Sex Worker งานภาคบริการที่ไม่เคยได้รับการบริการจากเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งยังเป็นอาชีพที่คนไทยไม่เคยมองอย่างเข้าใจและให้คุณค่า…


ที่มาภาพ – http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2011/sep/15/outsourcing-porn-sex…

พอเรียบจบนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จิรารัตน์ มูลศิริ หรือเอ๊ะ มาสมัครและได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 5 [กรกฎาคม 2553-มิถุนายน 2554] ลงทำงานกับพนักงานบริการหญิงประจำศูนย์นนทบุรี สังกัด มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานเอ็มเพาเวอร์เม้นหรือสร้างพลังภายในหรืออำนาจต่อรองให้กับพนักงาน บริการหญิงมานานเกือบ 3 ทศวรรษ เริ่มต้นจากสถานประกอบการยอดนิยมของชาวต่างชาติอย่างพัฒน์พงศ์ แล้วขยายพื้นที่ทำงานจนในปัจจุบันมีศูนย์ทั้งหมด 11 ศูนย์ คือ พัฒน์พงศ์ เชียงใหม่ แม่สาย แม่สอด อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร สมุทรสาคร นนทบุรี ภูเก็ต และกระบี่

หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากการทำงานในวันแรกจนถึงปัจจุบันคือ การให้ความรู้ในทุกเรื่องที่พอจะช่วยได้โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและกฏหมายกับ พนักงานบริการหญิง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะทุกเรื่องล้วนเกี่ยวโยงกับเรื่องสังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานบริการหญิง การถูกเอาเปรียบจากการทำงาน และสวัสดิการจากภาครัฐ รวมถึงสิทธิพื้นฐานด้านอื่น ทั้งด้านการเรียน อาชีวอนามัยในสถานที่ทำงาน

สถานการณ์ของพนักงานบริการที่เป็นคนไทยยังคงอยู่ตัว และมีช่องทางเข้าถึงสวัสดิการได้อยู่บ้าง เพราะหากกล่าวไปก็ยังมีเจ้าของสถานประกอบการที่ยึดหลักความถูกต้องและเป็น ธรรมอยู่ ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อย ส่วนการเอาเปรียบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็น้อยลงจากแต่ก่อนมาก อาจจะเป็นเพราะว่าพนักงานรู้ถึงสิทธิของตนเองมากขึ้น

จากการที่ลงพื้นที่และได้เข้าไปอยู่ในชุมชนของพนักงานบริการ ปัญหาที่พบส่วนมากมักเป็นเรื่องบัตร เพราะว่าพนักงานบริการหญิงบางคนถือบัตรบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน บุคคลไม่มีสัญชาติ บุคคลบนพื้นที่สูงและแรงงานข้ามชาติ จึงมักถูกเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ ส่วนมากเป็นการรีดไถเงิน ด้านเจ้าของกิจการจะเอาเปรียบด้านค่าแรง เข้าทำงานช้าหักนาทีละ 5-10 บาท ไม่ขึ้นเต้นโชว์หัก 500 ไม่มาทำงานหัก 500-1,000 บาท ห้ามน้ำหนักขึ้น และความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยในสถานบริการก็มีไม่เพียงพอ

ยกตัวอย่างกรณีไฟไหม้ผับรูท 666 พัทยา พนักงานที่เสียชีวิตก็ถูกกล่าวหาว่า เสียชีวิตเพราะเป็นห่วงข้าวของ แล้วกลับไปเอาของในร้านจึงถูกไฟไหม้เสียชีวิต ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือผับดังกล่าวไม่มีประตูฉุกเฉิน สำหรับหนีไฟ เพราะนายจ้างกลัวลูกค้าจะหนี เหตุผลเหล่านี้ทำให้พนักงานบริการหญิงที่ต้องแบกรับภาระหาเลี้ยงชีวิตเลี้ยง ครอบครัวต้องเสียชีวิตลง

อย่างกรณีการถูกลูกค้าทำร้าย ชิงทรัพย์ หรือนั่งอยู่หน้าร้านแล้วรถขับพุ่งขึ้นมาชน อุบัติเหตุถูกฟันแขนขาดขณะขี่จักรยานยนต์กลับบ้านหลังจากเลิกงาน พนักงานมักจะกลัวเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินข้อหาค้าประเวณี จึงไม่กล้าไปแจ้งความ ทั้งที่ฝ่ายเราเป็นผู้ที่ถูกกระทำละเมิด และถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเสียค่าปรับเอง กรณีไม่ใช่คนไทยต้องถูกปรับแล้วส่งตัวกลับ หรือถูกกักกันตัวไว้เป็นพยานเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียรายได้ ค่าแรงที่ติดค้างก็ไม่ได้รับ เหตุการณ์เหล่านี้ พนักงานบริการต้องรับผิดชอบตัวเองไม่มีใครมาร่วมรับผิดชอบ

เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นแล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างไม่ทราบสิทธิของตัวเอง โดยนายจ้างก็ไม่รู้ว่าทำผิดอะไรบ้าง เนื่องจากคิดปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ขณะที่ลูกจ้างเองก็ไม่รู้ว่าควรได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ทั้งๆ ที่ควรได้รับการดูแลให้เท่าเทียมกับสถานประกอบการทั่วไปทั้งโรงงานหรือ โรงแรม อย่างเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ที่นายจ้างต้องเป็นคนเตรียมไว้ให้ เช่น ในโรงงานก็มีถุงมือ หรือหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง แต่คนที่ทำงานในภาคบริการมีถึง 2-3 แสนคน แต่กลับไม่มีการแจกอุปกรณ์ใดๆ อย่าง ถุงยางอนามัย บางแห่งแม้แต่ห้องน้ำก็จัดให้ไม่พอ ต้องให้พนักงานบริการไปเสียเงินใช้จากข้างนอก ที่มีอยู่ก็มีไว้บริการแขกเท่านั้น

หนักไปกว่านั้นคือเจ้าของร้านเอาเสาที่ต้องใช้เต้นออกเพราะกลัวมีปัญหา กับภาครัฐ แล้วให้ผู้หญิงที่เต้นจับห่วงแทน ทั้งที่มันแทนกันไม่ได้ และยังทำให้เสี่ยงที่จะตกลงมา

ส่วนในเรื่องของการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานในหน้าที่ เช่น อาชีพนวดแผนโบราณ ต้องสัมผัสกับน้ำมัน อาบอบนวด สบู่ ครีมอาบน้ำ คนที่ทำงานซาวน่า ต้องอยู่ในห้องอบไอน้ำวันละหลายชั่วโมง พนักงานโชว์ ต้องเสี่ยงกับอุปกรณ์โชว์เพื่อสร้างความตื่นเต้นและหวาดเสียว บ้างต้องเล่นไฟ หรือโชว์อาบน้ำในห้องปรับอากาศ ต้องทนหนาวสั่น หรือต้องถูกบังคับให้ดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ให้มากที่สุด เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของแรงงานภาคบริการมาจากสาเหตุหลายประการ ปัญหาสภาพการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับพนักงานบริการ ปัญหาการขาดหลักประกันในสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิต

จริงๆ แล้วพนักงานบริการส่วนใหญ่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เพราะมีการตอกบัตรเวลาเข้าทำงานที่แน่นอน และนายจ้างยังจ่ายค่าจ้างประจำให้เดือนละ 3-4 พันบาท แต่รายได้อย่างอื่นก็ไปแบ่งกันเองระหว่างเจ้าของสถานบริการและพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานบริการพยายามเรียกร้องในเรื่องประกันสังคม เพราะอยู่ในเงื่อนไขที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปฏิเสธจากนายจ้างโดยอ้างว่า พนักงานมักเข้าๆ ออกๆ บ่อย และพนักงานไม่ยอมทำประกันสังคมเอง

ทุกวันนี้พนักงานบริการขาดโอกาสที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เพราะถูกอ้างว่าเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และสถานบริการคือสถานที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นแหล่งอบายมุข หากเกิดความเจ็บป่วย หรืออุบัติภัยใดๆ อันเนื่องมาจากการทำงานก็ตาม ความเจ็บป่วยและความสูญเสียที่เกิดขึ้นเกิดเป็นความรับผิดชอบแต่เพียงลำพัง ของพนักงานบริการทั้งสิ้น จะมีผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจจำนวนน้อยมาก ที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ รวมถึงความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่ยื่นมือมาก็ไม่ถึง
ที่มาภาพ – http://www.terminartors.com/artworkprofile/Connolly_Camilla-Self_Portrai…

ในฐานะของอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ได้ลงไปเรียนรู้ในชุมชนของ พนักงานบริการมากว่า 1 ปี มีข้อเสนอแนะให้เจ้าของสถานบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลิกอ้างว่า หนึ่ง.สถานบริการ เป็นแหล่งอบายมุข เพราะสถานบริการ คือสถานที่ที่อนุญาตให้จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฎหมายสถานบริการ พ.ศ.2542 จึงไม่ใช่สถานที่ที่ผิดกฎหมาย และต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย และการคุ้มครองอุบัติภัย ทั้งต่อผู้มาใช้บริการ รวมถึงพนักงานทุกคน

สอง.ให้ยอมรับว่า สถานบริการ คือ สถานประกอบการตามกฎหมายแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอิทธิพล มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้าง

สาม.ให้แรงงานภาคบริการได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานภาคอื่น และให้ยอมรับว่า งานบริการ คือ งาน อาชีพบริการ คือ แรงงานภาคบริการ ควรได้รับความคุ้มครองภายใต้ พรบ.แรงงานฯ

สี่.ให้มีแนวทางการทบทวน และยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อคนอาชีพบริการ เช่น พรบ.ปรามการค้าประเวณีฯ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เป็นประชาชนที่ไม่ผิดกฎหมาย

ที่นี่ประเทศไทยที่ประชาชนคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ ควรได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี

ที่มาบทความ – http://thaivolunteer.org/myweb/index.php?option=com_content&view=article…