1. แผนที่เดินดิน
———————————
แผนที่เดินดินเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่สำคัญและเหมาะที่จะเป็นบันไดขั้นแรกของการศึกษาชุมชน เพราะ ทำให้เห็นภาพรวมของชุมชนได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดเพราะได้มาจากการสังเกตด้วยตัวเอง ทำให้เห็นกลุ่มเป้าหมายที่จะทำงานต่อได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง


2. ผังเครือญาติ
————————————
เป็นการใช้สัญลักษณ์แสดงตัวบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบเครือญาติ มีประโยชน์สำคัญคือ ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ที่แม้จะมีความซับซ้อน หลายตระกูลก็ยังสามารถสืบสาวเชื่อมโยงกันได้ด้วยแผนผังที่เข้าใจง่าย


3. โครงสร้างองค์กรชุมชน
——————————–
• การรู้จักและเข้าใจโครงสร้างองค์กรชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะช่วยให้เราเห็นได้ชัดเจนถึงมิติความสัมพันธ์ในชุมชนว่าคนกลุ่มไหนมีบทบาทต่อชุมชนเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรหรือขัดแย้งกับกลุ่มไหนบ้าง เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้เราจัดการความสัมพันธ์ของเรากับชุมชนได้
• ศักยภาพของชุมชนอยู่ที่การรวมตัวเป็นกลุ่มหรือเครือข่าย องค์การชุมชนจึงเป็น “ทุนทางสังคม” ที่สำคัญในการแก้ปัญหาและการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง


4. ระบบสุขภาพชุมชน
———————————
ทำให้เห็น “โลกสุขภาพ” ของชาวบ้าน คือเห็นภาพรวมของระบบสุขภาพที่สามารถเชื่อมโยงกับมิติต่าง ๆ ของชุมชน เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพที่ดำรงอยู่ในชุมชน เข้าใจถึงวัฒนธรรมความเชื่อ วิธีปฏิบัติ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของท้องถิ่น


5. ปฏิทินชุมชน
—————————————
ทำให้เข้าใจวิถีชุมชน ซึ่งหมายถึงแบบแผนกิจกรรมเหตุการณ์รวมทั้งประเพณีปฏิบัติของชุมชนที่เกิดขึ้นในรอบปี หรือแต่ละฤดูกาล ทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
ทำให้สามารถวางแผนการทำงานกับชุมชนได้ดีขึ้น เพราะจะทำให้จัดตารางการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนได้ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและถูกจังหวะเวลา


6.ประวัติศาสตร์ชุมชน
——————————-
การทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ของชุมชนสำคัญต่องานชุมชนเพราะ ชุมชนมีส่วนคล้ายกับบุคคลตรงที่มีความคิดเห็นและมีความรู้สึก การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนเหมือนกับการได้เข้าใจคนคนหนึ่งว่าเขามีความเป็นมาอย่างไร

เติบโตมาในครอบครัวแบบไหน เคยประสบกับอะไรมาบ้างในชีวิต ทำให้เราเข้าใจคนคนนั้นได้ดีประวัติศาสตร์ชุมชนก็เช่นเดียวกัน การเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่างๆ ในชุมชน ทำให้เราสามารถเลือกวิธีการทำงานกับชุมชนให้สอดคล้องกับประสบการณ์ ความคาดหวังและศักยภาพของชุมชนได้ดีขึ้น


7.ประวัติชีวิต
———————
• ประวัติชีวิตหรือเรื่องราวประสบการณ์ของคนในชุมชนช่วยให้เราเห็นว่าค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเคยเป็นเรื่องนามธรรมนั้นมีรูปธรรมการแสดงออกเป็นอย่างไร ค่านิยมหรือวัฒนธรรมเรื่องใดมีความสำคัญและมีผลรูปธรรมต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร
• ประวัติชีวิตของคนแต่ละรุ่นในชุมชนสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชนได้เป็นอย่างดี
• การศึกษาประวัติชีวิตทำให้เราเห็นถึงศักยภาพและทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีอยู่ในชุมชน การเรียนรู้เรื่องราวประวัติชีวิตช่วยเติมมิติความเป็นมนุษย์ให้กับงานชุมชนช่วยให้งานมีความหมาย

———————————–
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ วิถีชุมชน คู่มือการเรียนรู้ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก โดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ที่มา https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1687990294563859.1073742052.191455714217332&type=3