ทางสายกลางบนหนทางนักพัฒนา

พี่ยุ้ย สุวรรณี จันทร์ดำเนินพงศ์ จากมูลนิธิกองทุนไทย ผู้ที่ทำงานวนเวียนอยู่ในสายขององค์การพัฒนาเอกชนมาโดยตลอด 17 ปีแล้ว พี่ยุ้ยมีความสนใจเรื่องของงานพัฒนามาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก ตอนนั้นยังไม่รู้จัก ngo เลยแต่  “พี่รู้สึกว่าในสังคมนี้ มันมีความไม่เป็นธรรมของสังคมอยู่พอสมควรมีคนรวยคนจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมันมีสูง” และก็อาจจะมาจากแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือของการเหยียดผิวในอเมริกาเมื่อ สมัยตอนอายุเก้าขวบ แล้วพอขึ้นชั้นม.ปลาย ก็เป็นช่วงจังหวะที่ได้อ่านหนังสือดีๆอย่าง ลูกอีสาน ทำให้รู้สึกอยากที่จะทำอะไร เพื่อจะช่วยเหลือคนอีสาน

ก็เลยตั้งใจเอ็นทรานซ์ไปเรียนที่ภาคอีสาน  พอได้ไปเรียนจริงๆ ก็เรียนควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปีหนึ่ง พอจบมาแล้วก็คิดว่าเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วยการทำงานเพื่อสังคม ก็เดินเข้าไปสมัครงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยใน พระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นที่แรก หลังจากนั้นก็ทำงานวนเวียนอยู่ในสายขององค์การพัฒนาเอกชนมาโดยตลอด ทำงานมาหลายส่วนตั้งแต่งานในด้านชนบท งานชุมชน งานเกษตร งานด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนมาเริ่มงานการมูลนิธิกองทุนไทย ตั้งแต่ตอนที่ มูลนิธิยังเป็นส่วนหนึ่งในภาคใต้ ประมาณปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ก็ทำงานกับมูลนิธิกองทุนไทยมาแล้ว 10ปี งานที่มูลนิธิกองทุนไทยเริ่มจากงานระดมทุน  มีอยู่ช่วงนึง ngo ในไทยประมาณ  80-90% ประสบปัญหาการขาดทุนทรัพย์และการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนในการทำงาน ก็เลยมีการรวมกันในภาคีหลายๆองค์กร ที่อยากจะช่วยกันจัดหาทุน มาช่วยเหลือ ngoขนาดเล็ก ก็เลยรวมตัวกันในชื่อ ภาคีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนงานพัฒนา และต่อมาก็จดทะเบียน เป็นมูลนิธิกองทุนไทย โดยยังคงภาระกิจของภาคีไว้เหมือนเดิม คือ เป็นองค์กรสนับสนุนที่ช่วยระดมทุน ไปช่วยเหลือองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็ก และช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับ ngo ขนาดเล็กในพื้นที่ ก็มีงานฝึกอบรม เพื่อเพิ่มความรู้เรื่องของการทำงาน การวางแผน เรื่องของทักษะการระดมทุนเป็นต้น ต่อมาซักพักนึง  ช่วงที่ ICT กำลังเข้ามามีบทบาทใหม่ๆในสังคมไทย มูลนิธิกองทุนไทยก็จัดตั้ง หน่วยส่งเสริม ICT  โดยครั้งแรกก็คือทำเวปไซต์ thaingo.org จนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักพัฒนา หน่วยงานราชการ และนักศึกษา เป็นจำนวนไม่น้อย

ช่วงนึงพี่ได้มีคำถามกับชีวิต ตอนนั้นยังเรียนไม่จบ คำถามสำคัญของพี่ก็อาจจะเหมือนหลายคนก็คือ “ชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่ออะไร เราเกิดมาทำไม แล้วสิ่งที่เราทำอยู่มันดีไหม มันเป็นอย่างไร” ซึ่งก็พบว่างานพัฒนาที่ทำ เป็นงานที่รัก และตรงกับเนื้อตัวจิตใจของเรา คือการปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่น ในตอนนั้นอาจจะไม่เข้าใจเรื่องทุกข์เยอะ ก็คงเหมือนคนธรรมดาทั่วไป  มีสุขมีทุกข์ มีหัวเราะ มีร้องไห้ เป็นธรรมดา และก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเยอะ อ่านหนังสือหลากหลายแนว ส่วนธรรมะ ก็คิดว่ามันคงมีมาโดยพื้นฐานในตัว

มีคนเคยถามว่ายึดอะไรเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตอนนั้นทำงานพัฒนามาได้ 4 ปีแล้ว เราก็บอกเขาไปว่า เรายึดหลัก ของการคิดดี ทำดี พูดดี และก็ทำความดี ละเว้นความชั่ว พี่เขาก็บอกว่านี่มันเป็นหลักธรรมเลยนะ สิ่งที่เธอพูด มันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้จักอะไรมากนัก ตอนหลังก็เริ่มฉุกคิด และเริ่มหาหนังสือแนวปรัชญา ศาสนา มาอ่าน บ้าง แต่ก็ต้องบอกว่า “เราเป็นคนขี่ม้าเลียบค่ายอยู่เป็นระยะ คือปฏิบัติธรรมจากการอ่าน “เช่นอ่านหนังสือของท่าน พุทธทาส แต่ก็อ่านไม่ค่อยเข้าใจหรอก และก็เป็นโชคดีอีกอย่างที่พออายุเยอะขึ้น หลักธรรมต่างๆที่ได้พบ ได้ฟังมันก็เข้ามาช่วยโดยธรรมชาติ  และมีกัลยานมิตรที่ดี พอถึงช่วงจังหวะหนึ่ง ตั้งแต่มาทำโครงการส่งเสริมการให้เพื่อสังคม ก็พบว่าในชีวิตเราได้เจอแต่คนที่พร้อมจะให้ ซึ่งคนที่มีพื้นฐานที่จะให้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีธรรมะเป็นพื้นฐาน เราก็เลยได้ใกล้ชิด แต่ว่าตัวเราเองก็ยังไม่ได้กระโจนเข้าไปเหมือนเดิม ก็ยังอ่านหนังสือปรัญชา หนังสือธรรมะ เวลาที่ใครให้หนังสือธรรมะมาก็จะดีใจ ก็ใช้ธรรมะผ่านตัวหนังสือไป จนกระทั่งเมื่อปีนี้เอง ก็เห็นว่าภารกิจงานมันพอจะปลีกตัวและมีเวลาได้  ก็เลยวางแผนไว้ว่าในช่วงวันเกิดของตัวเองนี่จะขอไปปฏิบัติธรรม และที่ทำงานก็ได้อนุญาติให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติธรรมได้ ปีละ 5 วันโดยไม่คิดเป็นวันลา แล้วเราก็ยังไม่เคยใช้ และมันก็เป็นโอกาสที่ดี และจังหวะที่อะไรหลายๆอย่างมันลงตัว ก็เลยเข้าไปขอใช้สิทธินี้กับหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิ แล้วพี่เค้าก็อนุญาติ จากนั้นพี่ก็เตรียมหาข้อมูล ว่าจะไปที่ไหน โดยชื่อแรกที่คิดถึงก็คือ โกเอ็นก้า เพราะเคยได้ยินชื่อนี้มาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว ตอนนั้นมีน้องที่ทำงาน ngo อีกองค์กรนึง เขาได้ไปปฏิบัติธรรมที่นี่มา เขาก็มาเล่าให้ฟัง ตอนนั้นพี่ยังไม่รู้จักเลยว่าโกเอ็นก้าคืออะไร ตอนนั้นเราก็ยังห่างไกลอยู่มาก เขาก็เลยเล่าให้ฟังว่า เป็นการปฏิบัติวิปัสสนา ไม่พูดกันเลย 10 วัน และเราก็เลยจำชื่อนี้แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันเข้มดี ก็เลยมีชื่อนี้อยู่ในหัวมาตลอด 6-7 ปี จนกระทั่งมาถึงปีนี้ก็เลยลองไปหาข้อมูลทางเว็ปไซต์ พออ่านในรายละเอียดเข้าใจแล้วก็เลยสมัครไป ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม เพื่อที่จะไปปฏิบัติในช่วงเดือนตุลา พี่ได้เตรียมการล่วงหน้าประมาณสามเดือน สำหรับการที่นำตนเองเข้าไปสู่การวิปัสสนากรรมฐานในแนวทางท่านอาจารย์โกเอ็น ก้า พี่เลือกไปที่กาญจนบุรี  ไป 10 วันบวกกับเดินทางไปกลับก็เป็น  12 วัน เพราะว่าไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก และเป็นที่ที่เงียบสงบดี ในการปฏิบัติเมื่อเดือนตุลา ที่ผ่านมา ก็เป็นการผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์มากสำหรับพี่ และก็ได้พบว่าตัวเองโชคดีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการตั้งใจ พอเวลาที่พี่ตั้งใจไป พี่ก็จะเคลียร์งานทุกอย่าง พอไปถึงสถานที่ปฏิบัติ พี่ก็ไม่มีความกังวลเรื่องงาน อย่างที่สองก็คือบอกครอบครัวไว้เรียบร้อยว่าในช่วงนี้ขอปลีกตัวไป ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ครอบครัวก็อนุโมทนายินดี ทั้งพ่อแม่ สามี ลูก อย่างที่สามคือ ตัวเองไม่มีความทุกข์จากการเจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว แม้ว่าในช่วงที่เราจะไปปฏิบัติธรรมนั้น จะมีฝนตกทุกวัน แต่ว่าเราก็ไม่มีอาการป่วยไข้ก็เลยทำให้เรามีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิต ใจ ที่พร้อม ก็เลยทำให้ 10วัน ในการปฏิบัติเข้ม โดยไม่พูดกับใครมันผ่านไปด้วยดี

เราก็ได้เรียนรู้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเยอะมาก จากการที่บอกว่าอ่านหนังสือธรรมะมาไม่รู้ตั้งกี่เล่ม ตั้งหลายปี มาเข้าใจในช่วงของกลางคืนช่วงที่เราปฏิบัติอยู่ที่โกเอ้งก้าทุกๆวัน และแนวทางที่ไปทำวิปัสสนากรรมฐานมันก็ไม่ได้ยากเกินมนุษย์จะทำได้ พี่ก็เลยรู้สึกมีความสุขและอิ่มเอมใจในการปฏิบัติ ที่นั้นตลอดเวลา จนกระทั่งกลับมาก็ได้เอามาใช้อีกที่บ้าน พยายามที่จะนั่งสมาธิได้ทุกวัน เมื่อเช้าก็นั่งได้ 15 นาที การนั่งวิปัสสนาสมาธิให้ทำให้ได้ทุกวัน อย่างแรกหลังจากกลับมาจากสถานที่ที่มีความพร้อมเลย คือความขี้เกียจเลย ลุกได้มั้ย ตื่นนอนแล้วลุกขึ้นมานั่งให้ได้ อันนี้คือข้อแรกเลยสำหรับ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่

ตอนนี้พี่ก็อยู่ในระหว่างการฝึกฝน เพราะ 10 วันที่เราไปอยู่ที่นั้น ทุกอย่างที่เราทำมันอยู่ในตาราง ตื่นตี 4 มานั่งทำเหมือนกับคนอื่นๆแต่พอกลับมาที่บ้านแล้ว ชีวิตมันกลับมาที่เดิม แต่ว่าเราจะจัดการมันได้รึเปล่า ก็พยายามรู้ข้อนี้ และก็พยายามจะทำให้ได้ทุกวันเพราะเราค้นพบว่าในการปฏิบัตินั้นเราได้เรียน รู้เยอะ ได้รู้จักตนเอง ได้รู้เท่าทันกิเลส ของตนเอง และก็เพื่อพัฒนาปัญญาให้ตัวเอง และเมื่อเราแข็งแรงแล้ว ผลบุญหรือสิ่งที่ทำมันก็จะช่วยคนอื่นได้ด้วย และก็เอามาใช้กันการทำงานได้ด้วย ทำให้เราเองได้เข้าใจเรื่องของทุกข์ เราเองก็มีทุกข์ คนอื่นก็มีทุกข์ การทำงานร่วมกันคนอื่นก็ต้องมีการเข้าอกเข้าใจกัน มีปัญญามีความเมตตาให้กับเพื่อนร่วมงาน นี่ก็น่าจะเป็นผลจากการน้อมนำธรรมะมาใช้

สัมภาษณ์ และ เรียบเรียงโดย ศิริวิภา ศโรภาส
การปฎิบัติวิปัสสนา กรรมฐาน แนวทาง อาจารย์โกเอ็นก้า http://www.thai.dhamma.org/