โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม 2553

“โลกที่เราจากมาไม่มีสีเขียวอีกแล้ว พวกเขาฆ่าแม่ตัวเอง และกำลังทำอย่างนั้นกับที่นี่” – นี้อาจจะเป็นสาสน์ที่ทรงพลังที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร ตำนานใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นบนแผ่นฟิล์มในต้นศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อหญิงสาวต้องฆ่าเพื่อช่วยชีวิต เธอก็มิได้ยินดีในการฆ่าแม้แต่น้อย และเมื่อชายหนุ่มผู้เป็นศิษย์แสดงให้เห็นถึงการฆ่าที่ปราศจากความกระหายหรือ ละโมบในชีวิต เธอก็ถึงกับเอ่ยปากว่า “เป็นการประหารที่ประณีตหมดจด”

แม้ในการใช้สัตว์เป็นพาหนะ การสร้างความผูกพันด้วยการผูกโยงอวัยวะของกันและกันไว้เพื่อสื่อสารเชื่อม โยงนั้นเป็นมากกว่าการทำตัวเป็นเจ้าชีวิตเหนืออีกชีวิตหนึ่ง

แม้จะรู้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต แต่การสื่อสารพูดคุยระหว่างต้นไม้ กระทั่งข้ามเผ่าพันธุ์ชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดสำหรับชาวเนวี

ส่วนตัวละครมนุษย์ของเราในภาพยนตร์นั้นก็คงไม่ต่างจากพวกเราเท่าไหร่นัก ที่มองเห็นแต่ว่า ณ ดวงดาวอันไกลโพ้นที่อุตส่าห์กระเสือกกระสนเดินทางไปจนถึงนั้น มีแร่มูลค่ายิ่งกว่าทองรอให้ขุด และถ้ามีชาวบ้านสร้างบ้านนั่งทับเหมืองนั้นอยู่ ก็แค่ไล่ตะเพิดไปให้พ้นก็เป็นพอ ไหนเลยจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านนั้นกำลังปกปักรักษานิเวศน์ชีวาลัย อันเป็นหัวใจแห่งสรรพชีวีและชีวาอาตมันของดาวแพนโดราแห่งนั้น

เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกาอย่างอินเดียน แดง ได้ยินตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ผสานสอดคล้องกับธรรมชาติ และการศิโรราบสยบยอมต่อมารดาบิดาและบรรพบุรุษอันศักดิ์สิทธิ์ – ภาพเหล่านั้นดูเหมือนจะปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นกับตาด้วยเทคโนโลยีชั้นเลิศใน การถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว

แต่เรื่องราวดังกล่าวในภาพยนตร์เป็นแต่เพียงผลผลิตของจินตนาการเพ้อฝันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอันทรงพลังล่ะหรือ?

แนวคิดที่ว่าชีวาลัยอย่างโลก หรือดาวแพนโดรา เป็นสิ่งมีชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ดังที่เจมส์ เลิฟล็อก ได้นำเสนอทฤษฎีกายา ที่ว่าด้วยโลกมีชีวิต ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. ๑๙๖๐ ขณะที่ประจำอยู่ที่องค์การนาซ่า

ทฤษฎีกายาชี้เสนอว่า โลกเป็นระบบที่จัดการตัวเอง สามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลผ่านกลไกทางชีวภาพ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เป็นต้นว่า มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มตัวเองทำให้น้ำบนโลกไม่ระเหยไปจนหมด สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน ทำให้มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ ทั้งที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางใกล้เคียงกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ชั้นบรรยากาศของโลกเกิดขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่า โลกและชีวิตบนโลกนั้นล้วนต่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันอยู่ในที

แม้จะถูกโจมตีจากวงการวิทยาศาสตร์อย่างหนัก เพราะดูเหมือนเป็นการลากเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปปนเปื้อนกับความเชื่อทางจิต วิญญาณ แต่อิทธิพลของแนวคิดจากทฤษฎีกายานั้นก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทีเดียว ดังที่ได้เห็นจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร หรือแม้แต่ภาพของต้นไม้พูดได้เดินได้ที่ลุกขึ้นมารื้อเขื่อนในเรื่องลอร์ดออ ฟเดอะริง จิตวิญญาณของแม่โลกในอนิเมชันเรื่องไฟนอลแฟนตาซีของฮอลลีวู้ด และพบได้ทั่วไปจากอนิเมชันจากญี่ปุ่นอย่างเรื่อง อรชุน (Arjuna) หรือ อีวานเกเลียน (Evangelion) เป็นต้น

ส่วนแนวคิดที่ว่าสัตว์และต้นไม้เป็นสิ่งชีวิตที่มีสติปัญญาและสามารถสื่อ สาร กันได้ก็เริ่มมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมารองรับกันมากขึ้น ดังเช่นงานของ ศ. อันโธนี เทรวาวัส แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอร์ก ซึ่งยืนยันว่า พืชมีเจตจำนง ตัดสินใจได้ คำนวณได้ จำได้ ดังที่สามารถยื่นกิ่งก้านสาขาไปในตำแหน่งที่จะได้รับแสงมากที่สุด รู้ถึงวิธีการคำนวณหาจุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงและจุดศูนย์ถ่วง พืชบางชนิด เช่น ยาสูบ เมื่อถูกแมลงกัดเจาะก็จะส่งสารเคมีบางอย่างออกมา ทำให้ลำต้นหนาขึ้น และสามารถส่งข่าวไปยังต้นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ด้วย

ทฤษฎีว่าด้วยความ “ล่มสลาย” ของ จาเร็ด ไดมอนด์ นั้นยืนยันอย่างชัดเจนว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมือมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการล่มสลายของ อารยธรรมหรือสังคมหนึ่ง เขายังมีข้อสังเกตอันแหลมคมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาว่า ในหลายพื้นที่ แทบไม่มีความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูกับเผ่าทุตซีเลย แต่กลับมีการสวมรอยฆาตกรรม และแรงผลักดันหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากประชากรจำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงชีพปลูกผักเลี้ยงสัตว์ได้ด้วยผืน ดินที่ครอบครองกันอยู่เพียงน้อยนิด

และถ้าเราจัดอันดับประเทศยากจนสิบอันดับแรกของโลก กับประเทศที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมสิบอันดับแรกของโลก ดูเหมือนว่ารายชื่อประเทศจะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่นัก

และถ้าตระหนักว่า โลกใบนี้มีอายุยืนยาวมากกว่าเซลล์แรกราว ๑ พันล้านปี และอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง ๕ ครั้ง กระแสความสนใจสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกเสียจาก “การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์บนดาวโลกอันมีชีวิตเก่าแก่ นี้”

หากมองตำนานในฐานะภาพสะท้อนจิตวิญญาณภายในของปัจเจกที่สัมพันธ์เชื่อมโยง กับ สรรพสิ่งรอบตัว ดังที่ โจเซฟ แคมป์เบลล์ คุรุผู้ยิ่งใหญ่ด้านปกรณัมได้เสนอไว้ ตำนานของมนุษย์ยุคใหม่ที่แสดงตนผ่านภาพยนตร์ร่วมสมัยเหล่านี้ ก็กำลังก่อรูปสร้างรอยปกรณัมร่วมสมัยที่กำลังก่อตัวขึ้นมาบนโลกทัศน์ของการ มองเห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงของความเป็นญาติระหว่างเราและสรรพชีวิตและแร่ ธาตุอื่นๆ บนโลกนี้

อวตารของเราในร่างมนุษย์เห็นจะมีหน้าที่ไม่ต่างกับชาวเนวีแห่งดาวแพนโดรา ใน แง่ที่ว่า เราต้องกลับไปหาจิตวิญญาณของแม่โลก กำซาบซึ้งถึงสายสัมพันธ์แห่งบรรพบุรุษร่วมกัน และส่งต่อจิตวิญญาณดั้งเดิมต่อให้กับคนรุ่นต่อไป