เวลา คนเราเดินทางคำถามแรกที่มักเกิดขึ้นในใจขึ้นมา บ่อยครั้งคือเราจะที่ไปไหนกันดี ถ้าไปท่องเที่ยว ภาพที่ผุดขึ้นมาก็อาจเป็นหาดทรายสีขาว คลื่นซัดเบาๆ เด็กน้อยกำลังวิ่งไล่ลมจับปู ปราสาททรายกำลังก่อ หรือเป็นภาพน้ำตกไหลแหวกผ่านท่ามกลางหุบเขา หมู่แมกไม้นานาพรรณ เสียงนกร้อง กลิ่นดอกไม้ที่กำลังผลิบานโชยมาตามสายลม ผีเสื้อโบยบิน  ความรู้สึกของเรามักไปถึงสถานที่ๆเราอยากไปก่อนที่ตัวเองจะไปถึงหรือก่อนที่ ตัดสินใจออกเดินทางจริงเสียอีก

พอเราได้ลงมือเดินทางจริงๆ ตัวเองพบว่าเมื่อเรายืนอยู่ริมหาดทราย มองไปที่สุดขอบฟ้า ที่เส้นบรรจบกับเส้นสีน้ำเงินล้ำลึกแห่งท้องทะเล ความคิดต่างๆก็หายไปชั่วขณะ หรือตอนที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางป่าจริงๆ ความเป็นส่วนหนึ่งกับสรรพสิ่งทำให้เรารู้เบา แอบอิงกับธรรมชาติรอบตัวแม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าความรู้สึกนี้คืออะไร

เมื่อเราเติบโตขึ้นบ่อยครั้งที่เรารู้สึกมองในสิ่งเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม ความเป็นเด็กทำให้ไม่เห็นเพดานในเวลาที่เรามองไปบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ไร้ขีดจำกัด แต่หลายครั้งในการเดินทางบางทีเหมือนมีเมฆผ่านมาบดบัง หลายครั้งฟ้าครึ้มเมฆหม่นฝากซัดสาด แต่ไม่นานประสบการณ์ก็สอนให้เรารู้ความเป็นชั่วครู่ แสงทองก็ผ่านมาให้เราได้เชยชม หลายคนอาจคิดต่อไปถึงเดี๋ยวเมฆก็ครึ้มฟ้าก็ร้องใหม่ เหมือนขาวกับดำสลับไปมา แต่บางคน ก็เห็นว่าระหว่างสองสีนั้นหาใช่สีเทาไม่ หากเป็นสีรุ้งงามที่ชอนไชออกท่ามกลางแสงทองระยิบระยับ ทำให้เห็นว่าเลนส์ที่เราใช้มองสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปนั้นไม่เหมือนกัน

ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงหนึ่งที่ตัวเองได้เริ่มเรียนรู้การมอง โลกที่หลากหลายผ่านการลงมือทำกิจกรรมต่างที่พอทำได้ ทั้งค่ายอาสาตลอด 4 ปี เรียนร้องเพลง กิจกรรมคณะ ละครเวที ส่งเสริมผู้ประกอบการทำหนัง เล่นหุ้นเสมือน ซึ่งสำหรับเด็กที่เรียนเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดโลกแห่งความจริงนอกเหนือไปจากสิ่งที่เรียนในห้อง เรียน ภาพโดมที่ดุจปากกาคอยวาดฟ้า กับคำสอนที่ให้เรารักเพื่อน  รักประชาชน ได้เห็นและร่วมเรียนรู้กับเพื่อนที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่สามารถก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในโลกได้ ใครจะไปคิดว่าเด็กปี 2 สามารถชนะโครงการ World Bank Innovation award ระดับประเทศในการใช้ ICT เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน และเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ รอบข้างให้ดีขึ้นได้

ต่อมา คำพูดของคานธีก็เวียนเข้ามาในหู You must be the change you wish to see in the world นอกเหนือไปจากกิจกรรมสังคมที่ได้ทำ ก็มีภาพความทรงจำที่ตัวเองนอนมองเทือกเขา Annapurna มีหิมะปกคลุมอยู่ที่ยอด ที่เนปาล ตอนอยู่ปี 4 ก็ยังตราตรึง ทำให้เห็นว่าการเดินขึ้นไปบน Base Camp ทำให้เรารู้ช่วงวินาทีที่สำคัญ การเดินฝ่าพายุหิมะ เดินเฉียดหุบเหวลึกที่มองไม่เห็นก้น ในวินาทีที่ความตายอยู่ใกล้ แม้แต่ความรัก หรือความหลง ก็หายไป ทุกอย่างในหัวโล่งโปร่ง เหลือแต่ความจริงที่เป็นปัจจุบันในวินาทีนั้นๆ

เพิ่งได้มาฟังคำอธิบายเพิ่มเมื่อไม่นาน หลังจาก ว่าเราเดินไปสู่ยอดเขาเพื่อให้รู้ว่ายอดเขานั้นไม่มีจริง แต่ความงามในการเดินทางนั้นต่างหากที่ไม่ลองเดินก็ไม่รู้ว่าเป็นเช่นไร เป็นฐานให้ตนเองได้เรียนรู้ลึกซึ้งชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อจบได้ไม่นาน ในช่วงบวชเรียนในวัดไม่ใกล้ไม่ไกล ได้เข้าใกล้ศาสตร์แห่งธรรม ความหมายที่แท้ของธรรมศาสตร์ เห็นว่าวันข้างหน้าที่ไม่แน่นอนยังมาไม่ถึง อดีตที่แสนว่างเปล่า คงมีแต่ช่วงเวลานี้ ขณะนี้ที่เป็นจริง

ต่อมาการทำงานที่อินเดียครึ่งปีในช่วงหลังสึนามิใหม่ๆ ได้มีโอกาสทำงานในองค์กรประสานงานเยาวชนอาสาสมัคร iVoluneerให้ไปทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ในประเทศที่ถือได้ว่ามี NGO มากที่สุดในโลกและประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุด พร้อมทั้งได้ช่วยทำวิจัยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในสังคม Young Social Entrepreneurโดยเดินทางไปพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสังคมให้มีความแตกต่าง ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในหลายพื้นที่ทั่วอินเดีย แรงบันดาลใจจากหนังสือ How to Change the world ของ David Bornstein ได้เข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่พวกเขาได้ทำ ทำไม Bill Drayton ผู้ก่อตั้ง Ashoka ถึงได้เลือกที่จะออกจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกมาเดินทางในอินเดีย เพื่อค้นหาและสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคม ด้วยแรงบันดาลที่ใจที่ได้ร่วมเดินธรรมยาตรากับ Vinobha Bhave ในวัยเด็ก เรียนรู้การทดลองชีวิตกับความจริงแบบ คานธี ตลอดจนเชื่อในหลักธรรมวิชัยของมหาราชที่ยิ่งใหญ่ พระเจ้าอโศกมหาราช วัตรปฏิบัติและศรัทธาในมหาสัตบุรุษที่พระองค์ยึดถือเป็นสรณะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การเดินทางเรียนรู้ในแดนสีชมพูนี้ได้ช่วยเปิดโลกใหม่ในใจให้กว้างขึ้น เป็นแรงผลักดันหลักแรงหนึ่งที่ทำให้มาเริ่มทำงานจิตอาสา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กับเครือข่ายจิตอาสา ที่ต้องการส่งเสริมเรื่องงานอาสาสมัครต่อเนื่องจากสึนามิ ซึ่งภัยพิบัติครั้งนั้นเป็นการทำลายความเชื่อที่ว่าคนไทยเป็นปัจเจกไปสิ้น ได้เห็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เครือข่ายจึงเห็นว่าทำอย่างไรให้จิตอาสาไม่ต้องรอวิกฤติสึนามิซ้ำอีก เพราะวิกฤติที่ใหญ่กว่าคือวิกฤติสังคมในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในใจเรา สามปีผ่านมา

โครงการที่เกิดขึ้นหลากหลายโครงการฉลาดทำบุญ จิตอาสาปันศรัทธาและอาทร โครงการอาสาเพื่อในหลวง 60 ปี 60 ล้านความดีน้อมเกล้าถวายในหลวง ตลอดจนผลักดันนโยบายวาระแห่งชาติการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โครงการทำเพื่อพ่อและโครงการส่งเสริมจิตอาสาในรูปแบบต่างๆ เมื่อมองกลับไป สิ่งที่ได้เห็นคือการเดินทางของใจร่วมกัน ที่ฝากร่องรอยแห่งความดีหลากสีไว้ แม้เล็กน้อย แต่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ความดีได้แตกกิ่งก้าน ผลิบานอาสาที่มาทำกิจกรรมจิตอาสาครั้งแรกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายใน จนเปลี่ยนทัศนคติวิถีชีวิตไม่มากก็น้อย อาสาสมัครบางคนเติบโตจนจัดกิจกรรมระดมอาสาสมัครไปช่วยเหลือกิจกรรมที่ตนสนใจ ได้เอง ที่สำคัญเราได้พบเพื่อนดีๆ ไม่จำกัดเพศและวัย ที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ในยามที่เพื่อนล้ม ก็ช่วยกันอุ้มชู ได้เห็นความจริงแห่งความสัมพันธ์ เมื่อเราคิดดี พูดดี ทำดี ได้คบคนดี และชวนกันไปสถานที่ดีๆ เราก็สามารถที่มองได้ว่าเหตุปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ผลแบบไหนหนุนเนื่องกัน

เฉกเช่น เมล็ดผักกาดเมื่อรดน้ำก็เป็นผักกาดฉันใด เมล็ดพันธุ์แห่งความดี เมื่อได้รดน้ำก็สามารถเติบใหญ่เป็นต้นไม้แห่งความดีฉันนั้น เพียงเรารู้วิธีใส่ปุ๋ย ดูแลรดน้ำ ให้แสงแดดอย่างพอเพียง เริ่มแรกกล้าไม้ต้องอาศัยแอบอิงร่มไม้ใหญ่ แต่พอรากฝังลึกเป็นหนึ่งกับผืนดิน ดอกใบได้ผลิออกผลกิ่งกล้าแตกแขนงก็สามารถที่จะเป็นร่มเงาให้กับกล้าใหม่ที่ เพิ่งแตกออกมาต่อไป
สำหรับผมจิตอาสา เป็นจิตอาสาที่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว จนมองเห็นถึงเหตุแห่งความแปรเปลี่ยนนั้น โดยมีความเชื่อว่าการสร้างเหตุในการเปลี่ยนแปลงที่ดีมีคุณค่ามากกว่าไม่ดี หรือไม่เปลี่ยนแปลงอะไร จนลงมือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความดีนั้น ความดีและคนดี จะมาบรรจบได้ผ่านการทำความดีจิตอาสาต้องเริ่มที่ตัวเอง   เมื่อมีความชัดเจนมั่นใจในสิ่งที่ตนทำจึงชวนเพื่อน ชวนผู้ที่เห็นและคิดเหมือันกันมาร่วมกันทำเป็นเครือข่าย ความเข้าใจความจริงของจิตอาสา ณ ช่วงเวลานี้พบว่า จิตอาสานั้นมีมาแต่อดีต มีอยู่ในปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต และแม้ว่าจะไม่มีผม การเดินทางของจิตอาสาก็ไม่มีวันสิ้นสุด

ผลของกรรมดีที่ได้ก่อไว้ย่อมไม่สูญโดยธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม