อะไรคือธรรมชาติของความเป็นเมือง

มอง จากตึกสูงกลางสุขุมวิท เห็นหมอกควันจากไอเสียรถยนต์ หลายคนที่ติดหนึบไม่ขยับอยู่ที่สี่แยกใหญ่ด้านล่าง รู้สึกถึงความร้อนที่ปะทุมาจากรอบตัวได้อย่างดี ทั้งจากคอนกรีตหนาที่อมความร้อนไว้ตั้งแต่เช้า ทั้งจากแสงแดดจ้าจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาอย่างไม่เกรงใจคนในเมืองหลวง เดินลงไปที่ถนนด้านล่าง ผู้คนเดินผ่านกันขวักไขว่ ทั้งจากที่เดินออกมาจากอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานหลายแห่งเพื่อพักรับ ประทานอาหารกลางวัน จำนวนผู้คนหนาแน่นกระจุกตัวกันทั่วพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร

บัดนี้ จำนวนประชากรของประเทศไทยใน “เมือง” มีจำนวนมากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ใน “ชนบท” แล้ว  จากหนังสือ “ประเทศไทยควรมีพลเมืองเท่าไรจึงจะดี” ของ ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ของไทยแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า “เมื่อราว 40 ปีก่อน คือในปี 2510 ประเทศไทยมีประชากร 32 ล้านคน ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาล [อยู่ในเมือง] ประมาณ 5 ล้านคน ในปัจจุบัน จำนวนรวมประชากรไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 63 ล้านคน แต่ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า จาก 5 ล้านเป็นประมาณ 30 กว่าล้านในปัจจุบัน”

ปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้น หมายถึงประชากรในชนบทได้ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยในเมืองเพื่อโอกาสในทางเศรษฐกิจ ทั้งทำการค้าขายหรือทำงานในสำนักงาน หรือชนบทหลายแห่ง เช่นอำเภอที่เคยห่างไกลเพราะการคมนาคมไม่สะดวกได้กลายเป็นชุมชนเมืองขนาด ย่อม โดยมีลักษณะของความเป็นเมือง อาทิ ผู้คนอยู่อาศัยกระจุกตัวกัน ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบตลาด และใช้บริการระบบสาธารณูปโภคสำหรับคนเมือง (ไฟส่องถนน ระบบระบายน้ำ ระบบประปา เป็นต้น)

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/akom/page4

   การกลายเป็นเมือง (urbanization) มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีสิ่งชีวิตทั้งหลายอย่างทั่วถึงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ต้นไม้ เห็ด รา แบคทีเรีย หรือสิ่งของที่ไม่มีชีวิต การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลมาจากการกลายเป็นเมืองนี้ มีอาทิ วิถีชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไป (จากที่เคยหาผักหาปลามาทำกับข้าวกิน ก็เปลี่ยนเป็นซื้อกับข้าวปรุงสำเร็จจากซุปเปอร์มาร์เก็ต จากที่เคยมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ นานา ก็อาจจะต้องมาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ห้องเล็กๆ) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป (จากที่เคยอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ คือเป็นพ่อค้าลูกค้ากัน เป็นต้น)

   แม้ว่า “คน” จะเป็นผู้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการกลายเป็นเมือง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การที่คนเข้าไปอาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่หนึ่ง จำเป็นต้องทำให้สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต (เช่น ก้อนหิน ภูเขา น้ำตก ฯลฯ) ที่เคยอยู่มาก่อนจำเป็นต้องหลีกทางให้ หรือหากจะกล่าวให้ถูกก็คือ “ต้องปรับตัว”

สิ่งมีชีวิตพวกที่แข็งแรงก็สามารถปรับตัวให้เข้าอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่มีสภาพเป็นเมือง พวกที่อ่อนแอก็จำเป็นต้องสูญหายตายจากไปจากพื้นที่นั้นๆ พวกที่พอมีกำลังอยู่บ้างก็อาจย้ายถิ่นที่อยู่ออกไปอยู่ที่ใกล้เคียงที่ยังพอ มีสภาพเดิมดังที่เป็นอยู่ เป็นไปตามทฤษฏีวิวัฒนาการ “ความอยู่รอดของผู้ที่แข็งแรง” (Survival of the fittest) ของชาลส์ ดาร์วิน

ขอให้มองเรื่องข้างต้นว่าเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสำหรับสิ่งไม่มีชีวิตจากชนบทกลายเป็นเมือง แม้จะขัดกับความเป็น “ธรรมชาติ” ในความคิดความเชื่อเดิมๆ สำหรับใครหลายคน อยู่บ้าง แต่หากมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็พอจะทำให้เรามาทำความเข้าใจ ทำความรู้จักกับนิเวศวิทยาในเมืองในบ้าง

นิเวศวิทยาในเขตเมือง (urban ecology) นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เช่นตึกรามบ้านช่องด้วย สองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ความเป็นเมืองเกิดขึ้นได้เพราะมีสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในสถานที่และสิ่งแวด ล้อมเดิมๆ นอกจากนี้ ในหลายครั้ง ความเป็นเมืองก็มาพร้อมกับสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยอยู่มาก่อนด้วย ความสัมพันธ์ทั้งหลายเหล่านี้ “ไม่ได้อยู่นอกเหนือความเป็นระบบนิเวศน์” (unecology) เลยแม้แต่น้อย หากกลับเป็นระบบนิเวศน์แบบใหม่ที่มีการพัฒนาไป

ราว 50 ปีก่อนในทศวรรษ 1960 เจมส์ เลิฟล็อก (James Lovelock) เคยเสนอทฤษฎี “กายของโลก” (Gaia) ซึ่ง ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ในฐานะทฤษฎีทางนิเวศวิทยาใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเห็นพ้องด้วย เขาเห็นว่า “โลก” มีกลไกที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือชีวมวล (biomass) ทั้งหลาย อาทิ ดิน ต้นไม้ น้ำทะเลในมหาสมุทร และสารเคมีรวมถึงก๊าซในบรรยากาศจะมีกิจกรรมและปฏิกิริยาต่างๆ ทางธรรมชาติเพื่อรักษาสมดุลของโลกไว้ เหมือนดั่งโลกเป็นเหมือนร่างกายมนุษย์ที่มีอวัยวะ เมื่อมีส่วนที่สึกหรอ ระบบภายในก็จะซ่อมแซมส่วนนั้นด้วยตัวของมันเอง หากมองผ่านแว่นตาของเลิฟล็อก ก็พอจะพูดได้ว่ากระบวนการกลายเป็นเมืองนี้คือการวิวัฒน์ของระบบนิเวศน์ที่มี อัตราเร่งสูง โดยการแทรกแซงของมนุษย์ก็พอจะฟังได้

การทำความเข้าใจระบบนิเวศน์ในเขตเมืองนอกจากจะเป็นการเปิดมุมมองการมองโลกใน อีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับ “คนเมือง” ยังจะเป็นหน้าต่างไปสู่แรงบันดาลใจในการทำให้เมืองมีสภาพเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “การพัฒนาเมือง” โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า มนุษย์คือผู้สร้างสรรค์เมือง บนพื้นฐานของการแสดงความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมที่เคยมีมาก่อน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เมืองเป็นระบบนิเวศวิทยาที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นหลัง

ที่ผ่านมา การกลายเป็นเมืองไม่ได้ทำให้มนุษย์เป็นใหญ่เหนือธรรมชาติดังที่หลายคนเชื่อ กัน แม้ว่าในหลายครั้งคนจะทำลายธรรมชาติที่มาอยู่ก่อนอย่างไม่ตั้งใจ แต่การกลายเป็นเมืองได้ทำให้เกิด “ธรรมชาติใหม่” ซึ่งแม้จะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตลดน้อยลงจากที่เคยมีมา ก่อน หรือมีชนิดพันธุ์ใหม่ๆ มารุกรานหรือแทนที่บ้างก็ตาม หากเราทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเราจะสร้างความเป็นเมืองที่มีความเป็นธรรมชาติอย่าง ที่ควรจะเป็น และพอจะทำให้ดีขึ้น บนพื้นฐานและบริบทของความเป็นเมืองได้

น่าสนใจว่า เราควรจะนิยามระบบนิเวศน์ในเมืองเช่นไร คำถามอาทิ การปลูกต้นไม้ใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช้ไม้ท้องถิ่นของไทย (อาทิ ต้นหางนกยูง ฯลฯ) ตลอดแนวถนนในเมืองนั้นพอจะยอมรับได้หรือไม่ การให้อาหารนกพิราบซึ่งเป็นนกต่างถิ่นและนำมาซึ่งโรคและความสกปรก ถือเป็นการส่งเสริมการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์เมืองหรือไม่ ต่างกับการวางผลไม้สุกในสวนเพื่อให้นกปรอดหรือนกอีแพรดซึ่งเป็นนกท้องถิ่น ไทยอย่างไร คำถามเหล่านี้น่าจะช่วยให้เราหาคำตอบของระบบนิเวศน์ในเมืองอย่างที่ควรจะ เป็นได้สะดวกขึ้น

…คนเดินใต้ต้นไม้เขียวครึ้มคลุมตึก หมาจรจัดคุยขยะหน้าบ้านคหบดี แมวเหมียวคลอดลูกใต้ฝ้าหลังบ้านคน นกกระจอกทำรังที่กล่องจดหมาย นกเอี้ยงเล่นน้ำที่พ่นจากหัวสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ แมลงสาบบินว่อนขึ้นจากท่อน้ำทิ้งเห็นปีกวาวสะท้อนกับแสงจากไฟส่องถนนต้นใหญ่ จิ้งจกเกาะกำแพงปูนรอจับแมลงใกล้กับโคมไฟหน้าบ้าน….

เหล่านี้คือระบบนิเวศน์ในเมือง ซึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน และกับสิ่งไม่มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมเมือง คนเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์นั้นจึงควรจะทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง และถ่องแท้

ผู้เขียน
คุณอาทิตย์ ประสาทกุล

ที่มา http://www.greenworld.or.th/node/176