รำลึก ถึงนิโคลัส เบนเนตต์
ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม

พระไพศาล วิสาโล

ย้อน หลังไปเมื่อ ๓ ทศวรรษก่อน ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับนักศึกษาธรรมศาสตร์อีกหลายคนที่เข้าห้องเรียนน้อยมาก ตลอด ๔ ปีครึ่งในมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้ามีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน การเรียนรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้นเองมีบุคคลผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้านับถือว่าเป็นครูได้อย่างสนิทใจ บุคคลผู้นั้นคือนิโคลัส เบนเนตต์

นิโคลัส เบนเนตต์ เป็นชาวอังกฤษ เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ โดยมาทำงานเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง ๆ ที่อายุเพียง ๒๘ ปี อีกทั้งเรียนจบมาทางเศรษฐศาสตร์ แต่เขามีประสบการณ์ทางด้านการศึกษามาไม่น้อยกว่า ๕ ปีแล้ว โดยทำงานในประเทศอูกันดาในสมัยอีดีอามิน

ในชั่วเวลาไม่ถึง ๒ ปีที่อยู่เมืองไทย เขาได้รับการยกย่องในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาหัวก้าวหน้าว่าเป็นผู้ที่มี ความคิดเฉียบคมด้านการศึกษา ใช่แต่เท่านั้นเขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูป การศึกษาอย่างจริงจัง งานเขียนของเขาหลายชิ้นตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในวารสารชั้นนำหลายฉบับ เช่น ศูนย์ศึกษา ปาจารยสาร วิทยาสาร ซึ่งเป็นเวทีที่สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างไม่เคยปรากฏมา ก่อน ในช่วงเดียวกันกับที่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้ปลุกสำนึกปัญญาชนให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองขนานใหญ่ ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ ในเวลาต่อมา

ช่วงนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้รู้จักนิโคลัสผ่านงานเขียนดังกล่าว ตอนนั้นยังเข้าใจไปด้วยซ้ำว่าเขาทำงานในต่างประเทศ นิโคลัสเขียนหนังสือได้น่าอ่าน ชัดเจน เป็นระบบ และวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เสนอทางออกที่น่าสนใจ งานเขียนดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาตั้งแต่ยังเป็น นักเรียน

หลัง ๑๔ ตุลา ฯ ประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มที่ การปฏิรูปเกิดขึ้นในหลายวงการรวมทั้งวงการศึกษา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติขึ้นมา แต่ในทางการเมืองนั้นนักศึกษาปัญญาชนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องการปฏิวัติโดยมี สังคมนิยมแบบจีนเป็นแม่แบบ การจับอาวุธเพื่อ “โค่นล้ม นายทุน ขุนศึก ศักดินา” และ “ขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกัน” เป็นคำตอบสำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ข้าพเจ้า เองก็คิดไม่ต่างจากคน หนุ่มสาวเหล่านั้น จนกระทั่งปลายปี ๒๕๑๗ ข้าพเจ้าก็หันมาตั้งคำถามกับความรุนแรง นอกจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์แล้ว นิโคลัสเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าหันมาสมาทานสันติวิธี แม้เขามีความใกล้ชิดกับผู้นำนักศึกษาหลายคนในเวลานั้น แต่ในเรื่องนี้เขาเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง เขาเห็นว่าวิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสันติวิธีเท่านั้น

ข้าพเจ้ารู้ในเวลาต่อมาว่า เขาเคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีที่เจนจัดมากเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ออกซฟอร์ด อีกทั้งยังติดตามงานเขียนใหม่ ๆ ด้านสันติวิธีอยู่เสมอ จึงมีความรู้ลึกซึ้งในด้านสันติวิธีทั้งในด้านทฤษฎีและประสบการณ์ในนานา ประเทศ ช่วงนั้นวิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มอหิงสา คลุกคลีตีโมงอยู่กับนิโคลัส จึงเป็นสะพานเชื่อมให้ข้าพเจ้าได้รู้จักนิโคลัส ต่อมาก็มีโอกาสสนทนากับเขาหลายครั้ง จนค้างคืนที่บ้านเขาก็บ่อย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานกับเขาจนกระทั่งหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ฯ

ตอน นั้นมีนักศึกษาประชาชนกว่า สามพันคนถูกจับด้วยข้อหาร้ายแรงจากเหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีการกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาลอีกหลาย พันคนทั่วประเทศด้วยข้อหาภัยสังคม ขณะที่อีกหลายพันหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐบาล ข้าพเจ้ากับเพื่อนหลายคนทั้งพระและฆราวาสซึ่งห่วงใยในบ้านเมืองว่าจะเกิด สงครามกลางเมืองขึ้น จึงได้ช่วยกันฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมหรือกศส. (ซึ่งตั้งในปี ๒๕๑๙ แต่ก็เหมือนยุบไปหลัง ๖ ตุลา ฯ) โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายท่านทั้งในวงการศาสนาและสิทธิมนุษยชน (เช่น สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ อาจารย์โกศล ศรีสังข์ และอาจารย์โคทม อารียา) ทั้งนี้โดยเน้นหนักเรื่องการรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษ ๖ ตุลา ฯ และการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะเราเชื่อว่ายิ่งมีการกดขี่เบียดเบียนประชาชนน้อยเท่าไร การสมานไมตรีภายในชาติก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่านั้น

ประชา หุตานุวัตรซึ่งตอนนั้นบวชพระอยู่ รู้จักกับนิโคลัสดี ได้ชักชวนนิโคลัสให้มาเป็นกรรมการกศส.ด้วย นิโคลัสไม่ได้เป็นกรรมการแต่ในนาม แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานกศส.ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในนั้น พวกเราทำงานกันเต็มเวลาก็ว่าได้โดยอาศัยบ้านพักของนิโคลัสเป็นที่ประชุมทุก อาทิตย์ (ส่วนสำนักงานตั้งอยู่แถวสีลม) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การติดตามสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด

ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลในตอนนั้น แม้นายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน แต่มีทหารเป็นเกราะกำบัง(เสมือน “เปลือกหอย”) จึงเป็นเผด็จการเต็มที่ ไม่ยอมให้มีใครคิดต่างจากตน สื่อมวลชนถูกปิดปากเป็นประจำ การคัดค้านรัฐบาลทำได้ยากอย่างยิ่ง ในบรรยากาศเช่นนี้ กศส.ซึ่งคอยจับตาการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องรัฐบาลให้เคารพสิทธิมนุษยชน จึงเสี่ยงที่จะถูกป้ายสีจากรัฐบาลว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ และถูกจับเข้าคุกได้ง่ายมาก แต่พวกเราได้ตกลงกันว่าจะทำงานโดยยึดหลักสันติวิธี คือทำงานอย่างเปิดเผย ไม่สนับสนุนการใช้อาวุธโดยฝ่ายใดทั้งสิ้น

ประสบการณ์ในช่วงนั้นนับว่ามีคุณค่ามาก ส่วนหนึ่งก็เพราะข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากนิโคลัสหลายอย่าง ทั้งในด้านชีวิตและการทำงาน นิโคลัสเป็นคนที่ฉลาดมาก จับประเด็นเร็ว และคิดชัด (อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวว่าในเมืองไทยคนที่มีสติปัญญาเฉียบคมจับประเด็นไวที่น่ายกย่องมี เพียง ๓ คนเท่านั้น คือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต และนิโคลัส) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน มีเมตตา แถมยังมีความกล้าหาญอย่างมาก คนที่จะมีคุณสมบัติพร้อมทั้ง ๓ ประการ (ฉลาด สุภาพ และกล้าหาญ)อย่างเขานั้นหาน้อยมาก

นิโคลัสเป็นที่ปรึกษารัฐบาล แต่เขาเคยไม่กลัวภัยใด ๆ จากรัฐบาล ความที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีมาก่อน เขาจึงเป็นเสมือนมันสมองให้กับพวกเราในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องคัดง้างกับรัฐ ตลอด ๓ ปีที่เราทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกึ่งเผด็จการ พวกเรามีโอกาสติดคุกตลอดเวลา เช่นเดียวกับนิโคลัสที่มีโอกาสถูกไล่ออกนอกประเทศ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดกับนิโคลัสซึ่งเป็นคนที่ไม่หวั่นเกรงอำนาจรัฐ ทำให้พวกเรากล้าที่จะทำงานเสี่ยงคุกตะราง

ช่วงนั้นนิโคลัสทำงานทั้งวันและทั้งคืน กลางวันเขาทำงานให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ตกกลางคืนเขาทำงานให้กับกศส. โดยติดต่อต่างประเทศ และทำรายงานสิทธิมนุษยชนเมืองไทยราย ๒ เดือนเป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ทั่วโลก หลัง ๖ ตุลา ฯ รายงานของกศส.เป็นแหล่งข้อมูลเดียวก็ว่าได้ที่ต่างประเทศให้ความเชื่อถือ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากภาคสนามโดยเจ้าหน้าที่ของกศส.เอง (ซึ่งต่อมาบางคนถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ระหว่างลงพื้นที่หาข้อมูล)

ในชั่วเวลาแค่ปีเดียวนิโคลัสได้สร้างเครือข่ายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าส.ส. นักหนังสือพิมพ์ องค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น หลายคนได้มาเยือนพวกเราถึงสำนักงาน ทำให้กศส.เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมาก นี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กศส.ไม่ถูกรัฐบาลเล่นงาน

ควรกล่าวด้วยว่านิโคลัสยังเป็นสื่อกลางระหว่างกศส.กับอาจารย์ป๋วยและมูลนิธิ มิตรไทยที่ประเทศอังกฤษ อาจารย์ป๋วยเป็นคนไทยที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการรณรงค์ต่างประเทศเพื่อปก ป้องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย ก่อนที่จะล้มป่วยเป็นอัมพาตในเดือนกันยายน ๒๕๒๐ คำแนะนำของอาจารย์ป๋วยผ่านนิโคลัส (ซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นจดหมายจากลอนดอนโดยใช้นามว่า Richard Evans) เป็นทั้งกำลังใจและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของพวกเรามาก

แรงกดดันจากนานาประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องร่วม ๒ ปี ทำให้ในที่สุดรัฐบาลไทยต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษคดี ๖ ตุลา ฯ ในเดือนกันยายน ๒๕๒๑ และหลังจากที่บ้านเมืองเปิดกว้างมากขึ้น การเรียกร้องของคนในประเทศร่วมกับแรงกดดันจากต่างประเทศ ก็ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายภัยสังคม ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมคนอย่างไม่มีกำหนดโดยไม่ต้องขึ้นศาล ทั้งหมดนี้ต้องถือว่านิโคลัสมีส่วนอย่างสำคัญ การผ่อนคลายในทางการเมือง โดยเป็นเผด็จการน้อยลง มีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาผู้ที่เข้าป่าได้วางอาวุธกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดสงครามกลางเมืองอย่างเพื่อนบ้าน

นิโคลัสอายุมากกว่าข้าพเจ้า ๑๕ ปี แต่เขาปฏิบัติกับพวกเราเหมือนเพื่อนยิ่งกว่า “ผู้ใหญ่”อีกทั้งยังรับฟังความคิดของเรา และพร้อมรับคำติติง เขาจึงเป็นเสมือนครูที่ส่งเสริมให้พวกเรากล้าคิดกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันมีอุบายในการกระตุ้นให้เราเอาชนะความกลัว เขาพยายามผลักดันให้เราก้าวไปให้ไกลที่สุดจนกว่าจะถึงขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะว่าไปแล้วสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นก็เป็นใจ แม้ความกดดันจะมีมากแต่มันก็ได้รีดเค้นเอาส่วนที่ดี ๆ ของเราออกมามิใช่น้อย โดยเฉพาะการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง พวกเราหลายคนไม่กลัวติดคุกเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบ กับเคราะห์กรรมที่ผู้อื่นประสบอย่างหนักหนาสาหัสในเวลานั้น

อีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนจากนิโคลัสคือ อหิงสธรรม แม้เขาจะเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธีตัวฉกาจ แต่วิถีชีวิตของเขาก็เป็นไปในทางสันติด้วย เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ จริงใจ และยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เขาเป็นคนที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์มาก (แต่ก็ไม่ใจอ่อนจนตามใจเขา) เขาปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่ถือชั้นวรรณะหรือสถานะการศึกษา ทำให้ผู้อื่นสามารถคบกับเขาได้อย่างสนิทใจ

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ปี ๒๕๒๒ นิโคลัสได้ย้ายไปทำงานที่ประเทศเนปาล ที่นั่นเขาได้สร้างคนรุ่นใหม่หลายคน เขาพาคนเหล่านี้ขึ้นเขาไปตามหมู่บ้านกันดารเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาควบคู่กับ การสร้างจิตสำนึก เขาไม่เหมือน “ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก”ทั่วไป เพราะเขาไม่ชอบนั่งวางแผนในห้องแอร์ แต่จะต้องลงพื้นที่และไปอยู่กินกับชาวบ้าน เขาเป็นคนที่อดทนและแข็งแรง สามารถเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ เป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับพาเจ้าหน้าที่พื้นเมืองไปด้วย ทราบว่าหลายคนต่อมาได้เป็นแกนนำในขบวนการต่อต้านรัฐบาลเนปาล

หลังจากอยู่เนปาล ๕ ปี นิโคลัสกลับไปทำงานในแอฟริกาเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี ไม่ว่าที่กานา คาเมรูน หรือเอธิโอเปีย งานที่เขากัดไม่ปล่อยคือการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท เช่นเดียวกับที่เนปาล เขาอยู่ในสำนักงานหรือเมืองหลวงน้อยมาก แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการลงพื้นที่ เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นเมืองและชาวบ้าน โดยใช้ชีวิตแตกต่างกับเขาน้อยมาก

นิโคลัสเป็นนักมนุษยนิยมที่อุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างแข็งขันที่สุดเท่า ที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก
ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ เขาสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายได้ แต่เขากลับเห็นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านเพื่อ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ในระยะหลังเขาออกจะเบื่อหน่ายวัฒนธรรมปัญญาชน ที่เอาแต่อ่าน คิด และเขียน แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ ดังนั้นเขาจึงหันมาใช้ชีวิตแทบจะตรงกันข้าม เขาอ่านหนังสือน้อยลงและแทบไม่มีงานเขียนออกมาเลย ทั้ง ๆ ที่เขาเคยเป็นนักอ่านตัวยงและเป็นนักเขียนที่เก่งมาก ทั้งนี้เพื่อทุ่มเทให้กับการทำงานที่ส่งผลถึงชาวบ้านจริง ๆ แต่ก็ยังดีที่เขาได้เขียนอัตชีวประวัติเอาไว้เล่มหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะชีวิตของเขานั้นโลดโผนและมีสีสันมาก ยากจะมีใครที่มีประสบการณ์ต่อสู้คัดง้างรัฐบาลเผด็จการในนานาประเทศอย่างต่อ เนื่องร่วม ๔๐ ปีอย่างเขา

นิโคลัสเป็นคนที่ต่อต้านระบบ ไม่เชื่อในอำนาจรัฐและไม่ศรัทธาในสถาบันขนาดใหญ่ (เขาเคยพูดถึงตัวเองว่าเป็น authoritarian anarchist) แต่เกือบสองในสามของชีวิตเขาทำงานให้กับองค์กรระดับโลก คือสหประชาชาติ โดยประพฤติตัวเหมือน “ขบถ” ในนั้นโดยตลอด อาจเป็นเพราะเขาต้องการใช้ทรัพยากรขององค์กรเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของผู้ ทุกข์ยาก น่านับถือที่เขาไม่ถูกกลืนโดยวัฒนธรรมองค์กรเหล่านั้นเลย แต่ในเวลาเดียวกันเขาคงรู้สึกแปลกแยกกับผู้คนในองค์กรเหล่านั้นมิใช่น้อย นี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่ยอมปักหลักอยู่ในสำนักงานเลย แม้ต่อมาเขาย้ายไปทำงานที่ธนาคารโลก แต่เขาก็ไม่ยอมอยู่กรุงวอชิงตัน อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ แต่ลงไปทำงานในแอฟริกาเช่นเดิม

นิ โคลัสใช้ชีวิตแบบสมบุกสมบันมา ตลอด จนกระทั่งเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางประสาทกล้ามเนื้อที่เป็นกรรมพันธุ์ พี่ชายเขาเสียชีวิตด้วยโรคนี้หลังจากล้มป่วยไม่นาน แต่นิโคลัสได้ประคองและดูแลรักษาตัวจนสามารถอยู่ได้นานเกือบ ๑๐ ปี

นิโคลัสนับถือพุทธศาสนา เขาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าศรัทธามั่นคงในพระศาสนาและภูมิปัญญาตะวัน ออก รวมทั้งสันติวิธี ภรรยาของเขาคือมองตาเน็ตก็เป็นครูโยคะคนแรกของข้าพเจ้าตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ แม้เขาไม่ค่อยสนใจประเพณีพิธีกรรมและการภาวนาในรูปแบบ แต่เขาก็เป็นชาวพุทธที่แท้ที่มั่นคงในหลักการ เขาเตรียมพร้อมรับมือความตายอยู่ทุกขณะ เขามีอาการหนักจนโคม่าเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ และสิ้นลมเมื่อตี ๒ ของวันถัดมา สิริรวมอายุได้ ๖๘ ปี

ในหนังสือเรื่อง “สร้างสันติด้วยมือเรา” ที่ตีพิมพ์ในปี ๒๕๓๔ ข้าพเจ้าได้เขียนคำอุทิศว่า
“แด่ นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม” จนถึงวันนี้ข้าพเจ้าก็ยังซาบซึ้งในบุญคุณของครูผู้นี้ และจะระลึกถึงตราบจนชีวิตจะหาไม่