เขียนโดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักพัฒนาอาวุโส
วันอังคาร ที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551

ทบทวนบริบท สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ยกระดับสู่เปลี่ยนแปลง

ขบวนเอ็นจีโอในช่วงแรกเน้นกระบวนการหลอมคนสร้างคนมาด้วยกัน รุ่นพี่สนใจน้องเยอะมาก มีความเหนียวแน่นดูแลละเอียด พอมีข่ายเขาก็สร้างกันในข่าย มีความเฉพาะ กลไกร่วมในกระบวนการพัฒนาไม่มี เน้นเรื่องงานเคลื่อนไหว เคลื่อนไปสร้างคนไป รับใช้เครือข่าย รู้เรื่องนั้นลึกไปเลย วงสัมพันธ์ก็อยู่กับเนื้อหานั้น ประเด็นคือมันคนละวง วงคุยร่วมเรื่องอุดมการณ์ จิตสำนึกก็แผ่วลงอย่างแรง สภาพเลยเป็นแบบนี้

แม้งานที่เราทำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระแสใหญ่ของสังคมอยู่ด้วย เช่น ผักปลอดสารพิษ สุขภาพทางเลือก สมุนไพร การรักษาพื้นบ้าน ป่าชุมชน แต่เรื่องการเรียนรู้ก็มีปัญหา แยกน้องใครน้องมัน การเรียนรวมจากทุกข่ายอ่อนแรงลง สู้แรงของเครือข่ายไม่ได้ บางทีพี่ไม่ยอมให้ออกหรือน้องก็ไม่ยอมออกมาจากข่าย คนทำงานเชื่อมประสานตรงกลางเป็นพวกที่น่าสงสารที่สุด ประสานงานก็ยาก เพราะเขาวางแผนในข่ายเต็มร้อยแล้วต่างคนต่างทำไป งานรวมเลยแผ่ว

ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่คนต่างรุ่นในขบวนตามกันไม่ทัน ต้องเอาแกนนำแต่ละข่ายมาสังคายนากัน วิเคราะห์ตัวตน พลังของเอ็นจีโอทั้งหมด ว่าแต่ละคนแต่ละส่วนมีศักยภาพ มีฝีไม้ลายมืออะไรอยู่ ฐานอยู่ตรงไหน ลองสกัดออกมาดู รุ่นเก่ารุ่นใหม่จะสานขบวนกันอย่างไร อาจต้องมีความหลากหลาย หากเรียกร้องให้เป็นแบบเดียวกันขบวนเดียวกันหมดน่าจะยากอยู่ ทำอย่างไรให้พี่ที่แก่แล้วคิดเคลื่อนเต็มที่ น้องรุ่นกลางรุ่นเล็กก็ค่อย ๆ ก่อรูปเกาะเกี่ยวกันเคลื่อนกันไปตามศักยภาพที่มี สิ่งใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ การสร้างการเรียนรู้ภายใน

นักพัฒนาต้องทำงานในพื้นที่ต้องเข้าใจชุมชน เข้าใจโลกาภิวัตน์ เข้าใจโครงสร้างสังคมไทย สังคมโลก แล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะประเด็นเฉพาะข่าย ถ้าคิดว่ารู้เรื่องเดียวแล้วลึกเลย พี่คิดว่ายังไม่สมบูรณ์ ต้องเรียนรู้เรื่องอุดมการณ์ทางสังคมด้วย ความจริงคนที่ทำงานในชุมชนจะมองเชื่อมโยงได้ง่าย เพราะในชุมชนมีทุกเรื่อง เป็นภาพจำลองจากระดับที่เล็กที่สุดสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้น

สมัยก่อนรุ่นพี่เรียนเรื่อง กฎแห่งการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กัน ทุกอย่างมีการพัฒนา และค่อยๆ สั่งสมจากปริมาณไปสู่คุณภาพ ข้อดีอีกอย่างของคนรุ่นพี่คือ ผ่านงานชุมชนงานในหมู่บ้านมา ฉะนั้นจะไปทำบทบาทอื่นมันจะมั่นใจและมองออก ดังนั้นต้องทำกับน้อง ๆ ให้เห็นตรงนี้ให้ได้ อาจต้องเริ่มคุยกันตั้งแต่เรื่องเล็กพื้นฐานที่สุด เช่น พลังชุมชน ต้องเข้าใจชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเห็นรากเหง้า เห็นวัฒนธรรม ใช้ทีมใช้กระบวนการเข้ามาช่วยหล่อหลอม ยกระดับกัน ออกแรงกันสักนิดภายใน ๑-๒ ปีนี้สถานการณ์จะเปลี่ยน ยิ่งปัจจุบันการเมืองยิ่งน้ำเน่า หรือมีแรงความชั่วมากเท่าไหร่ ขบวนการประชาชนยิ่งมีแรงฉุกคิดต่อต้านมากเท่านั้น

ขณะนี้เรากำลังสะสมปริมาณ ใครทำอะไรได้ทำไปก่อน ถึงวันหนึ่งเมื่อมันมาเชื่อมกันได้มันจะพลิก จากแต่ละเครือข่าย หากทำงานเชิงลึก เมื่อแต่ละข่ายแต่ละสายมาโยงกันได้ ซึ่งลึกด้วยกันทั้งหมด จะเห็นพลังการวิเคราะห์ชุดใหญ่ หรือเป็นพลังขับเคลื่อนลูกใหม่ที่มีพลังสูงขึ้น สิ่งสำคัญต้องมีตัวกลไกที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง ต้องมีคนที่ยอมเหนื่อยอาสามาทำงานตรงนี้

ส่วนกระบวนการเรียนรู้ของคนหนุ่มสาว ช่วงหลังมีหลายแบบ แต่มักเน้นหนักไปที่ ทักษะ เทคนิคการลงชุมชน เป็นอะไรที่แพรวพราว ดูสนุกแต่ไปไม่ถึงตัวหรือจิตวิญญาณ เราต้องคิดค้นวิธีการใหม่ให้เข้าถึงตัวตนถึงจิตวิญญาณ  เมื่อก่อนมันมีทฤษฎีหลายทฤษฎีให้เรียน แต่คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึงทฤษฎี มันไม่ได้คุยกันให้สุดไม่ได้แลกลึกกัน เมื่อก่อนมันคุยกันสุดไม่ได้เน้นเรื่องทักษะ เพราะทักษะมันไปหากันได้ พัฒนาได้ แต่ตัวสำนึกอุดมการณ์ มันต้องให้ได้ ส่วนลีลาก็ของใครก็ว่าไป อันนี้ต้องคิดค้นเยอะในสถานการณ์ใหม่เราจะทำอย่างไร เพราะเมื่อก่อนความรู้อยู่หมู่บ้าน พี่ก็เห็นว่ามันยังใช้ได้อยู่นะ

คนทำงานต้องเรียนรู้กฎแห่งการเปลี่ยนแปลง สำคัญต้องให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ มันมีการเคลื่อนตัวที่น่าสนใจที่ไหนบ้าง เช่น ชาวบ้านจัดการเรื่องป่า เรื่องทรัพยากร เรื่องน้ำ มันสุดยอดก็พากันไปดูเลย หรือทำเกษตรอินทรีย์อย่างลึกซึ้งจนตกผลึก ไปดูกันแล้วกลับมาวิเคราะห์ แลกกระบวนท่ากันเองทั้งแนวคิด ทักษะ กระบวนการ ไปเรียนกับพี่ก็ไปกัน ทำให้สนุกได้ไหม ไปดูสิ่งเดียวกันอาจเห็นคนละมุม ก็ต่อภาพความเข้าใจช่วยกัน เหมือนกับสร้างโรงเรียนในกระบวน เพราะการทำงานพัฒนาต้องมีฐานพื้นที่ ฐานชาวบ้าน คุยกันเองส่วนหนึ่ง แลกกับพี่ส่วนหนึ่ง ใครชอบอะไรก็ไปเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างลึกกับชุมชนกับพี่ เพราะพี่ก็มีความรู้ที่ครบครัน ถอดจากพี่ก็ถือเป็นการเรียน เป็นการสร้างความรู้กันด้วย.

ที่มา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม