งานบุญแห่งมิตรภาพ ลอหว่าดิ 


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

      บ่อยครั้งที่เราได้ยินว่าชาวบ้านบริเวณรอบค่ายผู้ลี้ภัยนั้นไม่พอใจกับการ เข้ามาอยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าเท่าไหร่นักด้วยเหตุผลเรื่องของ สิ่งแวดล้อม ความไม่ปลอดภัย หรืออะไรก็ตาม แต่สำหรับหมู่บ้านแม่หละยางของผมกลับไม่เป็นเช่นนั้น พวกเรามีความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ ลี้ภัยแม่หละ เห็นได้จากการที่คณะกรรมการหมู่บ้านได้เชิญผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละ มาร่วมงานบุญเฉลิมฉลองเจดีย์ที่สำนักสงฆ์แม่หละยาง เมื่อวันที่ 3-4 มีนาคมที่ผ่านมา
งานบุญเฉลิมฉลององค์เจดีย์ประจำปีที่สำนักสงฆ์บ้านแม่หละยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นงานประจำปีที่ทั้งชาวบ้านแม่หละยางและผู้ลี้ภัยรอคอย เพราะนอกจากจะได้ทำบุญเพื่อเป็นศิริมงคลกับตัวเองแล้ว ในงานยังมีการขายสินค้า การละเล่น การแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งคนในหมู่บ้าน แม่หละยางได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัด กิจกรรมต่าง ๆ
ละเล่นที่ได้รับความสนใจที่สุดคงจะเป็น “เหว่เกอะป่า” หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า ทางหลง เหว่เกอะป่า เป็นภาษาพม่าแปลว่า โลก หรือการเดินเข้ามาสู่อาณาจักรของโลก ชาวแม่หละยางรู้จักการสร้างเหว่เกอะป่า เมื่อประมาณ 15 ที่แล้ว สมัยที่พระเคลอะเด เป็นเจ้าอาวาส สำนักสงฆ์แห่งนี้ เจ้าอาวาสรูปนี้เป็นชาวกะเหรี่ยงจากพม่า ท่านได้ริเริ่มสร้างเหว่เกอะป่าให้กับชาวบ้านได้เล่นในงานบุญ
เหว่เกอะป่า สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ที่สานเป็นตะแกรง นำมาเรียงต่อกันเป็นช่องทางเดินวกวนไปมา บนพื้นที่ประมาณ  30 ตารางเมตร  โดยกำหนดให้มีทางเข้าทางเดียว ภายในมีช่องทางเดิน 12 ช่อง ในแต่ละช่องจากมีการกำหนดจุดหลงขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้เล่นเดินเข้าถึงจุดศูนย์ กลางซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปได้ง่าย  เชื่อกันว่าถ้าเราเข้าไปเจอจุดประดิษฐานพระพุทธรูปในเหว่เกอะป่าโดยไม่หลงจะ ถือว่าเป็นคนมีบุญ ตามหลักความเชื่อของพุทธศาสนาที่ว่าเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์คือการนิพพาน ไม่กลับมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีก การเดินทางเพื่อมุ่งสู่จุดประดิษฐานพระพุทธรูปใน เหว่เกอะป่า จึงเปรียบเสมือนการเดินเข้าสู่นิพพานนั่นเอง
ก้าวแรกที่ผมถือดอกไม้ ธูป เทียนเข้าไปในเหว่เกอะป่า รู้สึกตื่นเต้นและกังวลใจว่าจะต้องเดินไปทางไหนจึงจะบรรลุเป้าหมายโดยไม่หลง แต่เมื่อถึงจุดหมายก้านธูปที่อยู่เรียงรายอยู่หน้าพระพุทธรูปก็บอกให้ผมรู้ ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทำลายความกังวลและเดินเข้ามาในเหว่เกอะป่าด้วยความ ศรัทธาเช่นเดียวกับผม ในโลกจำลองแห่งนี้ทุกคนต่างมีอิสระที่จะเลือกทางเดินของตน แต่ก็มีเสียงแนะนำเพื่อให้ถึงเป้าหมายแก่กันและกัน ที่นี่ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด สัญชาติไหนก็สามารถเดินร่วมกันได้ หากในโลกแห่งความจริงทุกคนบนโลกใบนี้มีอิสระในการเลือกเดินบนทางของตนคงจะดี ไม่น้อย
การแสดงดนตรีของศิลปินกะเหรี่ยงจากประเทศพม่านั้น ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ดนตรีช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นพี่น้องเผ่าพันธุ์เดียวกันแม้จะอยู่คนละฝั่ง ขอบแดน ส่วนละครพม่าก็มีชาวบ้านนั่งดูแน่นหน้าเวที ส่วนใหญ่ละครพม่าจะใช้ภาษาพม่าในการแสดงเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงไทยฟังไม่เข้าใจ แต่ในปีนี้ คณะละครเปลี่ยนมาใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก บางครั้งก็ใช้ภาษากะเหรี่ยงโปว์และพม่าร่วมด้วย จึงทำให้ทั้งชาวบ้านจากหมู่บ้านของผมและคนจากค่ายผู้ลี้ภัยฟังรู้เรื่อง พื้นที่หน้าเวทีแห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจนจบการแสดงในเช้าวันรุ่งขึ้น นอกจากภาพของคนในค่ายผู้ลี้ภัยและชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกันในงานบุญนี้ ยังมีภาพอีกมุมหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็น นั่นคือ ความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่าง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) และ บิ๊เบอ (รปภ.) จากในค่ายผู้ลี้ภัย  บิ๊เบอ เป็นผู้ดูแลผู้ร่วมงานที่มาจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ส่วน ชรบ.ในหมู่บ้านรับหน้าที่ดูแลชาวบ้านรอบนอก ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทั้งสองฝ่ายทำให้งานบุญครั้งนี้ผ่านไปอย่างเรียบ ร้อย
ภาพที่เพื่อนผู้ลี้ภัยออกมาร่วมงานบุญกับหมู่บ้านรอบค่ายนั้นย่อมไม่ได้มี ให้เห็นบ่อยครั้ง นอกจากพวกเขาจะได้รับความสุขใจที่เกิดจากการทำบุญตามความเชื่อ ผู้ลี้ภัยยังได้สัมผัสความสุขจากมิตรภาพบนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์เช่นเดียว กัน  เมื่อชาวบ้านได้เปิดพื้นที่ใจสร้างมิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับเพื่อนผู้ลี้ภัย แล้วคุณล่ะเปิดใจหรือยัง


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th
http://www.friends-without-borders.org/