social enterprise
ปัจจุบันกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) กำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ทั้งจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภาครัฐที่กำลังผลักดันกฎหมายและมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจที่อยากสร้างคุณค่าทางสังคมมากกว่าการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ และผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่มีส่วนสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นเป็นทางเลือก ในการจับจ่าย

อย่างไรก็ตามความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็มาพร้อมกับความสับสนในความหมายและคุณสมบัติของกิจการเพื่อสังคม  ผู้เขียนจึงขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ผู้คนมักจะสับสนอยู่เสมอ  โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงกิจการเพื่อสังคมในมุมมองจากหลายประเทศ ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แตกต่างจากความหมายหรือลักษณะของ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อันเป็นคำที่ใช้ในร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคมฉบับแรกของประเทศไทย ที่อาจจะมีการประกาศใช้ในไม่ช้า

ประเด็นที่ 1 – ความหลากหลายในความหมายของ “กิจการเพื่อสังคม”

ในสหราชอาณาจักร หน่วยงานสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมแห่งสหราชอาณาจักร หรือ Social Enterprise UK ให้นิยามกิจการเพื่อสังคมว่า “กิจการที่ทำการค้าเพื่อจุดประสงค์ทางสังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อม  โดยมีพันธกิจทางสังคมที่ชัดเจน มีรายรับส่วนใหญ่จากการขายผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ  และมีกฎที่ชัดเจนว่าจะบริหารจัดการกำไรอย่างไร รวมถึงต้องนำกำไรกลับไปลงทุนในพันธกิจเพื่อสังคม”[i]

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบกิจการเพื่อสังคมโดยตรง มีแต่สมาคมกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise Alliance) ที่มีกิจการเพื่อสังคมมากกว่า 1,000 แห่งเป็นสมาชิก สมาคมฯได้ให้นิยามกิจการเพื่อสังคมไว้ว่า “องค์กรหรือโครงการที่เป็นจุดร่วมระหว่างการมีพันธกิจทางสังคมแบบองค์กรไม่ แสวงกำไร หรือภาครัฐและมีการขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดแบบธุรกิจ”[ii] ซึ่งเว็บไซต์ของสมาคมระบุว่า สมาคมปรับเปลี่ยนนิยามของกิจการเพื่อสังคมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ดร.โมฮัมมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อคนจนในประเทศบังคลาเทศ กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และทำให้แนวคิดของสินเชื่อขนาดจิ๋วหรือไมโครไฟแนนซ์ขยายไปทั่วโลก ดร.ยูนุสให้ความหมายคำว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” (social business) ว่าคือ “ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายทางสังคม นักลงทุนสามารถทะยอยรับผลตอบแทนคืนได้แต่ไม่เกินมูลค่าของเงินที่ลงทุน และจะไม่ได้รับเงินปันผล เนื่องจากเป้าหมายของการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุ ประสงค์ทางสังคมผ่านการปฏิบัติงานของบริษัท ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของนักลงทุน บริษัทจึงต้องสามารถคืนทุน ทำกำไรและบรรลุเป้าหมายทางสังคมไปพร้อมๆ กันได้”[iii]

epa03463177 Bangladeshi banker and Nobel Peace Prize winner Muhammad Yunus during his opening speech at the Global Social Business Summit 2012 in Vienna, Austria, 08 November 2012.  EPA/GEORG HOCHMUTH  Dostawca: PAP/EPA.

epa03463177 Bangladeshi banker and Nobel Peace Prize winner Muhammad Yunus during his opening speech at the Global Social Business Summit 2012 in Vienna, Austria, 08 November 2012. EPA/GEORG HOCHMUTH
Dostawca: PAP/EPA.

ดร.โมฮัมมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ภาพจาก myvisionmcgill

ดร.ยูนุสได้แบ่งประเภทของธุรกิจเพื่อสังคมออกเป็นสองประเภทดังนี้ ประเภทที่ 1 (Type One) คือ กิจการที่มุ่งเน้นเรื่องเป้าหมายทางสังคมเท่านั้น ดังได้กล่าวไว้ในนิยามข้างต้น ส่วนประเภทที่ 2  (Type Two) คือ กิจการที่เน้นเรื่องเป้าหมายทางสังคมที่มีกำไรและมีคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสใน สังคมเป็นเจ้าของ ซึ่งพวกเขาจะได้รับเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นๆ จากกิจการ

ส่วน Global Social Venture Competition: GSVC ซึ่งเป็นเวทีการประกวดธุรกิจเพื่อสังคมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นเวทีเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลกหลายแห่ง เช่น Kiva.org, Revolution Foods, d.light Design และ Sanergy ระบุว่า ธุรกิจเพื่อสังคม คือ “กิจการที่วางเป้าหมายว่าจะมีความยั่งยืนทางการเงินหรือมีกำไร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ องค์กรจะต้องเลี้ยงตัวเองได้จากรายได้ที่มาจากการทำธุรกิจ รวมถึงมีผลลัพธ์ทางสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมที่วัดผลได้ (measurable impact)  โดยถือเป็นหนึ่งเดียวกับพันธกิจและการดำเนินงาน”[iv]

Better

ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเยาวชนของ Revolution Foods ภาพจาก revolution foods

หากเราค้นหาความหมายจากเว็บไซต์ Wikipedia ที่รวบรวมข้อมูลจากหลายประเทศเข้าด้วยกัน เว็บไซต์นี้ระบุนิยามไว้ว่า คือ “องค์กรที่ใช้กลยุทธ์ทางการค้าเพื่อยกระดับความอยู่ดีมีสุขของผู้คนและสิ่ง แวดล้อม ซึ่งอาจจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมสูงสุดไปพร้อมๆ กับการสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้น”[v]

และสุดท้ายสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติหรือสกส. ​(พ.ศ. 2554-2558) ได้ให้ความหมายของกิจการเพื่อสังคมว่า คือ “ธุรกิจหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อม โดยมีรายได้หลักมาจากการค้าหรือการให้บริการ (มากกว่าการรับบริจาค) เพื่อพึ่งพาตนเองทางการเงินได้และนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อบรรลุ วัตถุประสงค์ทางสังคมที่ตั้งไว้ กิจการเพื่อสังคมเป็นการเชื่อมโยงจุดแข็งของสองภาคส่วน คือ การจัดการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเอกชนกับการมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ จะแก้ไขปัญหาของภาคสังคม เพื่อทำให้เกิดทางแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน[vi]

เมื่อดูจากความหมายต่างๆ ข้างต้นจะเห็นได้ว่ากิจการเพื่อสังคมมีความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละ ประเทศหรือองค์กร อย่างไรก็ตามหากมองถึงจุดร่วมที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของกิจการเพื่อสังคมจาก ความหมายต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า

  • กิจการเพื่อสังคม เป็น “กิจการ” ประเภทหนึ่ง ที่วางเป้าหมายหรือพันธกิจหลักไว้ที่การแก้ไขปัญหาสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม มิใช่การแสวงหาผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด
  • กิจการเพื่อสังคมมีกระบวนการแก้ปัญหาสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมดังกล่าว หลอมรวมในการดำเนินกิจการ โดยอาศัยหลักการบริหารจัดการจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ
  • กิจการเพื่อสังคมพยายามแสวงหาความยั่งยืนทางการเงิน จากรายได้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการ

หากมองในเชิงโครงสร้างของกิจการว่าจะจดทะเบียนในรูปแบบอะไร และข้อถกเถียงเรื่องการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ จ่ายปันผลได้ไม่เกินสัดส่วนเท่าไร  ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น อังกฤษ หัวใจของการเป็นกิจการเพื่อสังคมควรจะเป็น “ผล” ที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาสังคมมากกว่าเรื่องโครงสร้างและการปันผล ซึ่งผู้เขียนจะลงรายละเอียดในตอนต่อไป

ประเด็นที่ 2 – กิจการเพื่อสังคมกับการสร้าง “กำไร”

หลายคนคิดว่าการทำกิจการเพื่อสังคมไม่ต้องทำกำไรก็ได้เพราะแค่อยากจะทำดี อยากจะเปลี่ยนโลก และไม่อยากเน้นแสวงหากำไรแบบธุรกิจทั่วไป แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ากิจการเพื่อสังคมพยายามแก้ “ช่องว่าง” ระหว่างโลกขององค์กรพัฒนาสังคมและองค์การกุศล เช่น มูลนิธิ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมแต่อาจจะดำเนินงานได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะต้องอาศัยแหล่งทุนจากเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่า (grant) ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอน ในขณะที่โลกธุรกิจมีเครื่องมือต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการหารายได้และการบริหารกิจการ เช่น การตลาด การเงิน การบัญชี การจัดการและอื่นๆ แต่ไม่เน้นสร้างคุณค่าทางสังคม กิจการเพื่อสังคมจึงค่อยๆ เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความท้าทายของการระดมทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาสังคม ดังนั้นการทำกิจการเพื่อสังคมโดยไม่ต้องมีกำไรจึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกนัก คุณสามารถสร้างคุณค่าเชิงสังคมผ่านการทำกิจการเพื่อสังคมให้ “เท่าทุน” ได้  แต่หากบริหารงานแล้วขาดทุนนั่นหมายถึงผลลัพธ์ทางสังคม (impact) ของคุณก็จะทำได้ไม่สม่ำเสมอ หรือหลายครั้งต้องปิดกิจการลงเพราะเจ้าของไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและทีมงาน ได้

ในทางกลับกัน หากทำกำไรได้คุณก็ขยายงานและขยายผลลัพธ์ทางสังคมได้ หรือจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมแก่ทีมงานในอัตราที่แข่งขันกับตลาดได้ ทั้งนี้บอกได้ยากว่ากิจการเพื่อสังคมควรได้กำไรมากน้อยเท่าไรถึงจะเหมาะสม ในประเทศที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินปันผล กำไรที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ประกอบการเหมือนธุรกิจทั่วไป ส่วนในประเทศที่มีกฎเกณฑ์เรื่องกิจการเพื่อสังคมอย่างอังกฤษ หรือในกรณีที่กิจการเพื่อสังคมจดทะเบียนในลักษณะองค์กรไม่แสวงกำไร กิจการเพื่อสังคมเหล่านั้นสามารถทำกำไรได้  แต่ข้อสำคัญคือการนำกำไรไปทำอะไรต่อมากกว่า ซึ่งในอังกฤษกำไรเหล่านั้นควรหมุนเวียนกลับสู่กิจการเพื่อสร้างผลลัพธ์ทาง สังคมต่อไป  และนำไปสนับสนุนชุมชน เป็นต้น  แต่ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีข้อกำหนดเช่นนี้

ประเด็นที่ 3 – กิจการเพื่อสังคมต้องไม่จ่ายเงินปันผล

อย่างที่นิยามส่วนหนึ่งของกิจการเพื่อสังคมได้อธิบายไว้ เกณฑ์การจ่ายเงินปันผลมาจากแนวคิดกิจการเพื่อสังคมของประเทศอังกฤษ และจากแนวคิดของดร.ยูนุสที่ไม่ให้สิ่งที่เรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเลย

ในสหรัฐอเมริกาและอินเดียซึ่งเป็นประเทศสุด “ฮอท” ที่ผู้ประกอบการจากประเทศพัฒนาแล้วหลั่งไหลเข้ามาสร้างกิจการเพื่อสังคม ทั้งสองประเทศไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงินปันผล บังคลาเทศเองแม้จะเป็นประเทศหลักที่ดร.ยูนุสทำงานอยู่ ในทางกฎหมายก็ยังไม่มีรูปแบบองค์กรที่เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” และไม่มีข้อกำหนดเรื่องการจ่ายเงินปันผล[vii]

ผู้เขียนมองว่าการจะจ่ายเงินปันผลหรือไม่ หรือควรจ่ายในสัดส่วนเท่าไร  หรือไม่ควรจ่ายเลยนั้น ควรขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นและผู้ประกอบการ และเป็นเพียงรายละเอียด “ปลีกย่อย” ในการดำเนินธุรกิจ มากกว่าจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าธุรกิจไหนคือกิจการเพื่อสังคม การจะระบุว่ากิจการใดเป็นกิจการเพื่อสังคมควรดูถึง “ผล” หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาสังคมของกิจการนั้นมากกว่าที่ จะดูแค่นโยบายการปันผล เช่น หากมีกิจการที่ทำตามกฎการปันผลต่างๆ แต่การทำงานขององค์กรไม่ได้แก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้ กิจการนั้นก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็นกิจการเพื่อสังคม

ประเด็นที่ 4 – กิจการเพื่อสังคมต้องนำกำไรไปหมุนเวียนคืนสู่ชุมชน

ประเด็นนี้ก็มาจากนิยามกิจการเพื่อสังคมของประเทศอังกฤษ และตามคำนิยามของดร.ยูนุสที่ธุรกิจเพื่อสังคมประเภทที่ 2 หรือ Type II มีชุมชน คนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสเป็นเจ้าของกิจการ กำไรที่ได้มาจึงควรคืนสู่สมาชิกกิจการหรือชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ พวกเขา กิจการเพื่อสังคมในแบบอังกฤษหรือธุรกิจเพื่อสังคมในแบบดร.ยูนุสมีการคำนึง ถึงเรื่องนี้

ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมในประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีแผนหรือข้อกำหนดเรื่องการนำกำไรขององค์กรไปหมุนเวียนคืนให้ชุมชน หรือสังคม แต่มุ่งเน้นสร้าง “ผลลัพธ์” ทางสังคมทุกวันผ่านการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว เช่น กิจการเพื่อสังคมด้านพลังงานทางเลือกอาจจะสร้างคุณค่าให้ชุมชนโดยเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดราคาถูก แต่กิจการไม่จำเป็นต้องเอากำไรไปลงทุนสร้างความกินดีอยู่ดีด้านอื่นให้ชุมชน เช่น การศึกษา สุขภาพหรือความเท่าเทียม เพราะหัวใจสำคัญของกิจการคือแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงพลังงานทางเลือก ผู้เขียนมองว่ากิจการเพื่อสังคมไม่ต้องทำกิจกรรมซีเอสอาร์ให้กับชุมชน เพราะงานที่ทำแต่ละวันก็ควรจะสร้างคุณค่าทางสังคมอยู่แล้ว  กิจการเพื่อสังคมหลายแห่งทำงานในหลายประเทศ เช่น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ d.light Design ที่มีขายในทุกทวีป หรือ Kiva.org ที่ให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาเกือบ 90 ประเทศ กิจการเหล่านี้คงจะระบุ “ชุมชน” ขององค์กรได้ยากเพราะทำงานอยู่ในทุกมุมโลก

นอกจากนี้กิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในช่วงดิ้นรนเพื่อไม่ให้ตัว เองขาดทุน การที่จะต้องมีเป้าเพื่อทำกำไรนอกเหนือจากให้กิจการอยู่รอด แล้วยังต้องไปสนับสนุนชุมชนอีก จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในความเป็นจริง

Banner-Cooking

โฆษณาของกิจการเพื่อสังคม d.light Design ในประเทศอินเดีย ภาพจาก socialaccess

ประเด็นที่ 5 – ลูกค้าซื้อของจากกิจการเพื่อสังคมเพราะต้องการช่วยสังคม

ประเด็นนี้เป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยาก สร้างกิจการเพื่อสังคม แม้ว่ากิจการเพื่อสังคมจะตั้งขึ้นมาโดยมีพันธกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม  และแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้เน้นการทำกำไรสูงสุด แต่คนที่ซื้อของจากกิจการเพื่อสังคมก็เหมือนการซื้อของตามปกติที่ผู้ซื้อ จ่ายเงินเพื่อแลกกับคุณค่า (value) ของสินค้าหรือบริการ จึงย่อมมีการเปรียบเทียบเงินที่พวกเขาต้องจ่ายให้กับสิ่งที่ได้รับ เช่น หากซื้อข้าว เขาก็คาดหวังข้าวที่มีคุณภาพดีและอร่อย หากซื้อเสื้อก็ควรต้องใส่แล้วสวย สีไม่ตกหรือไม่หด หรือหากจะซื้อบริการอะไรสักอย่างก็ต้องเป็นบริการที่ดีเทียบเคียงได้กับการ จ่ายให้ธุรกิจอื่นๆ ที่ขายบริการในลักษณะเดียวกัน (แม้ว่าธุรกิจเหล่านั้นจะทำเพื่อสังคมหรือไม่ก็ตาม)

คุณค่าทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจ เลือกซื้อสินค้า  แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดหรือเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการซื้อซ้ำ เพราะหากผู้ซื้อต้องการซื้อเพียงแค่อยาก “ทำบุญ” หรืออยาก “ช่วยเหลือ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้อยากได้สินค้าหรือบริการนั้นจริงๆ พวกเขาก็จะซื้อไม่กี่ครั้ง หรือท้ายสุดลูกค้าอาจจะเลือกเอาเงินไปบริจาคโดยตรงดีกว่า ลองนึกถึงคุณตาคุณยายที่เร่ขายลูกอมหรือกระดาษทิชชู่ห่อตามถนนในกรุงเทพฯ เราเห็นแล้วสงสารและช่วยซื้อ เราอาจจะซื้อได้เพียงครั้งสองครั้ง เพราะลูกอมหรือกระดาษทิชชู่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือหากเราต้องการทิชชู่หรือลูกอม เราไปซื้อที่ไหนก็ได้

ดังนั้นสินค้าที่กิจการเพื่อสังคมขายจึงต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วย คือมี “คุณค่า” ตรงกับที่ลูกค้าอยากได้ไม่ต่างอะไรกับการซื้อสินค้าปกติ รวมถึงต้องมีความสวยงาม แบรนด์ ฟังก์ชั่นการใช้งาน คุณภาพ ความทนทาน ราคาที่เหมาะสม หาซื้อได้ง่ายและอื่นๆ ไม่ต่างไปจากสินค้าปกติ เพราะกิจการเพื่อสังคมไม่เพียงแต่ต้องแข่งกับกิจการเพื่อสังคมด้วยกัน แต่ยังแข่งกับธุรกิจกระแสหลักด้วย

จากประสบการณ์ของผู้เขียนกิจการเพื่อสังคมบางแห่งในบ้านเราส่งมอบสินค้า ล่าช้า ไม่ตรงตามเงื่อนไขและหรือมีคุณภาพด้อยกว่าธุรกิจปกติ เพียงเพราะคิดว่าลูกค้าจะเข้าใจว่าตนเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ไม่เน้นเรื่อง ธุรกิจแต่เน้นเรื่องสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะลูกค้าที่ชื่นชอบแนวคิดกิจการเพื่อสังคม อาจจะอยากเลือกซื้อของจากกิจการเพื่อสังคมก่อน แต่พวกเขาก็ต้องการความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป พวกเขาจึงสามารถเปลี่ยนใจไปใช้เจ้าอื่นได้หากคุณภาพของสินค้าหรือบริการของ กิจการเพื่อสังคมไม่ได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น หรือต้องมามีต้นทุนทางการเงิน ทางเวลาหรือทางอารมณ์เพิ่ม เพียงเพราะจะช่วยสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม

ส่วนการจะใช้ประเด็นทางสังคมเป็นปัจจัยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นั้น กิจการเพื่อสังคมก็ควรสื่อสารว่ากิจการของตนเองสร้างผลลัพธ์หรือความเปลี่ยน แปลงให้สังคมอย่างไรบ้าง หากไม่สามารถอธิบายได้ว่าเมื่อมีกิจการนี้ขึ้นมาแล้วปัญหาของสังคมหรือสิ่ง แวดล้อมด้านใดที่ลดลง หรือบอกได้แค่ว่ากิจการอยากช่วยเหลือ อยากทำดีแต่ไม่มีหลักฐานที่จับต้องได้ ลูกค้าก็จะไม่เข้าใจว่ากิจการเพื่อสังคมของคุณแก้ปัญหาอะไร หรือต่างอะไรกับธุรกิจปกติที่ทำการกุศล

kiva-1024x687

Infographic สรุปผลลัพธ์ทางสังคมของ Kiva ที่ใช้สื่อสารว่ากิจการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรบ้าง

ประเด็นที่ 6 – กิจการเพื่อสังคมต้องขายราคาถูก

ผู้เขียนมองว่ากิจการเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องขายของในราคาถูกกว่าคู่แข่ง เพียงเพราะตัวเองเป็นกิจการเพื่อสังคม การตั้งราคาควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์หลายๆ อย่าง เช่น คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า ต้นทุน จุดคุ้มทุน การเทียบราคากับคู่แข่ง ความสามารถของลูกค้าในการจ่าย การแบ่งรายได้ให้กับช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ เป้าหมายธุรกิจ เป้าหมายทางสังคม และอื่นๆ กิจการเพื่อสังคมควรตั้งราคาจากปัจจัยข้างต้น มากกว่าที่จะคิดเพียงว่าเราทำเพื่อสังคมจึงควรขายของถูก

อย่างไรก็ตามหลายกิจการเพื่อสังคมที่ทำงานกับผู้มีรายได้น้อยหรือตลาดคน จนที่ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึง (access) เช่น ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยีไอที หรือพลังงานสะอาด เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เอื้อมไม่ถึงสินค้าของธุรกิจปกติ ก็อาจจะตั้งราคาสินค้าให้ถูกลงโดยหานวัตกรรมใหม่มาใช้ในการจัดการการผลิต การกระจายสินค้า หรือการตลาดใหม่เพื่อให้ได้ราคาเหมาะสมที่ลูกค้าจ่ายได้ กิจการลักษณะนี้ต้องสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ทำให้สินค้าราคาถูกลง แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดทางการเงิน เช่น โรงพยาบาลตา Aravind ที่ประเทศอินเดียที่จับมือร่วมกับบริษัท Aurolab ผลิตแก้วตาเทียมที่มีต้นทุนถูกลง ทำให้ขายได้ในราคา 2 เหรียญสหรัฐ จากราคาในตลาดที่ 150 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ป่วยโรคต้อที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

ส่วนกิจการเพื่อสังคมที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าตลาด  แต่ควรตั้งราคาสินค้าโดยขึ้นกับ “คุณค่า” ที่ลูกค้ายินดีจ่ายให้ อย่างที่ได้กล่าวข้างต้น เช่น หากเราดูกิจการเพื่อสังคมชื่อดังอย่าง TOMS Shoes ที่จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียม เขาตั้งราคาขายรองเท้าคู่ละประมาณ 1,500-5,500 บาท[8] [viii] หรือ กิจการเพื่อสังคมที่เน้นการค้าอย่างเป็นธรรม (fair trade) เช่น ชา กาแฟ เสื้อผ้า ก็มีราคาสูงกว่าตลาด เพราะใช้การตั้งราคาเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมในแต่ละ ช่วงของห่วงโซ่อุปทาน อย่างการตั้งราคาของร้านเลมอนฟาร์มที่คำนึงถึงเกษตรกร ตัวกลาง(คือเลมอนฟาร์มเอง) และผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้เน้นขายของถูก หรือกระทั่งกิจการไมโครไฟแนนซ์ต่างๆ ก็มักมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารทั่วไป เพราะสถาบันไมโครไฟแนนซ์แบกรับความเสี่ยงและต้นทุนต่อหัวของลูกค้าที่ มากกว่า

ดังนั้นกิจการเพื่อสังคมจะขายสินค้าราคาถูกหรือแพง น่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธุรกิจและตลาดที่กล่าวมาข้างต้น

d107787849a81ed6d82fc45d0de2c20c

ร้านเลมอนฟาร์ม ภาพจาก paradisepark

ประเด็นที่ 7 – กิจการแห่งหนึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมเพราะส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น

เมื่อกิจการเพื่อสังคมเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจก็เริ่มมีธุรกิจหลาย แห่งนำคำนี้ไปใช้เรียกตัวเองว่าเป็น “กิจการเพื่อสังคม” มากขึ้น เช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งระบุว่าตนเองเป็นกิจการเพื่อสังคมเพราะสนับ สนุนให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ซึ่งหากมีเหตุผลเท่านี้ก็อาจจะยังขาดความชัดเจนว่าการจ้างงานในชุมชนนั้น แก้ไขปัญหาสังคมของชุมชนในด้านใดกันแน่ เพราะในความเป็นจริงทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีต่อสังคมก็ก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนที่เข้าไปอยู่ ทั้งนั้น

ดังนั้นหากจะบอกว่าปัญหาที่ต้องการแก้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจ้างงาน กิจการก็ควรอธิบายได้ว่าการจ้างงานที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาสังคมในลักษณะ ใด เช่น หากไม่มีธุรกิจนี้ ผู้พิการ อดีตนักโทษ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ HIV หรือคนที่มีอุปสรรคในการหางานทำอื่นๆ จะไม่สามารถ “หางาน” ได้ เพราะโอกาสที่องค์กรต่างๆ จะรับพวกเขาเข้าทำงานยากมาก เช่น การดำเนินการของ Rubicon Bakery ที่ เน้นการจ้างงานนักโทษที่พ้นโทษแล้ว แต่ถ้าหมายถึงการจ้างงานใครก็ได้ เช่น คนในท้องถิ่นที่สามารถหางานทำที่ไหนก็ได้ ก็คงไม่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาสังคม ดังนั้นลำพังแค่การอธิบายว่าธุรกิจที่ตั้งขึ้นทำให้เกิดการจ้างงานในท้อง ถิ่น คงไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่านี่คือกิจการเพื่อสังคม

Rubicon-Bakery

พนักงานของ Rubicon Bakery ที่เป็นอดีตนักโทษ ภาพจาก csmonitor

ประเด็นที่ 8 – กิจการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่

กระแสกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยตามที่ปรากฎในสื่อต่างๆ อาจทำให้คนเข้าใจว่ากิจการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ทั้งที่แนวคิดของการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้โมเดลทางธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องที่ มาจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่เท่านั้น  เพราะกิจการเพื่อสังคมหลายแห่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะมีนิยามของ “กิจการเพื่อสังคม” อย่างดอยตุง เลมอนฟาร์ม สหกรณ์กรีนเนท กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในชุมชนต่างๆ ก็ล้วนก่อตั้งมากว่าสิบหรือยี่สิบปี ส่วนกิจการเพื่อสังคมในต่างประเทศ ทั้งธนาคารกรามีนในบังคลาเทศและโรงพยาบาลตา Aravind ในอินเดียก็ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2519 International Development Enterprises: IDE ในแอฟริกาที่ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2525 ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่แต่อย่างใด

ถึงแม้ว่ากิจการเพื่อสังคมจะมีประเด็นที่มึนงงอยู่หลายข้อ และความหมายหรือลักษณะต่างๆ ของคำนี้อาจเปลี่ยนไปในประเทศไทย เมื่อ พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านและประกาศใช้งาน  แต่ประเด็นต่างๆ ที่ได้กล่าวมาก็ยังสะท้อนถึงแนวคิดกิจการเพื่อสังคมจากหลายๆ ประเทศที่เราควรจะเข้าใจก่อนจะเรียกตัวเองว่าเป็น “กิจการเพื่อสังคม” หรือใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อสินค้าหรือสนับสนุนการทำงานของกิจการเพื่อ สังคม และควรตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมที่กิจการเพื่อสังคมนั้นพยายาม จะทำ หรือผลลัพธ์ที่กิจการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่าจะดูแค่เรื่องโครงสร้างหรือการ จ่ายปันผล ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของกฎเกณฑ์เรื่องเงินปันผลในกิจการเพื่อ สังคมในตอนต่อไป

ที่มา http://www.salforest.com/blog/8-issues-se
by ภัทราพร แย้มละออ

——————————————————————————————————–

[i] จาก http://www.socialenterprise.org.uk/about/about-social-enterprise/FAQs

[ii] จาก https://socialenterprise.us/about/social-enterprise/

[iii] http://www.muhammadyunus.org/index.php/social-business/social-business

[iv] http://gsvc.org/compete/how-to-enter/resources/faqs/#define_sv

[v] https://en.wikipedia.org/wiki/Social_enterprise

[vi] http://www.tseo.or.th/news/228576

[vii] https://www.pioneerspost.com/news-views/20150302/bangladesh-exclusive-social-enterprises-call-support-amid-political-unrest

[viii] ราคาจาก toms