การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเอาเงินให้กับคนจนเลยเป็นเรื่องดี หรือ ไม่? ชล บุนนาค จะนำเอาประสบการณ์จากต่างประเทศมาบอกเราว่า วิธีการนี้อาจจะได้ผลดีก็ได้ แต่มันต้องดำเนินการด้วยวิธีที่แยบคายกว่าให้เงินเฉยๆ

*** บทความนี้คัดลอกมาจากงานเขียนของ ชล บุนนาค, “การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการแจกเงิน?” TSAN Newsletter ฉบับเดือนกันยายน 2553 ***

หากถามว่าเราแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเอาเงินให้กับคนจนเลยเป็นเรื่องดี หรือไม่? จากประสบการณ์ของประเทศเราเองในช่วงที่ผ่านมา อาจจะบอกว่าไม่ดี เพราะมันจะทำให้คนยากจนไม่พึ่งตนเองแต่มาพึ่งเงินที่รัฐให้แทน อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า วิธีการให้เงินกับคนยากจนอาจจะได้ผลดีก็ได้ แต่มันต้องดำเนินการด้วยวิธีที่แยบคายกว่าให้เงินเฉยๆ

Conditional Cash-transfer Program (CCT) หรือขอแปลเป็นภาษาไทยว่า โครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขนั้น จากการรายงานของนิตยสาร the Economist (the Economist 2010a) พบว่ากำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) และประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (Middle-income Countries) อย่างมาก หรือกระทั่งเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกาก็ยังใช้โครงการนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะว่ามันได้ผล

หลักการของ CCT คือ โครงการจะให้เงินกับคนยากจนเมื่อพวกเขาทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ส่งลูกเข้าโรงเรียนและห้ามขาดเกิน 15%, ให้ลูกฉีดวัคซีน ฯลฯ เงินที่ให้ไม่ใช่เป็นเงินก้อนใหญ่ เป็นเงินจำนวนไม่มากแต่สามารถทำให้คนยากจนสามารถซื้อหาปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้ ในบางประเทศเช่น เฮติ ใช้วิธีการร่วมมือกับภาคเอกชนแทนการให้เงิน โดยสหกรณ์ผลิตภัณฑ์นม จะให้นมฟรีกับบ้านที่ให้ลูกไปโรงเรียน

จากประสบการณ์ของประเทศบราซิล (the Economist 2010b) พบว่า โครงการดังกล่าวทำให้จำนวนของคนยากจน (รายได้ต่ำกว่า 440 ดอลล่าต่อเดือน) ลดลง 8% ตั้งแต่ปี 2003 ดัชนีวัดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ (Gini index) ลดลงจาก 0.58 เป็น 0.54 ซึ่งถือว่ามาก หมายถึงความเท่าเทียมกันในด้านรายได้มีมากขึ้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะโครงการดังกล่าวได้วางเงื่อนไขให้ครัวเรือนที่ยากจน ส่งลูกเข้าโรงเรียน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางอาชีพให้พวกเขา พร้อมทั้งให้ครัวเรือนเหล่านั้นดูแลด้านสุขภาพแก่คนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ ในกรณีของบราซิลโครงการนี้ยังใช้เงินเพียง 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ดี CCT ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น ที่บอกว่าไม่ใช่ยาวิเศษเพราะว่ามันจะแก้ปัญหาความยากจนแบบเก่าได้ดี ปัญหาความยากจนแบบเก่าก็คือ การมีรายได้ต่ำมากจน ขาดปัจจัยสี่ ขาดการศึกษา และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข โครงการนี้ได้ผลดีมากในเขตชนบทที่ยังมีปัญหาความยากจนแบบเก่าอยู่ แต่สำหรับปัญหาความยากจนแบบใหม่นั้น ยังแก้ได้ไม่ดีพอ ในบางกรณีถึงกับล้มเหลว ปัญหาความยากจนแบบใหม่คือ ปัญหาการติดยาเสพติด ความรุนแรงในครัวเรือน ครอบครัวแตกแยก เสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาอื่นๆที่เราพบได้ตามสลัมในเมืองใหญ่ ในหลายๆกรณี เงินจาก CCT น้อยกว่ารายได้จากทางอื่นที่ครัวเรือนสามารถหาได้ในเมืองหรือระบบสวัสดิการ ที่มีอยู่แล้ว จึงไม่สามารถเป็นแรงจูงใจให้ครัวเรือนทำตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ บางกรณีเงินถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและทำให้ปัญหาเดิมลุกลาม บางกรณีเงินจากโครงการจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพากันในครัวเรือนมากเกินไป ปัญหาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการใช้ CCT ในเมืองใหญ่จำเป็นต้องนำบริบทของเมืองใหญ่มาพิจารณาในการออกแบบโครงการนี้ ด้วย (the Economist 2010b)

CCT มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน? ชลมองว่า หาก CCT ถูกออกแบบมาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ก็น่าจะสามารถใช้ได้ดีในเขตชนบทของเมืองไทยเช่นกัน แม้ว่าปัญหาด้านอาหาร การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษาจะแก้ไปได้เกือบหมดแล้ว แต่ในแง่คุณภาพ อย่างเช่น กรณีของการศึกษานั้น แม้ว่าเด็กที่เข้าเรียนจะมีเปอร์เซนต์สูงมากแต่การออกจากโรงเรียนก่อนเวลาก็ มีไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะต้องช่วยทางบ้านหารายได้ หรือปัญหาอื่นๆ การมีโครงการ CCT อาจจะช่วยจูงใจให้เด็กยังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนจบก็ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเขาเองในระยะยาว สำหรับในเมืองปัญหาความยากจนแบบใหม่ก็เป็นปัญหาสำหรับเมืองใหญ่ๆในประเทศไทย เช่นกัน ปัญหาความยากจนแบบใหม่จำเป็นต้องแก้ด้วยความเข้าใจบริบทอันซับซ้อน ไม่สามารถยกเอาทางแก้หรือบทเรียนที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศมาใช้ทั้ง หมดได้

กรณีศึกษาของ CCT ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้น่าจะช่วยเปิดมุมมองให้กับคนที่มีภาพลบโดยสิ้นเชิง กับโครงการแจกเงินของรัฐบาลได้เห็นแง่มุมดีๆของโครงการคล้ายๆกันแต่ออกแบบมา อย่างดีได้บ้าง และอาจเป็นทางเลือกเชิงนโยบายในอนาคตสำหรับประเทศไทยได้เช่นกัน
ที่มา http://setthasat.com/2011/10/06/iphone/
ขอบคุณ เสด-ถะ-สาด].com – challenge econized –
หากเพื่อนๆ อยากได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีบทความใหม่ๆ กด LIKE ที่หน้า facebook นะครับ

อ้างอิง
๑) The Economist. 2010a. Give the poor money. the Economist July 31st- August 6th 2010 p.8.
๒) The Economist. 2010b. How to get children out of jobs and into school. the Economist July 31st- August 6th 2010 p.17-18.

ที่มา
ชล บุนนาค, “การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการแจกเงิน?” TSAN Newsletter ฉบับเดือนกันยายน 2553 ออนไลน์ที่ http://thaistudents.nl/tsan_newsletter/Journal/CCT.