วุฒิอาสาธนาคารสมอง บทบาทผู้สูงอายุที่น่าจับตามอง

โดย ดร.อำพน กิตติอำพน

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ …ความจริงหกสิบแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาที่สมควรที่จะให้ผู้ที่มีอายุน้อยเข้ามาได้ทำ

หน้าที่ของเขาบ้าง มีโอกาสทำหน้าที่ เราก็ยังเป็นกองหนุนที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง…

เรียกว่าเบรนแบงก์ (Brain Bank) ธนาคารมันสมอง…”

“…เรียกว่าคณะกลุ่มที่คอยจ้องดู เพื่อว่าจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อย่างไรบ้าง คล้ายๆ

เป็นผู้ช่วยของคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นกำลังของแผ่นดินเรา ถึงแม้ว่าเราจะหกสิบกว่าแต่เราก็ยังช่วยได้

เราจะคอยเพ่งพิจารณาทุกเรื่องที่ต่อไปจะเป็นปัญหาที่น่าห่วงใยของประเทศ…”

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 สิงหาคม 2543
ที่มาของธนาคารสมอง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานในที่ประชุมมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเกี่ยวกับเรื่องธนาคารสมอง ในการนำผู้ที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ มาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนธนาคารสมอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ธนาคารสมองจึงเป็นแหล่งรวมของวุฒิอาสา ซึ่งเป็นคลังปัญญาของประเทศ ที่พร้อมอาสาร่วมพัฒนาสังคมและประเทศ ในลักษณะการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยไม่หวัง ผลตอบแทน แต่มุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวมของประเทศ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

ผู้สูงอายุ… “วุฒิอาสา” ผู้เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า

จากการสำรวจโครงสร้างประชากรล่าสุดพบว่า ประเทศไทยในปัจจุบัน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) วันนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนวัยแรงงานมีอัตราการเพิ่มที่ชะลอตัวลง ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามว่า “ใครจะดูแลผู้สูงอายุในอนาคต” นอกจากนี้ รายได้ของรัฐก็จะลดลงไปด้วย เมื่อผู้เสียภาษีอยู่ในวัยสูงอายุมากขึ้น

ดังนั้น การนำความรู้ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมนั้น เป็นวิสัยทัศน์อันยาวไกลมาก

การดำเนินงานของธนาคารสมอง จึงเป็นแนวคิดและการดำเนินงานที่คำนึงถึงการนำทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่า คือ ผู้สูงอายุที่เกษียณหรือลาออกจากงานแล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย มาร่วมสมัครเป็น “วุฒิอาสา” อาสาทำงานให้กับสังคม

วุฒิอาสาจึงนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพเปี่ยมล้นด้วยความรู้ ความสามารถ ความ เชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานต่างๆ มากมาย สามารถที่จะนำความรู้และประสบการณ์มาช่วย เชื่อมรอยต่อของการปลี่ยนแปลงที่ประเทศต้องเผชิญอยู่ รวมทั้งสามารถที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้แก่ อนุชนรุ่นหลัง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

โดยขณะนี้มีผู้สมัครเป็นวุฒิอาสาแล้วจำนวน 3,158 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2551) ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถถึง 21 สาขา เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษาด้านการเกษตร และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

การทำงานของวุฒิอาสา

วุฒิอาสามีการทำงานเป็นเครือข่าย ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลัก เพราะวุฒิอาสาไม่มีกรอบเวลา การปฏิบัติงานที่จำกัด แต่จะมีรูปแบบของการขับเคลื่อนที่ชัดเจน บทบาทที่สำคัญของวุฒิอาสามิใช่ผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานแทนหน่วยงานและองค์กร ต่างๆ หรือปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติ แต่เป็นการนำปัญญา ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากการทำงาน มาช่วยเสริมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยการเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ จัดการสาธิต ฝึกอบรม ติดตามดูงาน ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ โดยร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและเรียนรู้ด้วยกันในลักษณะองค์รวม

ในการทำงานนั้นวุฒิอาสาจะสำรวจและวิเคราะห์ว่า สถานที่ลงไปให้ความช่วยเหลือและดูแลมีปัญหาใดเป็นปัญหาสำคัญที่สุด จากนั้นก็จะนำปัญหานั้นมาเป็นประเด็นหลักในการหาหนทางแก้ไขและช่วยเหลือร่วม กันกับคนในชุมชนนั้นๆ โดยเน้นการให้คนในชุมชนเป็นผู้คิดและหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ด้วยตนเอง โดยมีวุฒิอาสาเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง

ตัวอย่างผลการดำเนินงานของวุฒิอาสา

ตัวอย่างของโรงเรียนผู้รับความช่วยเหลือจากวุฒิอาสาธนาคารสมองกลุ่ม สุขภาพที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้วยดี เช่น โรงเรียนวัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ โรงเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือจากวุฒิอาสาในเรื่องการจัดการด้านโภชนาการ ของเด็กภายในโรงเรียน เนื่องจากเด็กประสบกับปัญหาด้านโภชนาการ คือ อ้วนเกินไป และผอมเกินไป ซึ่งวุฒิอาสาได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงแก่เยาวชน โดยให้เยาวชนเป็นผู้คิดหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และมีมหาวิทยาลัยและถาบันการศึกษาในเขตนั้นๆ เป็นผู้ช่วย เช่น ภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคกลางมีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

การให้เยาวชนได้ใช้ความรู้และความคิดของตัวเองในการแก้ปัญหา รวมถึงลงมือทำเองนั้น จะส่งผลให้เยาวชนเหล่านั้นสามารถที่จะจดจำเรื่องราวต่างๆได้ดี ต่างจากการที่ครูเป็นผู้ให้ความรู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะหากเป็นเช่นนั้น เยาวชนจะจำได้เพียงแค่ตอนครูสอน หลังจากนั้นจะลืม และไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง การสร้างรากฐานให้เยาวชนคิดเอง ทำเอง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ มีปัญหาหลายปัญหาที่คนส่วนใหญ่เคยคิดว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยหรือไม่สำคัญ กลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ยากจะหาทางเยียวยาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคความดันโลหิต และโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้ว สิ่งที่ตามมา คือค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษา ก่อให้เกิดเป็นภาระของรัฐบาลและครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบหนักขึ้น ดังนั้น วุฒิอาสาจึงจำเป็นต้องสร้างแนวความคิด และค่านิยมใหม่ให้กับคนไทยว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การรู้จักป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ยิ่งกว่านั้น การทำงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองนี้ ยังสอดคล้องกับหลักการของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่เน้นการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ใช้ความรู้ คุณธรรมและความเพียรเป็นตัวขับเคลื่อนและต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น โดยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันต่อการเปลี่ยน แปลง เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า วุฒิอาสา เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้น ผ่านการนำเอาประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ มาสอนและถ่ายทอดให้กับเยาวชนของชาติ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต โดยไม่หวังผลตอบแทน แม้จะเกษียณอายุแล้วก็ตาม

สนใจสมัครเป็นวุฒิอาสา / ขอรับความช่วยเหลือหากผู้เกษียณอายุท่านใดที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือพัฒนาสังคมและประเทศในฐานะ “วุฒิอาสาธนาคารสมอง” หรือหากองค์กร หน่วยงานใดมีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือจากวุฒิอาสา สามารถดูข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.nesdb.go.thและติดต่อขอสมัครหรือขอรับความช่วยเหลือได้ที่ :

ส่วนกลาง
กลุ่มงานธนาคารสมอง สศช. เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100
โทร. 0-2282-9967 หรือ 0-2280-4085 ต่อ 2404, 2416 โทรสาร 0-2281-6127 หรือ ตู้ ปณ. 49 ปทฝ. หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102 วงเล็บมุมซองว่า ธนาคารสมอง

ส่วนภูมิภาค ที่สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามภูมิภาคต่างๆ ของ สศช. ได้แก่
ภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทร. 0-5322-1155,0-5322-1600 โทรสาร 0-5389-2110

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศาลากลาง ชั้น 5 จังหวัดขอนแก่น 40000 โทร. 0-4323-5595-6, 0-4323-6784 โทรสาร 0-4323-9912

ภาคใต้ เลขที่ 170/8 ถนนกาญจนวนิช ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
โทร. 0-7431-2702 โทรสาร 0-7431-1594

ทั้งนี้ สศช. จะทำหน้าที่ในการเป็นผู้เชื่อมโยง (Facilitator) วุฒิอาสากับหน่วยงานต่างๆและผู้ขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จด้วยดีอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนา ประเทศอย่างสูงสุด

Attachment Size
whutthiarsa 172.18 KB