วันนี้จะมาคุยกันกับพี่อารีย์ อาภรณ์ แห่งมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เรื่องการปลูกป่า ในขณะที่กระแสโลกร้อนกำลังมาแรง การปลูกป่าก็มีเยอะมาก จนหากป่าปลูกทุกที่เติบโตได้ดีละก็ เมืองไทยคงจะเขียวไปทุกย่อมหญ้าเป็นแน่ วันนี้เราจึงชวนพี่อารีย์คนเก่งมาพูดคุยเรื่องการปลูกป่า และการทำงานเพื่อสังคม

ปัจจุบันพี่อารีย์เป็นนักพัฒนาเอกชน ประจำอยู่ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมมาได้ 5 ปี ก่อนหน้านี้พี่อารีย์ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจมากว่า 13 ปี ทำงานมาหลากหลาย ตั้งแต่เป็นพนักงานบริษัท ดูแลจัดการข้อมูลและเอกสาร อีกทั้งยังมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง เป็นที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคคลากรระดับผู้บริหาร ระหว่างนั้นก็ทำงานด้านอาสาสมัครเป็นงานนอกเวลาไปด้วย พี่อารีย์จึงมีโอกาสสัมผัสอีกด้านของชีวิต  หลังจากทำงานภาคธุรกิจมานาน แม้จะสนุกและมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ แต่ส่วนลึกพี่อารีย์มีความต้องการอยากทำงานให้กับสังคม เมื่อใจพร้อม พี่อารีย์ก็หันมาทำงานเต็มตัวที่มอส.

“ตอนนั้นคิดว่าพร้อมแล้ว ไม่ใช้พร้อมด้วยเงินทองนะ แต่พร้อมเรื่องความรู้ ความคิด ใจพร้อม และมีความสุขกับงานที่ทำ มีใจกับสิ่งที่เราทำ แค่ใจมาทุกอย่างก็ง่าย แต่มีบ้างที่ต้องปรับความเคยชิน เช่น บางที่ไม่เคยอยู่เย็นก็ต้องอยู่ หรือไปทานข้าวช้าหน่อย แต่เป็นการปรับตัวแค่ทางกายภาพ แต่ภายในแทบไม่ต้องปรับอะไร เพราะใจเราพร้อม เราเคยหาเงินเพื่อตัวเอง สุดท้ายเวลาที่เราทำอะไรเพื่อใครมันทำให้รู้สึกดีกว่าเยอะ”

หากถามว่าพี่อารีย์ทำงานอะไรบ้าง “จเร” คือคำตอบ พี่สาวคนนี้ช่วยดูแลงานทั่วไปของมูลนิธิ เห็นตรงไหนขาดคนก็พร้อมจะเข้าไปเติมเต็มได้ในทันที ดูแลตั้งแต่ งานกิจกรรมพิเศษ งานอาสาสมัครระยะสั้น ประเด็นโลกร้อน อาเซียน และอื่นๆ

สำหรับพี่อารีย์ที่คลุกคลีกกับงานจิตอาสามาเนิ่นนาน เธอให้ความเห็นว่า”อาสาสมัคร” มันไม่ใช่เรื่องของการไปแจกของ แต่คือการฝึกการให้ที่ต้องผ่านความอดทนและความเพียร

“บางคนให้นิยามว่าอาสา คือ  “ผู้ให้” แต่อาสาของเราไม่ใช่แบบนั้น อาสาสมัคร คือการเรียนรู้ คือการฝึกฝนตนเอง การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เวลาเสร็จจากงานอาสาสมัคร เราก็จะมานั่งคุยกันว่า มาให้แล้วคุณได้อะไรกลับไปบ้าง ให้ได้ทบทวนตัวเองว่า การที่เราเป็นผู้ให้เราต้องเสียสละอะไร เราได้อะไร พี่สังเกตดูนะ ครั้งไหนที่เราผ่านปัญหาและอุปสรรคไปได้ เราจะพบกับควมสุข เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง เช่น เรื่องความสัมพันธ์กับคน เวลาเราไปทำงานอาสาแล้ว คนเข้ากันได้ง่าย ทุกคนคิดว่าเรามาช่วยกันทำความดี ตรงนี้แหละที่มันจะสร้างสังคมที่เป็นสุขและเป็นธรรมได้”

สำหรับเรื่องการปลูกป่า พี่อารีย์ให้ความเห็นว่า เดี๋ยวนี้ภาคธุรกิจและอาสาสมัครหันมาให้ความสนใจไปปลูกป่าเยอะขึ้น เเละด้วยกระแสโลกร้อนที่กำลังมาแรง ทำให้หลายองค์กรด้านธุรกิจเข้ามาสอบถามกับพี่อารีย์เรื่องการปลูกป่า

“ล่าสุด มีคนโทรมาหาบอกว่าอยากไปปลูกป่า พี่ก็บอกเขาว่าต้องเปื้อนต้องลุยหน่อยนะคะ เขาก็บอกว่า “ต้องเปื้อนด้วยเหรอคะ” แต่พี่ก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา บางคนเขาก็คิดไม่ถึง การพูดคุยก่อนอย่างนี้ช่วยทำให้เขารู้ว่า เขาพร้อมไหม เพราะงานอาสา ถ้าคุณไม่พร้อม พอไปถึงแล้วก็จะสร้างปัญหา ซึ่งนี่คือสิ่งที่อาสามือใหม่ต้องเรียนรู้และข้ามผ่าน”

ลองมาดูฝ่ายผู้รับบ้าง เมื่อมีหลายองค์กรสนใจอยากปลูกป่าก็ย่อมส่งผลให้หลายชุมชนที่มีพื้นที่ปลูก ป่า บางชุมชนถึงกับแปลงการปลูกป่ามาเป็นกิจการ
“ชุมชนจับทางได้ว่าเดี๋ยวจะมีคนมาเช่าเรือ มาจ้างไปขนกล้า คนในชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาทำธุรกิจ กลายเป็นนายหน้าพาไปปลูกป่า ถ้าปลูกไปในพื้นที่ที่ต้องการมันก็ดี แต่กลายเป็นว่าปลูกต้นกล้าไม่ทันใจคนอยากปลูก ก็ต้องไปขุดจากแปลงเก่ามาให้เจ้าใหม่ พอไม่มีที่ให้ปลูก ก็ปลูกซ้ำที่เดิม บางทีก็ปลูกชิดกันไป ต้นไม้ก็ไม่โตอีก ชาวบ้านเขาไม่ได้คิดอะไร ได้เงินก็ดีใจ ส่วนคนปลูกก็สนุก คิดว่าได้ช่วยโลกแล้ว เหมือนเป็นการสนองความอยากของคนเมือง โดยไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมา พี่เลยคิดว่า เราต้องคิดกันมากกว่านี้ ก่อนที่จะทำอะไร”

แม้กระแสโลกร้อน จะทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับต้องใคร่ครวญอย่างระมัดระวังมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านงานอาสาสมัครยังถือว่าเป็น สิ่งจำเป็น

“เวลาเราไปปลูกป่ามันไม่ใช่แค่นั้น ถ้าบอกว่าจะไปแค่ปลุกต้นไม้ ปลุกที่ไหนก็ได้ ปลูกที่บ้านก็ได้ แต่การพาไปทำกิจกรรมอย่างนี้ มันคือวิธีที่ทำให้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการเรียนรู้ เห็นและสัมผัสจากถานที่จริง พี่ชอบพาคนไปปลุกป่าชุมชนมาก เพราะป่าชุมชนคือป่าที่ชุมชนต้องพึ่งพา คนพึ่งพาป่า ป่าก็พึ่งพาคน เราพาคนในเมืองไปปลูก ปลูก 1 อาทิตย์อาจจะไม่ถึง 100 ต้นด้วยซ้ำ แต่เราทำให้คนตระหนักถึงคุณค่าของป่า พี่ว่าแค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ใช่ปลูกแค่ต้นไม้ แต่ปลูกความรู้สึกหวงแหนป่า ได้เรียนรู้ว่ามนุษย์กับป่าเชื่อมโยงกันอย่างไร หรือแม้กระทั่งปลูกความเข้าใจในตัวคนอื่น”

การปลูกป่าจึงไม่ใช่แค่การปลูกป่า แต่คือการปลูกหัวใจแห่งความรักในธรรมชาติ และผู้คนรอบตัวเรา พี่อารีย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม