น้ำท่วม พายุเข้า ดินถล่ม เป็นภัยพิบัติที่เกิดในบ้านเราแสนบ่อย เรามักได้ยินข่าวคราวภัยเหล่านี้หลายครั้ง แม้จะไม่รุนแรงในระดับชาติ แต่ยังความเจ็บปวดเสมอสำหรับผู้ประสบภัย นอกจากหน่วยงานรัฐและองค์กรท้องถิ่น รับผิดชอบดูแลผู้ประสบภัย ยังมีองค์กรอาสาสมัครต่างๆ เช่น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ดูดายกัน

จึงชวนมาฟังเสียงอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติขาประจำอย่าง กั้ง และ จอย มูลนิธิอาสาเพื่อพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย ผู้ลุยทั้งใจและกายกับงานภัยพิบัติ

พี่กั้ง หรือ นายไพรวรรณ โยธาสุภาพ  เป็นอาจารย์คณะการจัดการและการบัญชี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการอิสระ ตอนนี้ละมือจากภารกิจการสอน เพื่อศึกษาต่อปริญญาเอก ทำให้มีเวลาสำหรับงานอาสาสมัคร เนื่องจากพี่กั้งมีประสบการณ์อบรมเรื่องภัยพิบัติในญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันเป็นช่วยผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาเพื่อพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย

พี่จอย หรือ นางสาวอรุณสวัสดิ์ ภูริทัตพงศ์ ผู้เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอาสาสมัครดูแลศพผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิ ณ สุสานบางมรวน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร Cultural Management บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาโท เธอยังเรียนรู้งานอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติกับพี่กั้งไปพร้อมๆ กัน

พี่จอยเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์เมื่อสามปีให้เราฟัง ทุกๆ วันที่สุสานเธอและเพื่อนจะช่วยกันฝังและจัดการศพ เสร็จสิ้นภารกิจตี 2 และเริ่มวันใหม่ 6 โมงเช้า แม้งานจะหนัก นอนน้อย และไม่ได้ผลตอบแทน แต่เธอบอกในห้วงยามนั้น ไม่เหนื่อย ไม่หนัก และมีความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตทำงานในเมือง ที่ตื่นแต่เช้าเพื่อคิดว่าจะแต่งตัวอย่างไรถึงจะทำให้ตัวเองดูดี มีค่า การเป็นอาสาสมัคร ทำให้เธอไม่ต้องคิดถึงตัวเอง เพียงแน่นหนักชัดเจนว่าแต่ละวันจะทำอะไร เพื่อใคร และเพื่ออะไร

“พอมีคนมารับญาติ เขาก็ดีใจ มันทำให้เข้าใจ อ๋อ อย่างนี้นี่เองที่ เขาเรียกว่า ‘ความสุข’ ความสุขที่ทำดีๆ ให้คนอื่น พอคนเราคิดถึงตัวเองน้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้น เราก็มีความสุข แต่เพราะเราคิดถึงตัวเองมากไปหรือเปล่า จึงมีแต่ความทุกข์”

หลังจากส่งมอบงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เธอกลับมาสู่ชีวิตปกติ ทำงาน เรียนต่อ แต่จิตใจแห่งการอาสาไม่ได้หายไปไหน ปีที่ผ่านมาเธอมีโอกาสเรียนรู้งานอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติกับพี่กั้ง

“ตอนนั้นสึนามิ เราอายุ 24 เอง คิดว่า โห มันที่สุดของชีวิตเราแล้ว เกิดมาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ หลังจากนั้นพบว่า สึนามิเป็นแค่รากแข็งๆ ที่ทำให้เราได้ทำงานอาสาสมัครต่อ แม้ความรุนแรงของภัยพิบัติที่เราเข้าไปทำจะไม่รุนแรงเท่าสึนามิ แต่มันทำให้เห็นว่าเหตุไม่คาดฝัน มีไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญคือเราต้องตั้งสติได้ เข้มแข็ง พยายามเคลียให้ทุกอย่างเป็นปกติ ถ้ามีใจรักอยากจะช่วยคน เราก็อยากทำให้มันดีไปเลย พี่เลยมาอยู่ตรงนี้”

เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานกับพี่กั้ง เขาบอกว่างานภัยพิบัตันั่นมีลำดับการทำงานดังนี้ : ขอแรงงานอาสาสมัครในพื้นที่, ประสานงานกับพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่ข้าราชการ, ส่งคนเจ็บไปรักษา, เก็บศพคนตาย, เคลียพื้นที่, สร้างบ้านพักชั่วคราว, สร้างโรงครัว, ส่งมอบงานต่อ เมื่อภารกิจเสร็จ หลังจากนั้น ทีมอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติก็ถอนตัวออก

รายละเอียดมากขนาดนี้ แต่พี่กั้งยืนยันว่า งานอาสาสมัครยังคงเริ่มจาก “ใจ” ก่อน แล้วจึงขัดเกลาด้วย “ทักษะประสบการณ์”

“เริ่มจากใจก่อนเลย เพราะถ้าไม่มีใจก็จบ งานเหนื่อยหนัก นอนไม่สบาย เร่งไปหมด แต่ทักษะหากันได้ ฝึกกันได้”

สำหรับใจของพี่กั้ง หนุ่มใหญ่เล่าให้ฟัง เขาว่าได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากในหลวง ครั้งที่พี่กั้งยังเป็นเด็ก ท่านได้ไปยังหมู่บ้านของพี่กั้งที่ร้อยเอ็ด

“ตอนนั้นพี่เป็นเด็ก พี่เห็นทหารเท่มาก วันนั้นท่านก็ใส่ชุดทหาร เราเลยวิ่งไปหาท่าน ทหารกันเราออก ท่านก็เดินมาหา ถามว่า ‘มีอะไร จะให้ช่วยอะไร’ เราบอกไปว่า ผมอยากเป็นทหารเหมือนท่าน ท่านก็บอกว่า ‘นี่แหละคนที่จะมาช่วยงานเราต่อไป’ พอโตขึ้นเราลืม แต่พอวันหนึ่ง เราทำกิจกรรมทางสังคม พี่ชายก็เอารูปนี้ให้ดู ทำให้เราจำได้ว่า สิ่งเหล่านี้ของเรามาจากไหน”

ด้านพี่จอยแบ่งปันความรู้สึกภูมิใจลึกๆ ของการทำงานอาสาสมัครว่า “เรารู้ว่ามีคนที่ลำบากกว่าเรา แม้เราจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร เราเห็นเขาทุกข์ เราพยายามช่วย มันเป็นความรู้สึกที่ซื้อกันไม่ได้ มันทำให้เรามีค่า เรามีที่ยืนในสังคม ถึงจะไม่มีใครรู้เลย เราจนเหลือเกิน แต่นี่เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เราทำสิ่งที่มีประโยชน์ ทำสิ่งที่มีมีค่า สร้างสิ่งที่อยู่ในใจที่ซื้อหาที่ไหนไม่ได้ เราต้องทำเอง”