ซีเอสอาร์ล้มเหลวที่มาบตาพุด และนิเวศอุตสาหกรรม
ทุนนิยมที่มีหัวใจ สฤณี อาชวานันทกุล มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1524

กรณีศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2552 กลายเป็น “ประเด็นร้อน” ในสังคม เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ดูเหมือนเป็น “ขั้วตรงข้าม” กันอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่าสองแสนล้านบาทและรายได้ในอนาคตนับล้านล้านบาท เป็นเดิมพัน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีสุขภาพของคนในชุมชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง ตลอดจนมลพิษทางน้ำและอากาศมานานกว่าสองทศวรรษเป็นเดิมพัน

ดูเผินๆ สองฝั่งนี้อาจเป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้ ทว่าในความเป็นจริง ประสบการณ์มากมายทั่วโลกกำลังชี้ให้เห็นว่า “เศรษฐกิจ” กับ “สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ไม่ใช่สองสิ่งที่เราต้องแลกหรือต้องเลือกอีกต่อไปแล้วในศตวรรษที่ 21

อยู่ที่ว่าเราจะเปิดหูเปิดตาให้ไกลพอที่จะมองเห็นประสบการณ์อันมีค่า เหล่านั้นหรือไม่ และเหนือสิ่งอื่นใด เราจะเปิดใจให้กว้างพอที่จะยอมรับหรือเปล่าว่า คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมี “มูลค่า” ที่มิอาจวัดเป็นตัวเลข และถ้าคนอยู่ไม่เป็นสุข เศรษฐกิจของประเทศก็ไม่มีวันจะเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนได้ ไม่ว่าในระยะสั้นโครงการนั้นจะสร้างงานได้กี่พันหรือกี่หมื่นตำแหน่ง ทำรายได้เข้าประเทศได้ปีละกี่แสนล้านบาทก็ตาม

ผู้เขียนคิดว่าคำสั่งศาลในครั้งนี้อาจมีลักษณะตีขลุมเหมารวมเกินไป เมื่อคำนึงว่า 76 โครงการที่ศาลสั่งระงับนั้นรวมบางโครงการที่ไม่น่าจะเข้าข่าย “โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ” ตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ

โครงการใดก็ตามที่เข้าข่ายมาตรา 67 นอกจากจะต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามปกติแล้ว ยังต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งรายงานทั้งหมดนี้ให้ “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ให้ความเห็นประกอบอีกชั้นหนึ่ง

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ละเลยที่จะทำตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกประกาศว่าโครงการแบบไหนเข้าข่ายมาตรา 67, การจัดตั้งองค์การอิสระ, หรือการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเอชไอเอ ซึ่งตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 (“กฎหมายสุขภาพ”) หมายถึงกฎเกณฑ์ วิธีการติดตามประเมินผลระบบสุขภาพและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบาย สาธารณะ ตามมาตรา 25(5) ในกฎหมายสุขภาพ

ในคดีล่าสุด ชาวบ้านในชุมชนมาบตาพุด ร่วมกับสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ก็อาศัยสิทธิตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ประกอบกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 ฟ้องหน่วยงานของรัฐที่ละเลยไม่อนุวัตรตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ประกาศใช้มากว่าสองปีแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าชาวบ้านไม่ฟ้องร้อง ภาครัฐก็จะยังละเลยที่จะอนุวัตรตามกฎหมายต่อไป

ในแง่นี้ เราต้องขอบคุณชาวบ้านมาบตาพุด ที่ออกมาทวงถามสิทธิแทนคนไทยทั้งประเทศ

ไม่ว่าคำสั่งศาลในครั้งนี้จะเหมารวมเกินไปจริงหรือไม่ ไม่ว่าความล่าช้าของภาครัฐในการทำตามรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เกิดจากความจงใจหรือ ชะล่าใจ แต่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจริงหรือไม่

และ ไม่ว่ากรณีนี้จะเป็นเรื่อง “ปลาเน่าไม่กี่ตัวทำเหม็นทั้งข้อง” มากกว่า “ปลาเน่าหลายตัวรวมหัวกันปิดข่าว” จริงหรือไม่ ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กรณีที่มาบตาพุดชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากฎหมายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพในอดีตของไทยทั้งไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิผลพอที่จะสร้างความ เชื่อมั่นให้กับชาวบ้านว่าปัญหามลพิษจะหมดไป

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ทุกโครงการในมาบตาพุดทำรายงานอีไอเอ “ผ่าน” ทั้งสิ้น แต่ปัญหามลพิษกลับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนชาวบ้านเดือดร้อนอย่างรุนแรง น้ำประปาไม่มีใช้ น้ำฝนและน้ำบ่อตื้นก็ปนเปื้อนจนกินไม่ได้ แถมยังป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดมกลิ่นเหม็นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มี “พื้นที่กันชน” ระหว่างโรงงานกับชุมชน ทนเห็นขยะพิษอุตสาหกรรมที่ถูกลักลอบมาทิ้งแทนที่จะกำจัด ฯลฯ

ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา “ภาวะซีเอสอาร์ล้มเหลว” ในนิคมมาบตาพุด จึงต้องอยู่ที่การยอมรับของทุกภาคส่วนว่าทั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ และการบังคับใช้ที่ผ่านมามีปัญหา ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกลไกใหม่ตามมาตรา 67 และกฎหมายสุขภาพ ที่จะใช้การได้จริงไปตลอดรอดฝั่ง

“ตลอดรอดฝั่ง” หมายความว่า มีมาตรการป้องกันปัญหา ติดตามประเมินผล และชดเชยผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างเป็นธรรมและทันท่วงที พร้อมทำ “แบบจำลองศักยภาพในการรองรับมลพิษ” ของนิคมมาบตาพุดซึ่งค้างคามากว่า 1 ทศวรรษให้เสร็จเสียที ทุกฝ่ายจะได้รู้ว่าตกลงพื้นที่มาบตาพุดรองรับโรงงานได้จริงๆ เท่าไร มลพิษถึงขีดอันตรายจนไม่ควรเสี่ยงสร้างหรือขยายโครงการใดๆ อีกแล้วหรือไม่

ถ้านักลงทุนที่ลงทุนในโครงการที่ถูกระงับมองว่าปัญหาในครั้งนี้เป็นการ “แก้กติกาย้อนหลัง” อย่างไม่เป็นธรรม ภาครัฐและภาคธุรกิจก็มีหน้าที่อธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่การมุ่งแก้กติกาย้อนหลัง หากเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในทางที่ควรจะสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถ้าภาคธุรกิจจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้นในอนาคต มันก็ไม่ใช่ต้นทุนใหม่ หากเป็นต้นทุนเก่าที่สิ่งแวดล้อมและชุมชนต้องแบกรับในอดีต โดยที่ธุรกิจมองไม่เห็นหรือไม่ยอมรับรู้

บริษัททั่วโลกหลายแห่งมีบทเรียนราคาแพงแล้วว่า ถ้าธุรกิจลงทุนในเทคโนโลยีป้องกัน กำจัด และบำบัดมลพิษอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ต้นทุนที่เสียไปก็น่าจะคุ้มค่า เพราะความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการฟ้องร้องของชาวบ้านที่เดือดร้อนจะ มากกว่านั้นหลายเท่า ไม่นับความเสียหายทางอ้อมจากการสูญเสียชื่อเสียง ผู้บริโภคต่อต้าน ฯลฯ

ส่วนประเด็น “ความพอดี” ของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ว่าจะเข้มงวดเกินเลยมาตรฐานสากลจนทำให้ธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือไม่ จะ “หน่อมแน้ม” เกินไปจนสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่แก้ปัญหาจริงหรือไม่นั้น คงยังไม่มีใครตอบได้เพราะกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องยังไม่คลอด ต้องรอดูกันต่อไป

แรงกดดันมหาศาลจากคำสั่งศาล ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ 2 แห่ง คือจังหวัดระยอง และพื้นที่ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ให้เป็น “เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Industrial Town)

มติ ครม. ดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีถ้าทำได้จริง ผู้เขียนเองไม่เชื่อว่าจะทำได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ภายในระยะเวลา 4-5 ปี เพราะคำว่า “ระบบนิเวศอุตสาหกรรม” (eco-industrial system) นั้นเป็นคำใหญ่ เรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องใหม่ ในโลกยังมีนิคมแบบนี้ไม่มาก ทั้งยังต้องใช้วิสัยทัศน์อย่างสูงตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ นึกจะแปลงโฉมนิคมที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนักให้เป็นนิเวศอุตสาหกรรมก็ทำ ได้เลย

แนวคิดเรื่องนิเวศอุตสาหกรรมมีที่มาจากการสังเกตระบบนิเวศในธรรมชาติว่า ระบบนิเวศโดยรวมไม่มี “ของเสีย” เพราะ “ของเสีย” จากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งทำประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เช่น อุจจาระของมนุษย์ทำให้พืชผักเจริญงอกงาม ดังนั้น “นิเวศอุตสาหกรรม” จึงหมายถึงระบบที่ไร้ของเสีย (zero waste) อย่างสิ้นเชิง เพราะของเสียจากโรงงานหนึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานหรือกิจกรรม อื่นในพื้นที่เดียวกันได้

นิเวศอุตสาหกรรมแห่งแรกๆ ของโลก และจวบจนปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักดีที่สุด คือเมืองคาลุนด์บอร์ก (Kalundborg) ประเทศเดนมาร์ก ประเทศที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานกว่าสามทศวรรษ ผู้มีส่วนได้เสียในนิเวศอุตสาหกรรมคาลุนด์บอร์กมีตั้งแต่โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตซีเมนต์ ประมง ฟาร์มเลี้ยงหมู เกษตรกรรายย่อย เทศบาลเมืองคาลุนด์บอร์ก ฯลฯ ระบบนี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่แรกให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายในการ กำจัดของเสีย ปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และสร้างผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่นน้ำมันสามารถกักเก็บก๊าซที่เคยพุ่งออกมาจากปล่อง ขายให้กับโรงไฟฟ้า ช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงถ่านหินได้ถึงปีละ 30,000 ตัน แร่ยิปซัมจากโรงไฟฟ้านำไปใช้ทำแผ่นปลาสเตอร์ปิดผนัง ลมร้อนทิ้ง (waste heat) จากโรงไฟฟ้านำไปเลี้ยงปลาและให้ความร้อนกับบ้านเรือนในเขตเทศบาล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่มี “ของเสีย” ใดเลยที่สิ้นเปลืองไม่มีคนใช้ ดูภาพรวมของระบบได้ในแผนภูมิด้านล่าง –

การเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ “นิเวศอุตสาหกรรม” ที่เป็นรูปธรรมแบบคาลุนด์บอร์กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งวิสัยทัศน์ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีล่าสุดที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันการพัฒนาอย่างยั่งยืนนานาชาติ (International Institute for Sustainable Development: ไอไอเอสดี, เว็บไซต์ http://www.iisd.org/) ระบุว่า เราอาจแบ่งเทคโนโลยีทั้งหมดออกเป็นสี่ “รุ่น” ด้วยกัน ได้แก่ เทคโนโลยีแก้ปัญหา, บรรเทาปัญหา, ป้องกันปัญหา และเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

โดยเทคโนโลยีสองประเภทสุดท้ายนั้นเป็นเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดที่จำเป็นต่อ การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม เพราะใช้ในการสร้าง “จุดเชื่อม” ระหว่างกิจกรรมต่างๆ แต่ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก

ไอไอเอสดีสรุปเทคโนโลยีสี่รุ่นดังกล่าวว่ามีลักษณะคร่าวๆ ดังต่อไปนี้ –

1. เทคโนโลยีแก้ปัญหา : หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้ต่อเมื่อปัญหา (มลพิษ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงมีราคาแพง เปรียบเสมือนการแก้ที่อาการอย่างเดียว ไม่ใช่ที่รากสาเหตุ ตัวอย่างของเทคโนโลยีประเภทนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีฟื้นฟูหน้าดิน, เทคโนโลยีชำระล้างพื้นที่มีพิษ, เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

2. เทคโนโลยีบรรเทาปัญหา : มุ่งกักเก็บสารพิษหรือบำบัดสารพิษที่ปลายท่อ (end-of-pipe) ก่อนปล่อยไปภายนอกโรงงาน เทคโนโลยีประเภทนี้มีราคาค่อนข้างแพงและต้องใช้เงิน พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ และสร้างไอน้ำทิ้ง (waste steam) เป็น “ของเสีย” ตัวอย่างของเทคโนโลยีประเภทนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีการจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากก๊าซเชื้อเพลิง (flue gas desulfurization), หม้อพักลดเสียง (catalytic mufflers) ฯลฯ

3. เทคโนโลยีป้องกันมลพิษ : มุ่งป้องกันมลพิษ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบกระบวนการอุตสาหกรรม หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีประเภทนี้เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือตัวสินค้า เพื่อลดหรือป้องกันมลพิษ คุ้มค่ากว่าเทคโนโลยีบรรเทาปัญหา และลดการปล่อยไอน้ำทิ้งด้วย ตัวอย่างของเทคโนโลยีประเภทนี้ ได้แก่ กระดาษปลอดสารคลอรีน, กระบวนการเคลือบโลหะปลอดสารไซยาไนด์, น้ำมันปลอดสารตะกั่ว, และการออกแบบกระบวนการอุตสาหกรรมอื่นๆ

4. เทคโนโลยีที่ยั่งยืน : มุ่งออกแบบสินค้าหรือบริการใหม่ที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเทคโนโลยีประเภทนี้ ได้แก่ หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน, กระดาษรีไซเคิล, พลังงานทดแทน ฯลฯ

ก่อนที่นิเวศอุตสาหกรรมจะเกิดได้อย่างจริง ภาครัฐจะต้องมองเห็นและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีประเภท “ป้องกัน” และ “ยั่งยืน” มากกว่าเทคโนโลยีประเภท “แก้” และ “บรรเทา” รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่บริษัทจะได้รับในระยะ ยาวจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจ

เพราะ “ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นั้นปัจจุบันมีเหตุผลทางธุรกิจพร้อมมูลแล้ว อยู่ที่ว่าบริษัทจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอที่จะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น.

 

Credit : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q4/2009october30p8.htm