขวัญเสียกับสิ่งที่เรียกว่าความตายไม่

หลวงพี่สิงห์ทองบอกต่อไปว่าท่านพุทธทาสเป็นครูที่ไม่พูดพร่ำสอนมาก แต่จะทำให้เห็นว่าการทำงานด้วยจิตว่างเป็นอย่างไร การอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูงเป็นเช่นไร การกินอาหารจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังเสียงยุงร้องเพลงนั้นไม่ใช่แค่คำพูดคำเขียนที่ไร้ตัวอย่าง

นอกจากนี้เราได้เยือนสระนาฬิเกร์ สระน้ำเล็กๆที่เลื่องชื่อทางธรรม มันเป็นเพียงสระวงกลมล้อมรอบเกาะเล็กๆที่มีมะพร้าวสูงชะลูดขึ้นโด่อยู่ต้น เดียว สระแห่งนี้เป็นสถานที่แสดงธรรมะของตัวมันเองด้วยบทร้องเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ที่ว่า “เอ่อน้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย”

หลวงพี่บอกถึงนัยยะเปรียบเทียบของเพลงกล่อมเด็กกับสระแห่งนี้ว่าเปรียบ ต้นมะพร้าวดั่งพระนิพพานหรือความตื่นรู้ แม้จะถูกล้อมรอบไปด้วยทะเลขี้ผึ้ง(สระน้ำทรงกลม) คือกองทุกข์และกิเลสต่างๆ แม้ฝนจะตก ฟ้าจะร้องอย่างไร ก็ไม่สามารถกัดกร่อนความตื่นรู้นี้ได้เลย

สถานที่แห่งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการบันทึกและเผยแพร่ธรรมะจาก ตัวอักษร จากบทเพลงกล่อมเด็กที่ง่ายต่อการเลือนหาย กลายเป็นอนุสาวรีย์ทางธรรมที่ถูกสร้างอย่างง่าย แต่ชี้ชวนให้ตรึกตรองอย่างลึก

และราวกับทุกๆที่ในสวนโมกข์มีธรรมะ ตั้งแต่ลานหินโค้ง โบสถ์ธรรมชาติ สระนาฬิเกร์ ไปจนถึงต้นไม้ทุกต้นในวัดแห่งนี้…บางทีอาจเป็นเพราะต้นไม้เหล่านี้ล้วน เป็นธรรมะในตัวมันเอง อีกทั้งยังฟังธรรมจากท่านพุทธทาสบ่อยครั้งกว่าพวกเราเสียอีก

ผ่านการซึมซับผ่านสถานที่จริงที่ร่มรื่น สงบเย็น บวกกับการทำงานอาสาสมัครที่ได้ทำงานที่มีค่าในสวนโมกข์ ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความรื่นเริง สนุกสนานและความภาคภูมิใจมาให้แก่ผู้ทำ แต่ยังนำมาสู่สติที่เบิกบาน แถมด้วยเกร็ดธรรมะมากมายตามรายทางการทำงาน

คุณเมตตา พานิช หลานชายท่านพุทธทาส พูดกับเราในตอนท้ายกิจกรรมว่า ให้เรากลับไป ทำบ้านให้เป็นวัด ทำใจเป็นสวนโมกข์ ด้วยสิ่งที่ท่านพุทธทาสพร่ำบอกคนรุ่นต่อไปว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

คุณเมตตาอธิบายคำนี้ให้เห็นชัดขึ้นว่า มันคือการทำงานอย่างมีสติ ส่วนมากเรามักทำงานเพื่อให้มันเสร็จๆไป บางทีก็ทำหลายอย่างในเวลาเดียว ฟังไปด้วย พูดไปด้วย เขียนไปด้วย เดินไปด้วย มันสับสนอลหม่าน ตัวสตินี้สำคัญช่วยดึงปัญญา ดึงเหตุผล ทำให้ไม่ประมาท ไม่เผลอ หนุ่มๆ สาวๆเดี๋ยวนี้ชอบทำงานแบบเฮฮา ขอสนุกไว้ก่อน แต่การทำไปเล่นไป สุดท้ายแล้วก็เหนื่อย ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่ได้ทบทวน แต่ถ้าทำงานอย่างมีสมาธิ มันก็คือการปฏิบัติธรรม และเมื่อทุกๆอิริยาบถของเราคือการปฏิบัติธรรม เราก็จะค้นพบชีวิตใหม่

ได้ยินอย่างนั้นอาสาสมัครก็ยิ้มรับ เริ่มต้นทำงานอย่างมีความสุขอีกครั้ง เป็นการทำงานที่ ไม่มีตัวกูเพราะเราไม่ได้ต้องการตำแหน่งเลื่อนขั้นใดๆ เป็นการทำงานที่ไม่ใช่ของกูเพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งใด สิ่งดีๆที่ทำล้วนของสาธารณะและยังเป็นการทำงานที่มีสติอันนำไปสู่ความไม่ เร่งรีบ ความรู้ตัวและความสุขในการทำงาน

ความสุขอยู่ที่ความคิด จิตใจ และการกระทำของเรา อาสาสมัครไปพบธรรมอย่างฉันจะลองกลับบ้าน อาสาทำบ้านให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นสวนโมกข์