ตุ้มโฮมภูมิปัญญาท้องถิ่น เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินให้ดู๋หมั่น แปงบ้านถิ่นอีสาน” ๑๗  ธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา คณะทำงานพลังงานยั่งยืนและภาคีเครือข่ายจังหวัดสุรินทร์ หนึ่งใน*องค์กรเครือข่าย ๑๔ ประเด็น ของเครือข่ายองค์กรภาคีภาคอีสาน และองค์กรประชาชนภาคอีสาน ได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อค้นหารูปธรรมชุมชนต้นแบบ ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเตรียมข้อมูลนำเสนอในงาน “มหกรรมประชาชนอีสานเพื่อการปกป้องทรัพยากรฯ และสิทธิชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคีภาคอีสานและกป.อพช.อีสาน จะร่วมกันจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๕๓ ณ สวนดอกคูณ บึงแก่นนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เรียบเรียงโดย กิตติกาญจน์ หาญกุล ทีมวิชาการงานมหกรรมประชาชนอีสานฯ

สถานการณ์โลกได้เคลื่อนตัวเข้าสู่สภาวะ พื้นที่การผลิตอาหารถูกคุกคามอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคของประเทศไทยอยู่ในขอบเขตที่หลายประเทศทั่วโลกคาดหวังให้เป็นแหล่ง อาหารของโลก ผลจากการเคลื่อนตัวของกระแสส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมของไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคอีสาน ยังไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันกระแส และยิ่งเมื่อประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีการเผชิญหน้าทางการเมืองแบบ 2 ขั้ว การเตรียมการรับกระแสการยึดครองพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นจึงขาด การเตรียมการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม  

อย่างไรก็ตาม  ภายใต้การเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านี้ของชุมชนอีสานตลอดระยะ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ชุมชนอีสานได้ค้นพบทางออกของวิกฤตผ่านการทดลองปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ดังนั้นในการจัดงานมหกรรมประชาชนอีสานครั้งนี้ องค์กรเครือข่าย ๑๔ ประเด็น ประกอบด้วย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พลังงานทางเลือก, เกษตรกรรมทางเลือก, ที่ดินที่อยู่อาศัย, สุขภาพทางเลือก, สวัสดิการชุมชน, การจัดการทุนชุมชนและหนี้สิน , ผู้หญิง, เด็ก เยาวชนและการศึกษาทางเลือก, คุ้มครองผู้บริโภค แรงงานและแรงงานนอกระบบ, สื่อชุมชน, เอดส์ และสภาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันสังเคราะห์บทเรียน, ประสบการณ์และปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตของชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อนำเสนอความรู้และทางเลือกของชุมชนในงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เครือข่ายทั้ง ๑๔ ประเด็นได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อค้นหารูปธรรมชุมชนต้นแบบเพื่อนำ เสนอในการจัดงานมหกรรมประชาชนอีสานในครั้งนี้

สถานการณ์พลังงาน

กระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อน ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และพลังงานทางเลือกได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ได้เกิดข้อตกลงใหม่ๆ ทั้งเรื่องคาร์บอนเครดิต หรือกรณีเรื่อง REDD หรือโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ในประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการนิยามความหมายของความเสื่อมโทรมของป่า หรือประเด็นการให้การสนับสนุนงบประมาณ และกลไกของตลาดที่สร้างแรงจูงใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยใช้เงิน เพื่อให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงกันว่า ถ้าหากผืนป่าที่เข้าสู่กระบวนการของคาร์บอนเครดิต หรือ REDD แล้วนั้นเป็นผืนป่าที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ หรือเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปหาของป่า เก็บผัก หาเห็ด หาหน่อไม้ ชาวบ้านจะยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หรืออย่างไร ซึ่งในหลายประเทศไม่เห็นด้วย และในส่วนของรัฐบาลประเทศไทยได้เตรียมการเพื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว ในขณะที่ภาคประชาชนยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน จึงควรจะมีเวทีเพื่อพูดคุยหารือเพื่อตั้งรับกับกระแส เรื่อง REDD ว่าจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

ประสบการณ์การทำงานเรื่องพลังงานในพื้นที่ชุมชนที่น่าสนใจ

การทำงานเรื่องพลังงานของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  เริ่มต้นจากการทำกิจกรรมในชุมชน รณรงค์การลดการใช้พลังงานในครัวเรือน ซึ่งจะมีทั้งการทำแก๊สชีวภาพใช้เองในครัวเรือน มีทีมชาวบ้านที่เป็นฝ่ายเทคนิค ที่มีความชำนาญคอยช่วยให้ความรู้ ขยายการทำงานสู่กลุ่มอื่นๆ บ้านอื่นที่สนใจ มีชุมชนที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ผ่านประสบการณ์ทำงานเรื่องพลังงานทาง เลือก คือ

พื้นที่ตำบลชุมแสง ที่มีแผนเรื่องพลังงานของชุมชน ที่รณรงค์ตั้งแต่ระดับในครัวเรือน ชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องพลังงานทางเลือกมากขึ้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติที่นอกเหนือจากการลดรายจ่าย เชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน และเข้าใจเรื่องการลดภาวะโลกร้อนจากชุมชนมากขึ้น ผ่านการทำเตาประสิทธิภาพสูง การทำบ่อแก๊สใช้เอง  มีการพัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน เพื่อสร้างเครือข่ายชาวบ้านที่ทำกิจกรรมด้านพลังงานให้มีความเข้มแข็งมาก ขึ้น ที่นี่ยังมีกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ มีความตระหนักเรื่องพลังงานทางเลือก และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ที่นี่ยังมีประสบการณ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าหัว ไร่ปลายนา มีคณะกรรมการป่าหัวไร่ปลายนา มีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้ง อบต., ชาวบ้านในชุมชน และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน

พื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อ.เมือง มีจุดเด่นเรื่องการลดพลังงานจากการใช้เตาประสิทธิภาพสูง โดยการพัฒนามาจากเตาหุงต้มทั่วไป ที่ทำให้ใช้ถ่านน้อยลง และสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านในชุมชนได้

พื้นที่ตำบลตาอ็อง ที่ทำเรื่องบ่อแก๊ส และมีทีมช่างเทคนิคที่มีความชำนาญ สามารถ่ายทอดประสบการณ์การทำบ่อแก๊สจากโอ่งได้ นอกจากนี้ที่นี่ยังมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับอบต. และทางอบต.ได้สนับสนุนให้ขยายเรื่องการลดพลังงานไปในสถานศึกษา โดยจัดเป็นหลักสูตรที่ให้การศึกษาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม และที่นี่ได้วางแผนเรื่องการขยายความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ โดยเน้นการให้ความรู้ทั้งในเชิงเทคนิค ความเข้าใจ ให้เกิดการสรุปบทเรียนเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ตำบลบึง มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน สนับสนุนการปลูกต้นยางนา โดยการนำขยะมาแลก โดยให้ราคาขยะ 15 บาทจะแลกกับต้นยางนา 1 ต้น ซึ่งกิจกรรมนี้นอกจากจะสนับสนุนการแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิลแล้วยังได้สนับ สนุนการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วย และมีกิจกรรมสนับสนุนให้เด็กๆ ใช้กระเป๋าผ้าไปโรงเรียน และรณรงค์เรื่องการนำเศษใบไม้มาทำปุ๋ย

นอกจากพื้นที่ที่น่าสนใจแล้ว กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานระหว่างชุมชน  และคณะทำงานเรื่องพลังงานของจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนทั้งในเรื่องงบประมาณ เทคนิค เป็นอีกประเด็นที่น่าจะถ่ายทอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาว่า เกิดประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างไร เพื่อถ่ายทอดให้เครือข่ายอื่นๆ ได้เรียนรู้

แผนการทำงานเครือข่ายพลังงานในระยะต่อไป

สนับสนุนการขยายพื้นที่เพื่อรณรงค์ เรื่องการใช้พลังงานทางเลือก สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการทำบ่อแก๊ส การทำเตาประสิทธิภาพ ฯลฯ ให้มากขึ้น ให้เพียงพอ และสามารถถ่ายทอดให้กับชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ได้

วางแผนการทำ Mapping พื้นที่ที่มีการจัดการเรื่องพลังงาน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถลงไปศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา และหนุนช่วยกันได้ และจัดการเรียนรู้ระหว่างกันในเครือข่ายสัญจรภายในจังหวัด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

จัดมหกรรมเรื่องพลังงานยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จะเป็นเวทีให้ได้นำเสนอกิจกรรมที่ผ่านมาของชุมชน เชื่อมโยงกับตลาดสีเขียว และส่วนอื่นๆในจังหวัด เพื่อให้เรื่องพลังงานทางเลือกในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ได้รับความสนใจจาก สาธารณะในจังหวัดมากขึ้น

ประเด็นน่าค้นหา  

การใช้ประเด็นเรื่องพลังงาน ที่ทำในระดับหมู่บ้าน เชื่อมโยงกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก และสร้างกลุ่มแกนนำที่สามารถถ่ายทอดการทำงานสู่ชุมชนอื่นๆ ควรมีการนำเสนอบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา เพื่อขยายสู่ชุมชนในพื้นที่อื่นๆ

ข้อมูลใหม่ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือโลกร้อน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรและการใช้ระบบทุนเข้ามาเกี่ยว ข้อง เป็นประเด็นที่ควรจะหารือเป็นวาระของภาคประชาชนด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไร ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับชาวบ้านที่เราทำงานด้วยซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและยังพึ่งพา ธรรมชาติ รวมถึงบางส่วนยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องอุทยานฯทับที่อยู่เดิม ซึ่งในประเด็นเรื่องคาร์บอนเครดิต หรือ REDD อาจจะเป็นปัญหาที่ทับซ้อนขึ้นมาอีก

ข้อมูลใหม่ในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีใน ชุมชนเป็นเชื้อเพลง ที่เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการดูแล ร่วมลงทุน ร่วมเป็นเจ้าของ ที่สามารถใช้ได้ประมาณ 1 หมู่บ้าน ควรจะหารือกันในเรื่องรูปธรรมพื้นที่ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติมาแล้ว ซึ่งถ้าหากมีบทเรียนที่น่าสนใจจากการทำโรงไฟฟ้าของของชุมชนมานำเสนอ น่าจะเป็นทางออกเรื่องพลังงานในอนาคตได้

เขียนโดย กิตติกาญจน์ หาญกุล