เขียน: manageronline
ุทุก ๆ เช้า คุณหมอสร้อยสอางค์ พิกุลสด รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะมีหน้าที่สำคัญคือการตรวจสอบจำนวนเลือดของผู้บริจาคในแต่ละวันว่าได้ตรงตามเป้าหรือไม่ ยิ่งในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคมอย่างนี้ คนที่มาบริจาคโลหิตดูเหมือนจะหายหน้าหายตากันไปหมด ขณะที่คนเจ็บป่วยต้องการเลือดเพิ่มขึ้นทุกวัน ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งเราจะอยู่ในสภาพวิกฤตที่ขาดเลือดไปช่วยชีวิตคนป่วย

บริหาร “เลือด” ยากกว่าบริหารเงิน

“เราต้องหาเลือดให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,500 ถุง คือเป้าหมายสูงสุด แต่บางวันก็ได้ 1,700 ถุง ขณะที่บางวันได้เพียง 1,100 ถุง บางช่วงยิ่งแย่ใหญ่ได้แค่วันละ 800 ถุงยังเคยมีเลย” คุณหมอสร้อยสอางค์กล่าว

ทั้งนี้เพราะเลือดนั้นจะมีอายุอยู่นานเพียง 35 วันเท่านั้นก็จะเสื่อมสภาพไม่สามารถนำไปให้คนป่วยได้ แต่การมีเลือดเก็บไว้จำนวนมากเกินความต้องการจนเลือดเสื่อมสภาพก็จะกลายเป็นเสียของ ดังนั้น ตัวเลขดีมานต์หรือความต้องการ และซัพพลายหรือการบริจาคเลือดนั้น ควรจะอยู่ใกล้เคียงกัน จึงถือว่าเป็นการบริหารเลือดที่ไม่มีความเสี่ยงมากนัก

ยิ่งในตอนนี้ทางศูนย์บริการฯจะต้องส่งเลือดไปยังโรงพยาลที่ตั้งอยู่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย มีการยิงกันบาดเจ็บทุกวัน

“เราส่งเลือดไปเสริมให้ทางใต้วันเว้นวัน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ คนก็ไม่อยากออกจากบ้านมาบริจาคเลือด เลือดจึงไม่พอ แล้วคนมุสลิมทางภาคใต้เขาเชื่อกันว่าเลือดนั้นรับได้แต่ให้ไม่ได้” รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ฯกล่าว

ขณะที่ความต้องการเลือดทั่วประเทศโดยปกติปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านถุง (ถุงละ 450 ซีซีต่อผู้บริจาค 1 คน) แต่ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ความต้องการเลือดก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ถึง ทางศูนย์บริการฯ ซึ่งรับผิดชอบก็ต้องพยายามบริหารคลังเก็บเลือดให้มีเลือดหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

ทุกปีคนกรุงเทพฯ จำนวน 300,000 คนจะสมัครใจเดินถลกแขนเสื้อมาที่ศูนย์บริการฯเพื่อบริจาคเลือด ขณะที่ความต้องเลือดมีถึงปีละ 460,000 ถุง ในจำนวนนี้มีเพียง 60 % ที่มาบริจาคปีละครั้งเท่านั้น ส่วนอีก 10 % บริจาคทุกๆ 3 เดือน และมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เคยบริจาคเลือดเลยในชีวิต

ดังนั้น วิกฤตการขาดเลือดจึงเกิดขึ้นทุกปี เพราะมีคนป่วยอยู่ทุกวัน แต่คนมาบริจาคเลือดกลับมีไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วง Low Season ในแต่ละปีคือช่วงครึ่งเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมและวันหยุดยาว หลายคนจึงแห่กันไปเที่ยวหมดทำให้มีคนมาบริจาคน้อยมาก ขณะที่ช่วง High Season ของทุกปีเช่นวันเฉลิมพระชนมพรรษของในหลวงและพระราชินี ซึ่งหลายคนถือเป็นวาระสำคัญที่จะแห่กันมาบริจาคเลือด ก็ทำให้เลือดเหลือล้นเช่นกัน ซึ่งทางศูนย์บริการฯ ก็พยายามจะใช้กลยุทธต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้มีผู้บริจาคเลือดเพิ่มขึ้น

“เราอยากให้คนที่เคยบริจาคปีละ 1 ครั้งนั้น พยายามหาวาระพิเศษมาบริจาคเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง อาจจะเลือกวันเกิดของตัวเองหรือวันเกิดของคนที่เรารักอีกสักวันก็ได้ นอกจากนี้ทางศูนย์บริการฯ ยังทำโครงการรณรงค์ทำดีถวายในหลวงด้วยการบริจาคโลหิตเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง”

ธีระ วิทยาวิวัฒน์ หัวหน้าหน่วยจ่ายโลหิต สภากาชาดไทย กล่าวว่าตลอด 3 ปีที่มาดูแลห้องเก็บและจ่ายเลือดนั้น ยังไม่เคยเจอวิกฤตขาดเลือดมาก่อน ทั้งนี้เพราะทางศูนย์บริการฯ มีกฏให้กันเลือด 10 % ของที่ได้รับในแต่ละวันให้ไว้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ถ้าวันไหนไม่มีเหตุฉุกเฉินก็จะนำเลือดจำนวนนั้นกลับมาหมุนเวียนใช้ ขณะที่นำเลือดใหม่ไปเก็บต่อ แต่เขาก็ยอมรับว่าปริมาณเลือดในแต่ละวันที่ส่งเข้ามานั้นไม่สม่ำเสมอจึงทำให้การบริหารแจกจ่ายเลือดเป็นไปอย่างยากลำบาก

ถามหา “ขาประจำ”

ยุคก่อนที่สภากาชาดไทย ยังไม่ได้ตั้งศูนย์บริการโลหิตนั้น ถ้าผู้ป่วยคนใดต้องการเลือดขึ้นมาจะมีการไปซื้อเลือดจากนักโทษ สนนราคาขวดละ 50 บาท แม้กระทั่งมีการตั้งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติขึ้นมาเมื่อปี 2595 นั้น ก็ยังมีการซื้อขายเลือดอยู่ เพราะมีผู้เดินเข้ามาบริจาคโลหิตเพียงวันละไม่เกิน 50 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการตามโงพยาบาลต่างๆ ดังนั้น ศูนย์บริการฯ จึงต้องซื้อโลหิตจากนักโทษในบางส่วน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราชที่ต้องซื้อเลือดจากนักโทษลหุโทษของเรือนจำคลองเปรม

“แต่ก็มีคนป่วยบางคนที่มีฐานะทางการเงิน หรือรังเกียจเลือดจากนักโทษ ก็จะขอให้ทางโรงพยาบาลไปซื้อจากแหล่งอื่นๆ”

แม้ทุกวันนี้จะมีการบริจาคเลือดกันมากขึ้น แต่ก็มีการยืนยันว่าในบางแห่งก็ยังมีการซื้อขายเลือดกันอยู่ เนื่องจากเลือดที่บริจาคนั้นมีไม่เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน แม้ว่านโยบายของกาชาดโลกจะห้ามมิให้มีการซื้อขายเลือดก็ตาม แต่ก็ห้ามไม่ได้ทุกประเทศ แม้ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการซื้อขายกันอยู่

ปัจจุบันแหล่งที่เป็น “ขาประจำ” ของศูนย์บริการฯนั้น กลายเป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และกลุ่มหาเช้ากินค่ำแบบแท็กซี สามล้อ

“เด็กนักเรียนและนักศึกษาเป็นกำลังหลักในการหาเลือดของเรา ทุกวันเราจะมีทีมเจ้าหน้าที่ออกไปรับบริจาคเลือดนอกสถานที่ประมาณ 7 ทีม ซึ่งทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ส่วนหนึ่งก็จะไปตามสถานศึกษา” คุณหมอสร้อยสอางค์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีองค์กรรัฐและเอกชนอีกหลายแห่งที่เป็นขาประจำในการบริจาคโลหิต อาทิ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารไทยพานิชย์ บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ เป็นต้น

“สึนามิ” เลือดล้น

เมื่อตอนที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิทางภาคใต้นั้นเมื่อปลายปี 2547 ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ประกาศทางวิทยุเพื่อขอรับบริจาคเลือดช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากคลื่นยักษ์ ปรากฏว่ามีประชาชนที่ห่วงใยฟังข่าวทางวิทยุ พอรับทราบเรื่องนี้ ต่างก็พร้อมใจกันมาบริจาคเลือดที่ศูนย์บริการฯเป็นจำนวนมืดฟ้ามัวดินทีเดียว

“ประชาชนที่เดินทางมาบริจาคเลือดในวันนั้นมากันตั้งแต่เช้ามืด บางคนขับรถเก๋งมา บางคนนั่งแท็กซี่มา บางคนนั่งรถเมล์มา เรียกได้ว่ามีคนทุกระดับชั้นมามาหาเรา แถวนี่ยาวออกไปนอกถนน เราต้องระดมเจ้าหน้าที่มาช่วยทั้งหมด รับบริจาคตั้งแต่เช้ามืดไปจน 2 ทุ่ม เรียกว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีแรงจะเจาะเข็มกันเลย” คุณหมอสร้อยสอางค์กล่าว

ทั้งๆ ที่ในคราวนั้นมีความต้องการเลือดเพียง 100 – 200 ยูนิตเท่านั้น เพราะมีผู้รอดตายไม่มาก แต่ด้วยพลังมหาชนที่ห่วงใยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ศูนย์บริการฯ สามารถเก็บเลือดมากได้มากถึง 2 – 3 หมื่นยูนิต ซึ่งเกินกว่าความต้องการมาก จึงต้องนำเลือดที่เกินไปแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ
ชมรมผู้บริจาค 100 ครั้ง

ตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยเมื่อปี 2495 นั้น ก็เริ่มมีผู้มีจิตศรัทธากลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ขาประจำ” มาบริจาคโลหิตอยู่เรื่อยๆ จนถึงปี 2535 จึงมีผู้บริจาคบางคนที่ให้เลือกมาครบ 100 ครั้ง

“ทางเราเห็นว่าผู้ที่บริจาคโลหิตครบ 100 ครั้งแต่ละคนนั้นก็มีจิตมุ่งหมายที่จะทำบุญ จึงเริ่มมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมฯ ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่คิดจะบริจาคโลหิตแบบสม่ำเสมอติดต่อกัน” น.พ.ฉันทกรณ์ ชุติดำรง ประธานชมรมผู้บริจาคโลหิต 100 ครั้ง ได้กล่าวถึงที่มาของชมรมแห่งนี้

ตอนเริ่มต้นตั้งชมรมแห่งนี้มีผู้บริจาคโลหิตครบ 100 ครั้งเข้าเป็นสมาชิกประมาณ 1,000 กว่าคน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 3,800 คน อาชีพตั้งแต่ชาวไร่ชาวนา คนขับแท็กซี่ คนขับสามล้อ กรรมการ คนขนเข็นของตามตลาด

ตามปกติแล้วคนเราสามารถบริจาคโลหิตได้ปีละ 4 ครั้งหรือ 3 เดือนบริจาคได้ 1 ครั้ง ดังนั้นผู้ที่บริจาคโลหิตได้ครบ 100 ครั้งนั้นจะต้องบริจาคต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอมาถึง 25 ปี หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของชีวิตทีเดียว

“คนที่บริจาคโลหิตเกิน 30 ครั้งแล้ว จะกลายเป็นความรู้สึกว่าการบริจาคโลหิตนั้นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเสียแล้ว” น.พ.ฉันทกรณ์กล่าว

ยกตัวอย่างของประธานชมรมท่านนี้ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 70 กว่าปีแล้ว และถือว่าเป็นขาประจำที่ให้เลือดสม่ำเสมอมากถึง 140 ครั้ง โดย น.พ.ฉันทกรณ์เริ่มมีประสบการณ์บริจาคเลือดตั้งแต่ยังป็นนักเรียนแพทย์

“ผมบริจาคครั้งแรกตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ปี 3 ที่โรงพยาบาลศิริราช ( ปี2503 ) ตอนนั้นเป็นช่วง 5 โมงเย็น ก็มีประกาศว่ามีคนไข้เสียเลือดมากต้องทำการผ่าตัดด่วน นักเรียนแพทย์ผู้ใดที่ประสงค์จะบริจาคโลหิตก็ให้มาที่ห้องธนาคารเลือด เมื่อผมได้ยินเช่นนั้นก็คิดว่าเราก็แข็งแรงดี ก็เกิดใจกุศลขึ้นมาเอง เมื่อไปให้ครั้งแรกแล้วก็ให้ติดต่อกันมาเรื่อยๆ”

ต่อจากนั้นชีวิตของหมอผ่าตัดเช่น น.พ.ฉันทกรณ์ก็ผูกพันกับการช่วยชีวิตของผู้ป่วยทั้งการใช้ความสามารถทำการแพทย์และการบริจาคโลหิตให้กับคนไข้ ซึ่งท่านได้เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังว่า

“เมื่อปี 2508 ตอนนั้นผมเป็นหมอผ่าตัดอยู่ที่นครพนม บังเอิญมีคนไข้ที่เสียเลือดและต้องให้เลือดทันทีซึ่งเป็นเลือดกรุ๊ปโอเหมือนผม ที่แรกก็พยายามขอจากญาติพี่น้อง แต่พวกเขากลับกลัว ผมก็เลยเจาะบริจาคเดี๋ยวนั้นเลยเพื่อเป็นตัวอย่างให้พวกเขารู้ว่าการบริจาคเลือดไม่ใช่เรื่องอันตราย พอให้เลือดเสร็จแล้วผมยังต้องไปทำการผ่าตัดให้คนไข้รายนี้ด้วย หลังจากรักษาแล้วคนไข้ก็หายวันหายคืนกลับบ้านได้”

บุคคลเหล่านี้นับได้ว่าเป็นคนเสียสละและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจบริสุทธิ์จริงๆ เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนสิ่งใดเลย นอกจากเหรียญเชิดชูเกียรติที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นเกียรติอันใหญ่หลวงสำหรับคนที่ไม่มีความรู้เหล่านี้แล้ว ซึ่งเหรียญเชิดชูเกียรตินี้มีศักดิ์ศรีเท่ากับเครื่องราชย์เช่นกัน

“แต่ผมว่าผู้ที่บริจาคโลหิตส่วนมากเขาทำโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เลย คือเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” น.พ.ฉันทกรณ์กล่าว

ชมรมหมู่เลือดพิเศษ

หลายคนคงอยากมีอะไรในตัวที่พิเศษไม่เหมือนใคร แต่สำหรับเรื่องหมู่เลือดแล้วแพทย์ทั้งหลายบอกว่าควรจะมีให้เหมือนคนหมู่มากจะปลอดภัยกว่า ดังนั้น กลุ่มเลือด Rh-negative ซึ่งในคนไทย 1,000 คนจะมีผู้มีกลุ่มเลือดนี้เพียง 3 คนเท่านั้น จึงถือเป็นกลุ่มเลือดพิเศษที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ากลุ่มนัก

ดังนั้น การหาหมู่เลือด Rh-negative จึงกลายมาเป็นปัญหาทุกครั้งที่มีความต้องการเลือดหมู่นี้ขึ้นมา ทางสภากาชาดไทยจึงตั้งชมรมผู้มีโลหิตหมู่เลือดพิเศษหรือ Rh-negative Club ตั้ง ขึ้นมาเมื่อปี 2532

น.พ.ธนู ลอบันดิส ประธานชมรมฯ กล่าวว่า “เราจะเก็บรายชื่อจากผู้บริจาคโลหิตกับทางศูนย์ฯว่ารายใดมีเลือดกลุ่มนี้บ้าง ก็ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชกโดยอัตโนมัติเลย พอมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เลือดกรุ๊ป Rh-negative ขึ้นมา เราก็จะเรียกสมาชิกเหล่านี้มาบริจาค”

ข้อดีของการตั้งชมรมฯขึ้นนั้นก็จะได้สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่เป็นคนในกลุ่มเลือดเดียวกันได้ อย่าง น.พ.ธนูได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่ามีคนโดนรถเมล์ทับร่าง กระดูกหัก ต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลตรวจพบว่าคนป่วยมีหมู่เลือดเป็น Rh-negative จึงได้ประสานกับสภากาชาดไทยและชมรมฯ

“ตอนนั้นทางโรงพยาบาลต้องการเลือด 10 ยูนิต หรือผู้บริจาค 10 คน ทางชมรมเราก็ประสานงานตามสมาชิก ซึ่งบางคนเราก็โทรศัพท์ไปตาม บางคนเราก็ส่งข้อความไปบอก ก็ได้รับการตอบรับจากสมาชิกเป็นอย่างดี รีบเข้ามาบริจาคที่ศูนย์ฯ ทำจวนมากที่เดียว” น.พ.ธนูกล่าว

นอกจากนี้ น.พ.ธนู ยังมีข้อแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเลือด Rh-negative ว่า ทุกคนควรจะรู้ว่าตนเองมีเลือดในกรุ๊ปไหน และเมื่อรู้ว่าอยู่ในกลุ่มเลือดพิเศษ Rh-negative ก็ควรจะมาเข้าชมรมฯเพื่อให้ความช่วยเหลือกันเอง เพราะรวมกันเราอยู่บุญกุศลของการให้เลือด

หลายคนยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่าการให้เลือดนั้นจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเพราะเสียเลือด แต่ความจริงแล้ว ร่างกายเรามีปริมาณเลือดที่หมุนเวียนภายในร่างกายประมาณ 5,000 ซีซี การบริจาคเลือดเพียงครั้งละ 450 ซีซี. ถือเป็นจำนวนน้อยมาก และเลือดในร่างกายมนุษย์มีอายุเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็จะเสื่อมสภาพ ต้องถูกขับถ่ายอออกมาจากร่างกาย

แต่ถ้ามีการบริจาคโลหิตออกไปจากร่างกายแล้ว ระบบการทำงานของร่างกายจะผลิตโลหิตขึ้นมาใหม่จากโพรงกระดูกทุกส่วนของร่างกายโดยเฉพาะกระดูกชิ้นใหญ่ๆ ถ้าร่างกายมีการกระตุ้นให้มีการผลิตโลหิตอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ หลังจากมีการบริจาคโลหิตแล้ว ทางศูนย์บริการฯ จะแจกวิตามิน ธาตุเหล็กที่บำรุงเม็ดเลือดแดงแก่ผู้บริจาค พร้อมทั้งแนะนำอาหารการกินให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังนั้นผู้ที่บริจาคเลือดเป็นประจำจะดูแลสุขภาพตัวเองไปด้วยจึงไม่ค่อยจะป่วยไข้ ตัวอย่างเช่น น.พ.ฉันทกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 70 ปีแล้ว แต่ไม่มีโรคประจำตัวอะไรเลย และบริจาคโลหิตมาแล้ว 140 กว่าครั้งแล้ว

“ผมบริจาคครั้งแรกตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ปี 3 ที่โรงพยาบาลศิริราช ( ปี2503 ) ตอนนั้นเป็นช่วง 5 โมงเย็น ก็มีประกาศว่ามีคนไข้เสียเลือดมากต้องทำการผ่าตัดด่วน นักเรียนแพทย์ผู้ใดที่ประสงค์จะบริจาคโลหิตก็ให้มาที่ห้องธนาคารเลือด เมื่อผมได้ยินเช่นนั้นก็คิดว่าเราก็แข็งแรงดี ก็เกิดใจกุศลขึ้นมาเอง เมื่อไปให้ครั้งแรกแล้วก็ให้ติดต่อกันมาเรื่อยๆ”

ขณะที่บรรดาสมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิต 100 ครั้ง แต่ละคนเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไม่ป่วยไม่ไข้ ยังออกกำลังกายได้ทุกวันและสามารถบริจาคเลือดได้สม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยการมีกุศลจิตในบริจาคเลือดเพื่อช่วยชีวิตคนนั้นก็ทำให้ความดีงามก่อกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนก่อให้เกิดสุขภาพดีทั้งกายและใจตามมาด้วย

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 11 พฤษภาคม 2550
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000054002