ได้ กล่าวในบทที่แล้วว่า องค์กรที่ดีนอกจากเป็นองค์กรที่ฉลาดในบริหารบุคคลและจัดการความรู้แล้ว ยังต้องฉลาดในบริหารจัดการความดี มิใช่เพื่อเป็นพลังในการสร้างประโยชน์แก่องค์กรและส่วนรวมเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความสุขและพัฒนาจิตของคนในหน่วยงานด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดย่อมกลับมาเป็นประโยชน์แก่องค์กรนั้นเอง

องค์กรสามารถเสริมสร้างพลังแห่งความดีในหมู่ผู้ทำงานด้วยกิจกรรมต่อไปนี้

๑.ชักชวนผู้คนแบ่งปันความดีที่เคยทำหรือประสบมา รวมทั้งการเอาชนะใจตนเอง
คนเราเมื่อได้ฟังเรื่องราวการทำความดีของใครก็ตามย่อมเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ ความดีด้วย ราวกับว่าเรื่องราวของเขาได้เสริมสร้างความใฝ่ดีในใจเราให้เบ่งบาน ใช่แต่เท่านั้น การได้ฟังความดีของเพื่อนร่วมงาน หรือสิ่งดี ๆ ที่เขาภาคภูมิใจที่ได้ทำ ยังช่วยให้เรารู้จักเขาดีขึ้นหลายคนยอมรับว่าไม่เคยคิดเลยว่าเพื่อนของตนจะ มีน้ำใจดีเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกันก็เฉพาะการทำงาน จึงเห็นแต่ด้านเดียวของเขาเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นด้านที่เราไม่สู้พอใจด้วยซ้ำ

๒.เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความทุกข์ในชีวิต
เรามักรู้จักเพื่อนร่วมงานแต่เฉพาะเรื่องงานการเท่านั้น แต่แทบไม่รู้จักชีวิตส่วนตัวของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องส่วนตัวของเขานั้นส่งผลต่องานด้วย บางคนมาสายเป็นประจำโดยหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานไม่รู้เลยว่าเป็นเพราะอะไร จึงเอาแต่ตำหนิเขา แต่หากมีโอกาสแลกเปลี่ยนความทุกข์กันก็จะรู้ว่าที่เขามาสายเพราะต้องดูแลแม่ ที่พิการหรือพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจกันและเห็นใจกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น และส่งเสริมให้ผู้คนทำความดีต่อกันมากขึ้น

๓.ชื่นชมซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจกัน
ความใฝ่ดีในใจเราจะมีพลังขึ้นมาเมื่อได้รับกำลังใจหรือการชื่นชมจากผู้อื่น แต่ในหน่วยงานส่วนใหญ่การชื่นชมกันมักจะเกิดขึ้นน้อย มีแต่การตำหนิกัน จนผู้คนมองเห็นกันแต่ในแง่ลบ การมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้คนชื่นชมกัน นอกจากจะเป็นกำลังใจให้ผู้คนอยากทำความดี และช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพในองค์กรแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนให้ผู้คนรู้จักมองในแง่บวก ซึ่งทำให้เห็นผู้อื่น(รวมทั้งตัวเอง)อย่างรอบด้านมากขึ้น

๔.ทำงานร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน
ระยะห่างมักเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจกัน และเมื่อไม่เข้าใจกัน ก็มักมองเห็นแต่ด้านลบยิ่งเห็นแต่ด้านลบ ก็ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ในทางลบต่อกันมากขึ้น ทำให้เกิดแรงผลักซึ่งและกัน ทำให้เกิดระยะห่างทางความรู้สึกยิ่งกว่าเดิม ในทางตรงข้ามการมีโอกาสมาทำงานใกล้ชิดกัน วางแผนร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน ทำให้มีความใกล้ชิดกันและเข้าใจกันมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสรับรู้สุขทุกข์ของกันและกัน ก็จะยิ่งเป็นกำลังใจให้กัน

๕.ร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ เกื้อกูลผู้อื่น
นอกจากการทำงานประจำแล้ว องค์กรควรส่งเสริมให้ผู้คนทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การช่วยเหลือผู้ที่ลำบากยากแค้น กิจกรรมดังกล่าว นอกจากเป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพภายในองค์กรแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างพลังแห่งความดีในใจของผู้คนด้วย เพราะการช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขย่อมทำให้เกิดความสุขแก่ผู้กระทำด้วย ยิ่งได้สัมผัสผู้ที่ทุกข์ลำเค็ญ ก็ยิ่งเห็นว่าความทุกข์ของตนนั้นเล็กน้อยมาก กิจกรรมเหล่านี้เมื่อทำเสร็จแล้วควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จะช่วยให้เกิดแง่คิดดี ๆ แก่ผู้ร่วมกิจกรรมด้วย

๖.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาชีวิตด้านใน
การพัฒนาชีวิตด้านใน หมายถึง การส่งเสริมให้เกิดการรู้เท่าทันตนเอง รู้จักปล่อยวาง สามารถเข้าถึงความสงบเย็นหรือความสุขประณีตภายใน นอกจากจะอาศัยสมาธิภาวนาแล้ว ยังสามารถทำได้ในอีกหลายรูปแบบ กิจกรรมดังกล่าวช่วยให้ผู้คนมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาและนำพลังฝ่ายบวกออกมาเพื่อการสร้างสรรค์องค์กรและส่วนรวมได้ดี ขึ้น

๗.สร้างบรรยากาศให้งานเป็นเรื่องสนุกและเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้
งานสามารถทำให้เป็นเรื่องสนุก สร้างสรรค์ และส่งเสริมการเรียนรู้ได้ หากมีทัศนคติที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวย เช่น บรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกัน มากกว่าที่จะแข่งขันกัน ส่งเสริมให้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งคำชื่นชมและคำแนะนำ เป็นต้น บรรยากาศเช่นนี้จะทำให้งานมีส่วนช่วยฝึกฝนพัฒนาตนไปด้วย มิใช่เป็นแค่อาชีพอย่างหนึ่งเท่านั้น

กิจกรรมทั้ง ๗ ประการสัมพันธ์กับลักษณะขององค์กร กล่าวคือจะเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นไปด้วยดีภายใต้องค์กรที่เน้นความสัมพันธ์ แนวนอนมากกว่าแนวตั้ง เป็นองค์กรที่มีการจัดลำดับชั้นทางอำนาจไม่ซับซ้อน ผู้คนมีสถานภาพไม่ต่างกันมากนัก พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นลักษณะเครือข่ายมากกว่าปิรามิด เน้นความร่วมมือ ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน และที่สำคัญคือไม่ตั้งอยู่บนความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงการใช้วิธีสั่งการจากบนลงล่าง แทนที่จะเป็นการปรึกษาหารือร่วมกัน หรือใช้เหตุผลเป็นหลัก นอกจากนั้นยังควรเป็นองค์กรที่ไม่เอาผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือผลงานสำเร็จรูปเป็นตัวตั้ง หรือเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงความสุขของคนทำงานด้วยและผลทางนามธรรมที่เกิดแก่ส่วนรวมด้วย ประการสุดท้ายคือควรเป็นแบบอย่างของการร่วมงานกับองค์กรอื่น ไม่มุ่งประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง จนลืมประโยชน์ของส่วนรวม

สรุป
“ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์” ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนที่ ๘ นี้ หากสรุปอย่างสั้น ๆ ก็คือ ชีวิตนั้นขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุขก็เพราะ “จิตวิวัฒน์” คือการพัฒนาจิตอันได้แก่มโนธรรมและโพธิจิต (หรือความใฝ่ดีและจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดถืออัตตา)ให้เจริญงอกงาม ชีวิตที่พัฒนาเพราะจิตวิวัฒน์ย่อมเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรให้รุดหน้าไปได้ ขณะเดียวกันองค์กรที่พัฒนาแล้วย่อมส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างจิตวิวัฒน์และ พัฒนาชีวิต กลายเป็นวัฏจักรแห่งความดีงาม (ดังภาพข้างล่าง)

ชีวิตเป็นเสมือนยานหรือพาหนะ จะขับเคลื่อนได้ต้องมีจุดหมาย เส้นทาง และพลังขับเคลื่อน สำหรับชีวิตที่ดีงามนั้น จุดหมายก็คือ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ หรือได้รับประโยชน์สูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ส่วนเส้นทาง คือ วิถีชีวิตและการทำงาน เราควรใช้วิถีชีวิตและการงานเป็นหนทางแห่งการพัฒนาตนและช่วยเหลือส่วนรวม ทั้งนี้โดยมีพลังขับเคลื่อน คือความดีและความเข้าใจ หรือกรุณาและปัญญา หากองค์กรสามารถเอื้ออำนวยให้เหตุปัจจัย ๓ ประการเกิดขึ้นได้ จะเป็นองค์กรที่สำเร็จและสร้างสุขแก่ผู้คนได้เป็นอย่างดี

ที่มา http://www.visalo.org/article/KKjitvivat8.htm

วารสารสุขศาลา ฉบับที่ ๑๐
www.suksala.org
ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์ (๘)
สู่องค์กรจัดการความดี
พระไพศาล วิสาโล