เขียน: ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์

ตามรอยธรรมพุทธทาสผ่านงานอาสาสมัคร

“ เจอแล้ว หน้า 167  ในหนังสือบอกว่า เป็นภาพสัญลักษณ์การประสูติ มีรูปดอกบัวด้วยนี่ไง”

“เหมือนกับรูปที่อยู่ตรงโน้นเลย ที่อยู่ตรงใต้ต้นไม้สูงๆ”

ผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวนสวนโมกขพลาราม คงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็น คนกลุ่มหนึ่ง ก้มๆเงยๆ และถกเถียงกันอยู่หน้าภาพหินสลักโบราณ บางคนกางหนังสือ บางคนกำลังบันทึกภาพหินสลักนั้นด้วยความตั้งอกตั้งใจ ขณะที่อีกคนหนึ่งทำท่าเหมือนจดอะไรบางอย่างขะมักเขม้น ยิ่งเมื่อเหลือบไปเห็นย่ามหน้าตาเหมือนๆกันที่ทุกคนสะพายพบข้อความว่า”จิต อาสา” ก็ยิ่งเกิดความฉงนใจมากขึ้นไปอีก

พวกอาสามาทำอะไรที่สวนโมกข์ แล้วก้มๆเงยๆกันอยู่ที่หน้าภาพสลักหินเหล่านี้ทำไม?

ฉลาดทำบุญ

“โครงการอาสาพาไปพบธรรม สวนโมกขพลาราม” โดยเครือข่ายพุทธิกา เป็นหนึ่งในโครงการฉลาดทำบุญปี 2 จิตอาสา : ปันศรัทธาและอาทร  ด้วยการเชิญชวนให้คนไทยทำบุญด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วย เหลือสังคม เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงการทำบุญ คนไทยมักนึกถึงการให้ทานและจำกัดการให้ที่พระสงฆ์เท่านั้น ทั้งที่ในทางพุทธศาสนา “ ทาน ” เป็นเพียง 1 ใน 10 วิธีทำบุญ และสามารถจะทำกับใครก็ได้

พรทิพย์ ฝนหว่านไฟ ผู้ประสานงานเครือข่ายพุทธิกา เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของแนวคิดที่พาอาสาสมัครไปทำงานที่สวนโมกข์ครั้งนี้ ว่า ในปี พ.ศ. 2549 นี้ เป็นวาระโอกาสฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ นับเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้แสดงมุทิตาจิตด้วยการเป็นอาสาสมัครเพื่อ บำเพ็ญประโยชน์ที่สวนโมกขพลา-ราม  เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายที่ต้องการอาสา สมัครเข้ามาช่วยทำ ขณะเดียวกันอาสาสมัครยังได้ศึกษาการปฏิบัติธรรมไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับคำของท่านพุทธทาสภิกขุที่กล่าวไว้ว่า “ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ”

ถอดรหัส(ไม่)ลับของพุทธทาส

หนึ่งในกิจกรรมที่อาสาสมัครร่วมแรงร่วมใจกันในครั้งนี้ คือ จัดทำทะเบียนภาพหินสลัก ซึ่งมีอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วบริเวณสวนโมกข์ ภาพหินสลักเหล่านี้เป็นภาพพุทธประวัติชุดแรกของโลกที่ท่านพุทธทาสจำลองจาก ภาพสลักหินของประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ภาพพุทธประวัติชุดนี้เป็นภาพที่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าเลย อันหมายถึงความไม่มีตัวตนนั่นเอง ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบันที่คนมักจะเคารพเพียงแค่รูปเคารพเท่านั้น

เมื่อท่านพุทธทาสมรณภาพลง ทางสถาบันพุทธทาส เห็นว่า น่าจะรวบรวมภาพหินสลักอันทรงคุณค่าเหล่านี้ว่า มีจำนวนเท่าใด และวางอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อรวบรวมภาพทั้งหมดเป็นหนังสือและให้เป็นความรู้แก่คนรุ่นหลังต่อไป แต่เนื่องจากการรวบรวมต้องอาศัยแรงคนจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสให้เหล่าอาสาสมัครได้เข้ามาช่วยจัดทำทะเบียนภาพเบื้องต้น

ภาพปูนปั้นจำลองหินสลักนี้ มีประมาณสองร้อยถึงสามร้อยชิ้นทั่วสวนโมกขพลาราม ไม่ว่าจะเป็นกุฎิ โรงมหรสพวิญญาณ เขาพุทธทอง  ตลอดจนทางเดิน ทุกที่ล้วนแต่มีภาพหินสลักประดับอยู่ อาสาสมัครจึงต้องแบ่งการทำงานออกเป็นกลุ่มตามพื้นที่กระจายตัวกันทำงาน โดยสำรวจเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า แต่ละภาพคือภาพอะไร ภาพนั้นมีจำนวนกี่ชิ้น เนื่องจากแต่ละภาพท่านพุทธทาสจะทำสำเนาไว้ห้าภาพเสมอ และระบุตำแหน่งที่พบไว้พร้อมทั้งถ่ายภาพ เพื่อช่วยให้คณะทำงานชุดต่อไปเก็บข้อมูลอย่างละเอียดได้ง่ายขึ้น

ทำงานทุกครั้ง เราฉลาดขึ้นทุกครั้ง

ขณะที่ตามรอยผลงานของท่านพุทธทาส  อาสาสมัครก็ได้รับความรู้ไปพร้อมกัน ด้วย บางคนเพิ่งรู้ว่าดอกบัวคือสัญลักษณ์การประสูติ ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ เนื่องจากการสำรวจเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสังเกตภาพนั้นๆ แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม รวมถึงยังได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากหนังสือภาพหินสลักของท่านพุทธทาสซึ่งมี เพียง 6 เล่มเท่านั้นที่พวกเขาต้องใช้เป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความสงสัยอีก ด้วย   ณัฐ จันทรโคลิกา หรือ ที นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงความรู้สึกว่า “ตอนแรกไม่รู้ว่าต้องทำอะไร พอได้ทำงานนี้ก็รู้สึกชอบมาก โดยเฉพาะที่ได้รู้ว่า พระพุทธศาสนาในสมัยก่อน ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าซึ่งภาพหินสลักเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ดี มากกว่าการบอกต่อกันมา ขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้พุทธประวัติไปด้วยในตัว”

นอกจากภารกิจบำเพ็ญประโยชน์ที่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ตามคำสอนที่ถือเป็นหัวใจของท่านพุทธทาสแล้ว ค่ายอาสาครั้งนี้ยังแทรกการปฏิบัติธรรมตามแนวทางอื่นเพิ่มเติมไว้ด้วย อาสาสมัครมีโอกาสได้ภาวนาและสำรวจความรู้สึกข้างในของตัวเอง ทั้งการทำวัตรเช้าร่วมกับพระสงฆ์ทุกเช้า และการเรียนรู้เรื่องอานาปานสติอย่างถูกวิธีในช่วงบ่ายของทุกวัน

หลังจากที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครหนนี้ หลายคนได้รับพลังบวกติดตัวเพิ่มขึ้น สุนทราภรณ์ เตชะพะโลกุล พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าถึงเหตุผลที่เลือกทำงานอาสาโครงการนี้ว่า เบื่องานที่ทำอยู่ รู้สึกว่างานสร้างความเครียดให้เรา จนถึงจุดที่คิดว่าเราควรหาสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนความสนใจของเราอีกด้าน จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เมื่อตนได้มาเป็นอาสาสมัคร ก็คิดว่าพบธรรมตั้งแต่วินาทีที่ตัดสินใจมาแล้ว งานอาสาแสดงให้เห็นว่า ทุกคนต่างช่วยเหลือกัน ไม่เกี่ยงงาน และไม่ได้มองถึงประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้คงเป็นเพราะ อาสาสมัครทุกคนมาด้วยจุดหมายอย่างเดียวกัน คือช่วยเหลือสังคมและส่วนรวม ซึ่งต่างจากงานการที่ทำอยู่ตามปกติ

ต่างความเชื่อ หัวใจเดียวกัน

ไม่เพียงแต่ ชาวพุทธที่ต่างตั้งใจมาทำงานที่สวนโมกข์เท่านั้น ยังมีอาสาสมัครชาวคริสต์ที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย  เพราะเห็นว่างานนี้เป็น ประโยชน์ ญา  พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งเผยถึงเหตุผลที่หลายคนสงสัยว่า ได้มีโอกาสอ่านงานของท่านพุทธทาส ก็รู้สึกว่าท่านมีความเป็นกลาง และท่านพุทธทาสเปรียบเทียบระหว่างศาสนาพุทธกับคริสต์ว่าคำสอนเหมือนๆ กัน  ซึ่งขณะที่ไปทำงานจัดหนังสือในธรรมโฆษณ์ก็ได้อ่านหนังสือของท่านไปด้วย และตนประทับใจท่านมาก เพราะคิดว่าท่านพุทธทาสอยู่ในฐานะสูงมาก แต่มีความเรียบง่ายที่สุด เช่น ตอนที่มรณภาพลง พิธีกรรมก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย คล้ายกับพระสันตปาปาองค์ก่อนของชาวคริสต์

การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

“การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” นับเป็นหัวใจสำคัญของคำสอนที่ท่านพุทธทาสสอนลูกศิษย์ตลอดเวลาที่มีชีวิต อยู่  เมตตา พานิช หลานชายของท่านพุทธทาส กล่าวกับบรรดาอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานที่สวนโมกข์นี้ว่า  ท่านพุทธทาสใช้ เวลาตลอดชีวิตทำเพื่อผู้อื่น สังคมอยู่ได้เพราะมีคนที่ทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ชีวิตประจำวันของท่านเวลามีคนมาขอพร คำพูดที่ท่านพูดบ่อยที่สุดคือ ทำงานให้สนุก  มีความสุขเมื่อทำงาน เพราะแท้จริงแล้วธรรมะกับชีวิตการงานเป็นส่วนเดียวกัน หลักคำสอนที่สวนโมกข์ปฏิบัติกันมา คือ “การทำงานคือการปฎิบัติธรรม” เคยมีหลายคนมากราบเรียนท่านว่า อยากทิ้งที่บ้าน แล้วมาทำงานที่วัด ท่านพุทธทาสตอบว่า ให้ทำบ้านให้เป็นวัด

สำหรับคนทำงานอาสานั้น เมตตาบอกว่า  ถ้าเราประยุกต์สิ่งที่เราทำให้เป็นการปฏิบัติธรรมในตัว จะเกิดประโยชน์สูงสุด วิธีการก็คือ ทำงานอย่างมีสติ  และการทำงานต้องเป็นไปเพื่อละตัวกู หมายความว่า ทำแล้วให้ความเห็นแก่ตัวลดลง เพราะความเห็นแก่ตัวเป็นจุดกำเนิดของความทุกข์ การทำงานอาสาเป็นการทำลายความเห็นแก่ตัวให้ลดลง  นอกจากจะได้งานแล้ว เรายังได้นิสัยที่ดีอีกด้วย ขณะเดียวกัน การทำงานทุกครั้ง เราต้องฉลาดขึ้นทุกครั้ง แม้แต่การกวาดขยะก็ตาม เมื่อเราทำให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม เราก็จะสามารถหาชีวิตใหม่จากการทำงานได้

ด้วยความที่ทุกคนต่างเริ่มต้นจากหัวใจที่อยากทำงานเพื่อผู้อื่น การทำงานครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งผลสำเร็จของงานที่ทุกคนภาคภูมิใจ ควบคู่กับความรู้สึกอิ่มเอมใจของคนทำงาน และท้ายที่สุด อาสาสมัครต่างค้นพบแล้วว่า ไม่เพียงแต่ความปลื้มใจบังเกิดขึ้นกับผู้ที่พวกเขาช่วยเหลือเท่านั้น ดอกไม้แห่งความดีงามยังผลิบานในใจของตนด้วย ดังคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า “ชีวิตที่มีคุณค่าต้องสงบเย็นและมีประโยชน์”
นพงศ์