อาตี…คนนำสารจากดอยสู่พื้นราบ
ลดช่องว่างสองวัฒนธรรมบนผืนทองไท

   ใครว่า คนบนดอย และ คนพื้นราบ จะห่างไกลกันแต่ระยะทางเท่านั้น หลายต่อหลายครั้ง “ใจ” ของเราก็พลอยห่างไกลกันตามระยะทางไปด้วย จนคนบนดอยเกิดข้อสงสัยว่า ตัวเขาเองแปลกแยกจากคนไทยคนอื่นๆ หรืออย่างไร เพราะหลายๆ ครั้งก็ถูกเลือกปฏิบัติให้ต้องเสียความรู้สึก…อาตี เฌอมือ ชาวเขาเผ่าอ่าข่าในวัย 27 ปี โตพอที่จะรู้เรื่องราวทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้านได้ดี บอกว่า เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่อดรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้

เมื่อกว่าหกปีที่แล้ว สังคมไทยคงพอจำกันได้ดี คนบนดอยที่โดยมากเป็นคนชนเผ่าถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นบนหน้าสื่อหลายแขนง ที่มากหน่อยเห็นจะเป็นละครที่หยิบยกเรื่องราวของคนชนเผ่ามาหยอกล้อกันอย่าง สนุกสนานด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าคนชาวเขาสกปรก ไม่อาบน้ำ โดดลงน้ำก็ทำให้ปลาตาย ครั้นจะพูดไทยก็พูดได้ไม่ชัด ฯลฯ ดูๆ ไปแล้วแม้จะเป็นการกระทำด้วยความเอ็นดูตามประสาของคนพื้นราบที่นิยมการหยอก ล้อ แต่คนที่ถูกล้อก็ใช่ว่าจะสนุกสนานไปด้วย

 

ยังไม่รวมเนื้อหาของบทเพลงบางเพลงที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง “ลานสาวกอด” หรือลานกอดสาวในบทเพลงบทหนึ่งก็หาใช่มีจริงตามแต่นักดนตรีจะพบเห็นและตีความ ไปตามความรู้สึก จะมีก็แต่ลานวัฒนธรรมที่คนในหมู่บ้านอ่าข่าจะมาพบปะพูดคุยกัน เช่นเดียวกับ “มิดะ” ในบทบาทของหญิงผู้สอนบทรักให้ผู้ชายชาวเขาก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่มีมูลความ เป็นจริง ทว่าภาพลักษณ์และสายตาที่คนพื้นราบมองคนชนเผ่าว่าเป็นพวกฟรีเซ็กซ์มันก็เสีย ไปหมดแล้ว…

อาตี บอกว่า คนดอยหรือคนชนเผ่าอย่างเขาไม่ได้ต้องการอะไรจากสังคมมากเป็นพิเศษ แต่อยากให้สังคมมองและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างให้เกียรติเหมือนเขาเป็นคนไทยคน หนึ่งด้วย อย่างน้อยๆ ก็มองเขาตามความเป็นจริง อย่าด่วนตัดสินกันตั้งแต่แรกเห็น อย่างที่ว่าคนชนเผ่ามักค้ายาเสพติด ชอบตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย หากเป็นอดีต สามสิบปีที่แล้วคงมีที่เป็นจริงบ้าง แต่ตอนนี้คงไม่มีภาพอย่างนั้นอีกแล้ว

“ผมเคยแต่งชุดชาวเขาขี่รถมอเตอร์ไซด์ เจ้าหน้าที่เห็นก็บอกให้หยุดรถแล้วถามว่า ขนยามาหรือเปล่า ผมก็รู้สึกน้อยใจ อดคิดไม่ได้ว่าทำไมเราต้องโดนแบบนี้ ทำไมต้องคิดว่าคนชาวเขาจะต้องค้ายา เราไม่เหมือนคนไทยคนอื่นหรือเปล่า” อาตีในชุดชนเผ่าชาวอ่าข่าเล่าถึงอคติที่คนพื้นราบมองคนชนเผ่า ซึ่งไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังรวมถึงบุคคลซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่หยิบเรื่องราวของคนชนเผ่ามา หยอกล้อ จนทำให้เด็กชนเผ่าที่ร่าเริงหลายต่อหลายคนอายและกลายเป็นคนเงียบ กลายเป็นคนไม่พูด

“เด็กชนเผ่าหลายคนจะใช้นามสกุลว่า มาเยอะ ครูเห็นก็จะถามเลยว่า ทำไมมาเยอะล่ะ มาน้อยๆ ไม่ได้เหรอ เด็กที่หัวไวหน่อยก็อาจตอบกลับไปว่า มาเยอะก็ดีกว่ามาน้อยนี่ แต่เด็กที่จะตอบกลับไปก็คงมีไม่มาก”

 

   

จากส่วนหนึ่งของตัวอย่างปัญหาเหล่านี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของอาตี -ชาวอ่าข่าผู้นี้ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงาน พิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ เมื่อครั้งที่มูลนิธิกระจกเงานำโครงการไปชักชวนโดยการสนับสนุนของมูลนิธิ ร๊อกกี้เฟลเลอร์ ที่เน้นไปที่การศึกษา วิเคราะห์ เก็บรวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนชนเผ่านับสิบกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เฉพาะแต่คนบนดอย ทั้ง อ่าข่า ลาหู่ ปกาเกอะญอ คะฉิ่น ดาราอั้ง ม้ง เมี่ยน ลีซู มลาบี มอแกน อย่างการผลิตสื่อ อาทิ หนังสารคดีชนเผ่าถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดช่องว่างระหว่างใจถึงใจของคนพื้นราบและคนบนดอย อาตีบอกว่า ตอนนั้นเขาได้อาสาเป็นแกนนำเยาวชนในหมู่บ้านเข้าทำโครงการในทันที “ผมบอกเขาว่าผมจะทำเลย ไม่ต้องจ้างผมก็ได้ ผมอยากจะทำ” โดยเมื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานแล้ว อาตีได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลคนชนเผ่า ได้เดินทางไปต่างถิ่น ได้เห็น ได้สัมผัส และมีส่วนช่วยให้คนชนเผ่าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้รื้อฟื้นทวนความจำเพื่อ ทำความรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งก็รวมถึงตัวของเขาเองด้วย

การทำงานส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ยังดึงเยาวชนในชนเผ่าเข้ามามี ส่วนร่วม และมีผู้รู้จริงในชุมชนถ่ายทอดเรื่องราว ผลงานเหล่านี้คลิกเข้าชมได้ที่ www.hilltribe.org  อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนพื้นราบเข้าถึงข้อมูลของคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นับสิบชนเผ่าได้ตามความเป็นจริง ลดความคลาดเคลื่อนเพราะช่องว่างทางภาษา ตัดทอนอคติและความเข้าใจผิดจากการพานพบที่ฉาบฉวย ขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางให้คนชนเผ่าได้มีสิทธิ์มีเสียง ได้เรียกคืนสิทธิและศักดิ์ศรีให้เสมอภาค เท่าเทียมกับเขาได้

ผล การทำงานหนักตลอดหกปีที่ผ่านมา อาตีบอกว่า สังคมก็เข้าใจคนชนเผ่าขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่ทั้งหมด ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นเพราะคนชนเผ่าออกมาเรียกร้อง ที่มีการศึกษาสูงก็มีมากขึ้น คนเฒ่าคนแก่หรือคนในชุมชนเวลามีคนต่างถิ่นมาขอข้อมูลก็จะให้เท่าที่รู้ อันไหนไม่มั่นใจก็จะชี้ตรงมาที่ศูนย์ให้ศูนย์เป็นคนให้ข้อมูลแทน ความเข้าใจผิดก็เกิดได้ยากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ การคงศักดิ์ศรีของคนชนเผ่ายังอยู่ที่การส่งไม้ต่อไม่ให้ขาดช่วง ทีมงานจำนวนเพียงหกชีวิตของพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ยังมีส่วนร่วมในการปลูก ฝังจิตสำนึกรักษ์วัฒนธรรมชาวเขาให้แก่เด็กชนเผ่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญของชุมชน อย่างพิธีโล้ชิงช้า ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อดึงดูดความสนใจเด็กๆ มากขึ้น แต่ยังคงแก่นแท้ของพิธีกรรมเอาไว้

พร้อมกันนั้นก็ชักชวนให้เด็กๆ ทำวิจัยเล็กๆ เกี่ยวกับชุมชนตนเอง เป็นงานเขียนกึ่งๆ วิชาการ แต่ไม่ลงลึกมากนักซึ่งจะยากเกินไปสำหรับเด็กๆ บางทีก็เอาสารคดีที่ทำไว้ออกฉายสร้างสำนึก จุดประสงค์แท้ๆ ก็เพื่อไม่ให้เยาวชนคนเผ่าลืมตัวตน และทำให้ความเป็นคนชนเผ่าสูญหาย

“สิ่ง ที่ผมกลัวมากที่สุดคือเรื่องราวของชนเผ่าจะกลายเป็นเพียงตำนาน เพราะว่าตอนนี้ก็เริ่มสูญหายไปบ้างแล้ว กลัวว่าอีกห้าสิบปีข้างหน้าคนชนเผ่าอย่างอ่าข่าจะลืมไปแล้วว่าเรามีพิธีโล้ ชิงช้า เราเคยมีเทศกาลปีใหม่ลูกข่าง ไม่มีการสืบต่อพิธีกรรมต่างๆ” อาตีเล่าความรู้สึก ที่เขากลัวเช่นนี้ใช่ว่ากลัวแบบไร้เหตุผลเพราะเวลานี้ เด็กๆ ชนเผ่าก็มีโอกาสออกจากชุมชนไปโรงเรียนกันมาก โอกาสที่จะได้ร่วมทำพิธีกรรมของชุมชนก็น้อย

“เราก็ทำอะไรมากไม่ได้ ความเจริญเข้าไป ทีวีเข้าไป มันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราเองก็มีส่วนจัดกิจกรรมวัฒนธรรมให้เขาสืบต่อ อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้างให้ทันสมัยขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพิธีกรรมเราจะไม่เปลี่ยน แต่เราให้คนรุ่นใหม่ร่วมคิดร่วมทำมากขึ้น…”

แม้ปัจจุบัน อาตีมีครอบครัวแล้ว มีไร่นา มีภรรยา และมีลูกสาวในวัยน่ารักน่าเอ็นดูให้ดูแล กระนั้นหนุ่มผู้รักและผูกพันในวิถีชนเผ่ารายนี้ก็ไม่ละทิ้งประกายความฝันที่ จะสานต่อ เขาภูมิใจที่เขามีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดวัฒนธรรมนั้นๆ ความฝันอันสูงสุด คือ อยากศึกษาเรื่องราวของคนชนเผ่ามากขึ้น เพื่อเป็นคนที่รู้จริง และสามารถถ่ายทอดวิถีชนคนเผ่าให้สังคมรู้จักพวกเขาอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติต่อกันไม่เหมือนคนแปลกหน้าเหมือนที่ผ่านๆ มา