เขียน: jamjit

ละครเวที “อาสา” ตั้งคำถามทำดีท้าทายวัยโจ๋
เรื่องและภาพ : พรรัตน์ วชิราชัย

ห้องประชุมของวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม แน่นขนัดไปด้วยนักเรียนผู้สวมชุดลูกเสือเนตรนารี จากสว่างพลันมืดสนิท ฉากสีดำตัดกับพื้นขาวโดดเด่น แสงสปอตไลต์สาดมายังผู้พูด

“ก่อนจะชมละครวันนี้ ผมมีเรื่องอยากจะถามความเห็นคุณหลายข้อ คุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็คงไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากให้ตอบจากความรู้สึก จากใจมากที่สุด”

เอาล่ะ ต่อไปนี้คือคำถามที่เราจะเล่าเรื่อง และถามให้คุณตอบ… (อ่านต่อ)

คุณลุงคนหนึ่งเก็บขยะและปลาเน่าในคลองอย่างไม่รู้จักเหน็ดหน่าย ทุกวี่วัน มันเป็นเรื่องดี แล้วถ้าคุณเห็น คุณเลือกจะช่วย หรือ นิ่งดูดาย? (ในเมื่อเรานิ่งดูดายอยู่เสมอไม่ใช่หรือ)

นายแม้น ชายชาวบ้านคนหนึ่งที่ช่วยงานเศรษฐีอยู่เสมอ วันหนึ่งเมื่อเขาป่วยหนัก ขอความช่วยเหลือจากเศรษฐี เศรษฐีปฏิเสธโดยอ้างว่า “แรง” กับ “เงิน” เทียบกันไม่ได้

และเมื่อวันที่เศรษฐีตกอยู่ในฐานะลำบากบ้าง คุณเป็นนายแม้น คุณจะช่วยเศรษฐีไหม?
จากบทกวี “การบริจาค” หนังสือ ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน เขาเขียนไว้ว่า “เมื่อเธอบริจาคทรัพย์สมบัติของเธอ เธอให้แต่เพียงเล็กน้อย ต่อเมื่อเธออุทิศตนเองซิ นั่นเป็นการให้อย่างแท้จริง”, “บริจาคให้ดุจเดียวกับบุปผชาติอันส่งกลิ่นหอมตลบอยู่ในหุบเขาโน้น”

แล้วคุณเข้าใจว่า “การให้” คืออะไร?

ผ่านนิทานชาดก เรื่องของพญาวานรที่เสียสละชีวิตให้กับฝูง และเรื่องของ “ใหญ่” ที่ให้อภัย “เล็ก” บุคคลที่ฆ่าพ่อของเขา คุณคิดว่าการให้ อะไรที่ยากที่สุด ระหว่าง “ให้อภัย” กับ “ให้ชีวิต”?

งั้นกลับมาถามอะไรง่ายๆ แล้วกัน — ให้อะไรที่ง่ายที่สุด?
แล้วถ้าการให้มันง่ายขนาดนั้น… ทำไมคุณไม่เริ่มให้สักที?

นี่คือสิ่งที่ถาม ท้าทายให้ตอบ ในบางคำถาม ห้องทั้งห้องได้คำตอบที่ฮาครืน แต่บางคำถาม ความเงียบกลับเป็นคำตอบที่มีความหมาย เป็นคำถามที่ขุดลึกไปยังอัตตา ความคิด ความเชื่อ ของคนๆ หนึ่ง
นายวิชาชาญ สัมภักดี นักศึกษาปวช.1 พูดถึงความรู้สึกของตนกับการดูละครเรื่องนี้ว่า “ผมรู้สึกว่าดี ทำให้ผมได้เห็นสองด้านของมนุษย์ของทุกอย่าง อย่างเรื่องของนายแม้น มันมันตรง เลือกจะช่วยหรือไม่ช่วย ผลมันออกต่างกันลิบลับ”


อาจารย์ธนภัทร์ สังข์ทอง หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม บอกกับเราว่า “เป็นละครที่ดี สร้างสรรค์สังคม เป็นจุดเริ่มที่ดีให้เด็กได้มองเรื่องนี้ จริงๆ แล้วทางโรงเรียนเองก็ทำเหมือนกัน ประกาศทางวิทยุตลอด อย่าทิ้งขยะนะ อย่าเดินลัดสนามนะ ก็ไม่ทำ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ อาจจะเป็นเพราะวัยที่ไม่อยู่ในกฎ ผมคิดว่าละครน่าจะกระตุ้นเด็กให้ทำดีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะถ้าจะทำก็ทำเลย ไม่ต้องรอผลัดวันประกันพรุ่ง เห็นขยะก็เก็บขยะเลย ขยะของเรา ขยะของเพื่อนก็เหมือนกัน”

และนี่คือสองเสียงสะท้อนของผู้ชม

สำหรับคุณมัลลิกา ตั้งสงบ บ้านสื่อสารการละคร สถาบันอาศรมศิลป์ ผู้รับผิดชอบโครงการ “พัฒนารูปแบบละครเวทีแบบมีส่วนร่วม (Interactive Theatre) เพื่อส่งเสริมการทำความดีผ่านงานจิตอาสาในเยาวชน”
เธอบอกกับเราว่า ละครเวทีที่ได้ผ่านไปนี่ เป็นเพียงโครงการนำร่องของการหารูปแบบการสื่อสารเรื่อง “การทำความดี” ผ่านงานอาสาสมัครให้กับเด็กรุ่นใหม่

“โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้สื่อสารกับเด็กรุ่นนี้ได้ เขาฮีต (heat) เขาจริงใจ เขาชอบแบบไหน เขาแสดงออกมาตรงๆ ตอนนี้ สื่อทุกประเภทพยายามแย่งความสนใจจากเขา

“เรา ในฐานะสื่อละครเวทีจะคุยกับเขาอย่างไร วิธีการบอกให้ไปทำดี อย่างแม่บอกลูกไปทำสิ มันก็ทำได้ แต่ก็อือ ทำให้มันเสร็จๆ

“มันไม่ได้มาจากเขาเอง ละครของเราจึงเป็นละครเวทีแบบมีส่วนร่วม ให้เขาโต้ตอบกับเรา ตั้งคำถาม ตอบ ขอความร่วมมือ มันกระตุ้นให้เขาคิดว่าเขาจะตอบอย่างไร เขาคิดอย่างไร”

เธอเล่าต่อไปว่า กว่าจะมาเป็นละครอาสาเรื่องนี้ ได้ต้องผ่านการฝึกซ้อมเป็นเวลา 2 เดือนกับกลุ่มน้องๆ จากบ้านกาญจนาภิเษก เวทีนำร่องเวทีแรกคือ เวทีบ้านกาญจนาภิเษก เวทีที่สองคือ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม และเวทีสุดท้ายคือเวทีโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งแสดงไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นักแสดงหลักของละคร 7 คนมาจากสถานพินิจ บ้านกาญจนาภิเษก มัลลิกาบอกกับเราว่าที่เลือกชวนน้องๆ จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษกมาเป็นนักแสดงก็เพราะเห็นว่าน้องๆ มีความสามารถ มีความน่าสนใจ

อีกทั้ง พวกเขายังเป็นกลุ่มเยาวชนบ้านที่เคยผ่านงานอาสาสมัครอย่างอาสาสมัครสึนามิมา แล้ว จึงได้ติดต่อคุณ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก ประกาศรับสมัครนักแสดงละครอาสา แเด็กทโมน 7 ชีวิตจากบ้านกาญจนาภิเษกจึงได้ร่วมหัวจมท้ายกับละครเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่ม ซ้อม คิดบท เนื้อหา ท่าทางการแสดง

“น้องๆ สนุกมาก อืด ไม่ท้อ เห็นบทพูดยาวๆ แบบนี้ จำได้เร็วกว่าพี่ๆ อีก” มัลลิกาเล่าปนหัวเราะร่วน
น้องบอล นายธวัช กล่อมกระมล เยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก บอกเล่าความรู้สึกของการได้เล่นละครเรื่องนี้ว่า “ผมเป็นคนไม่ค่อยพูด ชอบอยู่เงียบๆ อ่านหนังสือ พอมีละครเข้ามา ผมสนใจก็ลองสมัคร ได้เล่น รู้สึกมีความสุข ทำให้คนหัวเราะยิ้มได้ ทำให้เขาได้คิด ผมรู้สึกภูมิใจ รู้สึกดีที่ได้ทำครับ” บอลพูดด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ

สำหรับน้องกอล์ฟ นายโลกณ พูลขิง เขาบอกกับเราว่าการเล่นละครเหมือนกระจกสะท้อนตัวเขาเอง “เดิมผมเป็นคนไม่สนใจใครเท่าไหร่ พอได้มาแสดง ซ้อม ช่วยคิดบท ก็ได้เห็นบางสิ่งที่เราไม่มองมาก่อน ได้ย้อนกลับมาถามตัวเองกับสิ่งที่เราเล่น กับบทที่เราพูด ผมรู้สึกได้ว่าใจเราดีขึ้นมาก

“นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ ก็ดีมาก จากที่บ้านกาญจนาฯ เราเคยเห็นหน้าแต่ไม่เคยคุยกัน ตอนนี้ เป็นเพื่อนที่ช่วยกันและกัน สนิทกัน สนุกครับ”

พวกเขาโฆษณาละครเรื่องนี้ต่อด้วยเสียงแจ่มใสว่า

“ละครเรื่องนี้จูนติด เข้าใจง่าย ผมคิดว่าถ้าคนดูซัก 100 คน ได้กลับไปคิดซัก กลับไปทำซัก 5 คน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ”

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการติดต่อเชิญ กลุ่มละคร “อาสา” แสดงเพื่อกระตุ้นต่อมความดีติดต่อได้ที่ คุณมัลลิกา ตั้งสงบ : 081-710-3417