ศศิประภา  สำเนียง จากความชอบกิจกรรมสมัยวัยเด็กผลักดันเธอเข้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการเพื่อสังคม
(http://www.siamintelligence.com/sasiprapa/?utm_source=dlvr.it&utm_medium…)

สามารถกดฟังการสัมภาษณ์ได้จากเวป Transform Thailand คลิกที่นี่

ทั้งนี้ทาง siamintelligence อยากเชิญชวนเพื่อนๆเข้าไปคลิก Like  Facebook โครงการ Transform Thailand อีก1ชุมชนในการแลกเปลี่ยนมุมมองของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่เราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

     

SIU: ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่บ้างครับ

ตอนนี้ก็เป็นเจ้าของกิจการเพื่อสังคมค่ะ ชื่อบริษัท แผลงฤทธิ์ กรุ๊ป ครีเอชั่น จำกัด เป็นบริษัทที่ทำในเรื่องของการผลิตสื่อทุกรูปแบบ เช่น สื่อทางโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ เว็บไซต์ และมัลติมีเดีย นอกจากนี้ก็จะมีในส่วนของการจัดฝึกอบรม ซึ่งเราจะมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนรวมไปถึงการจัด Event ด้วยค่ะ

SIU: กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไรครับ

บริษัท แผลงฤทธิ์ กรุ๊ป ครีเอชั่น จำกัด เริ่มมาจากกลุ่มแผลงฤทธิ์ค่ะ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มเยาวชนที่สนใจในการทำสื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในตอนแรกที่เราตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเรามุ่งเน้นที่จะให้เด็กและเยาวชนที่ สนใจในเรื่องของการทำสื่อได้เข้ามาร่วมกับเรา เข้ามาเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ กับเรา เพราะเรามีมืออาชีพในการที่จะเป็นผู้ฝึกให้กับเด็กๆ เหล่านี้ นอกจากนี้เราก็เล็งเห็นว่าหากเรามีงานสักหนึ่งชิ้นที่สามารถให้เด็กและ เยาวชนเข้ามาร่วมได้ และก็ให้เด็กๆ และเยาวชนได้มีค่าขนมด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็ม ที่แล้วก็มีรายได้หรือมีค่าขนมเล็กๆ น้อยซึ่งจะสร้างความภูมิใจให้เขา สิ่งนี้ก็เลยเป็นที่มา แล้วหลังจากนั้นพอเราทำกลุ่มมาได้ประมาณหนึ่งก็จะมีผู้ใหญ่ที่สนใจแล้วก็ อยากจะมาสนับสนุน ก็เลยรบเร้าให้เราไปจัดตั้งบริษัท จะได้สนับสนุนได้อย่างเต็มที่ เราก็เลยตั้งเป็นบริษัทแล้วนิยามตนเองว่าเป็นบริษัทซึ่งเป็นกิจการเพื่อ สังคม นั่นหมายความว่าเราจะผลิตเฉพาะสิ่งที่ดีเพื่อสังคม แล้วกำไรทุกบาททุกสตางค์จริงๆ จากการทำงานทุกๆ ชิ้นก็จะนำกลับไปสู่สังคมเช่นเดียวกัน

SIU: ผู้คนมักจะติดภาพลักษณ์ว่าการทำงานเพื่อสังคมจริงๆ ไม่จำเป็นต้องได้เงิน แต่คุณดาวและเพื่อนๆ เมื่อเรียนจบแล้วก็มาทำงานตรงนี้ ซึ่งคุณดาวมองอย่างไรบ้างครับ

ก็ต้องบอกว่าในแผลงฤทธิ์เอง เราก็มีงานในส่วนของทั้งที่ได้เงินและไม่ได้เงิน โดยในปัจจุบันที่ทำอยู่นั้นในส่วนของที่ได้เงินจะน้อย ในส่วนที่ไม่ได้เงินจำเยอะกว่า แต่ว่าเราก็พยายามที่จะ Balance ให้เท่าๆ กัน คือไม่ได้หมายความว่าการที่เราจะทำงานเพื่อสังคมมันจะต้องไม่ได้เงิน แล้วมันก็จะทำให้เราตายในอนาคต เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องมีการวางแผนที่ดี เช่น การที่เราเปิดบริษัทนี้เราก็บอกว่าเราเป็นกิจการเพื่อสังคม ดังนั้นสิ่งที่เราทำเรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีหมดแต่ว่าเราก็ได้เงินจากการจ้าง งานของลูกค้า เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เราจะทำสิ่งดีๆ หรือทำเพื่อสังคมเราจะไม่จำเป็นต้องได้เงิน ก็เลยอยากจะบอกให้เข้าใจตรงกันว่าจริงๆ แล้วการทำงานเพื่อสังคม ส่วนหนึ่งที่จะเป็นแรงขับและทำให้เราสามารถยืนหยัดเพื่อทำงานตรงนี้ได้นั่น ก็คือเราจะต้องมีเงินในการที่จะหล่อเลี้ยงตนเอง เพราะว่าหากเราทำงานเพื่อสังคมไปตลอด โดยที่เราต้องเดือดร้อน กำลังของเรา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกำลังกายหรือกำลังใจ ก็จะถดถอยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการทำงานในรูปแบบของบริษัท หรือการเป็นกิจการเพื่อสังคมก็น่าจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ สำหรับคนที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะเลี้ยงดูตนเองให้อยู่รอดได้จริงๆ

 

SIU: ค่อนข้างน่าสนใจครับ คือผมอยากลงไปในรายละเอียดนิดหน่อย สมมติว่าผมอยากทำวีดีทัศน์ สำหรับให้คนเห็นความสำคัญของเด็กในสลัมโดยมีงบประมาณให้จำนวนหนึ่ง จะทำอะไรได้บ้างครับ

ก่อนอื่นก็ต้องมานั่งคุยกันก่อนว่าประเด็นที่คุณอยากทำคืออะไร อย่างเช่น คุณอยากทำเรื่องของเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่อาศัยอยู่ในสลัม ให้คนอื่นหันมาสนใจ ซึ่งด้วยความเป็นแผลงฤทธิ์เอง ก็จะมีเครือข่ายมากมาย เพราะฉะนั้นเราก็จะคุยกับคุณและเครือข่ายเราเพื่อที่จะหาแนวทางการทำงานร่วม กันโดยที่จะประหยัดงบประมาณให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นเราอาจจะไปคุยกับครูปู่ ซึ่งครูปู่เป็นคนที่สอนหนังสือเด็กๆ ในสลัม เราก็จะได้ภาพ ได้ข้อมูล ซึ่งเราแทบจะไม่ต้องลงไปทำอะไรเองเลย เราจะมีคนที่คอยหาข้อมูลให้เราในส่วนนี้ แล้วหลังจากนั้นเราอาจจะลงไปถ่ายทำ อาจจะใช้งบประมาณในเรื่องของการถ่ายทำแค่ส่วนหนึ่ง แล้วก็นำทั้งหมดนี้มาตัดต่อ ซึ่งการตัดต่อของเราก็มีเด็กๆ ที่มีความสนใจมาช่วยกันทำงานตรงนี้ให้อยู่แล้ว รวมถึงจะมีทีมงานของเราซึ่งเป็นมืออาชีพคอยควบคุมอีกที ดังนั้นก็จะไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะมากในการทำงานสักชิ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แผลงฤทธิ์จะไม่มีกำไรเลย ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละรายที่จะมาพูดคุยกับเราว่าเขามีงบประมาณ เท่าไหร่ อยากทำเรื่องอะไร เราก็สามารถที่จะเข้าไปช่วยผลักดันงานให้สำเร็จในส่วนไหนได้บ้าง มากกว่าค่ะ

 

SIU: ดูจากประวัติของคุณขวัญดาว จะพบว่าตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาได้รางวัลเยอะมาก ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เป็นเยาวชนดีเด่นด้านจริยธรรม ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านของประชาธิปไตยด้วย อยากทราบว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ชอบทำกิจกรรมเหล่านี้ครับ

จริงๆ แล้วตั้งแต่เด็กๆ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่และได้รับการผลักดันให้เป็นเด็กที่ กล้าแสดงออก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการกล้าแสดงออกแบบไม่ก้าวร้าว ก็คือ เหมือนรู้จักกาลเทศะว่าเวลาไหนควรจะต้องทำอะไร ควรจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วตั้งแต่เด็กด้วยความที่เราเป็นคนที่ได้รับรางวัลเยอะ เป็นเด็กแถวหน้าเพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พลิก แล้วก็กลายมาเป็นคนทำอะไรมากมายอย่างทุกวันนี้ ก็คือตอนที่เรียนเตรียมอุดม ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วก็เป็นเด็กแนวหน้ามาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสมาเรียนที่เตรียมอุดมแล้วชีวิตมันพลิก เพราะว่าเรามาเจอคนที่เก่งกว่าเราเยอะมากๆ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วโลกใบนี้เราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ยังมีคนมากมายที่เก่งกว่าเรา ดังนั้น เราน่าจะลองหาเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นเพื่อที่จะได้มีโอกาสเจอโลกมากขึ้น เจอคนมากขึ้นด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เริ่มจากตอนมัธยมปลายค่ะ

 

SIU: ที่ผ่านมาจากการทำกิจกรรมมากมาย มีประสบการณ์อะไรที่น่าประทับใจบ้างครับ

กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่ที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมก็จะเน้นในเรื่องของการจัด กิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนค่ะ จะเป็นรูปแบบของค่าย คือตัวของเราเองด้วยความที่เป็นคนพูดเก่งก็จะผลักตัวเองกลายเป็นวิทยากรที่ ทำงานด้านเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นวิทยากรที่ไปอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เหมือนไปสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ที่อยู่ในที่ต่างๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตามคุณก็สามารถเติบโตเป็นคนดี คนเก่งได้ และที่สำคัญคือคุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เราเห็นเด็กๆ ที่เราไปเจอในแต่ละที่ เขาสามารถประสบความสำเร็จ เช่น แค่น้องสามารถเปลี่ยนตัวเอง จากคนที่ไม่เคยบอกรักพ่อแม่ จากคนที่ไม่เคยกวาดบ้านถูบ้านแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรเหล่านี้ เราก็รู้สึกดีใจแล้ว รวมถึงเด็กบางคนอาจจะเป็นคนที่ไม่เคยสนใจการเรียนแต่ว่าสามารถสอบเข้า โรงเรียนประจำจังหวัดได้ หรือว่าน้องไปแข่งขันการพูดแล้วน้องได้รับรางวัลเพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งใน การช่วยติวเขา ซึ่งความสำเร็จของคนอื่นอย่างนี้ทำให้เรารู้สึกประทับใจในทุกๆ ครั้งที่ได้รับทราบข่าวคราวความเป็นไปของน้องๆ แต่ละคน

 

SIU: มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เรายึดถือตลอดคือคำว่า “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” เพราะว่าเมื่อเราทำดีที่สุดแล้วเราก็จะไม่เสียใจ อาจจะดูซ้ำๆ เหมือนอย่างที่ใครหลายๆ คนเคยพูด แต่เรามองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องบอกว่าในทุกๆ วันเราไม่รู้หรอกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างยาวนานมากน้อยแค่ไหน เราไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้เราจะมีโอกาสตื่นลืมตาขึ้นมาหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำวันนี้อย่างมีความสุขและทำอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดี และที่สำคัญเราก็จะมีความสุขด้วยกับสิ่งที่เราพยายามทำลงไปแล้ว อีกหลักหนึ่งที่ดาวยึดมากๆ เลยคือเรื่องของการพูด เนื่องจากเราเป็นคนพูด แล้วมีคนมาจ้างให้เราพูด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดาวยึดนอกจากทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็คือ “จงพูดเพื่อให้ แต่มิใช่พูดเพื่อเงิน” อันนี้ดาวว่าเป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ ไม่ว่าจะมีเงินมากมายขนาดไหนมากองตรงหน้าแล้วพยายามบังคับหรือยัดเยียดให้ เราพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เราพูดให้คนแตกแยกกัน เราก็จะไม่พูด เพราะเราถือว่าเงินซื้อเราไม่ได้ แล้วเราก็ต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่เราทำอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาเพื่อที่จะพูดและสร้างแรง บันดาลให้กับคนอื่น เราต้องยึดมั่นและไม่ทรยศต่ออุดมการณ์ของตัวเอง

 

SIU: จากการที่คุณดาวเป็นนักทำกิจกรรมตัวยงและการพูดก็เป็นกิจกรรมหนึ่งของคุณดาวด้วย คุณดาวช่วยนิยามตัวเองให้ฟังสักนิดครับ

ถ้าหากพูดถึงขวัญดาว ก็อยากจะให้นึกถึงว่าเราไม่ใช่แค่คนพูดเก่งแต่เราก็ทำเก่งด้วย คือในยุคนี้คนมักจะมองว่าเด็กพูดเก่ง คนนี้พูดเก่ง พูดดีจังเลย แต่เราไม่ทราบว่าเบื้องหลังจริงๆ แล้วเขาสามารถทำได้อย่างที่เขาพูดหรือไม่ เพราะอันนี้ดาวว่าสำคัญนะ มีคำๆ หนึ่งที่กล่าวว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด ซึ่งเราว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเราอยากให้คนนึกถึงภาพเราในภาพที่แบบว่า “ขวัญดาวเป็นคนที่พูดเก่งมากเลย แต่ไม่ใช่แค่พูดเก่งเท่านั้น เขาลงมือทำด้วย”  คืออยากให้คนนึกถึงภาพนี้ค่ะ

SIU: ทราบมาว่าคุณขวัญดาวได้เข้าร่วมเป็นผู้แทนเยาวชนไทยในกิจกรรมของอาเซียน อยากให้คุณดาวช่วยเล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยครับ

เวทีที่เราไปจะเป็นการประชุมเยาวชนของอาเซียน ซึ่งจริงๆ แล้วจะมี 2 วง คือ วงผู้ใหญ่และวงเด็ก โดยวงผู้ใหญ่จะเป็นส่วนของรัฐมนตรีที่ทำงานด้านเยาวชนของประเทศอาเซียน ก็จะมาพูดคุยกันในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับเยาวชนในอาเซียน ส่วนวงที่เราไปก็จะเป็นวงเยาวชน ซึ่งจะพูดคุยกันในหลากหลายประเด็น เช่น เรื่องของการศึกษา , เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียน แต่ในส่วนที่ดาวโฟกัส คือ ดาวเลือกประเด็นในเรื่องของผู้ประกอบการหน้าใหม่ซึ่งทำกิจการเพื่อสังคม ซึ่งก็ได้มีโอกาสเจอเพื่อนๆ จาก 10 ประเทศ ซึ่งรวมเราแล้ว ทั้งหมดก็ได้มาพูดคุยกันในฐานะของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยผู้ประกอบการหน้าใหม่ในแต่ละประเทศได้เข้ามานั่งพูดคุยเรื่องปัญหาและ อุปสรรคที่แต่ละประเทศได้พบเจอ อย่างเช่น บางประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยม เยาวชนของเขาเองก็ถูกปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็น หรือว่าการจะดำเนินกิจการเพื่อสังคมก็ค่อนข้างยาก เพราะว่าประเทศเหล่านี้จะถูกกด และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐบาลของเขา ฉะนั้นการที่เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่จึงค่อนข้างลำบากและติดขัด ส่วนบางประเทศที่เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าทันสมัย เขาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลของเขาเองทำให้งานในเรื่องของการขับ เคลื่อนเด็กๆ ที่จบออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วอยากจะเป็นเจ้าของกิจการเพื่อสังคม ทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมาก ก็ทำให้มันดีมากในบางประเทศนะคะ ส่วนประเทศไทยเองซึ่งเราไปในฐานะของผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ก็จะเห็นได้ว่าเรายังมีข้อดีมากกว่าในบางประเทศในส่วนที่เราสามารถแสดงความ คิดเห็นได้ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าเราจะผลิตอันนี้นะ  เราจะคุยกับลูกค้าแบบนี้ เป็นต้น ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของเราก็คือเรื่องของการเสียภาษี ซึ่ง ชมพู่ อารยา ก็เคยบอกไว้ว่า “สองสิ่งที่คนจะหลีกหนีไม่ได้ก็คือ ความตายและภาษี” อันนี้เราก็พูดกันแบบขำๆ นะคะ…..คือประเทศของเราเองก็ยังไม่มีการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมว่าคุณจะ เสียภาษีแค่นี้ แค่นั้น หรือไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นจากการที่แต่ละประเทศได้มีการระดมความคิดเห็นกัน ก็เลยเป็นที่มีของข้อเสนอแนะที่เราได้นำเสนอต่ออาเซียนออกไป ก็จะนำเสนอในหลายส่วน อย่างเช่น ในส่วนของการให้กลุ่มประเทศอาเซียนตั้งเป็นกองทุนสำหรับเด็กๆ ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วอยากจะเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งประกอบกิจการเพื่อสังคม โดยให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้มีกองทุนในการเปิดบริษัทของตนเอง เปิดกิจการของตนเอง แล้วก็ให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเรื่องของการจัดเก็บภาษีรวมถึงมีกลไกที่จะทำ อย่างไรให้เด็กเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจของตนเองจนกระทั่งประสบความสำเร็จ แล้วก็ยืนหยัดอยู่ได้ในฐานะผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมจริงๆ

 

SIU: มองอนาคตของผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมอย่างไรในประเทศไทย จะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด

จริงๆ เรามองว่ากำลังเป็น Trend ที่กำลังมา เพียงแต่ว่ายังไม่มีสื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีหลายๆ กลุ่ม มีหลายๆ องค์กร ที่เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นกิจการเพื่อสังคมเพียงแต่ว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้ ถูกผลักออกไปให้คนในสังคมเห็นได้กว้างได้ชัด เพราะฉะนั้นเรามองว่าถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกนำเสนอหรือถูกผลักออกไป คนก็จะเข้าใจภาพของกิจการเพื่อสังคมได้มากยิ่งขึ้นแล้วคนที่เกี่ยวข้องก็จะ หันมาสนับสนุนและช่วยกันทำให้กิจการเพื่อสังคมอยู่ได้จริงๆ เนื่องจากเรามองว่าคนที่ทำกิจการเพื่อสังคม ก็ต้องเป็นคนที่มีความเสียสละมากพอสมควรในระดับหนึ่ง เขาถึงยอมที่จะมาทำอะไรแบบนี้ เราก็ได้เห็นหลายคนที่ทำงานบริษัทซึ่งก็ได้เงินเดือนเยอะ เพียงแต่เขามีความรู้สึกว่าบริษัทนี้ทำลายโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม เขาก็ลาออกมาเพื่อที่จะมาทำอะไรของตนเองแล้วยอมที่จะรับเงินเดือนน้อยๆ หรือยอมที่จะไม่มีเงินเดือนแต่ว่าได้ทำอะไรที่ดีๆ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องทำให้คนรู้เยอะๆ คนจะได้หันมาสนับสนุนเรา

 

SIU: จากการที่คุณดาวได้ไปพบปะกับกลุ่มเยาวชนในประเทศอาเซียนแล้ว อยากให้คุณดาวช่วยเปรียบเทียบให้ฟัง ระหว่างเยาวชนของไทยกับเยาวชนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนว่าแตกต่างกันอย่างไร ในแง่ของศักยภาพต่างๆ

เท่าที่เห็นจะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า เยาวชนที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศพูดภาษาอังกฤษได้ดีมากๆ แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศซึ่งเรามองว่าเขาดูแย่กว่าเรา (หรือเปล่า?) ปรากฏว่า เขาสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดีมากๆ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากๆ ในขณะที่ถ้าเราหันกลับมามองเด็กไทยในยุคนี้ คงต้องบอกว่าไม่ได้เป็นส่วนใหญ่นะคะ โดยจะพบว่าเด็กแค่บางส่วนหรือบางกลุ่มยังคงใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดี ซึ่งก็ไม่เป็นไรหรอก เพียงแต่ว่าในอนาคตต่อไปที่เราต้องก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน เรามองว่าการใช้ภาษาอังกฤษได้จะทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของการพูดคุยสื่อ สารและอาจจะทำให้เราประสบความสำเร็จก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคต และสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือเรามองว่าเด็กทั้งประเทศนั้น บางคนยังไม่รู้จักเลยว่าอาเซียนคืออะไร เด็กทั้งประเทศรู้หรือยังว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แล้ว โดยเราจะได้รับอะไรจากการก้าวเข้าไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในขณะที่เพื่อนๆ เราหลายประเทศเขารู้แล้วว่าอาเซียนคืออะไร เมื่อเป็นประชาคมอาเซียนเขาจะทำอะไรได้บ้าง และเขาเตรียมจะทำอะไร หลายๆ ประเทศให้ทุนการศึกษาเยาวชนของเขาให้เข้ามาเรียนในประเทศไทย เพื่อเข้ามาดูในประเทศไทยมีการปกครองอย่างไร คนไทยกินอะไร วิถีชีวิตของคนไทยเป็นแบบไหน คือมีการศึกษาเราอย่างชัดเจน ในขณะที่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่แล้วเราได้ไปศึกษาคนอื่นบ้างแล้ว หรือยัง???

 

SIU: มุมมองต่อประเทศไทยอีก 5 ปีข้างหน้า

ถ้าอย่างนั้นก็ โฟกัสไปที่ด้านเด็กและเยาวชน ก็แล้วกันนะคะ คือ ภาพที่เรามองนั้นก็ต้องมีภาพที่เป็นความเป็นจริง กับภาพที่เป็นด้านฝันของเรา โดยเราเริ่มพิจารณาจากด้านที่เป็นความจริงก่อนนะคะ เราคิดว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าเด็กไทยจะเป็นเด็กที่เขียนหนังสือไม่ได้แล้วเพราะทุกคนก็จะใช้แต่ แท็บแล็ต แล้วก็จะพิมพ์ทุกอย่างจากคอมพิวเตอร์ แล้วก็จะไม่อ่านจากหนังสือแต่ทุกคนจะอ่านจากแท็บแล็ต เด็กก็จะรักความสบายมากขึ้นเพราะว่าแทบจะไม่ต้องทำอะไรเองซึ่งทุกอย่างใน อนาคตก็จะทันสมัย ทุกอย่างจะเร็วขึ้น ฯลฯ ก็คิดว่าอย่างนั้นค่ะ แต่หากเป็นภาพฝัน ในอนาคตอีก 5 ปีคิดว่าอาจจะยังไม่สายถ้าหากเราจะหันกลับมามองปัญหาของเรา ณ ตอนนี้แล้วก็แก้ไขที่ต้นเหตุ เรามองว่าถ้าในความฝันอีก 5 ปี เราอยากให้สังคมไทยช้าลงนิดหน่อย ช้าลงในที่นี้หมายความว่า ให้ผู้คนไม่ต้องวิ่งเข้าหาวัตถุนิยมเยอะ ให้คนหันกลับมามองภาพของความพอเพียง ว่าจริงๆ ถ้าเราอยู่โดยที่ไม่ต้องวิ่ง ไม่ต้องดิ้นรนมากๆ ได้เราจะมีความสุขมาก

 

SIU: สิ่งที่อยากทำเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาประเทศไทย

สิ่งที่อยากจะทำเพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น ดาวก็จะบอกว่า ดาวคงทำอะไรไม่ได้ในฐานะที่เป็นคนตัวเล็กๆ เท่านั้น แต่หากจะให้ทำจริงๆ ก็คงจะทำในทุกๆ วันใช้ชีวิตของตัวเองแบบนี้ในทุกๆ วันเพราะเราถือว่าการที่เราเป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว ทำกิจการเพื่อสังคมอยู่แล้ว เราก็จะทำงานในฟังก์ชั่นของตัวเองให้ดีที่สุด เราเชื่อว่าคนทุกๆ คนในโลกใบนี้ในสังคมเรานี้ ถ้าเราทำงานตามฟังก์ชั่นของตัวเองให้ได้ดีทุกอย่างก็จะดี เช่น เมื่อเราเป็นลูก เราก็แค่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็เป็นนักเรียนที่ดีของครูอาจารย์ หรือว่าเราเป็นพลเมืองที่อยู่ในสังคม เราก็ตระหนักเองว่าเราจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีต่อสังคม และดาวคิดว่า ถ้าหากทุกคนทำงานตามฟังก์ชั่นของตนเองให้ได้ดีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปปรับ อะไรเลย สังคมก็เดินหน้าได้เอง ไม่ต้องไปบอกว่าฉันจะสร้างหรือระดมทุนมหาศาลเพื่อที่จะนำมาสร้างมูลนิธิ , สร้างสวนสาธารณะหรืออะไร คือถ้าแค่คุณเป็นนักการเมืองแล้วคุณทำฟังก์ชั่นนักการเมืองของคุณให้ได้ดี ก็ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรที่จุดไหนแล้ว แล้วเราก็จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาเยอะแยะ ไม่ต้องมีอาชญากรรม คุณเป็นแท็กซี่คุณก็ขับแท็กซี่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของคุณไป คุณเป็นคนกวาดขยะคุณก็พอใจในสิ่งที่คุณกวาด แค่นี้เองทุกอย่างก็ดี คือเราทำงานในฟังก์ชั่นของเราให้ดีที่สุด แค่นั้นเอง