บ้านห้วยนากาด หมู่บ้านของพี่น้องชนเผ่าอาข่า ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ห่างจากตัวอำเภอขึ้นดอยไปประมาณ 45 กิโลเมตร
…มีโรงเรียนเล็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ 1 ที่ และครูอีก 1 คน ที่คอยดูแลนักเรียนตัวน้อยนับสิบชีวิต นอกจากรอยยิ้มแล้ว เป้าหมายของเราคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนที่นี่ไปพร้อม ๆ กัน

ข้อมูลหมู่บ้านบ้านห้วยนากาดเป็นชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า กลุ่มอู่โล้อาข่า หรือ อาข่าไทย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่เข้ามาประเทศไทยเป็น กลุ่มแรก สาเหตุที่เรียกว่าอู่โล้อาข่า หมายถึง ชนเผ่าอาข่าหมวกหัวแหลม เป็นกลุ่มที่เด่นที่สุดในการใส่หมวกอาข่า การตั้งชื่อกลุ่มเป็นไปตามลักษณะการใส่หมวก และอู่โล้อาข่ายังเป็นกลุ่มอาข่าที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านห้วยนากาดอพยพครอบครัวมาจากบ้านขาแหย่ง ต.แม่ค้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยขี้เหล็ก ต.วาวี อ.แม่สรวย ได้ประมาณ 3 ปี แต่มีปัญหาเรื่องที่ทำกินไม่พอ ต่อมามีชาวบ้านประมาณ 3 -4 ครอบครัว ได้ไปสร้างที่ทำกินบริเวณพื้นที่ติดกับลำห้วยนากาด เห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะสมที่จะตั้งเป็นชุมชนอยู่อาศัย ชาวบ้านกลุ่มแรกจำนวน 17 ครอบครัว “นายหลวง มาเยอะ” เป็นผู้นำได้ชวนกันย้ายจากบ้านห้วยขี้เหล็กเข้ามาตั้งชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2505 ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อแหล่งน้ำว่า “บ้านห้วยนากาด” สำหรับ “ห้วยนากาด” นั้น เดิมชื่อ “ห้วยนากะ” เนื่องจากมีหญิงชาวลาหู่คนหนึ่งชื่อ “นากะ” หรือ ที่ชาวลาหู่เรียกว่า “นากะมา” ได้เสียชีวิตที่ลำห้วยแห่งนี้ คนทั่วไปจึงเรียกชื่อว่า “ห้วยนากะ” คำว่า “นากะ” หรือ “นากะมา” ในภาษลาหู่ แปลว่า “นางผีบ้า” เป็นคำที่ฟังไม่เป็นมงคลนัก จึงเรียกว่า “ห้วยนากาด” แทน ชาวชุมชน “บ้านห้วยนากาด” ดำเนินชีวิตตามวิถีชนเผ่าอาข่า ประชากรขยายตัวเพิ่มขึ้น มีชาวลาหู่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย และอยู่กันอย่างสงบสุขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

กำหนดการณ์ครูนอกบ้าน
บ้านห้วยนากาด ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ระหว่างวันที่ 11 – 14  สิงหาคม 2566

 

กำหนดการ

วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566

7.00 น. – 8.30 น. ทีมงานกระจกเงา โครงการครูนอกบ้าน จะนำรถจากมูลนิธิกระจกเงาไปรอรับที่ สถานีขนส่ง จังหวัดเชียงราย ติดต่อครูต้นซุง  096-8083004 ครูเมย์ 085-7208787
9.00 น. – 12.00 น. เดินทางจากตัวเมืองเชียงรายเข้าไปที่หมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงหมู่บ้านโป่งกลางน้ำ
12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
13.00 – 15.00 น.  เริ่มเดินเท้าเข้าหมู่บ้านระยะทางประมาณ 5 กม.  ถึงหมู่บ้านทำความรู้จักกับเด็ก ๆ และคุณครูประจำการที่สอนอยู่ที่นั่น  ก่อนให้เด็ก ๆ เลือกครูเข้าบ้าน ครูแยกย้ายเข้าบ้านพัก เราจะพักบ้านเด็ก ๆ ค่ะ หลังละ 2-3 คน แยกพักชาย หญิง นะค่ะ จากนั้นเริ่มลงมือลุยทำอาหารมื้อแรกของคุณครูที่บ้านที่เข้าพัก
หมายเหตุ** บ้านบางหลังที่ครูอาสาเข้าพัก อาจเป็นบ้านที่ยังคงความเป็นวิถีดั้งเดิม ขอให้ครูเตรียมตัวเตรียมใจเปิดรับความแตกต่างที่เราจะต้องพบเจอ และขอให้ระลึกเสมอว่า ชุมชน โรงเรียน เด็ก ๆ เต็มที่แล้วในการต้อนรับอาสาสมัครที่มาเยือน แต่เราแตกต่างกันแค่วิถีความเป็นอยู่แค่นั้นเอง
16.00 น.(โดยประมาณ) รวมตัวครูอาสาบริเวณลานสนาม หน้าโรงเรียน เพื่อทำความรู้จักเด็ก ๆ ในบ้านที่เราจะเข้าพัก แยกย้ายทำภารกิจส่วนตัว และนัดเจอกันอีกครั้งตอน 1 ทุ่ม
19.00 น. หลังจากที่ทานข้าวเย็นแล้ว มีกิจกรรมสันทนาการ – เกม – เพลง เพื่อทำความรู้จักกับเด็ก ๆ และชาวบ้านในหมู่บ้าน … จากนั้นจะเป็นเวที พูดคุยเล่าประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน – วัฒนธรรม – ประเพณี – การประกอบอาชีพ จากผู้นำหมู่บ้าน และประวัติความเป็นมาของโรงเรียน จากคณะครูประจำการ เพื่อเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่และวัฒนธรรม
สรุปงาน – ถอดประสบการณ์ – ความรู้สึก เล่าสู่กันฟัง กับบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ คณะครูนอกบ้านด้วยกันเอง และพูดคุยเตรียมกิจกรรมสำหรับวันพรุ่งนี้

………….

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 ( คนอาสาสร้าง)

08.00 น. พร้อมกันที่ลานหมู่บ้าน…วันนี้เด็กๆ ไปโรงเรียน พวกเราครูอาสา และชาวบ้านจะช่วยกันลงแรง ทำถนนของหมู่บ้านกันทั้งวัน ตามงบประมาณที่ได้รับบริจาคมา
16.00 น. แยกย้าย พักผ่อน ทำภาระกิจส่วนตัว
19.00 น. กิจกรรมสันทนาการรอบกองไฟ สรุปงาน – ถอดประสบการณ์ – ความรู้สึก เล่าสู่กันฟัง กับบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ คณะครูนอกบ้านด้วยกันเอง และพูดคุยเตรียมกิจกรรมสำหรับวันพรุ่งนี้
…………….

วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 ครูอาสาสอน(นอกห้องเรียน)

ทุกคนตื่นแต่เช้าอีกวันมาสัมผัสอากาศยอดดอยยามเช้า ตื่นมาลงมือปรุงอาหารมื้อเช้าทานข้าวร่วมกันกับครอบครัว
วันนี้เราจะทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ทั้งวัน เด็กๆ ในหมู่บ้านประมาณ 30 คน
08.00 น. คณะครูนอกบ้านแนะนำตัวกับเด็ก ๆ กิจกรรมวอร์มอัพร่างกาย , สันทนาการ แบ่งกลุ่มเด็กเพื่อเข้ากิจกรรม ตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย เช่น วิชา ศิลปะจากธรรมชาติ  วิชาดนตรี เสียงจากร่างกาย  วิชาภูมิศาสตร์ แผนที่ชุมชน  วิชาวิทยาศาสตร์ นักสืบสายน้ำ เป็นต้น
12.00 – 13.00 น. พักทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็ก ๆ (เลี้ยงอาหารกลางวัน)
13.00 -14.30 น. ทำการเรียนการสอนต่อจากภาคเช้า
14.30 น.  กีฬาสัมพันธ์ ครูนอกบ้าน / เด็กๆ
16.00 น. กลับบ้านพร้อมเด็ก ๆ ช่วงเวลานี้ครูอาสาสามารถเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชุมชนได้เต็มที่เลยนะค่ะ และอย่าลืมกลับบ้านไปทำอาหารเย็นทานด้วยนะค่ะ
19.00 น. เริ่มกิจกรรมรอบกองไฟ การแสดงของแต่ละกลุ่ม / สลับเปลี่ยนกับการแสดงของชาวบ้าน หรือเด็กๆ (หากมี)
21.00 น. เวทีแลกเปลี่ยนพูดคุย สรุปกิจกรรมครูนอกบ้าน
22.00 น. แยกย้ายกลับบ้านพักผ่อน

…………………..

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566 ( ขอบคุณกันและกัน)

09.00 น. เจอกันที่โรงเรียนพร้อมสัมภาระ มอบของบริจาคที่นำมาให้ชุมชน (หากมี) กิจกรรมร่ำลา ขอบคุณเด็กๆ คุณครู และชาวบ้าน
10.00 น. เดินทางออกจาก หมู่บ้าน กลับเข้าเมืองเชียงราย
14.00 น. ส่งครูนอกบ้าน ที่ สถานีขนส่งเชียงราย เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

หมายเหตุ….กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม

กฎการวางตัว / ข้อห้าม /คำเตือน

– ห้ามให้เบอร์โทรศัพท์แก่นักเรียนเป็นเด็ดขาด
– ห้ามพูดคำหยาบ
– คนที่มาเป็นคู่รบกวนเรื่องการวางตัวที่เหมาะสม ไม่ประพฤติตัวที่เกินเลยจนดูน่าเกลียดเพราะเราเข้าพื้นที่ในฐานะ ครู
– ของมีค่าควรเก็บไว้กับตัวเองตลอดเวลา
– การใช้เครื่องมือสื่อสาร รบกวนให้ทางคณะครูนอกบ้านใช้เครื่องมือสื่อสารหลังเสร็จกิจกรรม
– ห้ามให้เงินแก่เด็กเป็นเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด
– งดเว้นการดื่มสุรา
– ห้ามออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด โดยมิได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำโครงการทราบ
– ผู้เข้าร่วมหากมาด้วยกันจะได้แยกย้ายอยู่กับเพื่อนที่ไม่ได้มาด้วยกันและแบ่งแยกชาย / หญิง

สิ่งที่ครูสามารถเตรียมมาสำหรับร่วมกิจกรรม
1. สื่อการเรียนการสอน / ซีดี / เครื่องเล่นซีดี
2. อุปกรณ์การเรียน
3. เสื้อกันฝนสำหรับเด็ก
4. นมผง (สำหรับชงให้เด็ก)
5. ทุนสำหรับอาหารกลางวัน

….

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ครูเมย์     may@raisom.ac.th                หรือโทร 085-7208787

พี่ต้นซุง   contact@doitao.info            หรือโทร 096-8083004

 

วิธีการสมัคร:

จำนวนอาสาสมัครที่รับ:
ค่าใช้จ่าย:
พื้นที่ปฏิบัติงาน:
ปิดรับสมัครวันที่:
อีเมล:
เบอร์ติดต่อ: