สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)
International Voluntrees for Social Development Association

พื้นที่ดำเนินงาน,รับผิดชอบ
1.บ้านโคกพะยอม ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
2.บ้านควนไม้บ้อง ต. วังอาน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
3. บ้านน้ำตกวิภาวดี ต.ตะกุดใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฏธานี

ประวัติองค์กร
ดาหลา.. ดอกไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ มีต้นกำเนิดในภาคใต้ของประเทศไทย แข็งแรง ทนต่อสภาพอากาศที่ปรวนแปร สามารถขยายพันธุ์ง่าย ทำให้เราสามารถพบเห็นดอกดาหลาได้ทั่วไป ทุกภาคของประเทศ เบ่งบาน มอบความสดชื่นแก่ผู้พบเห็น ทั้งยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาหาร กลายเป็นดอกไม้ที่มากด้วยประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมโลก ทั้งเหล่าแมลง และเพื่อนมนุษย์ เพราะคุณสมบัติพิเศษแต่เรียบง่ายเหล่านี้ ทำให้ชื่อดาหลา..ถูกเลือกให้เป็นชื่อกลุ่มอาสาสมัครนานาชาติ ที่พร้อมจะทำงานด้านอาสาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุกสถานการณ์ เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก
กลุ่มดาหลา ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 จากกลุ่มผู้ที่รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  โดยเริ่มกิจกรรมค่ายครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา) เมือวันที่ 16 มิถุนายน 2551 โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากวันนั้นถึงวันนี้ ดาหลา ก็มีอายุครบ 7 ขวบ กว่า ๆ เปรียบเสมือนเด็กน้อย ที่กำลังเรียนรู้ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่แข็งแรง และพร้อมที่สร้างสรรค์โลกใบนี้ ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยใจอาสาอย่างแท้จริง
นอกจากดาหลาจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในต่างประเทศดาหลาก็เป็นสมาชิกของ CCIVS (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีเครือข่ายงานด้านอาสาทั่วโลก และในเอเชียเอง ดาหลายังเป็นสมาชิกของ NVDA (เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอาสาสมัครในเอเชีย) ซึ่งทั้งสององค์กรนี้ ได้สนับสนุนทางดาหลา โดยการจัดส่งอาสาสมัครนานาชาติเพื่อเข้าร่วมโครงการที่ทางดาหลาจัดขึ้น

แรงบันดาลใจที่ทำให้มาเป็น ดาหลา
แรงบันดาลใจในการรวมกลุ่มของพวกเราเนื่องจากเราเห็นความแตกต่างของสังคมปัจจุบัน ระหว่างสังคมเมืองและชนบท เห็นความไม่เท่าเทียมกันของสังคมในด้านต่าง ๆ รวมถึงโลกปัจจุบันที่ปลูกฝังให้ทุกคนคิดถึงแต่เรื่องของตัวเองเป็นหลักทำเพื่อตัวเอง และครอบครัว
กลุ่มดาหลาจึงรวมตัวกันเพื่อทำงานด้านอาสาพัฒนา ดาหลาต้องการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับเด็ก และชุมชนในท้องถิ่นของประเทศไทย โดยการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีโอกาสทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อปลูกฝังให้ชุมชนมีความภูมิใจในภูมิปัญญาของตนเอง รวมถึงปลูกฝังจิตอาสาให้แก่เด็ก ๆ เยาวชน ชาวบ้าน
ด้วยการทำงานอาสาร่วมกัน ดาหลาหวังที่จะสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของทุกคน โดยการ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้แบ่งบัน รวมถึงการได้รับประสบการณ์ดี ๆ รวมถึงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากผู้เข้าร่วมที่แตกต่างที่มา แตกต่างภาษากัน ภายใต้ สโลแกนที่พวกเราชาวดาหลา ตระหนัก อยู่เสมอ คือ  ทำงานร่วมกัน อยู่รวมกัน และเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึง สนุก และหัวเราะร่วมกันด้วย
กว่าจะมาเป็นดาหลา
กว่าจะมาเป็นดาหลา พวกเราคือกลุ่มคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และทำงานด้านอาสาอย่างแท้จริง พวกเราทุกคนมีประสบการณ์ด้านงานอาสาสมัครตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปีก่อนที่จะเริ่มจัดตั้งดาหลา  บางคนเคยผ่านหน้าที่หัวหน้าค่ายระยะสั้นในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย บางคนเคยเป็นอาสาสมัครระยะยาวตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และบางคนเคยไปเข้าร่วมงานค่ายอาสาสมัครในต่างประเทศ พวกเราเหลายคนเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยในคณะสาขาที่แตกต่างกัน (สังคมศาสตร์ การตลาด ศิลปะ บัญชี ภาษาไทย การใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เทคโนโลยีและสาระสนเทศ) และนอกจากนี้ พวกเราบางคนยังมีความชำนาญ ในงานด้านการก่อสร้าง ดนตรี ศิลปะ พื้นเพของพวกเราส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด พื้นฐานของพวกเราคือเด็กบ้านนอก เราจึงรู้และตระหนักดีว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญและต้องการในท้องที่ชนบทด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของพวกเรา ซึ่งทำให้พวกเรานำสิ่งต่าง ๆ เหลานี้ มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของเรา

เป้าหมายขององค์กร
เป้าหมายหลักของเรา คือการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหลักนี้ เราจึงมีเป้าหมายย่อยอีก 3 เป้าหมาย คือ
1)  สนับสนุน การสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ เช่น
–  สร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชน และร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
–  สนับสนุนและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่า มิให้เลือนหาย
–  แผนการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนขยะเป็นรายได้
–  สนับสนุนโรงเรียนในชนบท โดยการจัดส่งอาสาสมัครต่างชาติไปร่วมกิจกรรมด้านการใช้ภาษาอังกฤษอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการปรับปรุงทัศนียภาพภายในโรงเรียน

2) สร้างมิตรภาพ
การทำงานในลักษณะค่ายอาสาสมัคร เป็นการนำอาสาสมัครจากทั่วโลก มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นในการอยู่ร่วมกันของอาสาสมัคร นอกจากจะได้ช่วยเหลือและทำงานเพื่อสังคมแล้ว อาสาสมัครยังได้เรียนรู้ในความแตกต่างของแต่ละคนที่เติบโตมาจากต่างสถานที่  การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้อาสาสมัครก่อเกิดมิตรภาพแก่กัน และเข้าใจความแตกต่างของผู้คนในแต่ละพื้นที่ของโลกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจในความแตกต่าง ความขัดแย้งย่อมลดน้อยลง ก่อเกิดเป็นมิตรภาพใหม่ ที่สร้างสรรค์โลกให้สวยงามและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

3) สงวน ดูแลและรักษา
สังคมเปลี่ยนแปลงตามการหมุนของโลก หลายสิ่งหลายอย่างควรคงคุณค่าไว้ไม่ให้สูญหาย หรือสูญเสียไปน้อยที่สุด เพราะสิ่งทรงคุณค่าเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจัดระเบียบ หรือเป็นเครื่องมือให้เราได้อาศัยอยู่ในโลกร่วมกันอย่างมีความสุข เราจึงมุ่งมั่นที่จะดูแลและรักษาสิ่งสำคัญเหล่านั้นไว้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี โดยสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ในการดูแลและรักษา ให้สิ่งทรงคุณค่ายังคงทรงคุณค่าตลอดไป
กิจกรรมในปี 2555
ทางดาหลาได้จัดส่งอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมด้านอาสากับชุมชนท้องถิ่นตามที่ต่างๆ แล้วแต่ช่วงเวลาและความเหมะสม ซึ่งกิจกรรมที่อาสาเข้าร่วมจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของดาหลา

กิจกรรรมค่ายอาสาระยะสั้น 2 อาทิตย์
–     มกราคม และ กุมภาพันสร้างห้องน้ำ ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม ละงู สตูล
–     มีนาคม สร้างกระท่อมที่พักของอาสาสมัครระยะยาว โรงเรียนทางเลือกร้อยหวันพันป่า  ชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช
–    เมษายน สร้างศาลา บ้านบางหยี บางกล่ำ จังหวัด สงขลา
–    พฤษภาคม ค่ายเปิดหมวก ศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ เพื่อระดมทุนช่วยกิจกรรมโรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม จังหวัด สตูล และกิจกรรม สร้างบ่อปลา บ่อกบร่วมกับโรงเรียนร้อยหวันพันป่า จังหวัด นครศรีธรรมราช
–    มิถุนายน สร้างห้องสมุด โรงเรียนร้อยหวันพันป่า จังหวัด นครศรีธรรมราช
–    กรกฎาคม สร้างที่พัก โรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม จังหวัด สตูล
–    สิงหาคมร่วมกิจกรรมเกษตรแบบพอเพียง กับโรงเรียนร้อยหวันพันป่า จังหวัด นครศรีธรรมราช

กิจกรรมค่ายอาสาระยะยาว 2 เดือนขึ้นไป
ค่ายระยะยาวตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยอาสาสมัครจะไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่ทางดาหลารู้จักและเคยทำงานร่วมกันมาก่อน มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับทางดาหลาโดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี
ปี 2555 ทางดาหลาได้จัดส่งอาสาระยะยาวเข้าร่วม 2 ชุมชน คือ บ้านโคกพะยอม จังหวัดสตูล และบ้านควนไม้บ้อง อำเภอชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช
1.  ค่ายระยะยาวบ้านโคกพยอม อำเภอละงู จังหวัดสตูล (ระยะเวลาที่อาสาเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2552- ปัจจุบัน)
บ้านโคกพยอมตั้งอยู่ที่ หมู่18 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ลักษณะทั่วไปของชุมชนเป็นชุมชนที่มีความผสมผสานในเรื่องของอาชีพเช่นประมง สวนยาง และทำนา ชาวบ้านผู้ชายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ด้านซ้ายของหมู่บ้านติดกับคลอง ด้านขวาเป็นทุ่งนา มีสวนยางเป็นย่อมๆ ที่ผสมผสานความหลากหลายได้อย่างลงตัว ส่วนผู้หญิงก็จะเป็นแม่บ้าน บางครอบครัวก็กรีดยาง ในทุกๆปีก็จะมีการทำนาปลูกข้าว ทำให้ชุมชนที่นี้ไม่ต้องซื้อข้าวสารจากข้างนอก นอกจากอาชีพหลักที่ชาวบ้านทำแล้วยังมีกลุ่มสตรีที่ทำขนมพื้นบ้าน กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า และกลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพของชุมชน ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่เข็มแข็งอีกหนึ่งชุมชนของจังหวัดสตูล ชุมชนโคกพยอมส่วนใหญ่ชาวบ้านนับถือศาสนาอิสลามแต่ก็มีไทยพุทธบ้างบางส่วนในหมู่บ้าน กิจกรรมที่ที่มาจากความพยายามเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับลูกหลานคอ การสร้างโรงเรียนทางเลือกโดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน เป็นโรงเรียนที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กๆได้อยู่กันด้วยความรัก เรียนด้วยความรัก กินด้วยความแบ่งปัน ทำงานด้วยความเสียสละ เล่นกันด้วยความสามัคคี สิ่งหนึ่งที่เด็กที่โรงเรียนไม่เคยลืม คือคำขวัญที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ขยะคือศัตรู คุณครูคือผืนป่า ลำน้ำคือชีวา ปูปลาคือเพื่อนเรา
ลักษณะกิจกรรมที่อาสานานาชาติเข้าร่วม
–    กิจกรรมสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนบ้านโคกพะยอม และโรงเรียนบ้านท่าชะมวง รวมถึงสอนภาษาอังกฤษแก่คนในชุมชน
–    ร่วมกิจกรรมกับโรงเรียงทางเลือกคลองโต๊ะเหล็ม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทางชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสอนเด็ก ให้รอบรู้เรื่องสิงแวดล้อม อนุรักษ์ป่าชายเลน รวมถึงภูมปัญหาท้องถิ่น
–    กิจกรรมชุมชน เช่น ทำนา ทำปุ๋ยหมัก ทำสวน สร้างศูนย์เรียนรู้ ธนาคารขยะ เลี้ยงเป็ดไก่ เป็นต้น
จำนวนอาสาสมัครนานาชาติที่ร่วมกิจกรรม    5- 6 คน

2. ค่ายระยะยาวโรงเรียนร้อยหวันพันป่า บ้านควนไม้บ้อง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช (อาสาเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปี 2554- ปัจจุบัน)
โรงเรียนร้อยหวันพันป่า ตั้งอยู่ที่ บ้านควนไม้บ้อง ต.วังอ่าง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้การดูแลและแนวความคิดของ นายสุรศักดิ์ เย็นทั่ว ซึ่งทางดาหลาได้ส่งอาสาเข้าร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ บริบทชุมชนโดยรวมมีภูเขาล้อมรอบ อากาศเย็นสบายตลอดปี มีฝนตกชุ่ม ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเกือบทั้งหมด โรงเรียนทางเลือกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของชุมชนและเด็ก ๆ เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจพอเพียงและ สิ่งแวดล้อม รวมถึงเปิดสอนภาษาอังกฤษและวิชาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงเรียนแก่เด็กๆ ในวันเสาร์ และอาทิตย์
กิจกรรมที่อาสาเข้าร่วม
–     กิจกรรมสร้างโรงเรียนร้อยหวันพันป่า สร้างที่พักของอาสาสมัคร ห้องสมุด โรงครัว
–    กิจกรรมด้านการเกษตรแบบพอเพียง เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ แพะ ปลูกผัก ผลไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร
–    กิจกรรมกับเด็ก ๆ เช่น สอนภาษาอังกฤษ ความรู้รอบตัว ศิลปะ และความสามารถพิเศษ
–    กิจกรรมชุมชน สร้างห้องน้ำศูนย์กีฬาชุมชน ฝายกั้นน้ำ ร่วมงานต่างๆ ของชุมชน เช่น ช่วยงานแต่ง งานศพ เก็บยาง ทำสวน พักบ้านครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นต้น
จำนวนอาสาสมัครนานาชาติที่ร่วมกิจกรรม    5- 6 คน

โครงการศูนย์ระยะยาวที่ใหม่ของดาหลา
ศูนย์บ้านน้ำตกวิภาวดี บ้านตะกุกใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี
ชื่อโครงการ  เศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำสวน เพาะพันธุ์กล้าไม้ ปลูกพัก และทำกิจกรรมกับเด็ก
โครงการระยะยาว 6 เดือน เริ่ม  15 พฤษภาคม เป็นต้นไป
ประวัติโครงการ
จอน ลุค ชายชาวฝรั่งเศส และภรรยา พี่จัน รวมถึง ลูก ๆ 3 คน ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างชุมชนแบบพอเพียงเล็ก ๆ ในพื้นที่ 30 ไร่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยตั้งใจที่จะให้ทุกคน อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ทำอาชีพเกษตรกร โดยเน้นไปที่การปลูกผลไม้ และสวนผัก เลี้ยงเป็ด ไก่ โดยมีความตั้งใจว่า ทุกคนทำงานด้วยกัน แบ่งบันกัน ไม่มีของใครของมัน ทุกอย่างแบ่งบันกัน ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงานนอกบ้านทุกวัน ซึ่งต้องใช้ยานพาหนะในการเดินทาง ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อม
โดย จอนลุค และ ครอบครัว ได้เริ่มต้นด้วยการสร้างบ้านเล็ก ๆ เริ่มปลูกต้นไม้ นานาชนิด ๆ โดยจะเน้นไปที่ผลไม้เพื่อที่จะนำมาเป็นอาหารได้ และได้ชวนเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ เข้าร่วมกิจกรรม แต่เนื่องจาก ปัญหาเรื่องวีซ่า และปัญหาส่วนตัว ทำให้คนที่เข้าร่วมไม่สามารถอยู่ระยะยาวได้ ทุกคนก็เลย แยกย้ายกันกลับบ้าน เหลื่อแต่ จอนลุค และครอบครัว
ดาหลา รู้จักจอนลุค เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยจอนลุค ได้ขอความร่วมมือให้ดาหลาประชาสัมพันธ์โครงการสู่นานาชาติ และดาหลาได้เริ่มจัดส่งอาสาระยะยาวเข้าร่วมโครงการเมื่อกลางปี 51 ถึงต้นปี 52 แต่ต้องหยุดโครงการไป เนื่องจาก อาสาซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความสุดโต่งทางด้านความคิดของจอนลุคได้ อาสาสมัครนานาชาติก็เลยออกจากโครงการไป ดาหลาก็เลยตัดสินใจหยุดประชาสัมพันธ์โครงการ

เมื่อประมาณปลายปี 2554 จอนลุคและครอบครัวได้เดินทางไปเกาะบอเนียว ประเทศอินโดนีเซียและได้ใช้ชีวิตกับชุมชนท้องถิ่นเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากกลับมาเมืองไทย จอนลุคและครอบครัวตัดสินใจที่จะไปอยู่เกาะบอเนียวอีกครั้งในช่วงเดือน มิถุนายน 2555
ดาหลาได้รับการติดต่อให้สานต่อโครงการที่วิภาวดี (โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่) โดยยังคงยึดหลักการสร้างชุมชนพอเพียงในพื้นที่ดังกล่าว โดย อเล็กซ์ แลพี่เอ๋ น้องอแมนด้าจะย้ายไปเป็นผู้ประสานงานโครงการในครั้งนี้ โดยเริ่มแรกจะเปิดรับอาสานานาชาติระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อเป็นการทดลองโครงการว่าจะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่
บริบทชุมชน
บ้านน้ำตกวิภาวดี ตั้งอยู่ที่ ต.ตะกุกใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพสวนยางพารา และสวนปาล์ม เป็นส่วนใหญ่
พื้นที่ของโครงการมีอาณาเขตติดกับอุทยานแห่งชาติเขาศก และอยู่ห่างจากน้ำตกวิภาวดี ประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะเนินเหมือนภูเขาเล็ก ๆ และมีคลองไหลผ่านกลางพื้นที่ ซึ่งสามารถอาบน้ำ หรือ ตกปลาได้ตรงบริเวณนี้ พื้นที่จะแบ่งเป็นสองฝั่งคลอง มีสวนผลไม้เช่น มะม่วง ลองกอง สัปปะรด อะโวคาโด้ มะพร้าว กล้วย (บางชนิดยังไม่มีผลผลิต) รวมถึงต้นไม้ยืนต้นเต็มบริเวณ  (มียางพารารวมอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าของเก่าปลูกไว้แต่เดิม)
กิจกรรมที่จะทำ
–    เริ่มต้นการทำเกษตรแบบพอเพียง และสร้างกระท่อมที่พักให้อาสานานาชาติ
–    ดูแลสวนผลไม้ ต้นไม้ ที่ยังเล็ก ๆ ต้องดูแล ตัดหญ้า ใส่ปุ๋ยหมัก
–    กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพาะพันธุ์ผลไม้ ต้นไม้ เพื่อปลูกเพิ่มเติม และแจกจ่ายให้คนที่สนใจ
–    ทำกิจกรรมส่วนรวม ร่วมกับชุมชนในพื้นที่
–    ทำกิจกรรมกับเด็ก  ๆ  ช่วงตอนเย็น และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์
–    เรียนรู้วิถีชุมชนและประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการให้ชุมชนเข้าใจในวัตถุประสงค์
–    สอนภาษาอังกฤษเด็กที่โรงเรียนในชุมชน (หากมีอาสาเพียงพอ)
–    กิจกรรมตามความถนัดของอาสาแต่ละคนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
อาหารในโครงการ
จะเน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ หรืออาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่ โดยจะ เน้นการกินอาหารในครัวเรือน ผักสด สลัด ผลไม้ หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารกระป๋อง หรือเนื้อสัตว์ หรือขนมขบเขี้ยว
คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม
–    รักธรรมชาติ และชีวิตแบบเรียบง่าย ห่างไกลเมือง
–    ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
–    มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
–    รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทย (กรณีอาสาต่างชาติ) และสามารถรับวัฒนธรรมต่างชาติได้ (กรณีอาสาไทย)
–    ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมือง
จำนวนอาสาสมัครระยะยาวที่คาดหวัง
–    อาสานานาชาติ 5 คน
–    อาสาไทย 1-2 คน (แบบอยู่ร่วมในโครงการตลอด)