เรามีวันมากมายที่เป็นวันสำคัญแต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ  “21 ตุลาคม”  วันนี้เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นวันสำคัญอีกหลายๆวัน เช่น วันอาสาสมัครไทย วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ วันพยาบาลแห่งชาติ และวันรักต้นไม้แห่งชาติ เป็นต้น

ด้วยเหตุผลที่ว่า  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประกอบแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือเกื้อกลูพสกนิกรผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน ทรงอุทิศพระวรกายและเวลา เพื่อประโยชน์ให้บังเกิดแก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ด้วยพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นที่ว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจหนึ่ง ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นกิจที่สอง ยังความปลาบปลื้มมาสู่ชาวไทย ควรถือเป็นแบบอย่างในการปฎิบัติ

และเนื่องในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี พ.ศ. 2544 เป็นปีอาสาสมัครสากล รัฐบาลพร้อมด้วยหน่วยงานองค์การที่มีอาสาสมัครและบรรดาอาสาสมัครทั้งหลายจึง ได้ประกาศปฏิญญาอาสาสมัครไทย เพื่อแสดงเจตนารมณ์และพันธกิจที่จะส่งเสริมงานอาสาสมัครให้มีความเจริญก้าว หน้า มีการส่งเสริมบทบาทการปฏิบัติภารกิจของอาสาสมัครให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคมและประเทศชาติ

“ อาสาสมัคร”หรือ Volunteer หมายถึง การเลือกกระทำ สิ่งต่างๆที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำและเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ หวังผลตอบแทนและการกระทำนี้ไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ โดยองค์ประกอบที่สำคัญของอาสาสมัคร 4 ประการคือ
1 การเลือก (Choose) อันเป็นการเน้นเจตจำนงที่เป็นอิสระที่จะกระทำหรือไม่กระทำในสิ่งใดๆ
2 ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) หมายถึง การกระทำที่มุ่งมั่นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลกลุ่ม บางกลุ่ม หรือสังคมส่วนใหญ่ก็ได้และอาจรวมถึงตนเองด้วย
3 โดยไม่หวังผลกำไรเป็นเงินทอง (Without Monetary Profit) หมายถึงไม่ได้หวังผลรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่อาจรับเป็นรางวัลหรือค่าใช้จ่าย ทดแทนที่ได้ใช้จ่ายไปแต่อย่างไรก็ไม่อาจเทียบได้กับค่าของสิ่งที่กระทำลงไป
4 ไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ (ฺBeyond Basic Obligations) หมายถึงสิ่งที่ทำ นั้นอยู่นอกเหนือความจำเป็นหรือการคาดหวังว่าจะต้องทำ (ลักษณะการกระทำที่ไม่ถือว่า เป็นการอาสาสมัคร เช่น การทำงาน ที่ได้รับค่าจ้าง ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ การดูแลครอบครัวตนเอง ความรับผิดชอบ)

ในทางพุทธศาสนาเองก็มีคุณธรรมสำหรับการมีจิตอาสา โดยอาสาสมัครที่ดีนั้นจะต้องเป็นผู้มีจิตวิญญาณอาสาสมัคร (Spirit of Volunteerism) โดยตั้งอยู่ในหลักสังคหวัตถุ 4 อันประกอบไปด้วย
1 ชอบให้มากกว่ารับ ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มีความสบายใจที่จะให้ (ทาน)
2 มีความสามารถในการโน้นน้าวจิตใจคนให้มาร่วมมือร่วมใจกัน (ปิยวาจา)
3 ทำตนให้มีประโยชน์มีกิริยาท่าทีของความพยายามจะทำประโยชน์อยู่ตลอดเวลาเป็นผู้ที่ใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ (อัตถจริยา)
4 ทำตนสม่ำเสมอ ทำด้วยอุดมการณ์ ไม่เอนเอียงไปตามกระแส (สมานัตตา)

ที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นเป็นเป็นเพียงแนวคิดที่ช่วยให้ทิศทางในการทำความดี ผ่านการเป็นอาสาสมัครให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องยึดติดกับรูปแบบเสมอไปเพียงเป็นจุดเริ่มเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดี ความว่า “อาสา สมัครจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าศรัทธาในงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นด้วยตัวเอง มีความรู้สึกเห็นชอบในงานอาสาสมัคร มีศรัทธาที่จะทำงาน มีเวลาที่จะปฏิบัติงาน และพร้อมที่จะเป็น อาสาสมัคร ”

การให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม  มีอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานมาแล้ว สยามเมืองยิ้ม มิได้เกิดจากการได้รับอย่างเดียว หากเป็นร่องรอยความสุขจากการที่ได้ให้ผู้อื่น เพราะมีผู้ให้จึงมีผู้รับ การแบ่งปันจึงเกิดขึ้น ทั้งจาก วัด จากผู้ที่มีมากให้ผู้ที่มีน้อยที่ขาด และแม้แต่ผู้ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ก็สามารถให้เวลา ให้แรงช่วยเหลือผู้อื่นได้ แม้ปัจจุบันสังคมไทยได้เจริญก้าวหน้าไป การแก้ไขปัญหาทางสังคมในภาพรวมยังไม่สามารถเท่าทันผลกระทบจากการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีอยู่ในคนไทยทุกคนถือเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับเรื่องนี้ ความดีเล็กๆน้อยๆเมื่อร้อยเรียง คอยรดน้ำ ก็เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้สังคมพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่มิได้ เพียง วัตถุเท่านั้น แต่เกิดความมั่นคงทางจิตใจ จากภายในอย่างแท้จริง

ดังนั้นในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ และงานอาสาสมัคร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่ เลือกเชื้อชาติศาสนา และร่วมกันส่งเสริม และปลูกฝังให้วัฒนธรรมในการทำความดีหยั่งรากลึกลงในสังคมไทยของเราอย่าง ยั่งยืน