ผมกำลังสนุกกับการได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อาจจะไม่เร้าใจเท่า Courage to Teach ของ พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ แต่การค้นพบบางเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาบอกเล่าในบทความนี้ เป็นหลักฐานการค้นพบอันยิ่งใหญ่มากทีเดียว หนังสือเล่มนี้ชื่อ The Brain That Changes Itself ซึ่งเขียนโดย นายแพทย์นอร์แมน ดอดจ์ (Norman Doidge) ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่นายแพทย์คนนี้เขียนถึง และผมเอาผลงานวิจัยของเขามาเล่า ณ ที่นี้ คือ ไมเคิล เมอร์ซินีช (Michael Merzenich) ซึ่งในแวดวง Plasticity ของสมอง เขาคนนี้นับว่ามีความสำคัญมาก ถึงมากที่สุดเลยทีเดียว

คงต้องไล่เลียงอธิบายคำศัพท์ด้วยกระมังครับ คือคำว่า plasticity ของสมองนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สมองไม่ได้ยืดหยุ่นเฉพาะในวัยเด็ก แต่ยังคงยืดหยุ่นตลอดไปจนวันตาย มีการเปลี่ยนแปลงเรียลเอสเตท (real estate) ในสมองได้ คำว่า เรียลเอสเตทในสมอง ก็ต้องการคำอธิบายอีกใช่ไหมครับ คือนักวิทยาศาสตร์เดิมเชื่อว่า เนื้อสมองในแต่ละส่วน ทำหน้าที่แต่ละอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องการบังคับกล้ามเนื้อ นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถระบุได้ว่า สมองส่วนไหนควบคุมกล้ามเนื้อตรงไหน เป็นต้น และเดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว แผนที่เนื้อสมองเหล่านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็น plasticity หรือไม่มีความยืดหยุ่นในเนื้อที่ของสมอง อันนี้เป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงในเรื่องสมอง แนวคิดนี้ (เวลานี้มีหลักฐานและการทดลองยืนยันว่าเป็นจริงแล้ว) บอกว่า แผนที่ในสมองนี้เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น คนที่ตาบอด หากมีการฝึกประสาทสัมผัสปลายนิ้วที่ใช้อ่านอักษรเบลล์ ความสามารถในการสัมผัสก็จะเข้ามาแทนที่เนื้อสมองที่เคยใช้ในการมองเห็น เป็นต้น

ทีนี้ มันมีเรื่อง critical period หรือช่วงวิกฤต เช่นว่า เด็กวัยเท่านี้เท่านั้นที่จะเรียนภาษาได้ดี โดยที่สมองเปิดรับทุกสำเนียงของภาษา แต่หากเลยวัยนี้ไปแล้ว มันจะไปปิดการทำแผนที่ของสมอง สมองก็จะโละเซลล์สมองที่ไม่ได้ใช้งานออกไป เหลือไว้แต่ที่ได้มีการใช้งานจริงเท่านั้น เรื่องนี้หากอ่านในรายละเอียดสนุกมาก แต่ผมจะเล่าไว้อย่างย่อๆ เท่านั้นนะครับ แล้วมันก็จะปิดช่วงวิกฤต หากเราไปเรียนภาษาที่สองหลังจากนั้น ก็พอเรียนได้ แต่ยากเย็นเข็ญใจหน่อย ไม่ใช่ว่าจะเรียนไม่ได้เลย ที่สำคัญคือเสียงพื้นฐานบางอย่าง จะออกไม่ได้เอาเลย เพราะช่วงวิกฤตมันปิดตัวไปแล้ว

เมอร์ซินีชมีบริษัทของเขาเอง และกำลังค้นคว้าทดลองหายาที่จะเปิดช่วงวิกฤตนี้ ที่ปิดแล้วให้เปิดออกอีกครั้ง แล้วเราจะพบว่า วิชาที่ยาก ๆ ก็อาจเรียนได้ง่ายดาย อย่างไม่น่าเชื่อ แต่พูดเรื่องยา หลายคนก็อาจจะหวาดเสียวใช่ไหม? มันมีผลข้างเคียงหรือเปล่าอะไรอย่างนั้น แต่มีอีกช่องทางหนึ่งครับ คือ ความใส่ใจอย่างไม่ธรรมดา ที่กระบวนกรสำนักของเราจะเรียกว่า สภาวะจิตตื่นโพลง โจ ดีสเปนซ่า จากหนังสือ Evolve Your Brain จะใช้คำว่า Optimum Learning State และความใส่ใจอย่างไม่ธรรมดานี้ มีแผนที่ในสมองด้วย อันนี้เองที่บอกเราว่าหากเราฝึกสมาธิ (อย่างถูกทาง) เราจะไปเพิ่มเรียลเอสเตทของความใส่ใจในสมอง หรือพื้นที่ในแผนที่สมองสำหรับความใส่ใจจะขยายใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้นทรงพลังขึ้น ตรงนี้แหละครับ มันไปสามารถเปิดช่วงวิกฤตได้ตลอดกาล แปลว่าอะไร แปลว่า ต่อไปนี้ ชีวิตของเราจะเรียนรู้อะไรก็ได้ง่ายไปหมด ไม่มีอะไรยากเลย ครับ ผมกำลังทดลองวิชานี้ที่โรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่นสองโรง โดยดูแลเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ให้กลับมาเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ขอให้พวกเราตามกันไปดูนะครับ

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มกราคม 2553