วัดป่ามหาวันก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๔ ในช่วง ๑๔ ปีแรกไม่สู้มีพระมาพำนัก แต่หลังจากปี ๒๕๒๘ ก็มีพระสงฆ์มาอยู่ประจำ นอกจากการส่งเสริมปฏิบัติธรรมแล้ว งานหลักอีกงานหนึ่งของวัดป่ามหาวันคือการอนุรักษ์ป่าภูหลง ซึ่งเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดบนเทือกเขาภูแลนคา (หากไม่นับอุทยานตาดโตน) เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสาย ซึ่งไหลรวมกันเป็นสายน้ำลำปะทาวและลงสู่แม่น้ำชี อันเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนอีสานตอนบน

ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาภูหลงประสบภัยคุกคามทั้งจากผู้ลักลอบตัดไม้ พรานล่าสัตว์ และไฟป่า(ที่มาจากไร่ข้างเคียง) จนปัจจุบันยังคงสภาพป่าสมบูรณ์เพียง ๒,๐๐๐ ไร่ ส่วนพื้นที่อีก ๑,๕๐๐ ไร่กลายเป็นทุ่งหญ้าโล่งเตียน ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ทำกินของชาวบ้านครอบคลุม ๓ อำเภอ ปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากบริเวณโดยรอบนั้นถูกแผ้วถางจนไม่เหลือ สภาพป่า ทำให้ผู้คนหันมาหาประโยชน์จากป่าภูหลงแทน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ชาวบ้านตาดรินทอง ได้จัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าขึ้น โดยร่วมมือกับคณะสงฆ์วัดป่ามหาวัน หน้าที่หลักคือปกป้องและฟื้นฟูป่าภูหลง นอกจากการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักตัดไม้และล่าสัตว์แล้ว ในช่วงหน้าร้อนงานที่ต้องระดมคนเป็นพิเศษคือการป้องกันไฟป่า มีการทำแนวกันไฟรอบป่า และร่วมกันดับไฟป่าซึ่งเกิดจากพรานล่าสัตว์และจากไร่ข้างเคียง ในช่วงหน้าฝน กิจกรรมหลักคือการปลูกป่า

นอกจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าโดยตรงแล้ว ทางวัดยังร่วมกับชาวบ้านจัดทำโครงการพัฒนาชุมชน เช่น ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มเยาวชนเพื่อร่วมฟื้นฟูชุมชน

ทุกปีจะมีการจัด “ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและลุ่มน้ำลำปะทาว” ระหว่างวันที่ ๑-๘ ธันวาคมโดยเดินไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ บนเทือกเขาภูแลนคา เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ ผู้สนใจติดตามรายละเอียดที่ www.visalo.org หรือ www.lampatao.org

การอนุรักษ์ป่าถือว่าเป็นงานสำคัญของวัด มิใช่เพียงเพราะป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น หากป่ายังเป็นสถานที่ที่เอื้อเฟื้อต่อการบำเพ็ญกรรมฐานเพื่อเจริญสมาธิและ ปัญญา ป่าที่สงบสงัดนอกจากช่วยให้จิตสงบได้ง่ายแล้ว ยังเอื้อต่อการมองตนเพื่อเห็นธรรมชาติของจิตใจด้วย ในเมื่อป่ามีคุณค่าเช่นนี้ เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ป่า มิใช่เพื่อประโยชน์ของเราและอนุชนรุ่นหลังเท่านั้น หากยังเพื่อรักษาธรรม และเป็นการตอบแทนคุณของธรรมชาติด้วย

ปลูกต้นไม้ในป่า ปลูกธรรมในใจ

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วธรรมชาติแวดล้อมวิกฤตก็เพราะธรรมชาติภายในของผู้ คนเสียสมดุล พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติแวดล้อมทุกวันนี้เป็นผลมาจากความผันผวนปรวนแปร ของธรรมชาติภายในผู้คน เป็นเพราะผู้คนมีความทุกข์ อ้างว้าง และว่างเปล่าในส่วนลึกของจิตวิญญาณ จึงพยายามหาวัตถุมาเติมเต็ม แต่ไม่ว่าจะแปรธรรมชาติเป็นสิ่งเสพและทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใด จิตวิญญาณก็ไม่เคยเติมเต็มเสียที

ธรรมชาติแวดล้อมจะไม่มีวันฟื้นฟูได้เลยหากธรรมชาติภายในของผู้คนไม่คืน สู่สมดุลหรือความปกติ ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ธรรมชาติกับธรรมะแยกจากกันไม่ออก หากจะฟื้นฟูธรรมชาติได้ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมในใจของผู้คน นั่นคือทำให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของ ธรรมชาติ อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงควรสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ขณะเดียวกันธรรมยังช่วยให้เรารู้จักพอ มีชีวิตที่เรียบง่ายได้โดยไม่ต้องฝืนใจ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต

ความสุขอันประณีตนั้นไม่ต้องอาศัยการเสพหรือมีวัตถุ แต่เกิดจากการมีจิตใจที่สงบเย็น จากการทำความดี จากการเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้คนอันเป็นผลจากความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ของเรา รวมทั้งจากความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราทุกคนย่อมโหยหาความสุข และการที่เราพากันไปแสวงหาความสุขจากวัตถุ ก็เพราะเราไม่รู้จักหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขอันประณีต แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงความสุขอันประณีตได้ ความสุขจากวัตถุจะมีเสน่ห์น้อยลง

ความสุขอันประณีตเกิดจากเข้าถึงธรรม เมื่อเรารู้จักพอ ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อจิตใจมีความสุข ความพอก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ไม่มีความจำเป็นต้องเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อปรนเปรอกิเลสหรือสนองความ สุขอย่างหยาบ ๆ อีกต่อไป ทำให้มีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ใจที่มีธรรมจึงเป็นหลักประกันแห่งการรักษาคุ้มครองธรรมชาติที่ดีที่สุด

รักษาป่า คือการรักษาธรรม

ป่ามิใช่เป็นแค่ต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารเท่านั้น หากยังเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้ว่าพุทธประวัติสัมพันธ์กับป่าโดยตลอด พระพุทธองค์ไม่เพียงประสูติใต้ต้นไม้ หากยังบำเพ็ญเพียรในป่าจนตรัสรู้ใต้ต้นไม้ และแสดงปฐมเทศนาในป่า และบำเพ็ญพุทธจริยาในป่าเกือบจะตลอดพระชนม์ชีพ จนสุดท้ายก็ปรินิพพานใต้ต้นไม้

กล่าวได้ว่าถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้มาบำเพ็ญเพียรในป่า ก็คงยากที่จะเห็นธรรม เพราะอะไร เพราะธรรมะกับธรรมชาติเรื่องเดียวกัน เมื่อเราเพ่งพิจารณาธรรมชาติภายนอกอย่างลึกซึ้ง เราก็เห็นธรรมชาติภายใน คือเห็นธรรม

ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจึงนิยมมาอยู่ป่า หรือใช้ป่าให้เป็นวัด ทั้งนี้เพื่ออาศัยธรรมชาติช่วยกล่อมเกลาจิตใจจนเกิดความรู้ความเข้าใจ กระจ่างแจ้งในชีวิต

พระสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลท่านชื่นชมการอยู่ป่า บางท่านได้อุทานออกมาเป็นบทกวีที่ไพเราะมีผู้แปลไว้ดังนี้

“ยามสายลมเย็นพลิ้วอ่อน
กลิ่นอบอวลขจรไปทั่วทิศ
ฉันนั่งสงบจิตบนยอดผา
เพียรขจัดอวิชชา ไปจากจิตใจ”

การมาอยู่ป่า ท่ามกลางความเงียบสงัดของธรรมชาติ ช่วยน้อมจิตให้สงบ ทำให้เกิดความสุขที่ลุ่มลึก ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดปัญญาประจักษ์แจ้งในสัจธรรม กล่าวคือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดมั่นได้ ปัญญาดังกล่าวจะช่วยให้เรา และเห็นว่าธรรมชาติภายในกับธรรมชาติภายนอกเป็นหนึ่งเดียวกัน เรากับเขามิได้แยกจากกันถึงตอนนั้นเรามีต้นธารภายในที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเรา ในทุกที่ทุกสภาพไม่ว่าจะกระทบกระทั่งกับสิ่งใดก็ไม่ทุกข์ง่าย ๆ รู้จักปล่อยวาง ทำให้จิตมีที่พัก ไม่เตลิดเปิดเปิงไปหาเรื่องทุกข์มาใส่ตัว เอาไฟโทสะ ไฟราคะมาเผาลนจิตใจ จนกระทั่งไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต

นี้คือรากฐานของพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งกว่าโบสถ์วิหารหรืออาคารต่าง ๆ เสียอีก กล่าวได้ว่าพุทธศาสนาจะมั่นคงก็ต่อเมื่อผู้เข้าคนถึงความสงบและความสว่างไสว ทางปัญญาดังกล่าว

การที่มีพระมารักษาป่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อปฏิบัติธรรมในป่า อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาป่าเอาไว้เพื่อผู้คนทั้งในปัจจุบันและยุคต่อ ๆ จะได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติจนเข้าถึงคุณค่าอันลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ

นี้คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งว่าทำไมพระสงฆ์และชาวพุทธจึงควรรักษาป่า ต่อสู้กับไฟป่า และช่วยกันปลูกป่าให้ร่มครึ้ม เพราะการรักษาป่าคือการรักษาธรรม

วัดป่ามหาวัน ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
พระไพศาล วิสาโล
ที่มา http://www.visalo.org/article/NatureFuenFuPaJai.htm