ในงาน “พลังแห่งสุขแท้” สรุปผลและถอดบทเรียนโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ที่เครือข่ายพุทธิกาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อ 2-4 กุมภาพันธ์ ณ โรงแรมเดอะรอยัลเจมส์กอล์ฟรีสอร์ท จ.นครปฐม นอกจากจะได้รับฟังบทเรียนจากแต่ละโครงการอันเปรียบเสมือนได้ศึกษา “เส้นทาง” ที่แต่ล่ะกิจกรรมใช้ขับเคลื่อนงาน เผื่อที่ใครจะนำมาประยุกต์ตามแบบฉบับของตัวเองแล้ว กาลนี้เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายแบบเจาะลึกอีกด้วย ที่อยากแนะนำวันนี้ คือ “ครูโต้ง -โต้ง พรมกุล” ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล วัย 32ปี ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวหลักสำคัญในการริเริ่มกิจกรรม “โครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้” หนึ่งใน 5 กิจกรรมต้นแบบซึ่งพัฒนาจากแนวคิดการสร้าง “สุขแท้ด้วยปัญญา” โดยทำกับกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาบนวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาสมาธิ เสริมศักยภาพแก่เด็กนักเรียนอีกทางหนึ่งนอกจากหลักสูตรในการเรียน พร้อมๆกับใช้กิจกรรมเป็นพื้นที่ให้สังคมภายนอกเปลี่ยนทัศนคติกับกลุ่มเด็ก บกพร่องทางสติปัญญา แรงบันดาลใจของกิจกรรมโครงการวิถีชีวิตไตรสิกขาคืออะไร ผมเห็นว่าแม้เด็กพิการทางสติปัญญาจะมีอุปสรรคทางกายภาพ และค่อนข้างมีขีดจำกัดการเข้าถึงทักษะการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเด็กปกติ แต่ในเรื่องของการพัฒนาวิธีคิดการสร้างความสุขที่มาจากการให้-การตั้งสติ และการบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่มีอะไรที่นักเรียนของที่นี่จะทำไม่ได้ ถึงเขาจะพิการแต่จิตใจเขาปกติ และทุกคนอยากทำดีด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราเป็นครู เราก็อยากให้ลูกศิษย์เราได้รับสิ่งที่ดี พอมีอาจารย์ท่านหนึ่งเห็นใบประกาศของ สสส.เรื่องโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา พวกเราประทับใจที่ว่าแนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญานั้นเป็นการสร้างความสุขที่แท้ จริง เพราะความสุขไม่จำเป็นต้องมาจากความพร้อมในทุกอย่าง หรือมั่งมีเงินทอง แต่เป็นการมีความสุขที่ผ่านการใช้สติปัญญา ทั้งการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง เชื่อมั่นในความเพียรพยายาม คิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ยึดติดกับวัตถุ เราจึงเขียนใบสมัครเสนอโครงการไป และช่วยกันออกแบบกิจกรรมของเรา เหตุนี้เขาและทีมงานของโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูลจึงผสานองค์ความรู้ที่ มีเพื่อออกแบบกิจกรรมและสร้างเครื่องมือ หวังให้กลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าถึงการมีสุขภาวะในแบบที่ควรจะเป็น

รูปแบบของกิจกรรมมีหลักคิดอย่างไรบ้าง เป็นการรวมเข้าของหลักการทางศาสนากับการสร้างความเป็นรูปธรรมของกิจกรรม อย่างแรกคือเริ่มจากการฝึกสตินักเรียนในห้องธรรมานุบาล ที่เอาหลักคิดด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของครูอีกท่านหนึ่งในโรงเรียนมาช่วย โดยห้องนี้จะมีอุปกรณ์เน้นการตอบสนองการฝึกเจริญภาวนาสติแก่เด็กพิการ ผ่านการใช้อุปกรณ์การเดินทรงตัว การเดินแบบก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง เดินสลับซ้ายขวา ซึ่งแต่ละช่วงเดินย่อมหมายถึงการตั้งสติ ไม่ต่างอะไรจากการฝึกสมาธิในระดับเบื้องต้นของผู้มีร่างกายปกติ อย่างเด็กคนไหนไม่นิ่งผมจับเขามาวิ่งก่อนเลย วิ่งบนเครื่องวิ่งเพื่อลดพลังงาน ลดความฟุ้งซ่านที่มากเกินไป จากนั้นอาจจะฝึกสมาธิด้วยการเดิน หรือการนั่งสักพัก เปิดเสียงคำสอนคลอเบาๆให้เขาได้พักผ่อนสติตัวเอง ฝึกนั่งสมาธิ ในวิธีการต่างๆ อธิบายง่ายๆว่าห้องธรรมานุบาลแท้จริงคือการสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียน เข้าถึงศาสนานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ หรือในรูปแบบการสร้างบรรยากาศที่เงียบ เย็นสบาย ที่ง่ายต่อการร่วมรับฟังธรรมหลักคำสอนให้ได้ดีกว่าบรรยากาศแบบปกติ เช่นนั้นการฝึกที่ตัวเองอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เด็กของเราต้องร่วมกับชุมชนด้วย อย่าลืมว่าถึงจะอยู่ในชุมชนเดียวกันแต่เด็กนักเรียนของเราไม่ใช่คนในชุมชน จึงไม่มีสัมพันธ์กับชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งสังคมมักมองว่าโรงเรียนเด็กพิการคือ “แหล่งบุญ” ของคนปกติ ซึ่งผลลัพธ์ในเรื่องนี้นอกจากความสบายใจของผู้ให้และการร่วมแบ่งปันของคนใน สังคมแล้ว ในมุมกลับมันได้สร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ดีนัก ให้แก่เด็กในโรงเรียน เกิดการเอาแต่รอคอยผู้มาบริจาค กินทิ้งกินขวาง หนักเข้าถึงขนาดเอาแต่ใจ และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นหากิจกรรมให้เด็กในโรงเรียนออกไปช่วยสังคมในรูปแบบการเป็นอาสาสมัคร ที่วัดในช่วงสุดสัปดาห์ คอยหยิบจับในเรื่องเท่าที่จะทำได้ ไล่ตั้งแต่การจัดรองเท้า ล้างจาน ประเคนอาหาร ฯลฯ รวมไปถึงการร่วมอาสาสร้างประโยชน์ในบ้านพักคนชรา ทั้งในด้านแรงงานและแรงใจแก่ผู้อาวุโส

ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร อย่างน้อยๆการแสดงถึงการยอมรับจากวัด จากพระ จากผู้อาวุโส ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นประโยชน์ของพวกเขา เปลี่ยนมุมมองว่าเด็กพิการทางปัญญาเหล่านี้มีคุณค่า มีศักยภาพมากกว่าจะรอคอยแต่ความสงสาร เพราะพระซึ่งเปรียบเสมือนคนที่ชาวบ้านนักถือยังเชื่อมั่นเด็ก ชาวบ้านจึงคิด เปลี่ยนมุมมองที่จะยอมรับพวกเขาบ้าง การทำงาน “สุขแท้ด้วยปัญญา”ให้อะไรกับตัวเองบ้าง ผมเป็นคน จ.อุดรธานี พอจบ ป.6 มีโอกาสมาเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ประจำจังหวัดขอนแก่น เรียนได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และจบการศึกษา จึงมาศึกษาระดับพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อ จบแล้วไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มา1ปี พอมีเปิดสอบครูผมก็ตั้งใจสมาสมัคร และไปร่วมอบรมครูการศึกษาพิเศษตามลำดับ ในอดีตอย่างผมเคยบวชเรียนมาก็จะได้ทางธรรม ก็พยายามสอนให้เด็กคิดดี พูดดี ทำดี ฝึกสมาธิสร้างสติ แต่เด็กปัญญาจะให้ไปนั่งนิ่งๆ หรือเดินจงกรมคงยาก ขณะที่ศาสนาเองก็ดูเป็นเรื่องนามธรรม จึงต้องหาความเป็นรูปธรรมมาร่วมด้วย หลักๆคือเมื่อเห็นสังคมได้ประโยชน์ เด็กนักเรียนของเราพัฒนา มันเกิดเป็นความสุข มันเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ผมเคยเป็นพระ เคยเป็นนักสังคมสงเคราะห์ โดยรูปแบบงานอาจจะเปลี่ยนไป แต่มันคือเนื้อหาเดียวกัน เป็นความตั้งใจที่จะทำให้สิ่งรอบตัวดีขึ้นตามความสามารถที่เราทำได้ ในรูปแบบที่เราถนัด บทเรียนสำหรับตัวเอง การร่วมกิจกรรมสุขแท้ฯ ทำให้ผมได้โอกาสลองทำอะไรใหม่ๆ เกิดความอยากพัฒนาในระดับต่อๆไป พร้อมกับส่งเสริม หาเครือข่ายนักพัฒนาผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปประยุกต์กับงานของตัวเอง นอกจากนี้ผลของการทำงานช่วยยืนยันความเชื่อที่ว่า หลักคิดที่ดี ผมมองว่าแนวคิดทางศาสนาไม่ใช่เรื่องสูงส่ง หรือเป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้ามาสัมผัส หรือต้องเป็นคนปกติเท่านั้น กลับกันที่ใครจะมาสัมผัสก็ได้ ขอให้ตั้งใจจริงและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ก็พอ

ที่มา http://www.gotoknow.org/posts/519273