นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๐๘ :: กันยายน ๕๓ ปีที่ ๒๖

คอลัมน์รับอรุณ :  ในโชคมีเคราะห์ ในเคราะห์มีโชค
พระไพศาล วิสาโล
สำหรับประเทศที่ยากจนหรือเศรษฐกิจย่ำแย่  คงไม่มีข่าวใดจะดีไปกว่าการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหญ่ เช่น น้ำมัน เพชร ทอง เพราะนั่นหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาล ที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้ประชากรมีงานทำ มีการศึกษา และมีสุขภาพดีขึ้น ประเทศไหนที่สำรวจพบทรัพยากรเหล่านี้ต้องถือว่ามีโชคทีเดียว
แต่ประสบการณ์ในหลายทศวรรษที่ผ่านมากลับชี้ให้เห็นว่า  สิ่งที่เรียกว่า “โชค”นั้น บ่อยครั้งกลับกลายเป็น “เคราะห์”มากกว่า มีหลายประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง การเมืองเลวร้ายมากขึ้น มีการคอร์รัปชั่นหนักกว่าเดิม หลังจากที่มีการค้นพบทรัพยากรดังกล่าว  บางประเทศถึงกับเกิดสงครามกลางเมืองและความรุนแรงที่ยืดเยื้อ เช่น ไนจีเรีย หลังจากค้นพบน้ำมันในปี ๒๔๙๙ ก็เกิดสงครามกลางเมืองและการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าติดต่อกันมาร่วม ครึ่งศตวรรษแล้ว  ในทำนองเดียวกันเมื่อเซียราเลโอนและแองโกลาค้นพบแหล่งเพชร สงครามกลางเมืองก็อุบัติตามมา
รายได้มหาศาลจากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตัวกระตุ้นให้การแย่งชิงอำนาจรัฐรุนแรงเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ยิ่งประเทศยากจนส่วนใหญ่ขาดสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นประชาธิปไตย ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการใช้วิธีการที่ฉ้อฉลและรุนแรงเพื่อครองอำนาจรัฐ โดยมักได้รับการหนุนหลังจากบรรษัทข้ามชาติที่หวังประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติดังกล่าว  แม้เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อำนาจรัฐแล้ว ก็ยังต้องใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งบางครั้งก็สามารถต่อสู้ได้อย่างยืดเยื้อเพราะมีรายได้จากน้ำมันหรือ เพชรมาหนุนหลัง)
พม่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่เผด็จการทหารมีความเข้มแข็งขึ้นหลังจาก การค้นพบแก๊สธรรมชาติ  รายได้อันมหาศาลจากทรัพยากรดังกล่าวถูกนำไปซื้ออาวุธและสร้างเสริมกำลัง ทหารเพื่อปราบปรามประชาชนและชนกลุ่มน้อย  แม้จะเป็นที่รังเกียจของประชาชนค่อนประเทศและถูกกดดันจากนานาชาติมากว่า ๒๐ ปี รัฐบาลทหารก็ยังอยู่ได้และไม่มีทีท่าว่าจะถูกโค่นในเร็ววัน
ส่วนประเทศที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง รายได้มหาศาลจากทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นแรงจูงใจอย่างดีให้นักการเมืองทำการ คอร์รัปชั่น ทั้งโดยการผันเงินนั้นมาเข้ากระเป๋าของตัว หรือรับสินบนจากบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการสัมปทาน  ที่แนบเนียนกว่านั้นก็คือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเพื่อให้พวกพ้องของตนได้ ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าว
มองในแง่เศรษฐกิจ ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลไม่ได้มีเศรษฐกิจดีขึ้นมากมายอย่างที่ใคร ๆ คาดคิด ตรงกันข้ามส่วนใหญ่กลับแย่ลงด้วยซ้ำ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ระหว่างปี ๒๕๐๘-๒๕๔๑ ประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน(โอเปค) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวลดลงร้อยละ ๑.๓ โดยเฉลี่ยต่อปี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานอกกลุ่มโอเปค ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๒ โดยเฉลี่ยต่อปี
ทำไมประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติจึงเติบโตช้ากว่า  สาเหตุมีหลายประการ อาทิ ราคาของทรัพยากรเหล่านี้ในตลาดโลกมักจะผันผวนไม่แน่นอน (โดยเฉพาะน้ำมัน) ในยามที่ราคาในตลาดโลกตกต่ำก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจของ ประเทศเหล่านี้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งการส่งออกทรัพยากรดังกล่าว นอกจากนั้นประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเงินจากต่างชาติมากเพราะ คาดหวังว่าจะมีรายได้จากทรัพยากรเหล่านี้มาจ่ายคืน แต่เมื่อราคาของทรัพยากรดังกล่าวตกต่ำลง ซ้ำร้ายค่าเงินของประเทศนั้นก็ตกด้วย ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ หนี้จึงสะสมพอกพูน และทำให้ค่าเงินตกยิ่งกว่าเดิม จนเกิดวิกฤตขึ้นได้ ดังที่เกิดกับไนจีเรียและเวเนซูเอลาซึ่งมีหนี้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากช่วงที่ น้ำมันมีราคาสูงขึ้น  แต่พอน้ำมันราคาตก เศรษฐกิจจึงพลอยตกต่ำลงไปด้วยจนเกิดวิกฤตในสิบปีต่อมา
โชคที่กลายเป็นเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับนานาประเทศที่ค้นพบทรัพยากร ธรรมชาติมูลค่ามหาศาล จนมีผู้เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า resource curse (คำสาปหรือ “เคราะห์กรรม”จากทรัพยากร)  พูดอย่างภาษาชาวบ้าน ปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างจาก “สามล้อถูกหวย”ในระดับชาตินั่นเอง
(แต่ถึงแม้ไม่ใช่“สามล้อ” หรือประเทศยากจน แต่หาก “ถูกหวย”เมื่อไรก็หนีเคราะห์ดังกล่าวไม่พ้น เช่น เนเทอร์แลนด์ ซึ่งค้นพบแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือเมื่อ ๔๐ ปีก่อน รายได้มหาศาลจากน้ำมันทำให้ค่าแรงในประเทศสูงขึ้น อีกทั้งยังหนุนค่าเงินให้สูงขึ้นด้วย ทำให้สินค้าชนิดอื่นที่เคยส่งออก มีราคาสูงขึ้นมากจนไม่สามารถผลิตและขายในต่างประเทศได้)
อย่างไรก็ตามเมื่อมองให้กว้างแล้วจะพบว่า  แม้แต่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มานับร้อยปีหรือนานกว่านั้น มิใช่เพิ่งพบสมบัติล้ำค่าเมื่อไม่นานมานี้ ก็มักประสบชะตากรรมคล้าย ๆ กัน คือ เศรษฐกิจขาดความมั่นคง การเมืองคอร์รัปชั่น มีคนยากจนมาก ปัญหาสังคมเรื้อรัง อาชญากรรมแพร่ระบาด คนมีการศึกษาน้อย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มี ทรัพยากรน้อยมาก แต่กลับมีเศรษฐกิจมั่นคง สังคมมีเสถียรภาพ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ หลายประเทศในยุโรป ในเอเชียก็ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลประการหนึ่งก็คือประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์นั้น มักจะพึ่งพารายได้จากการส่งออกทรัพยากรดังกล่าว จนมองข้ามการพัฒนาคนหรือเทคโนโลยี  ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้จากการขายทรัพย์ในดินสินในน้ำนั้น ทำได้ง่ายกว่าการสร้างรายได้จากการพัฒนาคนหรือเทคโนโลยี  ผู้นำประเทศเหล่านั้นจึงเลือกใช้วิธีที่ง่ายและสะดวกสบายกว่า ในขณะที่ประเทศซึ่งขาดแคลนทรัพยากร ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการพัฒนาคนและเทคโนโลยีขึ้นมา ดังนั้นจึงหันมาทุ่มเททางด้านการศึกษาและวิจัยพัฒนา  แม้จะให้ผลช้า แต่ก็ยั่งยืนกว่า
นี้เป็นเหตุผลข้อหนึ่งว่าเหตุใดประเทศไทยจึงมีความเจริญก้าวหน้าทาง เศรษฐกิจช้ากว่าหลายประเทศในเอเชีย ทั้ง ๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากกว่า พูดอีกนัยหนึ่งเราหวังพึ่งทุนเก่ามากกว่าสร้างทุนใหม่  แม้ทุนทรัพยากรธรรมชาติเริ่มร่อยหรอ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาคนและเทคโนโลยี ยังหวังว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล”อีกหากเจอน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติในทะเลต่อไป  ขณะเดียวกันก็หวังหารายได้เข้าประเทศด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำเข้าไว้ ซึ่งก็คือการใช้ทุนเก่าในอีกรูปแบบหนึ่ง  (คือทุนมนุษย์)มากกว่าที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพมากขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความร่ำรวยมั่งคั่งที่ได้มาง่าย ๆ หรือได้มาโดยไม่ต้องเหนื่อยนั้น เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในระยะยาว นี้ไม่ใช่ความจริงในระดับประเทศเท่านั้น หากยังเป็นความจริงในระดับบุคคลด้วย คำว่า “สามล้อถูกหวย” ก็บ่งบอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าลาภก้อนใหญ่นั้นในท้ายที่สุดย่อมส่งผลเป็นลบกับ สามล้อผู้นั้นเอง  อย่าว่าแต่สามล้อเลย แม้แต่คนที่มีอันจะกิน หากถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ได้เงินหลายสิบล้าน ก็อาจเสียผู้เสียคนได้ เมื่อสิบปีที่แล้วมีสามีภรรยาชาวอเมริกันคู่หนึ่งได้โชคก้อนใหญ่ เป็นรางวังจากสลากกินรวบจำนวน ๓๔ ล้านเหรียญ ทั้งสองเลิกทำงานและใช้ชีวิตอย่างหรูหราเฟือย  แต่ไม่นานทั้งสองได้แยกทางกัน ต่อมาสามีเสียชีวิตจากโรคสุรา ส่วนภรรยาก็เสียชีวิตแต่ผู้เดียวในคฤหาสน์หลังใหญ่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง ๕ ปีเท่านั้น น่าคิดว่าหากไม่ได้ลาภก้อนใหญ่ขนาดนั้นทั้งสองอาจจะยังมีชีวิตที่ผาสุกก็ได้
มิใช่แต่คนที่ถูกหวยหรือได้ลาภอย่างกะทันหันเท่านั้น  แม้แต่คนที่เกิดมาท่ามกลางกองเงินกองทองก็ใช่ว่าจะพ้นจากเคราะห์ดังกล่าว ได้ง่าย ๆ บ่อยครั้งที่เราพบว่าคนที่เติบโตในสภาพดังกล่าว กลายเป็นคนที่หยิบโหย่ง เอาแต่เที่ยวเตร่สนุกสนาน และผลาญเงินของพ่อแม่จนร่อยหรอ แม้แต่ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ก็รักษาไว้ไม่ได้  ดังมีคำกล่าวว่ากิจการของเศรษฐีนั้นมักจะรุ่งเรืองได้นานแค่ ๓ ชั่วอายุคนเท่านั้น  พ้นจากนั้นก็จะร่วงโรยตกต่ำ คนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิดและอยู่สบายมาตลอด นอกจากจะไม่เห็นคุณค่าของเงินแล้ว ยังมักไม่สนใจศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ ทั้งไม่กระตือรือร้นที่จะทำการงาน ในเมื่อทุนเก่ามีมากมายใช้ไม่หมด จะขวนขวายสร้างทุนใหม่ให้เหนื่อยไปทำไม
พ่อแม่ที่ฉลาดย่อมไม่ปล่อยให้ลูกมีชีวิตที่สะดวกสบาย  แต่ยินดีที่จะเห็นลูกประสบความยากลำบากโดยไม่มีใครประคบประหงม เพื่อให้ลูกรู้จักพึ่งตนเอง มีวินัยและความพากเพียรพยายาม ทั้งในระหว่างเล่าเรียนและเมื่อสำเร็จการศึกษา  เศรษฐีที่มีสติปัญญาจะสนับสนุนให้ลูกไปหาประสบการณ์การทำงานจากที่อื่น แทนที่จะเริ่มต้นที่บริษัทของตัว เพราะกลัวจะถูกป้อยอจนเสียคน หากลูกจะมาทำงานในกิจการของพ่อแม่ก็ต้องไต่เต้าจากระดับล่างขึ้นมา คือเป็นลูกน้องของเขา มิใช่เป็นผู้บริหารเลย นั่นหมายความว่าหากจะเลื่อนระดับขึ้นมา ก็ต้องอาศัยสติปัญญาและน้ำพักน้ำแรงของตัวด้วย มิใช่พึ่งพาบารมีของพ่อแม่เท่านั้น
ความมั่งคั่งร่ำรวยและความสะดวกสบายสามารถเป็นสิ่งกีดขวางการพัฒนา ศักยภาพทั้งของประเทศและของบุคคลได้ ในทางตรงกันข้ามความขาดแคลนและความยากลำบากเป็นแรงผลักที่ทรงพลังในการพัฒนา ศักยภาพ  มันสามารถกระตุ้นให้บุคคลหรือประเทศสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองได้
จะว่าไปแล้วไม่ใช่แต่ความขาดแคลนและความยากลำบากเท่านั้น  พูดได้ว่าความทุกข์ทั้งมวลสามารถเป็นแรงผลักให้เกิดการพัฒนาคุณภาพใหม่ขึ้น มาได้  การที่โลกแปรสภาพจากดวงดาวที่ไร้ชีวิตแห้งผากและพลุ่งพล่านด้วยความร้อนสูง กลายเป็นดาวโลกสีครามที่งดงามเต็มไปด้วยชีวิตนานาพันธุ์นั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือการเกิดแผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิดกัมปนาทครั้ง แล้วครั้งเล่าส่งผลให้ระบบนิเวศแปรเปลี่ยนจนเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต  โรคระบาดและความแห้งแล้งได้ผลักดันให้เกิดเทคโนลีนานาชนิดที่ทำให้มนุษย์มี สวัสดิภาพในชีวิตสูงขึ้น บุคคลอย่างลินคอล์นยากที่จะกลายเป็นมหาบุรุษได้หากไม่มีชีวิตลำเค็ญในวัย เด็ก ในทำนองเดียวกันเนลสัน แมนเดลา คงไม่ได้เป็นรัฐบุรุษของโลกอย่างทุกวันนี้หากเขาไม่ได้ถูกจำคุกนานถึง ๒๗ ปี ดังเขายอมรับว่าการถูกจองจำนานขนาดนั้นทำให้เขาประสบความสำเร็จในการทำสิ่ง ที่ยากที่สุดในชีวิต นั่นคือการเปลี่ยนแปลงตนเอง
ถึงที่สุดแล้ว ความทุกข์ที่บีบคั้นชีวิตนั้นสามารถผลักดันให้เกิดความพากเพียรพยายามจนจิต ใจพ้นจากความทุกข์ได้  กล่าวได้ว่าถ้าไม่เห็นทุกข์จริง ๆ ก็ไม่มีการบรรลุธรรม ถ้าไม่มีทุกข์ก็ไม่มีพระอรหันต์  อันที่จริงพระพุทธองค์ถึงกับตรัสเองว่า ถ้าไม่มีทุกข์ คือเกิด แก่ และตาย ก็ไม่มีพระองค์เกิดขึ้นในโลก
โชคกับเคราะห์นั้นหาได้แยกจากกันไม่ โชคสามารถกลายเป็นเคราะห์ และเคราะห์สามารถกลายเป็นโชค ดังนั้นเมื่อเจอโชคก็อย่าประมาท และหากประสบเคราะห์ก็อย่าตื่นตระหนก ในทำนองเดียวกันเมื่อเจอสุขก็อย่าลิงโลด  ประสบทุกข์ก็อย่าคร่ำครวญ หากวางใจให้เป็น โชคหรือเคราะห์ สุขหรือทุกข์ ก็สามารถเป็นคุณแก่เราได้