เขียน: นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน

จากการออมวันละ 50 เซ็นต์ ของแม่บ้าน 30 คน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อ 40 ปีก่อน กิจการได้เติบใหญ่กลายเป็นมูลนิธิชื่อดัง มีคนกว่า 5-6 ล้านคน สมัครเป็นสมาชิกบริจาคเงินให้อย่างสม่ำเสมอมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลังของ แต่ละคน เงินบริจาคทุกเหรียญถูกนำไปใช้เพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ รัฐบาลจึงอนุญาตให้ผู้บริจาคเข้ามูลนิธิฉือจี้นำยอดเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษี ได้

ผมไม่ทราบข้อมูลเงินบริจาคของมูลนิธิ แต่ประมาณการณ์จากกิจกรรมที่ได้รับรู้ คาดว่าเงินบริจาคน่าจะมีมูลค่ารวมกันน่าจะเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ (1 เหรียญเท่ากับ 1.2 บาท) เพราะฉือจี้ได้ขยายงานต่าง ๆ ออกไปมากมาย โดยแต่ละงานจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับทุนมนุษย์และทุนทางจิตวิญญาณของสมาชิกและอาสา สมัครฉือจี้ที่รวมกันเป็น “มหาเมตตา-มหากรุณา” ที่มีความตั้งใจและลงมือทำงานสารพัดอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้มีทุกข์ให้พ้น ทุกข์ ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อันได้แก่ งานช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน ชุมชน สถานที่สาธารณะ การคัดแยกขยะ การช่วยสงเคราะห์บุคคลและครอบครัวผู้ยากไร้ การช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติทั้งในและนอกประเทศ ไปจนถึงการจัดการศึกษา การสร้างโรงพยาบาล การดำเนินงานธนาคารไขกระดูก การทำสถานีโทรทัศน์ และอื่น ๆ อีกมาก

การดำเนินงานของมูลนิธิ อาศัยพลังของอาสาสมัครฉือจี้ (แต่งกายเสื้อน้ำเงิน กางเกงขาวหรือบางกรณีก็เป็นชุดสีน้ำเงิน) ที่มีการคัดเลือกและพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง บนความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีความเมตตากรุณา เป็นพระโพธิสัตว์ได้ มีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยหัวใจและความรัก อย่างที่เพลงของอาสาสมัครฉือจี้ร้องเป็นภาษาไทยว่า

“ ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก
ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ
ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย
ในใจกังวล เศร้าหมอง เสียใจ โยนทิ้งไป”

(เพลงชื่อ “ใครล่ะ จะโอบอุ้มโลกใบนี้”)

การหลอมรวมจิตอาสาของอาสาสมัครฉือจี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ท่านธร รมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ซึ่งปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่งดงามให้สานุศิษย์ได้เห็นแบบอย่างอยู่ตลอด เวลา ในขณะเดียวกันก็มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงถึงสมาชิกและอาสาสมัครเพื่อเสริม สร้างกำลังใจ ความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณเสียสละอย่างสม่ำเสมอ ผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออื่น ๆ และการจัดกระบวนพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “ขบวนการฉือจี้” ที่มีพลังความดีงามและอย่างสร้างสรรค์อย่างสูง

ถ้าใครได้รู้จัก ได้สัมผัสกับอาสาสมัครฉือจี้แล้วจะประทับใจ และจะประจักษ์ได้ว่า อาสาสมัครฉือจี้โดยทั่วไป มีจิตใจดี สุภาพอ่อนน้อม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ให้เกียรติคนอื่น นอบน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นสุขเสมอเมื่อได้บริการใคร ๆ

ทุกแห่งที่เราไปเยี่ยมชม อาสาสมัครจะมาเข้าแถวต้อนรับ บางแห่งร้องเพลงต้อนรับอย่างอบอุ่น ให้ข้อมูลอย่างไม่ปิดบัง มอบของที่ระลึกให้ ช่วยดูแลเป็นธุระให้สารพัด เมื่อเวลาเราจะลากลับก็พากันออกมาส่งเป็นหมู่คณะ โค้งคารวะ ยกมือไหว้และขอบคุณผู้ดูงานอย่างอ่อนน้อม จนกว่าผู้มาเยือนจะลับตาไป แม้แต่ภิกษุณีที่สมณารามก็ทำเช่นเดียวกับอาสาสมัครทุกประการ

อาสาสมัครฉือจี้ที่ไปทำงานอาสาไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็มีบุคลิกไม่แตกต่างจากนี้ ด้วยว่าเขาสอนให้รักเพื่อนมนุษย์ทุกคนไม่แยกรวยแยกจน ไม่แยกฐานะ เชื้อชาติ ฝึกให้ทุกคนมีจิตใหญ่ (มหจิต) ที่จะรักเพื่อนมนุษย์เหมือนว่าทุกคนในโลกนี้เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ดังเพลงที่ว่า

“ ความสุขของฉัน เพราะเสียงหัวเราะจากเธอ
เมื่อได้เห็นน้ำตาเธอ ใจฉันนั้นเจ็บปวดเหลือเกิน
ความฝันของฉัน ต้องการคุณมาช่วยสร้างสรรค์
ความรักที่ได้จากเธอ คือพลังเดินหน้าต่อไป
เพราะว่าพวกเรา ครอบครัวเดียวกัน
ด้วยใจ ร้อยใจ เราต่างซาบซึ้ง
เพราะว่าพวกเรา ครอบครัวเดียวกัน
ร่วมสุขร่วมทุกข์ บนเส้นทางของชีวิต”

(เพลงชื่อ “ครอบครัวเดียวกัน”)

แนวพุทธของฉือจี้มองว่าคนทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัว มีธาตุของความรักความเมตตาอยู่ทุกคน ทุกคนจึงควรฝึกฝนจิตให้รู้จักรักและขอบคุณสรรพสิ่งรอบตัว ชาวฉือจี้จึงนิยมฝึกฝนขอบคุณผู้อื่นอย่างจริงใจและนอบน้อม แม้ไปช่วยเหลือใครๆ ก็ยังขอบคุณผู้ที่ให้ช่วยเหลือ การรู้จักขอบคุณ (กั่นเอิน) ถือเป็นการฝึกที่จะรักและเคารพในผู้อื่น เป็นการพัฒนาจิตของตนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเชื่อด้วยการฝึกเช่นนี้ทำให้ชาวฉือจี้เป็นคนมีจิตใจดี มองคนในแง่บวก มองสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและมีความสุข

กรณีตัวอย่างงานอาสาสมัครของฉือจี้ที่ทำให้มองเห็นการฝึกฝนตนเองจากการลง มือปฏิบัติจริงอย่างไม่ย่อท้อ คือ บรรดาอาสาสมัครทำงานแยกขยะตามชุมชนต่าง ๆ ที่เปรียบเหมือนมดงานโพธิสัตว์ ที่ก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ทั่วไต้หวัน กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ จะมีหน่วยทำงานกระจายแทรกตัวอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ นัดกันทิ้งขยะในวันที่ทางการไม่มาเก็บ เช่น ทางการมาเก็บขยะ 5 วัน เครือข่ายฉือจี้จะขอให้ประชาชนในละแวกนั้นนำขยะมาทิ้งให้ฉือจี้ใน 2 วันที่เหลือของสัปดาห์ บรรดาอาสาสมัครฉือจี้ก็จะขนย้ายขยะ แยกขยะอย่างไม่รังเกียจว่าเป็นงานต้อยต่ำ เอาที่เป็นประโยชน์ไป recycle เอาไปขายนำเงินมาเข้ามูลนิธิปีละเป็นร้อยล้านเหรียญ ได้ทั้งเงินได้ทั้งบุญและได้ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

งานอาสาสมัครทำงานแยกขยะเช่นนี้ เกิดประโยชน์อย่างน้อย 5 ประการคือ หนึ่ง ช่วยทางการบรรเทาปัญหาเก็บและจัดการขยะไม่ทัน สอง ช่วยสร้างนิสัยการแยกขยะ และนำขยะบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ สาม สร้างพฤติกรรมการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สี่ ปลูกฝังค่านิยมไม่รังเกียจงาน สกปรก ห้า นำขยะ recycle ไปแปลงเป็นเงินกลับมาช่วยสังคม

ผมและคณะได้ไปเยี่ยมชมศูนย์แยกขยะ recycle เล็ก ๆ ของฉือจี้แห่งหนึ่งในกรุงไทเป ได้เห็นกระบวนการทำงาน เห็นอาสาสมัครต่างเพศต่างวัยมาช่วยกันทำงานแยกขยะอย่างมีความสุข ขยะบางส่วนที่มีคนนำมาให้ ยังเป็นของใช้ได้หรือดัดแปลงได้ ก็แยกไว้จำหน่ายราคาถูกเพื่อให้คนทำกลับไปใช้ใหม่เป็นการประหยัดทรัพยากร บางส่วนก็นำไป recycle เอามาใช้งานและขายนำเงินเข้ามูลนิธิ อาสาสมัครในชุมชนนั่นเองหมุนเวียนกับมาทำงานในช่วงเวลาที่แต่ละคนว่างจาก ภารกิจส่วนตัว เกิดความเป็นชุมชน เป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ ได้รับการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้ให้ผู้เสียสละเพื่อผู้อื่น ได้ความภาคภูมิใจในการทำความดี ได้บุญจากการปฏิบัติเหมือนกับว่าพวกเขาทำงาน recycle ขยะไป recycle ชีวิตและจิตใจของตนเองให้พัฒนาสูงยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กันตลอดเวลา ทุกคนจึงล้วนมีความปิติสุข ใบหน้าสดชื่น พากันมาต้อนรับพวกเราที่ไปเยือนราวกับเป็นญาติสนิท กระตือรือร้นที่จะแนะนำ ให้ข้อมูลและบริการพวกเราสารพัด จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีกลุ่มคนเช่นนี้ในโลกนี้

เพื่อให้เข้าใจกระบวนการพัฒนาอาสาสมัครฉือจี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอนำข้อเขียนของพระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า ซึ่งท่านเขียนเล่าไว้ว่า

ขั้นตอนรับสมาชิกฉือจี้

(1) สมาชิกหลัก

ขั้นตอนทั่วไป คือ เพียงเป็นแค่ผู้สนับสนุนก่อน โดยฝึกให้ทำทานบริจาคกับองค์กรฉือจี้เป็นประจำ เท่าไหร่ก็ได้ จำนวนมากน้อยไม่สำคัญ แต่เน้นที่ควรทำสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการฝึกความรับผิดชอบไปในตัว (มีคนไต้หวันบริจาคให้องค์กรเป็นประจำมากกว่า 4 ล้านคน)

ขั้นตอนที่หนึ่ง เรียกว่าสมาชิกขั้น “เจี้ยนสี (ฝึกงาน)” ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี บอกบุญหาผู้บริจาค 25 ราย

เป็นการเลื่อนระดับเข้ามาช่วยเหลือฉือจี้มากขึ้น โดยร่วมกับองค์กรออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ช่วยแยกเก็บขยะในชุมชน เยี่ยมบ้านผู้ป่วยอนาถา หรือเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลฉือจี้ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสัมผัสเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่เข้ามาก่อน และมีชั่วโมงเข้าศึกษาวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรตามที่องค์กรจัดตาราง การอบรมให้อย่างน้อย 1 ปี (มีทั้งการเรียนแนวคิดของท่านผู้ก่อตั้ง หลักการ วิถีชีวิตของชาวฉือจี้ ฯลฯ ปีละ 8 ครั้ง ๆ ละ 1 วันต่อเดือน มักเป็นวันอาทิตย์) และต้องฝึกไปบอกบุญรับบริจาคเงินให้ฉือจี้เป็นประจำ 25 คนขึ้นไป (เงินมากน้อยไม่สำคัญ) ขอเพียงให้ฝึกมีความอ่อนน้อมที่จะไปเยี่ยมผู้บริจาค เรียนรู้เทคนิคการทำงานร่วมกัน และจิตสำนึกที่เสียสละจากรุ่นพี่เป็นสำคัญ โดยองค์กรจะมีสมุดบันทึกการบริจาคไว้อย่างต่อเนื่อง การไปนี้สมาชิกที่ฝึกงานต้องฝึกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมากในการให้ความ เอาใจใส่กับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกสาระธรรมอย่างธรรมชาติ เป็นการผ่องถ่ายความรู้จากวัดไปสู่บ้านและรับระบายความทุกข์จากบ้านออกไป ด้วยคำแนะนำใหม่ๆ อาสาสมัครฉือจี้จะออกไปเยี่ยมเยือนบ้านสมาชิกคราวละ 2 คน มีอะไรขัดข้องก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรได้ทันที เช่น เกิดภัยน้ำท่วมหรือบ้านเรือนพัง ก็ยื่นเรื่องให้ฉือจี้มาช่วยได้เลย เป็นงานที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้ผู้รับ มีความไว้วางใจกัน ไม่แพ้หรือดีกว่าระบบบริษัทประกันชีวิตประกันภัย

สาระของการไปรับเงินบริจาคถึงบ้าน อยู่ที่เป็นการแลกเปลี่ยนกันโดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริจาคเงิน ส่วนฝ่ายฉือจี้เป็นผู้ให้ด้านความเป็นญาติทางธรรม โดยเน้นเป้าหมายการไปไถ่ถามทุกข์สุข เผื่อมีปัญหาอะไรก็จะได้ช่วยเหลือกันทันที มากกว่าเรื่องจำนวนเงิน เหมือนเป็นญาติที่เอาใจใส่กันยิ่งกว่าญาติทางสายเลือด และทำให้ผู้บริจาครู้สึกว่าไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนอีกมากมายคอยเอาใจใส่ดูแล

ท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียนมักเล่าเป็นเกร็ดเพชรให้ชาวฉือจี้ได้ฟังว่าหัวใจ สำคัญของการไปรับบริจาคคือการไปขอรับบริจาคความมีน้ำใจจากสังคมผ่านการบอก เล่าสัมพันธ์กับชาวฉือจี้นั่นเอง เพราะแรกเริ่มเดิมทีสมัยบุกเบิกเตรียมสร้างโรงพยาบาลที่ฮวาเหลียน ก็มีเศรษฐีใจบุญจะให้เงินก้อนใหญ่ทันที แต่ท่านปฏิเสธอย่างสุภาพด้วยเหตุผลว่าต้องการรวบรวมเงินจากหัวใจของคน ไต้หวันเพื่อจะได้เป็นโรงพยาบาลของชาวไต้หวันจริง ๆ มากกว่า เพราะเมื่อคนไต้หวันให้ก็จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน หากรับเงินจากใครคนใดคนหนึ่งเพียงไม่กี่คน ก็จะขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันไป

บางกรณีฉือจี้จัดกิจกรรมออกไปรับบริจาคตามท้องถนนทุกมุมเมือง ก็เพื่อมุ่งรับบริจาคความรู้สึกร่วมจากประชาชนให้หันมาสนใจปัญหาของสังคมใน ขณะนั้น ๆ ร่วมกันเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งที่จำนวนเงิน

ขั้นตอนที่สอง เรียกว่าขั้น “เผยชวิ่น (อบรม-บ่มฝึก) ใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี เพิ่มผู้บริจาค 40 ราย และถือศีลฉือจี้ อีก 10 ข้อ

ให้สมาชิกฝึกเลื่อนระดับความเสียสละทุ่มเททั้งเวลาและจิตใจให้กับการทำ กิจกรรมในสังคมท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามตารางฝึกรายปีมากขึ้น ทำให้เข้าใจและลงมือปฏิบัติถือศีล 10 ของฉือจี้ได้โดยไม่ยาก

ชาวฉือจี้มีหลักธรรมที่ใช้ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันอีก 10 ข้อ คือ นอกจากหลักการศีล 5 ของชาวพุทธโดยทั่วไปแล้ว (1. ไม่ฆ่าสัตว์ 2. ไม่ลักทรัพย์ 3. ไม่ผิดกาม 4. ไม่พูดปด 5. ไม่ติดสิ่งเสพย์ติด) ฉือจี้ยังมีศีลเพิ่มขึ้นอีก 5 ข้อคือ

6. ไม่มั่วสุมเล่นการพนัน
7. ไม่ติดสิ่งเสพย์ติดหมากพลู สูบบุหรี่ (วัฒนธรรมตั้งแต่ดั้งเดิมคนไต้หวันโดยเฉพาะผู้ชายจะกินหมาก สูบบุหรี่ การยื่นบุหรี่ให้กันเป็นธรรมเนียม ปัจจุบันยังมีร้านห้องกระจกริมถนนมีผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยนั่งขายหมากให้ เห็นทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหัวเมือง)
8. ไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร
9. ไม่ร่วมกิจกรรมการเมืองที่ไม่เหมาะสม
10. ต้องมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณทุกระดับ

ศีล 10 ข้อนี้ เป็นหลักการที่ใช้อ่านทบทวนก่อนการประชุมของฉือจี้ทุกแห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ดี และชาวฉือจี้จะไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะว่า ใครมีอาชีพเป็นกรรมกร ชาวนา ครู นายจ้าง ลูกจ้าง หมอ พยาบาล ฯลฯ ต่างล้วนเป็นชาวฉือจี้ได้หมด

มีการให้โจทย์ทดสอบความอ่อนน้อมเอาภาระบอกบุญเพิ่มตามจำนวนที่ตั้งไว้รวมเป็น 40 ราย ซึ่งแสดงว่า มีวุฒิภาวะด้านการบริการสูงขึ้นด้วย

เมื่อสมาชิกทำตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้แล้ว หากผ่านการพิจารณาของกลุ่มคณะกรรมการสมาชิกรุ่นพี่ว่าเหมาะสม ก็จะได้สิทธิ์ “โซ่วเจิ้ง”คือ ได้เข้าร่วมพิธีการประกาศรับรองเป็นสมาชิกระดับ “สมาชิกจริง” ซึ่งจัดปีละครั้ง เป็นพิธีรับเครื่องหมายอาสาสมัครฉือจี้จากท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียน ที่สมณารามฮวาเหลียน

รายละเอียดข้างต้น เป็นระเบียบที่ใช้กับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนกรณีเป็นชาย จะงดงานไปรับบริจาค แต่ให้ผู้ชายทำงานด้านสวัสดิการ อำนวยการจราจร ยกย้ายของหนัก ขับรถ ฯลฯ คล้ายเป็นผู้พิทักษ์กฎระเบียบและศึกษางานกับสมาชิกระดับสมาชิก รุ่นพี่ หากพบว่า มีความร่วมมือ ทำงานปลูกนาบุญมีจิตสัมพันธ์กันดีต่อกลุ่ม ภายใต้เวลาที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง ก็จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นขึ้นไปเช่นกัน

หลังได้เป็นสมาชิกถาวรแล้ว จะมีชุดฟอร์มให้ใส่เป็นชุดสีน้ำเงิน หรือน้ำเงิน-ขาว ขึ้นอยู่กับกาลเทศะว่าเหมาะกับงานประเภทใด เช่น สตรี ใส่ชุดกี่เพ้าสีน้ำเงิน ในงานพิธีใหญ่หรือชุดกระโปรงในงานอบรมหรืองานเป็นทางการ หรือชุด ฟ้าน้ำเงินเมฆขาว เป็นชุดเสื้อยืดสีน้ำเงินขลิบปกคอสีขาว กางเกงสีขาว หมวกสีขาวซึ่งถือเป็นชุดทำงานภาคสนาม

ส่วนผู้ชาย เป็นชุดสูทสีน้ำเงิน ผูกเน็คไท ใช้ใส่ได้ทั้งในงานพิธีใหญ่และงานทั่วไป ส่วนชุดทำงานภาคสนาม เป็นแบบเดียวกับสตรี

หลังการเป็นสมาชิกถาวรแล้ว องค์กรจะให้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ โดยต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมกับรุ่นน้องอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นกระบวนการปลูกฝังและถ่ายทอดจิตสำนึกขององค์กรได้อย่างเข้มข้น เป็นทอด ๆ ลงไป

(2) สมาชิกกิติมศักดิ์

องค์กรยังมีวิธีเชื่อมโยงให้คนรวยมาร่วมงานกับฉือจี้โดยใช้วิธีเชิญมา เป็น สมาชิกกิตติมศักดิ์ของฉือจี้ แต่ต้องสามารถบริจาคเงินให้ฉือจี้ถึงคนละ 1 ล้านเหรียญจึงจะได้ตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนรวยกับคนจน โดยมีฉือจี้เป็นสื่อกลางถ่ายเทความเอื้ออาทรแก่กัน ลดช่องว่างและความห่างเหิน เป็นโอกาสที่คนที่มีมากกว่าจะได้แสดงออกถึงน้ำใจที่มีต่อส่วนรวม เช่น พาไปร่วมงานภาคสนามกับหน่วยแพทย์หรืองานเยี่ยมคนยากไร้ตามบ้าน ทำให้คนรวยมีโอกาสเข้าถึงความเป็นจริงของสังคม และพลอยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน ส่งผลต่อครอบครัวในการลดการบริโภคนิยม ซึ่งใช้เงินทองมากกว่าเงินที่บริจาคให้ฉือจี้เพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่นเสีย อีก

สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมสมาชิกของฉือจี้ ก็ไม่ใช่เป็นบทเรียนที่ตายตัว นอกจากกรอบคำสอนของท่านเจิ้งเหยียนและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบฉือจี้ เช่น ความประหยัด การถนอมสิ่งแวดล้อม การถือศีล 10 จิตสำนึกบริการ ความรักเอื้ออาทร ความกระฉับกระเฉงร่วมมือ ฯลฯ แล้ว ยังมีช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปฏิบัติธรรมเปลี่ยนชีวิตของชาวฉือจี้ระดับ อาวุโสที่ทำงานกับองค์กรมาหลายปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องฟังง่าย เข้าถึงได้ด้วยการร่วมงานกัน ทำให้เกิดความประทับใจต่อสมาชิกใหม่เก่าไม่ซ้ำซาก เกิดปิติยินดีที่จะอุทิศช่วยงานได้ต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับวัฒนธรรมการทำงานของอาสาสมัครฉือจี้ จะให้เกียรติกับฝ่ายหญิงฝ่ายชาย มีการแยกงานที่ทำอย่างชัดเจน ว่างานใดฝ่ายชายทำได้ดี งานใดฝ่ายหญิงทำได้ดีกว่า หรืองานใดที่ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน เช่น งานเก็บแยกขยะ งานขนอิฐก้อนปูพื้นถนน ก็จะระดมกันมาช่วยกันทำได้อย่างคึกคัก

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มเป็นเครือข่าย ซึ่งคุณจวง แห่งเขา “หยางหมินซาน” มีบ้านพักบนยอดเขาให้ฉือจี้จัดประชุมทำกิจกรรมทุกเดือน เล่าถึงวิธีการสร้างสัมพันธ์ของสมาชิกฉือจี้ในแต่ละเขตเมืองว่า จะตั้งศูนย์ติดต่อประสานงานขึ้นไว้ทำงานพบปะประชุมกัน ซอยย่อยลงไปเป็นแขวง ๆ ด้วย เช่นคุณจวงอยู่ในเขตไทเป แต่อยู่ในแขวงซงซาน ก็จะไปร่วมงานกับชาวฉือจี้ที่นั่น โดยแขวงนั้นจะมีหัวหน้าศูนย์หนึ่งท่าน เป็นคนกลางประสานงานประสานใจ โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือนัดหมาย

เล็กลงมาก็แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ อีกหลายกลุ่ม แขวงละประมาณสิบถึงยี่สิบกลุ่ม มีหัวหน้ากลุ่มดูแลสมาชิกในกลุ่มประมาณ 20 คน หากมีเกิน 20 คนขึ้นไป ก็ให้แยกไปตั้งกลุ่มใหม่ เพื่อฝึกสร้างผู้นำคนใหม่ต่อ ๆ ไปเรื่อยๆ

(3) สมาชิกระดับนักบวช

ยังมีอีกสถานภาพหนึ่งขององค์กรคือ กลุ่มนักบวชภิกษุณีของฉือจี้ (ไม่มีนักบวชชาย) มีประมาณ 60 ท่าน พำนักอยู่ที่สมณารามที่ฮวาเหลียน เป็นนักบวชที่พึ่งตนเอง ไม่รบกวนเงินบริจาคจากมูลนิธิฉือจี้ อาศัยการปฏิบัติธรรมควบคู่กับงานสร้างเทียนก้อน-เทียนจุดทรงบัวและอื่นๆ เป็นรายได้เล็กน้อย สั่งสมเป็นกองทุนสาธารณโภคีสำหรับนักบวช เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนรวม

สำหรับหลักการฝึกตนเป็นชาวฉือจี้ ท่านเจิ้งเหยียนสอนเพียงให้เข้าถึงจิตวิญญาณที่มีความรักความเมตตาจริงๆ โดยแสดงผ่านพฤติกรรมออกไป ไม่ใช่แค่ปรัชญาทฤษฎีเหตุผล เช่น พระพุทธองค์สอนเรื่องเมตตา งั้นคุณก็ไปรักไปเมตตาคนอื่นให้จริง ไปใส่ใจผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ คนยากจนโดยตรงเลยวิธีที่จะบรรเทาความทุกข์ของคนป่วย คนจนท้องหิวก็คือ ให้ทานวัตถุก่อน แต่คนรวยก็มีความทุกข์ใจทั้งๆ ที่มีกินมีใช้ ก็ต้องให้เขาเห็นคนทุกข์ยาก เห็นอริยสัจสี่ เขามองเห็นด้านอนิจจังไม่เที่ยง พาเขามาร่วมทำประโยชน์ จนเขาเองเกิดความรู้สึก การช่วยเหลือคนอื่นเป็นความสุข เขาก็จะยิ่งยินดีที่จะเสียสละมาร่วม

กระบวนการเช่นนี้ทำกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนไข้คนจนที่ได้รับความรักเมตตา ก็ได้รับความประทับใจไว้ในใจเขา ต่อไปเขามีโอกาส เขาก็อยากจะทำเช่นนี้กับคนอื่นบ้าง เพราะเขาได้รับจากคนอื่นมาก่อนแล้วเหล่านี่คือสิ่งที่ท่านเจิ้งเหยียนสอน

หลักการอาสาสมัครของฉือจี้ เขาพูดกันอย่างง่าย ๆ ว่า “ใครมีเงินออกเงิน ใครมีแรงออกแรง ใครมีทั้งเงินทั้งแรง ออกทั้งเงินออกทั้งแรง” หลักเช่นนี้ทำให้ทุกคนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฉือจี้ได้ทั้งนั้น

กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ของฉือจี้เติบโตขยายกิ่งก้านสาขาไปมากมายด้วยพลัง ศรัทธาของสมาชิกและพลังการบริหารจัดการที่ผสมผสานมืออาชีพเข้ากับอาสาสมัคร ทุกระดับ ไม่ทำงานอาสาสมัครแบบมือสมัครเล่น หรือทำแบบทำบ้างหยุดบ้างไม่เป็นระบบ ไม่เอาจริงเอาจัง

งานสังคมสงเคราะห์เล็กๆ ที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตก็ไม่หยุด เช่น การช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในขณะที่ขยายไปจับงานใหญ่และใหญ่มาก เช่น การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนไต้ของ ไต้หวันเมื่อปี 2542 มีคนไต้หวันเสียชีวิตหลายพันคน บาดเจ็บอีกมากมาย บ้านเรือน อาคารสถานที่ต่าง ๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก มูลนิธิฉือจี้ส่งหน่วยอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรก ทำงานช่วยเหลือหลายด้านอย่างต่อเนื่องนานถึง 5 ปี ถอนตัวออกมาเป็นหน่วยสุดท้าย โดยช่วยรัฐบาลก่อสร้างโรงเรียนทดแทนให้ชุมชนต่างๆ มากถึง 51 แห่ง ทุกแห่งก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวในอนาคต จึงต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านเหรียญ โดยค่อย ๆ ระดมรับบริจาคขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาดำเนินงาน 2 ปีกว่า จึงแล้วเสร็จ

เขาเล่าว่า การก่อสร้างโรงเรียนมิใช่มุ่งแค่สร้างตัวอาคาร แต่ได้พยายามสอดแทรกจิตวิญญาณแห่งพุทธเข้าไปด้วย เสียดายที่ไม่ได้ไปดูและไม่ได้สอบถามว่าได้ทำอะไรอย่างไรบ้าง

นอกจากการทำงานสงเคราะห์ในประเทศแล้ว อาสาสมัครฉือจี้ยังประกาศศักดาไปทั่วโลก ด้วยมองเห็นว่า โลกปัจจุบันเสียสมดุลจากน้ำมือของมนุษย์ ทุกคนที่ตื่นแล้วจึงมีหน้าที่ช่วยกันเยียวยาโลก สร้างสรรค์โลก เหตุการณ์สึนามิแถบบ้านเรา อาสาสมัครฉือจี้ก็เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นๆ โดยเฉพาะแถบประเทศอินโดนีเซีย อินเดียและศรีลังกา เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปากีสถานเมื่อไม่นานมานี้ ธงอาสาสมัครฉือจี้ก็ไปโบกสะบัดคู่กับธงสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยพิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง

เขามีทั้งหน่วยอาสาสมัครทั่วไป และหน่วยแพทย์อาสาสมัครจาก 8-9 ประเทศไปร่วมงาน แต่ยังไม่มีแพทย์ไทยร่วมเป็นอาสาสมัครนานาชาติกับเขาแม้แต่คนเดียว

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฉือจี้ได้ออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนใน 61 ประเทศ และมีเครือข่ายสาขาฉือจี้อยู่ใน 46 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยก็มีแล้ว

วันที่ผมและคณะไปดูงานที่ฮวาเหลียน ได้พบกับนายเซีย จี่ ซื่อ อาสาสมัครฉือจี้คนสำคัญ อายุแค่ 40 ปีเศษๆ มีหน้าที่ดูแลฝ่ายต่างประเทศ คอยติดตามวางแผนและดำเนินงานบรรเทาสาธารณภัยนานาชาติ เรียนจบกฎหมาย ทำงานเป็นนายหน้าในตลอดหุ้น มีรายได้ปีละหลายล้านเหรียญ เขาบอกว่าหุ้นขึ้นเขาก็มีรายได้ หุ้นตกเขาก็มีรายได้ แต่ได้คิดว่านั่นไม่น่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม ดังนั้นเมื่อเขาค้นพบว่าตนไม่เหมาะที่จะเดินต่อไปในเส้นทางนั้น และด้วยพลังศรัทธาต่อธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนที่มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่าง ยิ่งใหญ่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาเป็นอาสาสมัครฉือจี้ตลอดชีวิต เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่แต่งงานเพื่อไม่ให้มีภาระ จะได้ทำงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกที่ทุกข์ยากและช่วยเยียวยาโลกได้อย่างเต็ม ที่

เขาเล่าประสบการณ์ที่ได้พาอาสาสมัครฉือจี้เดินทางไปบรรเทาทุกข์ในประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลก มีทั้งความสุขและความยากลำบาก แต่อาสาสมัครฉือจี้ก็ทำได้ ยิ้มได้และทนได้ทุกสถานการณ์ เขาบอกว่า ปัจจุบันเขามีพาสปอร์ตติดตัวตลอดเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ใดในโลก เขาพร้อมจะเดินทางไปที่นั่นเสมอเพื่อนำความช่วยเหลือจากฉือจี้ไปให้ถึง

คุณเซี่ยได้กล่าวถึงคำสอนที่ว่า  “ชาวพุทธจงเป็นช้างให้พระพุทธเจ้า แต่ถ้าจะเป็นช้างให้พระพุทธเจ้าขี่ ต้องยอมเป็นม้าเป็นวัวให้กับประชาชนก่อน”

ด้วยความเชื่อเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้อาสาสมัครฉือจี้ภาคภูมิใจและเต็มใจยิ่งนักที่จะได้อาสาเป็นผู้ช่วย เหลือทำการงานให้แก่ผู้อื่นโดยไม่เลือกงาน และไม่เลือกเขาเลือกเรา นับเป็นขบวนการจิตอาสาที่ใหญ่ยิ่ง

หมายเหตุ คัดลอกมาเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยงานอาสาสมัคร  จากหนังสือจิตอาสาพลังสร้างโลก