ภายใต้ท้องฟ้าสว่างสดใสของโลกที่ฉันคอยจ้องมอง
มีดวงตาที่สว่างสดใสไม่แพ้กันจ้องมองมายังฉัน
สายตาแห่งความหวังอันไร้เดียงสากับรอยยิ้มจากริมฝีปากน้อยๆ
“ครูอาสาค่า” เสียงใสแจ๋วของเด็กอนุบาลร้องเรียกฉัน
ครูอาสาในความหมายของเด็กหญิงคืออะไร?
แต่นั่น…ไม่สำคัญเท่ากับวันนี้ฉันคือครูของพวกเขาแล้ว

บันทึกสั้นๆ ของฉันเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กับประสบการณ์งานอาสาสมัครโครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็ก (รุ่นที่ 3) จัดโดยมูลนิธิเกื้อฝันเด็กร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา ซึ่งมีภารกิจ 4 เดือน ในการส่งอาสาสมัครเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยสอนหนังสือและทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบนดอยห่างไกลความเจริญ สายตาของเด็กนักเรียนที่จ้องมองฉันในวันแรกและรอยยิ้มปนความเขินอายของพวกเขาทำให้ฉันรู้สึกพิเศษ ชีวิตคนเราช่างประหลาดซับซ้อน ฉันไม่มีความคิดอยากเป็นครูมาก่อน และคิดว่าอาชีพครูไม่เหมาะกับฉันเอาซะเลย แต่จู่ๆ ฉันก็ได้ทดลองมาเป็นครูสอนหนังสือจริง ในโรงเรียนจริง มีนักเรียนจริงๆ แล้วดันพบว่าตัวเองสนุกกับมัน ถึงขนาดที่ว่าวินาทีนั้นฉันอยากเป็นครูขึ้นมาจริงๆ ทั้งยิ่งได้รู้จักคลุกคลีกับเด็กนักเรียนมากขึ้นเท่าไหร่ฉันก็ยิ่งหลงรักพวกเขามากขึ้นเท่านั้น เด็กๆ ทำให้ฉันมีพลังและพร้อมที่จะดำเนินบทบาทให้ถึงที่สุด ประสบการณ์นี้ทำให้มุมมองต่ออาชีพครูของฉันเปลี่ยนไปและหวนมาพินิจว่าที่ผ่านมาทำไมฉันจึงตัดสินตัวเองว่าไม่เหมาะไม่ควร อันที่จริงมนุษย์เราคงมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าที่เราคิด

ด้วยเหตุนั้น การตัดสินใจสมัครโครงการนี้จึงไม่ใช่เพราะอยากเป็นครู แต่สนใจงานอาสาสมัคร เบื่อชีวิตการงานที่ทำอยู่ อยากเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับตนเอง ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 เดือนอันเข้มข้น ทุกอย่างคือประสบการณ์รูปแบบใหม่ งานอาสาที่ไม่ได้มาเล่นๆ แต่เอาจริงเอาจังทุกกระบวนการ สำหรับฉันการได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานด้านอาสาสมัครและรู้จักผู้คนหลากหลายขึ้น ฉันได้รับรู้ว่ามีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานด้านอาสาสมัครอย่างทุ่มเทและจริงจัง สำหรับฉันมันเหมือนเป็นสังคมอีกด้านหนึ่ง เคยได้ยินคนบอกว่าสังคมอาสาเป็นสังคมโลกสวย ซึ่งฉันว่าคำกล่าวนั้นถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว สังคมจำเป็นต้องมีคนเหล่านี้อยู่ ไม่มีการงานใดที่จะพัฒนาคุณธรรมในตัวมนุษย์ได้ดีเท่างานอาสามัครอีกแล้ว ‘คุณอยู่ไม่ได้ถ้าคุณไม่มีหัวใจและไร้จิตสาธารณะ’ ฉันคิดอย่างนั้น เมื่อมาอยู่ตรงนี้ฉันจึงต้องหัดมองตัวเองในยามอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น ต้องพัฒนาคุณธรรมในตัวให้เท่าผู้อื่นหรือมากกว่ายิ่งดี ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นอาสาสมัครเอาแต่ใจหรือเห็นแก่ตัว เพราะเป็นเรื่องน่าละอายมากเกินกว่าจะทำแบบนั้นในสถานการณ์เช่นนี้

‘มนุษย์เราน่าจะมีที่สักแห่งและงานสักอย่างที่เรารักและมีความสุขกับมัน’ คือประโยคที่ฉันเคยพูดในช่วงวันส่งท้ายภารกิจครูอาสาเกื้อฝันเด็กให้กับอาสาสมัครและทีมงานฟัง มันคือถ้อยคำซึ่งอยู่ในหนังสือ ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ ผู้เขียนคือ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฉันหยิบประโยคนี้มาใช้อธิบายความรู้สึกก็เพราะมันมีช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่งที่ฉันรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา ฉันมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ ดีใจที่ตัวเองกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทางเดินชีวิต กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ เหมือนกับได้เติมพลังความเป็นมนุษย์ให้กับตนเอง ใช่! คนเราเกิดมาตัวคนเดียวและตายคนเดียว แต่คนเราไม่ควรมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง วันนี้ฉันรู้สึกอย่างนั้น เพราะการมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองมันดูราวกับคนสิ้นหวัง ฉะนั้น เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น ชีวิตจึงจะไม่ว่างเปล่าไร้แก่นสาร และฉันคิดว่ามีคนที่อยากทำงานอาสาสมัครอีกมากมายที่เฝ้ารออยู่อย่างเงียบๆ รอเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงปรากฏตัวออกมาอย่างที่ฉันเคยเป็นและทำมันได้ ขอจงก้าวออกมา ท้ายนี้ ขอบคุณโอกาสและประสบการณ์จากผู้ที่หยิบยื่นให้ทุกคน ทุกๆ อย่างในวันนั้นคือความทรงจำถาวรของฉัน

เพราพงา มุกลิน / ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก รุ่นที่ 3