ประวัติศาสตร์ทั่วโลกล้วนเต็มไปด้วยความการประหัตประหารทำลายล้างกัน แต่บ่อยครั้งความโหดเหี้ยมไม่ได้เกิดจากทหารที่จับอาวุธเข่นฆ่ากันในสงคราม หากเกิดจากประชาชนคนธรรมดาซึ่งในยามปกติมิได้มีความวิปริตผิดมนุษย์ ตรงข้ามกลับมีน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเจือจานผู้อื่นด้วยซ้ำ ในหลายกรณีแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ลงมือฆ่าด้วยตัวเอง แต่ก็สนับสนุนผลักดันให้มีการใช้กำลังสังหารเพื่อนมนุษย์อย่างไม่รู้สึกรู้ สา ซ้ำกลับยินดีเมื่อเห็นความตายของอีกฝ่าย
คนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้ฆ่าใคร ทำสิ่งนั้นได้อย่างไร อะไรทำให้เขาแปรเปลี่ยนจากคนที่มีน้ำใจ กลายเป็นฆาตกร หรือสมรู้ร่วมคิดกับการสังหารโหดได้ มีคำอธิบายในเรื่องนี้มากมาย แต่คำตอบส่วนหนึ่งอาจหาได้จากเรื่องราวของนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งในสหรัฐ อเมริกาที่เข้าร่วมขบวนการ “คลื่นลูกที่สาม” ซึ่งภายหลังได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครเวทีในหลายประเทศรวมทั้งละคร เพลงเมื่อต้นปีนี้ที่สหรัฐอเมริกา
“คลื่นลูกที่สาม” เป็นการทดลองที่ริเริ่มโดยรอน โจนส์ ซึ่งเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนคับเบอร์ลี่ เมืองพาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี ๒๕๑๐ วันหนึ่งขณะที่เขากำลังบรรยายเกี่ยวกับเยอรมันในยุคนาซี มีนักเรียนคนหนึ่งถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนเยอรมันทั้งประเทศบอกว่าพวก เขาไม่รู้เรื่องการสังหารหมู่ชาวยิว ซึ่งมีคนตายถึง ๖ ล้านคน เขาคาดไม่ถึงว่าจะเจอคำถามนี้จึงตอบไม่ได้ในตอนนั้น แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันเขาได้ตัดสินใจทำการทดลองอย่างหนึ่ง เพื่อให้นักเรียนพบคำตอบนั้นด้วยตนเอง
การทดลองเริ่มต้นในเช้าวันจันทร์ เขาพูดถึงลักษณะอย่างหนึ่งของชาวเยอรมันในยุคนาซี ได้แก่การมีระเบียบวินัย หลังจากที่พูดถึงข้อดีนานัปการของการมีวินัย เขาก็สั่งให้นักเรียนทั้งชั้นนั่งท่าใหม่ โดยวางเท้าชิดกัน มือไขว้และวางทาบหลัง เพื่อให้หลังตั้งตรง นักเรียนถูกสั่งให้นั่งท่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จากนั้นก็ถูกสั่งให้ออกจากห้องแล้วกลับมานั่งในท่าดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสามารถทำได้อย่างเงียบกริบภายในเวลา ๕ วินาทีเท่านั้น
เขาแปลกใจที่นักเรียนปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงในเวลาอันรวดเร็ว เขาจึงออกกฎใหม่เพิ่มเติม เช่น นักเรียนต้องนั่งหลังตรงก่อนตีระฆังเลิกเรียน เวลาถามหรือตอบคำถามนักเรียนต้องยืนอยู่ริมโต๊ะ เวลาตอบคำถามห้ามพูดเกิน ๓ คำ เขาพบว่านักเรียนตั้งใจฟังครูมากกว่าเดิม และมีการแสดงความเห็นกันมากขึ้น จากเดิมซึ่งมีไม่กี่คนเท่านั้นที่พูด เป็นครั้งแรกที่เขาพบว่าการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เน้นการใช้อำนาจนั้น ให้ผลดี
วันต่อมา เมื่อเขาเดินเข้าห้องเรียนก็พบว่านักเรียนทุกคนนั่งเงียบในท่าหลังตรง เขาสรุปบทเรียนของเมื่อวานด้วยการเขียนบนกระดานว่า “วินัยคือพลัง” ถัดลงมาอีกบรรทัดหนึ่งเขาเขียนว่า “ชุมชนคือพลัง” เขาพรรณนาถึงคุณค่าของชุมชนว่า ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองนั้นก่อให้เกิดพลังอย่างไร บ้าง แล้วเขาก็ให้นักเรียนทั้งชั้นร้องคำขวัญว่า “วินัยคือพลัง” “ชุมชนคือพลัง” ทั้งชั่วโมงนักเรียนร้องคำขวัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีทั้งผลัดกันประสานเสียง และร้องเสียงดังต่างระดับกัน
ก่อนจะจบชั่วโมง เขามีความคิดขึ้นมาว่าน่าจะมีการแสดงความเคารพที่เป็นเอกลักษณ์ของชั้น ท่าที่เขาคิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้นคือ ยกมือขวาขึ้นและงอมาทางไหล่ขวาให้เป็นรูปโค้ง เขาเรียกว่าท่าเคารพแบบคลื่นลูกที่สาม เพราะมีความเชื่อกันว่าคลื่นลูกที่สามเป็นคลื่นลูกสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่ สุด เขาตั้งกฎว่าทุกคนในชั้นจะต้องแสดงความเคารพด้วยท่านี้เมื่ออยู่นอกห้อง เรียน เขาไม่ผิดหวังเลยเพราะนักเรียนทำตามที่เขาสั่งอย่างเต็มใจ
พอถึงวันพุธ เขาได้ทำบัตรสมาชิกคลื่นลูกที่สามแก่นักเรียนทุกคนในชั้น ซึ่งบัดนี้ได้เพิ่มจาก ๓๐ คนมาเป็น ๔๓ คน มี ๓ คนได้บัตรที่มีเครื่องหมายกากบาทสีแดง เพื่อแสดงว่าเจ้าของบัตรมีหน้าที่พิเศษคือ รายงานให้ครูทราบหากพบนักเรียนไม่ปฏิบัติตามกฎของชั้นเรียน เขายังได้ย้ำว่านักเรียนทุกคนมีหน้าที่ปกป้องชุมชนหรือหมู่คณะ
อีกครั้งหนึ่งที่เขาแปลกใจเมื่อพบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นในการ เรียน ยิ่งกว่าเดิม การบ้านที่เขาให้แม้จะยากและใช้เวลามาก แต่นักเรียนกลับทำได้ครบถ้วน เขาจึงมอบหมายงานให้นักเรียนแต่ละคนทำเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น “คุณมีหน้าที่ออกแบบป้ายคลื่นลูกที่สาม คุณมีหน้าที่ห้ามนักเรียนที่มิใช่สมาชิกคลื่นลูกที่สามเข้ามาในห้องนี้ ฯลฯ”
ก่อนเลิกเรียนเขาออกกฎเพิ่มเติม เช่น สมาชิกใหม่ต้องได้รับการแนะนำจากสมาชิกเดิม คนที่จะเป็นสมาชิก ต้องได้รับบัตรสมาชิกจากเขา และต้องท่องกฎของหมู่คณะให้ได้ เย็นวันนั้นมีนักเรียนกว่า ๒๐๐ คนมาเข้าร่วมขบวนการคลื่นลูกที่สาม
การตอบสนองอย่างกระตือรือร้นของนักเรียนทำให้เขาเริ่มรู้สึกหวั่นวิตก โดยเฉพาะเมื่อพบว่านักเรียนที่จ้องจับผิดคนที่ประพฤตินอกกฎ ไม่ได้มีแค่ ๓ คนตามที่เขามอบหมายเท่านั้น แต่มีถึง ๒๐ คนที่มารายงานพฤติกรรมของเพื่อน ๆ ให้เขารู้ นั่นหมายความว่ามีนักเรียนถึงครึ่งชั้นที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้อง สอดส่องพฤติกรรมของคนในชั้น
ถึงตอนนี้เขามั่นใจว่านักเรียนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่ากำลัง “เล่น” หรือ สวมบทบาทสมมุติ แต่กำลังเอาจริงเอาจังกับการเป็นสมาชิกคลื่นลูกที่สาม พวกเขาต้องการให้นักเรียนคนอื่น ๆ ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ใช่แต่เท่านั้นยังคุกคามข่มขู่คนที่ไม่เอาเอาจังกับกิจกรรมดังกล่าวด้วย
พอถึงวันพฤหัส ซึ่งเป็นวันที่ ๔ ของการทดลอง เขาพบว่าสถานการณ์เริ่มอยู่นอกเหนือการควบคุม นักเรียนหลายคนล้ำเส้นไปแล้ว คนที่ดูแลกฎเริ่มสงสัยนักเรียนทุกคนในชั้น ส่วนเขาเองก็รู้สึกแย่ที่ทำตัวเป็นเผด็จการอย่างไม่รู้ตัว เขาจึงตัดสินใจที่จะยุติการทดลองในวันรุ่งขึ้น แผนการของเขาคือประกาศว่า คลื่นลูกที่สามไม่ใช่แค่การทดลอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับชาติเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการ เมืองในสหรัฐอเมริกา เขายังกล่าวอีกว่า เที่ยงวันศุกร์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งจะประกาศก่อตั้งขบวน การเยาวชนคลื่นลูกที่สามอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเยาวชนกว่าหนึ่งพันกลุ่มจากทุกส่วนของประเทศเข้าร่วมด้วย พอประกาศจบ ความตื่นเต้นก็แผ่กระจายไปทั่วห้อง ทุกคนรู้สึกดีใจที่จะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หลายคนดื่มด่ำซาบซึ้งเมื่อเขาพูดถึงความภาคภูมิใจและความหยิ่งในศักดิ์ศรี
เที่ยงวันศุกร์คือเวลาที่นักเรียนทั้งชั้นรอคอย ทั้ง ๒๐๐ คนเดินเป็นแถวเข้ามาในห้องประชุมตั้งแต่ ๑๑.๓๐ น. ทุกคนนั่งในท่าหลังตรง จดจ้องจอโทรทัศน์ซึ่งตั้งที่หน้าห้อง ก่อนเปิดโทรทัศน์เขาขอให้ทั้งห้องตะโกนคำขวัญ “วินัยคือพลัง”ครั้งแล้วครั้งเล่า และเมื่อถึงเวลาเขาก็เปิดโทรทัศน์ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จอว่างเปล่า นักเรียนทั้งชั้นรู้สึกผิดหวัง ในที่สุดเขาก็ขึ้นไปเปิดเผยความจริงว่า ไม่มีขบวนการคลื่นลูกที่สาม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการทดลองเพื่อชี้ให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัย มีการปลูกฝังให้ผู้คนจงรักภักดีต่อสังคมนั้น โดยถือว่ากฎระเบียบอยู่เหนือเหตุผล
เขาได้นำเอาภาพยนตร์เกี่ยวกับการชุมนุมของชาวเยอรมันที่เมืองนูเรมเบิร์ กภาย ใต้การนำของฮิตเลอร์(ซึ่งเป็นการแสดงพลังของพรรคนาซี)มาให้นักเรียนชม แล้วโยงไปสู่คำถามที่นักเรียนคนหนึ่งเคยถามในชั้นว่า เหตุใดคนเยอรมันจึงกล่าวอ้างว่าตนไม่รู้เรื่องการสังหารหมู่ชาวยิว
“อะไรทำให้เขาลบเลือนประวัติศาสตร์ของตนออกไป” รอน โจนส์ตั้งคำถามก่อนที่จะพูดจี้กลางใจของนักเรียนว่า หลังจากเหตุการณ์วันนี้ จะไม่มีใครยอมรับว่าตนเคยมาร่วมชุมนุมคลื่นลูกที่สามครั้งนี้ “คุณจะไม่ยอมให้เพื่อนและพ่อแม่ล่วงรู้ว่าคุณยอมสูญเสียอิสรภาพและอำนาจส่วน บุคคล โดยสยบยอมต่อระเบียบและผู้นำที่มองไม่เห็นตัว คุณยอมรับไม่ได้ว่าคุณเองถูกใช้ เป็นผู้ตาม อีกทั้งยอมรับคลื่นลูกที่สามเป็นวิถีชีวิต คุณจะไม่ยอมรับว่าเคยร่วมในความบ้าคลั่งแบบนี้ คุณจะเก็บเหตุการณ์วันนี้และการชุมนุมครั้งนี้ไว้เป็นความลับ”
แม้ว่าการทดลองดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับชาว เยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการทดลองนั้นก็สามารถให้ความ กระจ่างได้ไม่น้อยว่าคนธรรมดาสามัญกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนที่คลั่งไคล้ ไร้สติจนสามารถก่อความรุนแรงแก่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร
การกำหนดให้ผู้คนทำอะไรคล้าย ๆกัน มีพฤติกรรมเหมือนกันนั้น ในด้านหนึ่งได้ทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน ก่อรูปเป็นชุมชนขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกันมันได้ลดปัจเจกภาพของผู้คนลงไป จนกลายเป็นความสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ น่าแปลกตรงที่นักเรียนมัธยมเหล่านี้พร้อมใจที่จะทำตามคำสั่ง อาจเป็นเพราะลึก ๆ คนเราต้องการที่จะมีกลุ่มมีพวกอันมีพื้นฐานมาจากสัญชาตญาณรวมฝูง (herd instinct) การเป็นเสรีชนบางครั้งก็ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ดังนั้นเมื่อมีการสร้างวินัยรวมหมู่ในวันแรก และตอกย้ำความเป็นชุมชนในวันที่สอง นักเรียนจำนวนมากจึงรู้สึกพึงพอใจและเข้าร่วมอย่างเต็มที่
ความเป็นกลุ่มหรือความเป็นชุมชนนั้นทำให้ผู้คนรู้สึกอบอุ่นใจ และจะรู้สึกมีคุณค่าเมื่อได้มีบทบาทหน้าที่ในกลุ่มนั้น ยิ่งกลุ่มนั้นมีภารกิจบางอย่างที่สูงส่ง คนในกลุ่มนั้นก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น เกิดความกระตือรือร้นและมี “ไฟ”ขึ้นมาทันที ความรู้สึกแบบนี้หาไม่ได้จากสังคมที่ผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน และคนที่โหยหาความรู้สึกแบบนี้เป็นพิเศษคือคนที่อยู่ในระดับล่างของสังคม หรือถูกตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้ (รอน โจนส์ พูดถึงนักเรียนชื่อโรเบิร์ตที่ไม่มีใครสนใจเพราะเรียนไม่เก่ง กีฬาก็ไม่เด่น แต่กลับมีชีวิตชีวาทันทีที่ได้เป็นองครักษ์ของเขา)
ความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าหรือเป็น somebody ในกลุ่ม ทำให้ผู้คนเกิดความภักดีอย่างมากต่อกลุ่ม เพราะความมีอยู่ของกลุ่มทำให้ตัวเองรู้สึกมีความหมายขึ้นมา ความภักดีดังกล่าวทำให้พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องกลุ่ม และพร้อมจะเป็นปฏิปักษ์กับคนที่ไม่ภักดีต่อกลุ่ม ความรู้สึกแบบนี้ทำให้หวาดระแวงคนอื่นที่ไม่อุทิศตนเต็มที่ให้กับกลุ่ม (เพียงแค่วันที่ ๒ รอน โจนส์ก็พบว่ามีนักเรียนครึ่งชั้นที่รายงานให้เขารู้ถึงพฤติกรรมของนักเรียน คนอื่นไม่ปฏิบัติตามกฎของกลุ่ม ทั้ง ๆ ที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้มีเพียง ๓ คนเท่านั้น)
นอกจากพฤติกรรมข่มขู่ก้าวร้าวจะเพิ่มขึ้นแล้ว การหลงเชื่อข่าวลือก็เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อออกมาจากปากของผู้นำ ทั้งนี้เพราะเมื่อปัจเจกภาพถูกลดทอนลง สยบยอมต่อกลุ่มและผู้นำแล้ว ผู้คนก็ไม่ใช้เหตุผลและวิจารณญาณอีกต่อไป ดังนั้นจึงพร้อมจะทำอะไรตาม ๆ กัน หรือทำตามคำสั่งของผู้นำได้ แม้ในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลยก็ตาม
การทดลองของรอน โจนส์ยุติลงโดยไม่เหตุร้ายแรงเกิดขึ้น แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าความคลั่งไคล้ไร้สติที่ก่อตัวขึ้นสามารถเป็นเชื้ออย่างดี ให้กับความรุนแรง สิ่งหนึ่งที่รอน โจนส์ไม่ได้ทำคือการปลุกปั่นให้เกิดความกลัว-โกรธ-เกลียดขึ้น แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับฝูงชนที่บ้าคลั่งจนก่อความรุนแรงถึงขั้นลง มือ(หรือสนับสนุนให้)เข่นฆ่าสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในทุกหนแห่ง จริงอยู่ในหลายที่อาจไม่มีการบ่มเพาะวินัยอย่างทหารเหมือนในเรื่องนี้ แต่ก็มีการปลูกฝังให้ผู้คนทำอะไรคล้าย ๆ กัน เช่น ร้องเพลงเดียวกัน ใส่เสื้อสีเดียวกัน มีสัญลักษณ์เดียวกัน จนเกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ที่สำคัญคือการปลูกฝังอุดมการณ์จนเชื่อว่าตนกำลังทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่ง (เช่น เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือเพื่อประชาธิปไตยและสังคมเสมอภาค) และดังนั้นจึงพร้อมที่จะตายเพื่อกลุ่มได้ ยิ่งมีการสร้างภาพว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่มุ่งหมายทำลายล้างกลุ่มตน หรือเป็นปฏิปักษ์กับอุดมการณ์อันสูงส่งของตน ก็ง่ายที่จะเกิดความกลัว-โกรธ-เกลียดฝ่ายนั้น จนพร้อมที่จะลงมือหรือเรียกร้องให้มีการทำลายล้างฝ่ายนั้น ถึงตอนนั้นเหตุผล วิจารณญาณ ก็ไม่ทำงานแล้วเพราะถูกความกลัว-โกรธ-เกลียดครอบงำ แม้จะมีใครสงสัย ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่กล้าทัดทาน เพราะกลัวเป็นแกะดำในกลุ่ม หรือกลัวถูกข่มขู่คุกคามจากผู้ภักดีต่อกลุ่ม
ในยุคโลกาภิวัตน์ ความเป็นกลุ่มนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดกับคนที่มาชุมนุมอยู่ในสถานที่เดียวกัน แม้อยู่คนละที่ แต่ดูการชุมนุมผ่านโทรทัศน์(หรือเคเบิลทีวี)ที่ถ่ายทอดทั้งวัน ก็ให้ความรู้สึกอย่างเดียวกันจนยากจะละสายตาจากจอโทรทัศน์ได้ ใช่แต่เท่านั้นการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ก็ยังสามารถสร้างชุมชนที่เรียกว่า “เครือข่ายสังคม”ได้ เหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าชุมชนเสมือนอย่างนี้ก็ สามารถทำให้ผู้คนเกิดความคลั่งไคล้ไร้สติจนส่งเสริมให้เกิดการเข่นฆ่าและ ยินดีในความตายของผู้อื่นได้เช่นกัน
พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าความเป็นกลุ่มหรือความเป็นชุมชนนั้นจะมีผล เสียสถานเดียว ความเป็นกลุ่มนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการสูญเสียปัจเจกภาพหรือความเป็นตัว ของตัวเอง มันขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะสูญเสียปัจเจกภาพเพื่อแลกกับความสบายใจที่ไหลไป ตามกระแส
หรือพอใจที่จะให้มีคนคิดแทนเราหรือไม่ หากเราตอบว่าไม่ ก็ไม่มีใครที่จะแย่งชิงปัจเจกภาพนั้นไปจากเราได้ กลุ่มหรือชุมชนที่ผู้คนสามารถเป็นตัวของตัวเองนั้นใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ในทำนองเดียวกันความเป็นกลุ่มหรือชุมชนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงเสมอไป ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะปลูกฝังความกลัว-โกรธ-เกลียด หรือปลูกฝังปัญญา กรุณา และขันติธรรมให้แก่กลุ่ม ชาวปาทานซึ่งอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่รักพวกพ้อง มีวินัยสูงและเป็นชนชาตินักรบ จนเป็นที่เกรงขามของศัตรู แต่ในช่วงที่อินเดียต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษนั้น ชาวปาทานได้กลายเป็นนักรบสันติวิธีที่เข้มแข็งและทรหด จนผู้นำของเขาคืออับดุล กัฟฟาร์ ข่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็น “คานธีชายแดน”
การทดลองคลื่นลูกที่สาม ได้เปิดเผยให้เห็นธรรมชาติอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ แม้ผลของมันจะดูน่ากลัว แต่มองในอีกแง่หนึ่งมันเตือนให้เราระมัดระวังบางสิ่งบางอย่างในใจเรา ดังที่ รอน โจนส์ได้กล่าวกับนักเรียนของเขาว่า “เราได้เห็นแล้วว่า ฟาสซิสต์มิใช่เรื่องของคนอื่น เปล่าเลย มันเกิดขึ้นที่นี่ ในห้องนี้ ในนิสัยส่วนตัวและวิถีชีวิตของเรา เพียงขูดผิวออกไป มันก็โผล่ขึ้นมา มันเป็นบางสิ่งบางอย่างในตัวเราทุกคน มันอยู่ติดตัวเราเหมือนเชื้อโรค”
การเข่นฆ่ากันนั้นบ่อยครั้งมักทำในนามของความดี เป็นเพราะอีกฝ่ายนั้นเป็นคนชั่วคนเลวจึงสมควรตาย แต่น้อยคนจะตระหนักว่าความชั่วร้ายนั้นไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเท่านั้น หากยังอยู่ในใจตนด้วย เป็นเพราะผู้คนไม่รู้เท่าทัน “เชื้อโรค”ที่กัดกินใจ จึงลงมือหรือสนับสนุนให้ทำร้ายผู้อื่นด้วยความโกรธเกลียด โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นกลับทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดมากขึ้น คนเลวกลุ่มเดิมอาจถูกกำจัดไป แต่ความเลวหาได้ลดลงไม่ ยิ่งไปกว่านั้นกลับมีคนเลวกลุ่มใหม่บังเกิดขึ้นมา ได้แก่คนที่ทำสิ่งชั่วร้ายในนามของความดีนั่นเอง
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๐๕ :: กรกฎาคม ๕๓ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์รับอรุณ : บทเรียนจาก “คลื่นลูกที่สาม”
พระไพศาล วิสาโล