เขียน: ธิติมา

“รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา…” เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ความรัก” นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาสนา  แต่ขึ้นอยู่กับหัวใจของคนสองคนต่างหากว่ามั่น คงในรักเพียงใด

การให้และการอาสาสมัครก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากหากพิจารณาให้ชัดเจน จะพบว่าการให้มีพื้นฐานจากความรัก ซึ่งทุกศาสนาต่างก็สอนให้คนรักกันด้วยกันทั้งนั้น

. ในบรรยากาศที่เรื่อง “ศาสนา” กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เราจึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอน ที่ว่าด้วยการให้และอาสาสมัครของศาสนาต่างๆ นอกจากจะ     ทำให้เราเห็นมุมมองที่จากเพื่อนต่างศาสนาแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เรารู้จักคำสอนของศาสนาที่เรานับถืออย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วย

ฉลาดทำบุญ : บุญ ๑๐ วิธี ตามแนวทางพุทธศาสนา

ในศาสนาพุทธ มีหลักธรรมที่พูดถึงการให้ที่เรียกว่าบุญ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การทำบุญคือการให้เงินหรือสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว การทำบุญมีความหมายมากกว่านั้น

ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แปลว่าสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ คือ

๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ – ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น – ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)

ทั้งนี้ ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ  คือ การเห็นให้ถูกต้อง  หรือมีจิตเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง
อย่างไรก็ตาม สำหรับศาสนาพุทธคำสอนเรื่องการให้ ไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน

ซะกาต ทานกุศลของชาวมุสลิม

สำหรับ ศาสนาอิสลามนั้น มีลักษณะแตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ เนื่องจากได้บัญญัติครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของผู้นับถือทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย มุสลิมทุกคนไม่สามารถแยกอิสลามออกจากวิถีการดำเนินชีวิต ไม่สามารถเลือกปฏิบัติเฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่าง เฉพาะบางประการ ตามหลักศาสนาได้   การจ่ายทานบังคับ หรือ ซะกาต ระบุให้มุสลิมทุกคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจตามศาสนาบัญญัติ คือ มีทรัพย์สินเหลือจากปัจจัยสี่ และถือครองทรัพย์สินที่สะสมไว้ครบรอบ ๑ ปีจันทรคติ หรือตามช่วงเวลาที่ศาสนากำหนด ต้องจ่าย ซะกาตตามอัตราที่กำหนดไว้

คำว่า ซะกาต แปลว่า การซักฟอก การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต วัตถุประสงค์ในการจ่ายก็เพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธาและเพื่อซักฟอก ทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ หมดจากความโลภ ตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งถือเป็นสิ่งสกปรกทางใจอย่างหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการกระจายทรัพย์สินให้กลุ่มคนที่ยากไร้ ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้กำหนดไว้

การจ่ายซะกาตถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดที่ต้องปฏิบัติควบคู่กับการละหมาด ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึง การละหมาดในคัมภีร์อัลกุรอาน ก็จะมีการกล่าวถึงการจ่ายซะกาตติดตามมาทันที โดยชาวมุสลิมจะ ถือว่าการทำละหมาด เป็นหลักปฏิบัติเพื่อพระเจ้า ส่วนซะกาตเป็นหลักปฏิบัติเพื่อมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศที่นับถือ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ เช่น ประเทศในอาหรับทั้งหลาย จะมีการเรียกเก็บซะกาต และนำไปเก็บรวมไว้ที่ใบตุลมาล หรือคลังของรัฐอิสลาม เมื่อเก็บรวบรวมซะกาตแล้ว นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับ ๘ ประเภท ซึ่งคัมภีร์อัล กุรอานกำหนดไว้ ได้แก่

๑ . คนอนาถาหรือยากจน ( ฟะกีร์) คือ ผู้ไม่มีทรัพย์สินและไม่มีผู้รับผิดชอบดูแล หรือแทบไม่มีรายได้ประจำ เช่น ต้องใช้จ่ายวันละ ๑๐ บาท แต่มีรายได้วันละ ๒- ๓ บาท

๒ . คนที่อัตคัดขัดสน ( มะซากีน) คือ ผู้มีทรัพย์สินหรือรายได้ประจำบ้าง แต่ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต กลุ่มนี้จะมีฐานะดีกว่ากลุ่มแรก

๓ . ผู้เข้ารับอิสลามใหม่ ( มูอัลลัพ) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กำลังใจ หรือเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่นให้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม

๔ . ผู้บริหารการจัดเก็บและจ่ายซะกาต ( อามิร์) คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอิสลาม

ประจำจังหวัดให้เก็บซะกาต เช่น โต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิหลัน และกรรมการมัสยิด ซึ่งมีหน้าที่บริหารเงิน ซะกาตฟิฏเราะห์ พวกเขาจะไม่ได้รับซะกาตโดยตรง แต่จะได้รับเงินตอบแทนในการมีส่วนร่วมในการบริหารเงินซะกาต

๕ . ทาสที่ได้รับอนุมัติจากนายให้นำเงินไปไถ่ถอน ( ฮัมบามูกาตับ) ซึ่งสมัยนี้ไม่มีแล้ว

๖. ผู้มีหนี้สินจากการใช้จ่ายในการกุศลไม่ใช่หนี้จากการพนัน ( บีร์ฮูตัน)

๗. ผู้พลัดถิ่น และไร้เงินกลับบ้านเกิด ( มูซาฟิร์) เพื่อจะได้เป็นค่าเดินทางและอาหารระหว่างการ เดินทางนั้น

๘ . ผู้ที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ หรือทำการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการอิสลาม ( ฟีซาบีลิลลาห์) เช่น ครูผู้สอนศาสนา เป็นต้น

การซะกาตควรเฉลี่ยให้คนหลายประเภท ไม่ควรให้คนเดียว ประเภทเดียว และต้องให้แก่คนที่จัดอยู่ในหลักเกณฑ์ข้างต้น มิฉะนั้นจะถือเป็นโมฆะ ส่วนผู้ที่ไม่มีสิทธิ์รับซะกาต คือ ผู้มีรายได้พอแก่การยังชีพ (ถ้ามีรายได้ไม่พอ เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่สมฐานะ หรือเล่นการพนัน ไม่มีสิทธิ์รับซะกาต) ผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดู ผู้ที่เป็นเครือญาติของตระกูลอาซิมและมุตตอลิบ ( เครือญาติของท่านนบี) ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หากบริจาคให้แก่บุคคลเหล่านี้ นับเป็นโมฆะเช่นกัน

สำหรับทรัพย์หรือสิ่งของที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต ได้แก่ ทองคำและเงิน ปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ พวกธัญญพืช เช่น ข้าวสาร ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว และผลไม้จำพวกอินทผลัมแห้ง องุ่นแห้ง ตลอดจนทรัพย์ที่ใช้ในการค้าหรือสินค้า

ศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงหน้าที่ในการจ่ายซะกาตของคนที่มี ทรัพย์สินเกินจำนวนที่ศาสนากำหนดไว้ในรอบปี โดยถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญ ๑ ใน ๕ ประการ นอกเหนือจากการปฏิญาณตนว่าจะยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว ละหมาด การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ ที่หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างสาสม ทำให้มุสลิมทุกคนถือเป็นหน้าที่ที่ต้องจ่ายซะกาต
คริสต์ : มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลักพื้นฐานสำคัญที่สุดที่คริสตชนยึดถือ คือ “ความรัก” คริสต์สอนให้มนุษย์รักพระเจ้า และรักมนุษย์ด้วยกัน การให้และงานอาสาสมัครจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างแยกกันไม่ได้
จุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตในคำสอนของศาสนาคริสต์ คือ การดำเนินชีวิตที่มีความรักความเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ กับพระเจ้า และมีชีวิตนิรันดรในอาณาจักรของพระเจ้า แต่การที่จะไปสู่จุดหมายนั้น มนุษย์จะต้องมีศรัทธาและปฏิบัติตามหลักคำสอนที่พระเจ้าทรงประกาศผ่านพระเยซู ให้มนุษย์สร้างความดี ละเว้นบาปหรือความชั่ว มนุษย์ก็จะรอดพ้นจากบาปและกลับไปมีชีวิตร่วมกับพระเจ้าดังเดิม
ชาวคริสต์เชื่อว่า การสร้างความดีตอบแทนแก่พระเจ้า และเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรตระหนักว่าเป็นหน้าที่ เพราะความดีนั้นเกี่ยวข้องกับความสุขที่มนุษย์ในสังคมปรารถนา มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติภาพ ดังนั้น การสร้างความดีของชาวคริสต์ เพื่อปฏิบัติตามคำสอนเรื่องการรักเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นไปในรูปแบบของการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ก่อให้เกิดความสุขแก่สังคม ส่วนรวม เช่น จัดตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และด้านสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

ตัวอย่างหลักธรรมในพระคัมภีร์ไบเบิล
“จงเห็นอกเห็นใจช่วยธรรมิกชนเมื่อเขาขัดสน จงมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรี”
( รม. 12 : 13 )
“จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี  จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้”
( รม. 12 : 15 )
“จงช่วยรับภาระของกันและกัน ท่านจึงจะได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์”
( กท. 6 : 2 )
“เราขอวิงวอนพวกท่านให้ตักเตือนคนที่เกียจคร้าน หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลัง คนที่อ่อนกำลัง และมีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง”        ( 1 ธส. 5 : 14 )

“จงระลึกถึงคนเหล่านั้นที่ถูกจองจำอยู่ เหมือนหนึ่งว่าท่านทั้งหลายก็ถูกจองจำ อยู่กับเขาด้วย”                                                      ( ฮบ. 13 : 3 )
“ในที่สุดนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน รักกันฉัน พี่น้อง มีจิตใจอ่อนโยน    และอ่อนน้อม”                        ( 1 ปต. 3 : 8 )

“แต่ถ้าผู้ใดมีทรัพย์สมบัติในโลกนี้ และเห็นพี่น้องของตนขัดสน แล้วยังใจจืดใจดำไม่สงเคราะห์เขา  ความรักของพระเจ้าจะดำรงอยู่ในผู้นั้น อย่างไรได้” ( 1 ยน. 3 : 17 )

แน่นอนว่า ศาสนาในโลกมีมากมาย สามศาสนานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างน้อยเราอาจจะสรุปได้ว่า แก่นแท้ของทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้มนุษย์รู้จักแบ่งปันและให้ความรักความเมตตา ต่อสรรพชีวิต ดังนั้น การให้หรือการทำงานอาสาสมัครที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นจึงถือเป็นการดำเนิน ชีวิตที่ปราศจากข้อจำกัดทางศาสนาอย่างแท้จริง

เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนมาจาก
อ.ศรีศักร วัลลิโภดมและ อ.วศิน สาเม๊าะ. ซะกาต … ปันสุขแด่ผู้ยากไร้
http://www.lek-prapai.org/sakat.htm

พระไพศาล วิสาโล และพระชาย วรธัมโม. ฉลาดทำบุญ โดยhttp://www.budnet.info/boonpage/Frameset-18.htm

สุริยัญ ชูช่วย. (๒๕๔๕). การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิต กรณีศึกษาทัศนะกลุ่มคนต่างวัยในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.