“ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกชีวิต  แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะเราไม่อาจกำหนดหรือคาดทำนายได้ว่าจะตายเมื่อใด ที่ไหน และด้วยสาเหตุอะไร “ -พระไพศาล วิสาโล

วันนี้เราจะมาคุยกับ พี่ซุ่ย วรรณา จารุสมบูรณ์ จากเครือข่ายพุทธิกา ผู้ที่ใกล้ชิดกับความตาย ทำงานโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ และงานจิตอาสากันค่ะ

พี่ ซุ่ยเข้ามาทำงานอาสาโดยมีจุดเริ่มต้นจากเรื่องส่วนตัว คุณพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง มีแต่ความทุกข์ แต่อยากให้คุณพ่อจากไปอย่างสงบ โดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง ไม่มีใครมาบอกว่าจะต้องทำอะไรยังไง คุณพ่อพี่ซุ่ย อยู่ในห้องรวม ในห้องนั้นผู้ป่วยทุกคนใส่เครืองช่วยหายใจหมดเลย มันเป็นบรรยากาศที่หดหู่มาก แต่ในท่ามกลางความเศร้าเหล่านั้น มีญาติผู้ป่วยท่านอื่น ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ มาแสดงนำใจกับเรา คอยมาคุยกับเรา ซื้อของมาฝากบ้าง บอกให้เราไปพักบ้าง จะช่วยเฝ้าให้ ทำให้พี่รู้สึกว่าท่ามกลางความทุกข์ก็ยังมีคนมารดน้ำหัวใจเรา ทำให้เราได้เห็นความดีงาม ทำให้รู้สึกว่ามีใครสักคนมาแสดงน้ำใจกับเรา เป็นแรงบันบาลใจเบื้องต้นว่า ถ้ามีโอกาสเราจะทำอย่างนี้กับคนอื่นบ้าง

มาเริ่มทำงานอาสาจริงๆ หลังจากที่ ได้มีส่วนร่วมในโครงการฉลาดทำบุญ จิตอาสาปรันศรัทธาและอาทร ตอนนั้นเข้าไปในฐานะของทีมติดตามและประเมินผล ว่าเกิดการเรียนรู้อะไรบ้างในการเข้าร่วมโครงการ เลยได้มีโอกาสเห็นงานด้านจิตอาสาในหลายรูปแบบ แล้วเวลาที่ไปก็จะเข้าไปร่วมลงมือทำกับอาสาสมัครด้วยทุกครั้ง เลยพบว่ามันมีความงอกงามเกิดขึ้นในทุกๆงานจิตอาสา

เห็นได้ชัดจากการที่พี่ได้ไปช่วยงานดูแล หมา และแมว ที่จังหวัดนครนายก ปกติพี่เป็นคนเกลียดหมามาก ไม่ชอบให้มาเข้าใกล้ แต่หลังจากได้เข้าไปสัมผัส พี่ก็ไม่เคยเกลียดหมาอีกเลย อีกอันเป็นการทำงานแบบกลุ่ม อย่างพวกทำบ้านดิน ไปปลูกป่า การไปทำกิจกรรมแบบนี้ให้ความรู้สึกว่าเราได้เข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น  “แม้เราจะเป็นกล้า ต้นเล็กๆ ทำอะไรได้เล็กน้อยแต่พอไปรวมกลุ่มแล้ว พลังจิตอาสามีเรามีมันเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เราทำเป็นไปได้มากขึ้น  ถ้ามีคนทำอย่างนี้มากๆในสังคม ก็ยิ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มขึ้น งานจิตอาสาอย่างนี้จะเป็นทางออกของสังคม” และอันสุดท้าย นอกจากที่ได้ไปช่วยเหลือคนอื่นแล้ว งานจิตอาสายังช่วยขัดเกลา ตัวเราเองด้วย อย่างในการทำงานร่วมกับคนอื่น บางที่เราก็เอาแต่คิดว่า ทำไมเขาไม่ทำแบบนั้นแบบนี้นะทำไมคนนี้พูดมากจัง  แต่การที่เราได้มาทำงานร่วมกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน  ทำให้เราลดทิฏฐิ  ลดอัตตาลง ทำให้เรารู้จักในอีกมุมหนึ่งของเขา ที่เราเคยมองข้ามไป ในความไม่น่ารักของเขา นั้นก็มีความน่ารักอยู่หลายอย่างที่รวมอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ที่เวลาที่เรารู้สึกไม่ชอบใครเราก็จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป

อย่างเวลาที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็เหมือนกัน ทำให้เราได้เห็นใจเราที่เปราะบางกับบางเรื่อง ได้เห็นอัตตาของตัวเองที่บางครั้งอยู่ในรูปแบบของความดี ตัวเราคิดว่าอยากจะไปช่วยเหลือเขา อยากทำอะไรดีๆให้เขา และผู้ป่วยจะต้องรับและคิดว่าสิ่งที่เราให้มันดี เรียกอาการนี้ว่า “ติดดี” อย่างเช่น เวลาที่เราไปดูแลผู้ป่วย เราก็คิดว่า เขาน่าจะได้ฟังเพลงเพาะๆหรือบทสวดมนต์ มากกว่าที่มาดูละครในทีวี บางคนอยากให้วัตถุ เงินทอง แล้วเราก็อดที่คิดแทนเขาไม่ได้ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นมันไม่ได้เรือง การที่เราพกความคิดเหล่านี้ไปด้วย  ทำให้เรามองข้ามความจริงบางอย่างไป ว่าคนป่วยเขามีความทุกข์ มีความเหงา แล้วเราจะช่วยยังไงให้เขาได้พ้นจากสิ่งเหล่านี้แต่เรากลับไปบอกว่าเขาควรจะ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแค่เราคิดว่าสิ่งนั้นมันดี  การที่เราจะไปให้อะไรใครนั้น ผู้รับ กับผู้ให้ต้องมีความพอดีกัน ต้องสมดุลกัน บางทีคนป่วยก็ต้องการแค่กำลัง ใจ มันเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาต้องการจากเรา และจะดีมากเลยถ้าเราสามาทำให้เขายืน และสามารถผ่านพ้น ความทุกข์ได้ด้วยศักยภาพของเขาเอง

เวลาเราทำบ่อยๆ คำว่า “ติดดี” นั้นก็จะใหญ่ขึ้น แต่เรามองไม่เห็น  จนวันใดที่มีคนปฏิเสธความปรารถนาดีของเรา หรือมีคนรู้สึกว่าเราไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด สิ่งนั้นก็จะทำลายตัวตนข้างในของเราหมดเลย ในตอนแรกเราอาจจะรู้สึกโกรธ น้อยใจ คิดว่า นี่เรามาทำความดีนะทำไมเขามาพูดไม่ดี มาทำไม่ดีใส่เรา แต่พอเราได้กลับบาทบทวนดูอีกที เราจะเห็นว่า เราได้เอาตัวตนของเราไปครอบงำคนอื่น ไปใช้ตัดสินคนอื่น
การที่เราจะทำงานจิตอาสานั้นเราต้องลดตัวตนตัวตนของเรา เพื่อให้เราแทรกเข้าไปอยู่ในใจของคนที่เราต้อ งการช่วยเหลือได้มากขึ้น นี่เป็นด้านที่เกี่ยวกับการขัดเกลาตัวเอง มันลึกกว่าการที่เราไปเสียสละ เวลา แรง และคุณทรัพย์ ลงไปอีก สิ่งเหล่านี้ได้เข้าไปถึงระดับจิตวิญญาณ และพี่ได้พบว่า การเรียนรู้แบบนี้ทำให้เราไม่ติดกับรูปแบบเดิมๆ  ทำให้คุณภาพจิต และคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะ ความใจร้อน  และการตัดสินคนอื่น  แล้วการที่ความติดดีได้ ถูกเขย่าจนถึงจุดๆหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า อาการนั้นมันค่อยๆหายไป มันไม่ได้หมดไปนะ แต่เบาบางลงเรื่อยๆ และยิ่งเราทำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น

งานจิตอาสาเป็นเรื่องของการทำดี  เราจะรู้สึกปราบปลื้มกับสิ่งที่เราทำ แต่พอเราเอางานจิตอาสามาผนวกกับงานเผชิญความตายอย่างสงบ จะทำให้มีมิติที่ลึกขึ้นในเรื่องของจิตใจและ จิตวิญญาณ ทำให้เราได้มองเห็นความจริงของชีวิตมากขึ้น  และเป็นอนุสติของเราในการดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีวาระที่สงบอย่างคนที่เรา เห็นหรือเราจะไม่เป็นอย่างคนที่เราเห็น เป็น 2 ด้าน ที่เราควรเลือกที่จะไม่ทำอะไรเพื่อทำให้วันข้างหน้าเราไม่ต้องเจอกับสิ่ง เหล่านี้

ตอนนี้ ก็มีอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่  เข้ามาทำงานด้วย สิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้เรื่องของธรรมะ  และได้เห็นความจริงของชีวิตจากประสบการณ์ตรง ในแง่ของความรู้สึกมันจะช่วยเติมเต็ม การรับรู้ให้ชีวิตครบองค์รวมมากขึ้น เพราะเราไม่ได้มุ่งไปที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นหนึ่งในหลายส่วนที่ต้องการคนดูแลทางด้านจิตใจ มากกว่าผู้ป่วยอื่นๆ และพลังความสดใส ร่าเริงที่มีอยู่ในตัวเขาเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกดี  ตรงนี้แหละ ที่ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม
สำหรับเยาวชนหรือคนที่อยากจะมาทำงานอาสาสมัคร พี่อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ งานอาสาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากอุดมคติเสมอไป เราต้องรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และอยากจะใช้สิ่งเหล่านี้เกื้อกูลคนอื่นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน แม้จะเป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยมันก็เป็นคุณค่ากับทุกคนที่ได้รับ หรือได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งเหล่านั้น  เพียงแค่คิดที่จะทำก็เป็นกุศลแล้ว แต่จะดีขึ้นไปอีกถ้าสามารถนำความอยากอักนั้นมาปฎิบัติได้จริงๆ เพื่อเป็นการจุดประกายให้สามารถทำในสิ่งที่ใหญ่ขึ้นได้
“การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกสิ่งล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็เป็นสิ่งเล็กที่ร่วมมือกันได้” พี่คิดอย่างนั้นนะ และอยากให้เยาวชนเห็นคุณค่าในการเป็นมือเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของสังคม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมโครงการเผชิญความตายอย่างสงบและอาสาข้างเตียงได้ที่
http://web1.peacefuldeath.info/