เปลี่ยน ๓ กระบวนการศึกษาใหม่ เพื่อการปฏิรูปสังคมไทยอย่างมีพลัง” โดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรีได้แถลงการณ์ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่จะยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นโดยจะพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล 7,000 แห่ง โรงเรียนดีประจำจังหวัด 500 แห่ง โรงเรียนดีของประเทศ 500 แห่ง

การวางน้ำหนักให้มีจุดเน้น ดูจะเป็นการมองเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น แต่ระบบการศึกษานั้นควรเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน การที่จะทำให้โรงเรียน 8,000 แห่ง เป็นโรงเรียนดี รัฐพร้อมทุ่มเทบุคคลากรและงบประมาณลงไปอย่างเต็มที่ ก็ทำให้โรงเรียนอีก 20,000 กว่าโรง เป็นโรงเรียนที่ขาดบุคคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน และงบประมาณไปในชั่วพริบตา นี่เป็นนโยบายที่สร้างให้เกิด “สองมาตรฐานทางการศึกษา” หรือไม่

จากงานวิจัยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้นพบว่า มีโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ 65% ประมาณเกือบ 20,000 โรงเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนลดน้อยลงโดยลำดับ มีครูไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ เท่าที่ทราบสำนักงานพื้นฐานการศึกษากระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยุบหรือรวม โรงเรียนขนาดเล็ก มีการยุบไปหลายโรงแล้ว และกำลังทยอยยุบควบรวมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบกับพ่อผู้ปกครอง ที่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นทั้งค่าเดินทาง การรับส่งลูก ความปลอดภัย ความกังวล และเวลาที่เด็กอยู่กับครอบครัวก็ลดน้อยลง

ในขณะที่การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ยังแก้ไม่ได้ แต่นโยบายด้านการศึกษาใหม่ของรัฐ กำลังจะทำให้โรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนดีตามนโยบายรัฐ มีขนาดเล็กลงเพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครองก็ต้องส่งลูกไปยังโรงเรียนดี 8,000 โรง

เมื่อมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น รัฐก็จะยิ่งต้องมีการยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีก นับเป็นการปฏิรูปการศึกษาแบบงูกินหาง แก้ปัญหาหนึ่ง แล้วก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งไม่รู้จักจบสิ้น

หากมองการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ยังเวียนอยู่ในวังวนแบบเดิม น่าจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์และเหตุปัจจัยให้ถึงรากถึงแก่นอย่างแท้จริง  ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทย คือการวางเป้าหมายไว้ที่ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ หรือวัดผลจากคะแนนสอบตามมาตรฐานกลาง เป็นการลดคุณค่าการศึกษาให้เหลือแคบนิดเดียว

หลักสูตรก็เน้นหลักสูตรแกนกลาง ตำราเรียนก็ส่งมาจากส่วนกลาง  การวัดผลก็ใช้มาตรฐานกลาง ครูก็ต้องสอนให้เด็กสอบได้คะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐานกลาง เด็กก็ได้เข้าเรียนให้ครบเวลา อ่านท่องหนังสือ เพื่อสอบวัดผลตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด ไม่ว่าจะเป็น GAT, PAT, ONET, ANET ซึ่งมีข่าวคราวผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งหลายครา

หากจะให้เด็กผ่านชั้นได้คะแนนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้งเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ก็จำต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนดีๆ โรงเรียนเอกชน หมายถึงโรงเรียนที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานกลาง แม้จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม มีภาระในการรับส่งลูกเพิ่มก็ยอม

ถึงแม้เด็กจะแบกหนังสือกระเป๋าหนักอึ้งจนหลังงอ เข้าเรียนหนังสือจนหัวฟู  ก็ยังต้องเพิ่มด้วยการกวดวิชาอีก  แสดงว่าการเรียนหนักในห้องก็ยังสอบไม่ได้  แถมยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ถามว่าการที่เด็กต้องเรียนอย่างบ้าคลั่งนี้ คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหรือไม่

ถามว่าการที่เด็กต้องฝืนทน อดทน เรียนหนักเพื่ออะไร ? หวังว่าเมื่อเรียนแล้วได้เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ จบออกมาจะได้มีงานมีการทำที่มั่นคง

อาจถึงเวลาที่ต้องให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง รับรู้ความจริงในสถานการณ์ใหม่แล้ว เดิมการศึกษานำมาซึ่งการงานที่มั่นคงจบออกมาแล้วสามารถสอบเข้าส่วนราชการ และภาคธุรกิจได้  แต่ปัจจุบันทางราชการลดการรับบรรจุข้าราชการลง มีโครงการ เออร์ลี่รีไทม์ ส่วนภาคธุรกิจเองก็อยู่ในภาวะขาลงก็ไม่รับคนมากนัก ขณะที่มีจำนวนคนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปีละอย่างน้อย 200,000-300,000 คน

คาดการณ์ได้เลยว่า นับจากนี้ไปอีกไม่เกิน 5 ปี ภาวะคนตกงานจะสั่งสมเป็นวิกฤติใหญ่ ขณะที่ระบบการศึกษาปัจจุบันวางเป้าเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น ดังนั้นเมื่อไม่มีการจ้างงานก็อยู่ในภาวะตกงาน

ชาวบ้านเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้สะท้อนออกมาทางคำพูดที่ว่า “เฮาไม่เข้าใจเลยคนจบปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วตกงาน เฮาจบ ป.4 มีงานทำทุกวัน ไม่เคยตกงานเลยสักวันเดียว” และชาวบ้านคาดการณ์ต่อไปจะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ ที่คนจบปริญญาตรี ปริญญาโท จะต้องมาขอเงินคนจบ ป.4 ใช้

การศึกษาไม่ได้สร้างวิธีคิด  การสร้างสรรค์งาน การพึ่งตนเอง จะกลับบ้านเกิดก็กลับไม่ได้ เพราะเรียนมาแล้วทำอะไรไม่เป็น การที่ต้องอยู่กับระบบแข่งขัน แพ้คัดออกมาโดยตลอดจึงบ่มเพาะความเห็นแก่ตัว และไม่เคารพคนอื่นๆ เพราะต้องเอาชนะคนอื่นจึงจะสามารถไปต่อตามขั้นการศึกษาที่สูงขึ้นต่อไปได้

ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยอย่างน้อย 3 กระบวน

กระบวนทัศน์ การศึกษาใหม่ ควรวางที่การพัฒนาความเป็นมนุษย์ ทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณ เป็นหลัก พร้อมๆ กับเปลี่ยนจากการศึกษากระแสหลักแบบเดียวทั้งประเทศให้มีหลายระบบมากขึ้น เพื่อตอบสนองความถนัดตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคน เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นที่มีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย

กระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ใช่เรียนท่องหนังสืออยู่แต่ในห้อง ต้องเรียนจากสภาพความเป็นจริงของสังคม เรียนชีวิตจริงจากเรื่องใกล้ตัวไปสู่เรื่องไกลตัว เน้นการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น มีจิตอาสา เคารพ อยู่ร่วมกับคนอื่นเป็น สร้างสรรค์งานได้ พึ่งตนเองได้

และสิ่งที่สำคัญคือกระบวนการจัดการศึกษา ต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีบทบาทในการจัดการ ศึกษาอย่างอยากหลาย โดยรัฐคอยทำหน้าที่เอื้ออำนวย ส่งเสริมสนับสนุน

สังคมไทยในอนาคตต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้จริง ปฏิบัติจริง มีคุณภาพ และคุณธรรมมาเป็นกำลังในการแก้ปัญหาสังคมในอนาคต
ดังนั้นการจะปฏิรูปสังคมไทยให้ได้นั้น สิ่งสำคัญต้องสร้างให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นจริงก่อน จึงจะมีพลังเพียงพอในการปฏิรูปสังคมได้

เขียนโดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…