การทอดกฐินถือว่าเป็นการบำเพ็ญบุญที่ สำคัญในทางพุทธศาสนา เพราะโอกาสที่จะทอดกฐินนั้นมีเพียงแค่ช่วงเดียวเท่านั้นคือภายใน ๓๐ วันหลังจากออกพรรษา พอพ้นวันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทงแล้วก็ไม่สามารถที่จะทอดกฐินได้ นอกจากนั้นแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น ไม่เหมือนผ้าป่าที่รับได้ตลอดทั้งปี และกี่ครั้งก็ได้ วันละหลายครั้งก็ยังได้ เพราะฉะนั้นบางวัดที่มีญาติโยมศรัทธามากจึงมีการจองกฐินข้ามปี ไม่ใช่แค่ ๒-๓ ปี แต่จองล่วงหน้าเป็นสิบยี่สิบปีก็มี เพราะว่ามีผู้อยากเป็นเจ้าภาพเยอะ แต่ละคนก็อยากเป็นเจ้าภาพแต่ผู้เดียว

แต่ที่นี่เราทอดกฐินสามัคคี คือไม่มีเจ้าภาพเพียงผู้เดียว ทุกคนมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ อันที่จริงขึ้นชื่อว่าทอดกฐินแล้ว จะมีหรือไม่มีคำว่าสามัคคีปิดท้ายก็ตาม จุดมุ่งหมายก็เหมือนกันคือเพื่อเชิดชูและส่งเสริมความสามัคคี ถ้าไม่มีความสามัคคีแล้วการทอดกฐินก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ความเป็นมาหรือจุดมุ่งหมายของการทอดกฐินนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อย รู้จัก ถ้ารู้จักและเข้าใจก็จะเห็นคุณค่าของประเพณีทอดกฐินได้มากขึ้น

ที่บอกว่าการทอดกฐินเป็นการทำบุญที่สำคัญและมี อานิสงส์มาก สาเหตุสำคัญไม่ใช่เพราะมีโอกาสทอดได้แค่ปีละ ๓๐ วันเท่านั้น แต่เป็นเพราะการทอดกฐินมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชิดชูและส่งเสริมสามัคคีธรรม จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ก็ต้องเล่าประวัติความเป็นมาของประเพณีทอดกฐินคือ สมัยพุทธกาลพระภิกษุสงฆ์มีธรรมเนียมว่า เมื่อออกพรรษาแล้วจะมีการไปหาผ้ามาคนละชิ้นสองชิ้น เพื่อมอบให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งมีจีวรเก่าคร่ำคร่า สมัยก่อนผ้าหายาก ไม่ได้หาง่ายเหมือนสมัยนี้ เพราะไม่มีการทำขาย และการทอก็ใช่ว่าจะทำได้บ่อยๆ ชาวบ้านสมัยก่อนมีเสื้อผ้าแค่คนละชุดสองชุดเท่านั้น

สำหรับพระสงฆ์ ผ้าส่วนใหญ่ที่ห่มเป็นจีวรก็ได้มาจากผ้าห่อศพที่ไปชักมาจากป่าช้า ได้มาแล้วก็ต้องทำความสะอาด ด้วยการต้ม ซัก แล้วก็ต้องตัดเย็บ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะฉะนั้นจึงมีธรรมเนียมว่า เมื่อออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์จะช่วยกันไปหาผ้ามาคนละชิ้นสองชิ้น เพื่อมอบให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ท่านไม่ได้มอบให้เฉยๆ แต่ยังช่วยกันตัด ช่วยกันเย็บ ช่วยกันย้อม เพื่อให้เป็นจีวรใช้ห่มได้ จะเป็นสบงหรือจีวรก็ได้ทั้งนั้น

ต่อมาญาติโยมเห็นว่า พระสงฆ์ท่านลำบาก อยากสงเคราะห์ท่าน จึงออกปากว่าต่อไปนี้พระคุณเจ้าไม่ต้องไปหาผ้า โยมจะไปหาผ้ากันมาเอง แล้วถวายแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในการตัดสินใจว่าจะมอบผ้านั้นให้กับผู้ใด ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีทอดกฐินขึ้น โดยญาติโยมช่วยกันหาผ้ามาถวาย ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นจากการทอผ้าให้เป็นผืน ซึ่งเป็นงานใหญ่ทีเดียว เพราะสมัยก่อนนั้นไม่มีการทอผ้าสำเร็จรูปขาย ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกันกว่าจะได้ผ้ามาผืนหนึ่งบางแห่งมีศรัทธามาก พยายามทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว ตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ ตัด เย็บ แล้วนำไปทอดถวายแก่พระสงฆ์ภายในวันนั้น เรียกว่าจุลกฐิน

ทีนี้เมื่อพระสงฆ์ได้ผ้ามาแล้ว หากเป็นผ้าผืนเรียบ ๆ ท่านก็ต้องช่วยกันตัดให้เป็นชิ้น ๆ เรียกว่าขัณฑ์ แล้วเย็บต่อกันเป็นผืน จะเป็นสบงหรือจีวรก็แล้วแต่ อันนี้สำหรับสำนักที่เคร่งวินัย เสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนสุดท้าย คือกรานกฐิน ทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องช่วยกัน ในสมัยพุทธกาลแม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย บางวัดก็ยังมีธรรมเนียมนี้อยู่ กว่าจะตัดเย็บเสร็จ จนกรานกฐินได้ก็อาจล่วงไปถึงกลางคืน อาตมาเคยไปอยู่วัดอมราวดีของหลวงพ่อสุเมโธที่ประเทศอังกฤษ กว่าพระจะช่วยกันตัดและเย็บเป็นสบงได้ก็ราวสี่ทุ่ม จากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์มากรานกฐินและอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี อันนี้เป็นกิจกรรมฝ่ายพระสงฆ์

ที่อาตมาเล่ามาจะเห็นว่า ประเพณีนี้ต้องอาศัยความสามัคคีมาก เริ่มจากความสามัคคีในหมู่พระที่จะต้องไปช่วยกันหาผ้ามามอบให้กับภิกษุรูปใด รูปหนึ่ง แม้ภายหลังพระสงฆ์ไม่ต้องหาผ้าเอง มีโยมถวายให้ ก็ต้องมีการตกลงว่าจะมอบผ้านั้นแก่พระรูปใด ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องมอบให้แก่เจ้าอาวาสเท่านั้น อาจจะเป็นพระลูกวัดก็ได้ การตกลงว่าจะมอบให้กับภิกษุรูปใดก็ต้องอาศัยมติที่เป็นเอกฉันท์ จะมีใครทักท้วงหรือคัดค้านแม้แต่หนึ่งเสียงก็ไม่ได้ ต้องเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ข้อกำหนดนี้ยังปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

การที่พระสงฆ์จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ไม่มีการทักท้วงเลยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อพระสงฆ์มาจำพรรษาร่วมกัน ๓ เดือนก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง การที่จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เพื่อมอบผ้าให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมไม่ ใช่เรื่องง่าย แต่หากท่านมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ก็แสดงว่าท่านต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจ เดียวกันพอสมควร และเมื่อเห็นเป็นเอกฉันท์แล้วก็ยังต้องร่วมแรงร่วมใจกันตัดเย็บผ้าด้วย จะทำให้เสร็จภายในวันเดียวก็ต้องอาศัยความสามัคคีเช่นกัน

นอกจากความสามัคคีในหมู่พระสงฆ์แล้ว ฝ่ายฆราวาสญาติโยมก็ต้องสามัคคีด้วยเช่นกัน สมัยก่อนก็ต้องช่วยกันทอผ้าเป็นผืน รวมทั้งหาบริวารกฐินด้วย อย่างที่เราทราบกันว่ากฐินเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้มีแต่ผ้า แต่มีบริวารมากมายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ทั้งที่หามาเองหรือไปซื้อมา ถ้าจะซื้อก็ต้องมีการบอกบุญเรี่ยไรกัน ต้องมีความสามัคคีถึงจะได้เงินเป็นจำนวนมาก ได้เงินมาแล้วก็ร่วมกันเดินทางมาทอดผ้ากฐิน อันนี้ก็เป็นการเพิ่มพูนความสามัคคีเช่นกัน บางแห่งเจ้าภาพมาจากที่ไกล จากกรุงเทพฯ ก็มี กว่าจะมาถึงก็ประสบความยากลำบาก แต่เมื่อมาถึงแล้วเจ้าบ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันเลี้ยงต้อนรับ เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างคนต่างถิ่น

จะเห็นได้ว่าประเพณีทอดกฐินนี้ แกนกลางอยู่ที่ความสามัคคี ทั้งเชิดชูและส่งเสริม กล่าวคือเชิดชูสามัคคีธรรมของพระสงฆ์ที่ได้ร่วมกันจำพรรษาอย่างราบรื่นตลอด สามเดือน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดสามัคคีธรรมทั้งในหมู่สงฆ์และฆราวาส ตรงที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำภารกิจในส่วนของตนให้เสร็จสิ้น ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจหลักและจุดมุ่งหมายของประเพณีทอดกฐินนี้ ก็จะเข้าใจว่าทำไมการทอดกฐินจึงเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนาของชาวไทย และเหตุใดการทอดกฐินจึงมีอานิสงส์มาก

การทอดกฐินจัดว่าเป็นสังฆทานอย่างหนึ่ง แต่เป็นสังฆทานที่พิเศษ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา โดยปกติสังฆทานก็มีอานิสงส์มากกว่าทานทั่วๆ ไปที่เป็นวัตถุทานอยู่แล้ว แต่ว่าการทอดกฐินพิเศษกว่านั้นเพราะปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียวและที่สำคัญคือ เป็นเครื่องเชิดชูและส่งเสริมสามัคคีธรรม

สามัคคีธรรมเป็นสิ่งสำคัญในพุทธศาสนา การที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาก็เพื่อให้พระสงฆ์ฝึกฝนพัฒนาตนและ สามารถบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชาวโลกได้ แต่จะทำเช่นนี้ได้ ความสามัคคีเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะเมื่อมีความสามัคคีกันแล้ว ชุมชนสงฆ์ย่อมมีความสงบร่มเย็น ช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามในการพัฒนาตน ถ้าที่ใดไม่มีความสามัคคีกัน ที่นั่นย่อมไม่มีความสงบ ยากที่บุคคลจะพัฒนาตนให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ และยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้
สามัคคีธรรมสำคัญต่อคณะสงฆ์อย่างไร ก็สำคัญต่อบ้านเมืองอย่างนั้น บ้านเมืองเราจะมีความสงบและเจริญก้าวหน้าได้ ผู้คนก็ต้องมีความสามัคคีกัน ครอบครัว หรือองค์กรก็เช่นเดียวกัน จะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต้องมีความสามัคคีในหมู่สมาชิก สามัคคีธรรมมีความสำคัญพอๆ กับลมหายใจ ถ้าหากหวังความสุขก็ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองไทยตอนนี้ขาดมาก ที่จริงขาดไปในทุกวงการเลยก็ว่าได้ จำเป็นมากที่เราจะต้องร่วมระดมกันสร้างสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้น แต่สามัคคีธรรมไม่ได้เกิดจากการรณรงค์ด้วยคำขวัญว่า ต้องรักกัน ต้องปรองดองกัน ต้องสามัคคีกัน การรณรงค์ด้วยคำขวัญมีประโยชน์ก็จริง แต่มันช่วยได้ไม่มาก ตราบใดที่ไม่มีการสถาปนาธรรมะในใจคนจนนำไปสู่การปฏิบัติที่ส่งเสริมความ สามัคคีหรือปรองดองกัน

ธรรมะในใจคนได้แก่อะไร ข้อแรกที่สำคัญคือ เมตตา ถ้ามีเมตตาแล้วก็จะมีการทำความดีให้กันและกัน มีความเอื้อเฟื้อกัน ความเอื้อเฟื้อหรือการทำดีต่อกันเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมผู้คนให้เป็นอัน หนึ่งอันเดียวกัน ถ้าไม่มีความเมตตากรุณาต่อกันแล้ว เป็นการยากความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้กันได้ อย่าว่าแต่ความสามัคคีในประเทศเลย แม้กระทั่งในครอบครัว หรือระหว่างสามีภรรยาถ้าไม่มีเมตตาต่อกัน ความสามัคคีก็เกิดขึ้นได้ยาก

เมตตาในที่นี้ไม่ใช่เมตตาในใจแต่เพียงอย่างเดียว ต้องแสดงออกมาเป็นคำพูดและการกระทำด้วย สามีภรรยาอาจจะบอกว่าฉันรักเธอ แต่ถ้าไม่แสดงออกด้วยคำพูดที่ไพเราะ คำพูดที่สุภาพ คำพูดที่ปรารถนาดี ก็ไม่สามารถที่จะผูกใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ การแสดงเมตตาด้วยคำพูด ด้วยการกระทำนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ขณะเดียวกันก็ต้องมีขันติคือความอดกลั้นและความใจ กว้างด้วย ถ้าเราใจแคบอยู่แล้ว ใครที่คิดไม่เหมือนเรา เราก็จะไม่พอใจ เราก็จะขุ่นเคืองใจ และจากความขุ่นเคืองใจก็จะกลายเป็นความโกรธ และจากความโกรธก็สามารถจะลุกลามกลายเป็นความเกลียดได้ง่าย เดี๋ยวนี้แม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน ก็มีความระหองระแหงกันก็เพราะว่า มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่เฉพาะแต่เหตุการณ์บ้านเมือง แม้แต่เรื่องราวที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็สามารถทำให้ผู้คนทะเลาะกัน ได้ เช่นทะเลาะกันเรื่องฟิล์มกับแอนนี่เพราะคิดไม่ตรงกัน อันนี้เป็นเพราะว่าใจไม่กว้างพอ ถ้าเรามีความใจกว้างก็จะเห็นว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา และถ้ามองให้ดีมีปัญญาแล้ว เราก็จะเห็นว่า ความแตกต่างก็มีประโยชน์ไม่น้อย

ผู้ที่มีปัญญาจะเห็นว่าความแตกต่างนั้นมีประโยชน์ ถ้าคนเราเหมือนกันทุกอย่างแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเสริมซึ่งกันและกันได้ ลองนึกภาพนิ้วมือเรามี ๕ นิ้ว ห้านิ้วนี้สั้นยาวไม่เท่ากัน แต่เป็นเพราะความแตกต่างนี้เองทำให้มือของเราสามารถจะทำสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ ได้ แม้แต่ญาติที่ใกล้ชิดกับเราเช่นลิงชิมแปนซีก็ไม่สามารถจะใช้มือในการทำสิ่ง ที่ประณีตพิสดารได้เท่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การสีไวโอลิน การดีดเปียโน การแกะสลัก หรือแม้แต่การจับเครื่องมือให้กระชับแน่น มนุษย์ทำสิ่งเหล่านี้ได้เพราะเรามีนิ้วที่แตกต่างกัน สามารถจับฉวยทำอะไรได้ร้อยแปด ถ้าหากว่านิ้วของเราเท่ากันเสียแล้ว ก็คงไม่สามารถประดิษฐ์สิ่งที่พิเศษพิสดารได้ ไม่ผิดถ้าจะพูดว่าธรรมชาติให้นิ้วมือเรามีความแตกต่างกันเพื่อที่เราจะได้ สามารถทำสิ่งที่พิเศษได้ ความแตกต่างของนิ้วมือเป็นการช่วยเสริมซึ่งกันและกัน หากร่วมใจกันหรือสามัคคีกันแล้ว ก็สามารถทำสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ได้

เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วอาตมาไปประเทศภูฐาน เราคงทราบดีว่าภูฐานเป็นประเทศที่มีความสงบสุข ผู้คนมีความแตกต่างกันน้อย ไม่ว่าในด้านความเป็นอยู่ หรือวัฒนธรรม แต่ว่าเขาก็ยังเน้นเรื่องสามัคคีบนพื้นฐานของความแตกต่าง ตามบ้านเรือน ตามสำนักงาน หรือสถานที่ราชการ จะมีภาพเกี่ยวกับเรื่องราวในชาดก ชาดกเรื่องหนึ่งที่เห็นบ่อยมากคือเรื่องราวของ ๔ สหาย ๔ สหายนี้ก็ได้แก่ลิง นก กระต่าย และช้าง ๔ สหายนี้ช่วยกันปลูกต้นไม้ เริ่มด้วยการที่นกเอาเมล็ดพันธ์มาเพาะลงในดิน หลังจากนั้นกระต่ายก็รดน้ำ ลิงหาปุ๋ยมาให้ ส่วนช้างคอยบังแดดบังลมให้ ไม่นานต้นไม้ก็เจริญงอกงาม ออกดอกออกผลเป็นอาหารแก่สัตว์ทั้ง ๔

อันนี้เป็นชาดกที่เน้นถึงความสามัคคี เป็นความสามัคคีบนพื้นฐานของความแตกต่าง แม้จะแตกต่างกันแต่กลายเป็นของดี เพราะว่าคนเรานั้นไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่ละคนมีความเก่งความถนัดกันคนละด้าน ถ้าเรานำความถนัด ความเก่งที่แตกต่างกันนี้มาเสริมกันก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ได้ จะมองอย่างนี้ได้ก็ต้องมีปัญญา ดังนั้นปัญญาจึงเป็นธรรมะอีกข้อหนึ่งที่เราควรจะมี ถ้าเรามีปัญญาเราก็จะไม่กลัวความแตกต่าง เราก็จะมองเห็นว่าความแตกต่างนี้มีข้อดี แม้ความคิดของคนอื่นจะไม่ตรงกับความเห็นของเรา แต่มันก็ช่วยให้เราได้เห็นอะไรรอบด้านมากขึ้น อันนี้รวมถึงคำวิจารณ์ด้วย เวลาใครวิจารณ์เรา เราก็มักไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราไตร่ตรองให้ดี มันก็ช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่นึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป ช่วยให้เราปรับปรุงงานการให้ดีขึ้น รวมถึงแก้ไขตัวเองด้วย นอกจากนั้นยังช่วยลดอัตตาตัวตนของเราด้วย หากเราเห็นข้อดีเหล่านี้ เวลาเราเจอคนที่แตกต่างจากเรา คิดแตกต่างจากเรา เราก็ไม่โกรธ เจอคนที่ความสามารถไม่เหมือนเรา เราก็กลับมองเป็นข้อดีว่าจะได้ช่วยมาเสริมกัน

ที่จริงแล้วถ้าเราฉลาด มองให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งก็จะเห็นว่า เบื้องหลังของความแตกต่างนั้นมันก็คือความเหมือนกัน อย่างนิ้วทั้ง ๕ ของเราแม้จะแตกต่างกัน แต่ทั้ง ๕ ล้วนมาจากฝ่ามือเดียวกัน คนเราก็เช่นเดียวกัน แม้จะเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา ต่างสีผิว นั่นคือความแตกต่างในส่วนเปลือกนอก แต่ในสาระสำคัญนั้นเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรารักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมวัฏสงสารเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นจุดร่วมที่เรามีเหมือนกัน เราจะเกลียดกันยาก เราจะรักกันได้ง่ายขึ้น

ปัญญาทำให้เราเห็นว่าเรามีความเหมือนกันมากมาย ความมีจุดร่วมเหมือนกันทำให้เราผูกพันกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน การที่เราเห็นประโยชน์ของความแตกต่างก็ทำให้เรายอมรับความแตกต่างและใช้ความ แตกต่างให้เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้

ธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่คนไทยและชาวพุทธจะต้องมีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเมตตา ขันติ และปัญญาที่จะทำให้เราเข้าใจความจริงที่ยึดโยงผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าเรานำเอาธรรมะเหล่านี้มาใช้กับครอบครัวของเรา ที่ทำงานของเรา กับเพื่อนบ้านของเรา ก็จะมีแต่ความสงบ มีแต่สันติสุข ซึ่งก็ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้ากับทุกฝ่าย อยากฝากธรรมเหล่านี้ให้แก่เราในโอกาสที่ได้มาทำบุญทอดกฐินด้วย นอกจากการได้มาทำบุญทำกุศล ได้มาสงเคราะห์พระสงฆ์หรือวัดวาอารามด้วยบริวารที่เราได้รวบรวมมาแล้ว ก็อยากให้เรามองลึกลงไปถึงหัวใจหรือว่าจิตวิญญาณของการทอดกฐิน เพื่อที่เราจะได้น้อมมาปฏิบัติกับตัวเอง เริ่มต้นด้วยการน้อมธรรมะมาสถิตไว้ที่ใจ ไม่ว่า เมตตา ขันติ ปัญญา หลังจากนั้นก็แสดงออกมาเป็นการปฏิบัติ เป็นการกระทำต่อกัน

เมตตากรุณานั้นเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะตอนนี้เรามีความโกรธ ความเกลียด ความกลัวกันมาก แต่เมตตาอย่างเดียวไม่พอ เราต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำ เริ่มด้วยการเอื้อเฟื้อทางวัตถู เรียกว่าทาน ต่อมาก็คือการพูดด้วยวาจาไพเราะ เกื้อกูล คือ ปิยวาจา แสดงออกเป็นการกระทำสร้างสรรค์เรียกว่าอัตถจริยา อย่างเช่นที่หลายคนกำลังร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม คนไทยถ้าเราไม่มีเคราะห์ภัยเราก็แตกแยกทะเลาะกันได้ง่าย แต่ถ้ามีเหตุเภทภัยมาเราก็รวมกันได้ง่าย ที่เคยทะเลาะกันก็จับมือกัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหมือนที่เคยช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ นี่ก็เป็นอัตถจริยาที่ช่วยยึดโยงผู้คนให้มารักกัน ลืมเรื่องที่โกรธเคืองขุ่นข้องหมองใจกัน และที่ขาดไม่ได้คือสมานัตตาคือการร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ถ้าเราร่วมทุกข์กับเพื่อน เขาก็จะซาบซึ้งใจ ผูกมิตรกับเราได้ง่าย เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ธรรมะทั้งหมดที่อาตมาพูดมาสั้นๆ นี้ คือทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา เราเรียกรวม ๆ กันว่าสังคหวัตถุ สังคหวัตถุคือธรรมะที่ช่วยในการสงเคราะห์ สงเคราะห์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “ช่วย” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการยึดเหนี่ยวจิตใจหรือผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย สังคหวัตถุคือธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ ประสานหมู่ชนให้เกิดสามัคคี หากเรามีธรรมทั้ง ๔ ประการคือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และ สมานัตตตา สามัคคีก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

อาตมาได้ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ก็ขออนุโมทนาญาติโยมทุกท่านที่มาบำเพ็ญบุญกฐินในวันนี้ หลายท่านมาจากที่ไกล และแม้จะลำบากก็ขอให้ถือว่าเป็นการสร้างบารมีให้เกิดขึ้นกับตน ไม่ว่า วิริยะบารมี ขันติบารมี อุเบกขาบารมี ซึ่งล้วนแต่เป็นบุญกุศลที่มีอานิสงส์มากทั้งนั้น ในนามของตัวแทนวัดป่ามหาวันก็ขออำนวยอวยพรให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อเป็นพลังในการทำความดี สร้างประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ขอให้มีความเจริญมั่นคงในธรรม มีสติ มีปัญญา สามารถพาตนออกจากทุกข์ เข้าถึงความสุข โดยเฉพาะสุขที่เป็นยอดแห่งสุขทั้งปวงก็คือ พระนิพพาน ด้วยกันทุกคนเทอญ

๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓
โดย พระไพศาล วิสาโล
ที่มา http://www.visalo.org/article/budkratin53.htm