“จำเลยสามารถร้องขอค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายได้ หากศาลพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดหรือมีการถอนฟ้องระหว่าง ดำเนินคดีตาม พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 หรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำอันเกิดจากความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมได้รับการชดใช้จากหน่วยงานนั้น”
คำพูดมั่นอกมั่นใจจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ คงพอทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เฝ้าติดตามข่าว สถานการณ์ความไม่สงบจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เชื่อมั่นกับมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนเป็นไปตามครรลองที่ถูกที่ควรและ เหมาะสมยิ่งแล้ว เพราะหากกระบวนการยุติธรรม ต้องทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับโทษที่ไม่ได้ก่อก็สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการ ชดเชยและเยียวยา

หากแต่ในความเป็นจริงกลับตรงข้าม จากประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครนักกฎหมายที่ได้ลงไปทำงานในพื้นที่และพบเห็น ขั้นตอนการชดเชยและเยียวยาที่ดูเหมือนจะยากเย็นแสนเข็น อีกทั้งหลักการสุดหิน ในการพิจารณา และช่องโหว่ของกฎหมายที่ใหญ่พอจะทำให้ผู้บริสุทธิ์หลุดเข้าไปอยู่ในวังวนของ ความไม่เป็นธรรมอีกครั้ง ทั้งที่วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่า ใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 คือ การมุ่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ประเด็นที่จะหยิบยกให้เห็น ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความไม่ครอบคลุมในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่ หลายส่วนเช่น กรณีคนหาย ที่เห็นได้ชัดคือกรณีทนายสมชาย กฎหมายระบุว่าต้องเป็น”ผู้เสียหาย”กล่าวคือต้องเป็นที่บุคคลที่ถูกผู้อื่น กระทำความผิดทางอาญา กรณีคนหายจึงได้รับการวินัยฉัยว่า ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติได้ว่า มีการกระทำทางอาญาเกิดขึ้น ทั้งที่คนในครอบครัวหายไปทั้งคนแล้วแต่กลับถูกปฏิเสธด้วยข้อกฎหมาย ที่ว่ากันว่ามีวัตถุประสงค์ในทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรจะง่ายต่อการเข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบ

อีกประเด็นคือค่าทดแทนจำเลยในคดีอาญา มีสาระสำคัญว่า “จำเลยต้องไม่เป็นผู้กระทำผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดและมีการถอนฟ้อง (ฟ้องผิดตัว)” ซึ่งส่วนใหญ่ในทางพิจารณา ศาลจะมีคำพิพากษาว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” กล่าวคือ บุคคลนั้นพ้นผิดแต่ยังอาจจะมีข้อสงสัยอยู่ เพราะการที่บุคคลถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ย่อมมีหลักฐานจากฝ่ายที่กล่าวอ้างว่ามีการกระทำผิด ส่งผลทำให้จำเลยพ้นจากความผิดแต่ไม่ได้รับค่าทดแทนกันไปตามหลักของกฎหมาย

อีกทั้งขั้นตอนในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องได้รับความเห็นจากสามฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง โดยต้องให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่ สงบ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ข้อมูลคงไม่ต่างกันมาก เนื่องจากมีแหล่งข่าวหรือฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งเป็นการตัดโอกาสสำหรับบางคน ที่อาจไม่ถูกกับแหล่งข่าวหรือขัดแย้งกับแหล่งข่าวไม่ว่าด้านใด ย่อมเป็นการตัดโอกาสที่จะได้รับการเยียวยาไปโดยสิ้นเชิง

หากเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมั่นอกมั่นใจและเชื่อมั่นกับกฎหมายที่ตัวเองเป็นผู้ ใช้แต่ผลลัพธ์กลับออกมาตรงข้าม ไหนเลยประชาชนตาดำๆก็คงต้องพึมพำในลำคอต่อไปว่า

“เราต้องบริสุทธิ์หรือเสียหายซักแค่ไหนถึงจะมีสิทธิได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย

เขียนโดย สมสกุล ศรีเมธีกุล