บทสัมภาษณ์อาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทสกุล

เริ่มต้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานอาสาสมัครได้อย่างไร
ผมเริ่มเข้ามารับผิดชอบงาน คือเข้าไปเป็นผู้จัดการแผนงานส่งเสริมการให้เพื่อสังคม ที่ สสส. ก็เริ่มจาก contact สั้นๆ 6 เดือน แล้วก็ก่อนที่ผมมาเป็นผู้จัดการ ตัว สสส. เขาสนับสนุนงานอาสาสมัครอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นสนับสนุนเป็นรายโครงการ ช่วงผมเข้าไปเป็นช่วงที่มีการเรียกร้องอยากจะให้เชื่อมร้อยกลุ่มองค์กรอาสา สมัครให้ทำงานในเชิงเครือข่ายมากขึ้น จริงๆ ทำไม่ถึง 6 เดือน เข้าไปแล้วมีข้อขัดแย้งหลายเรื่องกับ สสส. ก็เลยออกมา ระหว่างนั้นก็เข้าไปช่วยที่ศูนย์ส่งเสริมการให้และอาสาสมัคร ของ พม. ก็เข้าไปร่วม ศูนย์นั้นก็จะเป็นการผลักดันของฝั่งที่เขาอยากจะทำให้งานอาสาสมัครเข้าไป อยู่ในระบบมากขึ้น มีการเข้าไปเป็นกรรมการศูนย์การให้และอาสาสมัคร (ศกอส.) คือ ศกอส. พยายามผลักดันให้มีนโยบาย ซึ่งก็มีออกมาจริงๆ ว่า ให้ราชการไปเป็นอาสาสมัครให้ถือเป็นวันลาได้ แล้วก็พยายามผลักดันเรื่องกฎหมาย ภาษี ซึ่งเรื่องภาษียังขยับไปได้ไม่เยอะ แต่คำสั่งที่ออกไปตามกระทรวงต่างๆ ที่ให้ข้าราชการใช้วันที่ไปอาสาสมัครเป็นวันลาได้ออกไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติผมเข้าใจว่ายังยากอยู่ แต่ในทางนโยบายก็สามารถผลักออกไปได้ในช่วงอาจารย์ไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรี

ทีนี้ในฝั่งของภาคประชาสังคม หรือ NGOs ที่เขาเคลื่อนงานอาสาสมัครอยู่แล้ว ช่วงที่ผมเข้าไปเขามีการประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว แล้วก็ผมพยายามจะเข้าไปคุย และพยายามให้ทาง มอส. เขาเป็นแกนกลางในการช่วยจัดขบวน แต่ก็ยังมีข้อที่เห็นไม่ตรงกันสองแบบ คือการจัดเป็นขบวนใหญ่ เสียเวลา และยุ่งยากในเชิงการจัดการ หลวงพี่ไพศาลเขาบอกว่าไม่อยากไปยุ่งเรื่องการจัดการ แต่อยากทำงานมากกว่า ฝั่งผมรู้สึกว่า ถ้าเอาเงินที่อยู่ที่ สสส. ซึ่งยุ่งเรื่องการจัดการ เพราะ สสส. กว่าจะได้เงิน รีวิวแล้วรีวิวอีก ผมคิดว่าเงินควรจะถูกโยกออกมานอกระบบ แล้วใช้ระบบของพวกเราจัดการกันเอง จะง่าย และคล่องตัวในการจัดการ

มีปัญหาช่วงที่ผมเข้าไปทำงานคือ ผมเข้าไปเป็นผู้จัดการแผน แต่ไม่สามารถจัดการได้ คือเราเสนอกรอบวิธีทำงานของเรา แล้วเราก็ไปชวนพี่ๆ น้องๆ เข้ามาช่วยคิดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ขบวนอาสาสมัคร เราก็ไปตกลงกับเขาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่พอมาคุยกับสสส. สสส. เขามีอีกระบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบการจัดการของเขา ไม่เกี่ยวกับผู้จัดการ แม้ว่าผู้จัดการจะไปตกลงอะไรไว้แล้ว เขาก็ไม่รับรู้ ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็เสียเพื่อน สมมติผมไปตกลงกับคุณไว้ แต่สสส. เขาไม่ให้ และกรรมการที่เป็นคนรีวิวเอกสาร เขาก็มีคำถามเยอะแยะ ทั้งๆ ที่เขาก็รู้สถานการณ์ รู้เรื่องที่เราไปคุยน้อย แต่มาอ่านจาก paper แล้วก็ comment ช่วงนั้นเป็นแบบนี้อยู่สัก 4 เดือน แล้วผมก็ออก เพราะว่าเป็นแบบนี้ก็จะเสียเพื่อน ก็ไม่อยากทำ แล้วเครือข่ายเขาก็ไปคุยกับพรรคพวกเขา คือ แทนที่จะขอเป็นโครงการแบบเดิม เขาก็ต้องไปนั่งคุยแล้วก็พยายามร้อยให้เป็นกลุ่ม เป็นก้อนจัดระบบ เขาก็ไปคุย เสียเวลาไปสองสามรอบ ผมก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เลิกดีกว่า อย่าทำ

ตัวองค์กรสนับสนุนแบบ สสส. งานอาสาสมัครถูกเล่นเป็นแบบของแถม คือเขาไม่ได้จริงจังกับมัน เมื่อก่อนนี้งานอาสาสมัครอยู่ภายใต้แผนจิตวิญญาณ พอเปลี่ยนผู้จัดการ ผู้จัดการมาใหม่เขาไม่ชอบอันนี้เขาก็ไม่ทำ แผนนี้ก็หลุดไปสำนักอื่น ตอนผมไปอยู่มันอยู่สำนักชุมชน แต่พอผู้จัดการ ก็เปลี่ยนอีกแล้ว ผู้จัดการคนใหม่เขาก็ไม่เอา ก็มีความไม่แน่นอนในฝ่ายสนับสนุนด้วย

เมื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาจารย์ ได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับงานอาสาสมัครต่ออย่างไร
กับศูนย์ตอนนี้ผมไม่ค่อยได้เข้าไปทำแล้ว เพราะว่าตัวศูนย์เองไม่ support เต็มที่ ศูนย์เขามีเจ้าหน้าที่ และมีกรรมการซึ่งเป็นคนนอกทั้งหมด และมีข้าราชการซึ่งช่วยกันทำงานอยู่ ทีนี้อยู่ในภาวะที่ต้องถ่ายมอบงานของกรรมการเป็นงานประจำให้ได้ เพราะไม่งั้นศูนย์จะเคลื่อนไม่เคลื่อนมาอยู่ที่คนนอก ซึ่งมันไม่ถูก คนข้างในต้องช่วยกัน run ต่อได้ ตอนนี้อยู่ในภาวะพึ่งพิงคนนอกทั้งหมด

มีทัศนคติต่อสถานการณ์อาสาสมัครในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ในแง่ของกลไกจัดการที่เป็นส่วนของราชการ ตอนนี้ผมเข้าใจว่าในฝั่งคนที่ทำงานอาสาสมัคร ก็ไม่ค่อยหวังเท่าไหร่แล้ว ในฝั่ง สสส. เขาก็ไม่ได้หวังในแง่การเป็นองค์กรทุนที่จะมาสนับสนุนขบวนอาสาสมัคร เพราะว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้สนับสนุนขบวน แต่เขาสนับสนุนโครงการย่อยๆ คือจัดการกระจายโครงการ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ขบวนการอาสาสมัครเติบโตจริงๆ ในขณะที่ฝั่งราชการก็ไม่ค่อยเวิร์ค ฝั่งทุนสนับสนุนก็ไม่ค่อยมี แต่คนที่ทำงานอาสาสมัครเขายังดิ้นรน หาทุนที่โน่นที่นี่ทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเห็นกิจกรรมที่เขาโฆษณา ก็มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการกระเบียดกระเสียดกันทำ มีอันใหญ่สุดที่ สสส. ให้โกมลคีมทอง ทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญา นั่นคือก้อนใหญ่สุดที่ wholesale ให้องค์กรทำ องค์กรก็มีหน้าที่แค่เปิดรับ จัดการโครงการย่อยแค่นั้นแทน สสส. วิธีจัดการก็เหมือน สสส. จัดการ คือจ่ายเป็นรายโครงการ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ 1. กลไกของประเทศนี้เรื่องอาสาสมัครเอาอย่างไร 2. โครงสร้างที่จะเอื้อให้อาสาสมัครทำงานได้ง่ายขึ้นต้องทำเรื่องกฎหมาย ทำเรื่องวัฒนธรรม คือผมรู้สึกว่าต้องคิดแบบนี้ก่อน แล้วค่อยดูว่าแต่ละงานใครจะช่วยกันทำ ต้องลงทุนอะไรกันบ้าง

มีข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบงานอาสาของประเทศไทยว่าควรจะเป็นไปอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นไม่ใช่ผมคิดคนเดียว แต่มันผ่านเวทีการคิด เราบอกว่าอันที่หนึ่ง เราอยากจะสร้างพื้นที่ความร่วมมือผ่านกลไกต่างๆ เราพูดถึงตัวระบบฐานข้อมูล ซึ่งตอนนั้นศูนย์การให้ กับ UN และก็มีครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เขาได้เงินกระทรวง ICT มาทำระบบฐานข้อมูล แล้วจัดทำฐานข้อมูลทั้งผู้ที่ต้องการอาสาสมัคร และอาสาสมัครที่อยากจะทำงานเป็นระบบ matching อันที่สอง ตัวงานสื่อสารสาธารณะที่เราเห็นว่าเป็นพื้นที่ความร่วมมือได้ อันนี้ก็ยังไม่ชัดว่าใครจะเข้ามาจัดการ อันที่สาม เราคิดว่าจะต้องพูดถึงพื้นที่ในระดับปฏิบัติการในระดับจังหวัด ว่าในระดับจังหวัดจะมีศูนย์ประสานงานไหม

อันนี้พูดถึงพื้นที่ที่จะทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างองค์กรที่ต้อง การอาสาสมัคร และอาสาสมัครที่อยากจะทำงาน ปัจจุบันเท่าที่ผมประเมิน งานอาสาสมัครฟุ้งอยู่กับชนชั้นกลาง กลุ่มรุ่นยี่สิบกว่า สามสิบกว่า มันฟุ้งอยู่แค่คนไม่กี่พันคน แต่ทำอย่างไรให้งานแบบนี้มันลงไปที่ข้างล่างให้ได้ ตอนนี้งานอาสาสมัครด้านหนึ่งเป็นงานแฟชั่น จิตอาสา แต่ก็อยากจะไปปลูกป่า คือจิตอาสาด้วย และก็อยากจะไปเที่ยวด้วย อย่างที่คณะผมนี่ชอบ จิตอาสาด้วย แต่ก็ต้องไปไกลๆ หน่อย ไปตรัง ไปเชียงราย ไปแม่ฮ่องสอน

อันที่สองเราก็พูดถึงการช่วยกันพัฒนา และผลักดันตัวนโยบายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้ปัจเจกและองค์กรทำงานอาสา สมัครได้ง่ายขึ้น ได้มากขึ้น นี่พูดถึงกลไกเชิงนโยบาย เรื่องกฎหมาย ซึ่งอันนี้ผ่านแล้ว แผนแม่บทยังไม่ผ่าน กฎหมายภาษีก็ยังไม่ไปถึงไหน ป๊อกเขาพยายามผลักดันก็ยังไม่ไปถึงไหน แต่อันสุดท้ายก็ผ่านแล้ว

วิธีทำงานที่เราเสนอเขา
1. เราอยากจะไปสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเดิม ให้เขามีศักยภาพมากขึ้น ตอนนั้นพูดถึง มอส. ที่เขาทำงานมา 20 กว่าปี แต่ใช้เงินต่างประเทศมาตลอดเลย ทีนี้เราคิดว่าถ้าต่างประเทศเขาไม่ให้แล้ว มอส. เขาจะต้องทำงานต่อ แล้วเขาก็เป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาสาสมัครมาอย่างยาวนาน ก็น่าจะเข้าไปเสริมองค์กรประเภทแบบนี้ มอส. ซึ่งเขาก็มีโหนดตามภาคต่างๆ
2. อยากให้เข้าไปเสริมกลุ่มใหม่ๆ ที่ขาดในระบบที่เราวิเคราะห์ยังไม่มี
3. พัฒนากลไกเชื่อมประสานกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ เช่น พวกมูลนิธิตระกูลแซ่ที่อยู่ในระดับจังหวัด พวกนี้ก็เป็นงานอาสาสมัครก้อนเบ้อเร่อ ทำงานอยู่แล้วด้วย แต่ไม่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับงานอาสาสมัครในรูปแบบใหม่ๆ หรือเขาก็ทำงานของเขาอยู่แล้วถ้าไปดูในจังหวัดตระกูลลิ้ม สโมสรไลออนส์ โรตารี่ พวกนี้มีตังค์ทั้งนั้นเลย แต่แต่ละปีพวกนี้ต่างคนต่างทำ เราก็เสนอว่าทำอย่างไร แค่แต่ละปี แต่ละจังหวัด องค์กรแบบนี้เอาแผนมากาง แล้วดูว่าจังหวัดเรามีพื้นที่ไหนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แล้วใครยังไม่ได้ลง ขยับได้ไหม คืออยากให้มีการเชื่อมแบบนี้ ทั้งในระดับจังหวัดเอง ซึ่งความเข้าใจของผมคือในทุกจังหวัดมันมีแบบนี้อยู่

ตัวอย่างของ อาสาสมัครที่อยู่ในท้องถิ่น อย่างพ่อผมนี่เขาอยู่สมาคมตระกูลลิ้ม หน้าที่เขาคือ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปแจกจดหมาย สตางค์ก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่มีอาสาสมัครแบบนี้เต็มพื้นที่ไปหมดในท้องถิ่น แต่ต่างคนต่างทำ เราก็คิดว่าถ้ามีพื้นที่เปิดให้คนแบบนี้มานั่งพูด นั่งคุย เพิ่มศักยภาพ การทำบัญชี การเงิน การตรวจสอบ พัฒนาระบบอาสาสมัครในท้องถิ่นให้เติบโตได้

อีกอันหนึ่งที่เราวิเคราะห์ คือเราวิเคราะห์ว่างานอาสาสมัคร หรือการให้เพื่อสังคม มีอยู่หลายฐานวิธีคิด ซึ่งทางฝั่งพี่เตี้ยที่เขาทำงานอาสาสมัครมาก่อน เขาก็วิเคราะห์ว่า 1. สังคมไทยต้องเปลี่ยนจาก ตอนนี้งานการให้ หรืองานอาสาสมัคร คนจำนวนมากพูดในฐานะที่เป็นการทำบุญ ทำทาน คือทำเพื่อตัวเองจะได้อะไรไม่รู้ในอนาคต ในชาติหน้า แต่อยากจะให้เปลี่ยนฐานวิธีคิดนี้เป็นฐานวิธีคิดว่า เราต้องทำเพื่อส่วนรวมเพราะว่าเป็นหน้าที่พลเมืองที่เราต้องทำ พี่เตี้ยพยายามบอกว่าเป็นวิธีทำบุญแบบใหม่ ที่ทำปุ๊บได้เลย ไม่ต้องไปรอชาติหน้า เราก็อยากส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแบบนั้น เป็นอีกงานหนึ่งที่เราอยากจะทำ เปลี่ยนฐานวิธีคิดว่าให้เพราะจะได้บุญ ให้เพราะว่าเป็นการทำทาน แต่ถ้าเราดูจริงๆ ถ้าอยู่ในฐานนี้มันให้แล้วมันก็สะสมกิเลศ คือให้แล้วเดี๋ยวกูต้องได้เยอะขึ้น หรือแม้แต่พวกนักศึกษา คือไปทำงานอาสาสมัครแล้วรู้สึกดี ฉันดีนะ ฉันไปทำงานอาสาสมัครแล้วฉันเก่ง มันกลายเป็นว่ายิ่งทำงานแล้วตัวตนกูยิ่งเยอะ แต่งานอาสาสมัครยิ่งทำยิ่งต้องละตัวเอง ต้องทำตัวเองน้อยลง แต่ตอนนี้งานอาสาสมัครเป็นงานที่ทำแล้วอัตตาเยอะ ฉันอัตตาเยอะ เราก็พยายามอยากจะให้ปรับให้งานอาสาสมัครทำแล้วรู้สึกตัวเองลดนะ ไม่ใช่ตัวเองเพิ่ม เพิ่มความเป็นเราขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนั้นที่เราเสนอไว้ คือ เราเสนอไว้แค่ 3 กลุ่ม ว่าเราจะทำงานกับ 3 กลุ่มนี้ เพื่อเปลี่ยนฐานความคิดเขา เพราะว่าฐาน ก็มีคำถามว่าทำไมเราไม่ทำกับตัวชาวบ้าน ตอนนั้นข้อสรุปที่ผมมีคือ พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวมที่เรียกว่างานอาสาสมัครของชาวบ้านนี่อยู่ ซ้อนกัน สมมติผมพูดถึงกลุ่มป่าชุมชน เขามีอาชีพทำนา แล้วเขาก็ไปทำงานอาสาสมัครในฐานะสมาชิกกลุ่มป่าชุมชน แต่เขาทำนี่เพราะเขาได้ประโยชน์จากน้ำที่เขาเอามาทำนา คือพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวมมันซ้อนกัน แต่กลุ่มแบบนี้ที่อยู่ในเมือง สมมติผมเป็นอาจารย์ ถ้าผมอยากจะไปทำงานอาสาสมัคร ผมต้องไปมูลนิธิต่างๆ ใช่ไหม พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวมมันแยกกัน บทสรุปอันหนึ่งที่เขามีมาก่อนหน้าผม คือ พอพื้นที่มันแยก ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงานอาสาสมัครมันมีค่าโสหุ้ยที่คุณต้องจ่าย เช่น ถ้าคุณจะต้องไปปลูกป่าที่เชียงราย องค์กรนี้ต้องขอทุน มาเป็นค่ารถให้คุณไปปลูกป่า แต่ผมถามว่าคุณทำงานอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย? ในมหาวิทยาลัยเยอะไปหมดเลยงานอาสาสมัคร คือพยายามทำให้งานอาสาสมัคร กับถิ่นที่คุณอยู่ ถิ่นที่คุณทำงานมันซ้อนทับกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่ฉะนั้นงานอาสาสมัครต้องการเงินเยอะมากเพื่อพาคนพวกนี้ ซึ่งเขาชอบเที่ยวอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าก็โอเคนะ ถ้าเขาได้เที่ยว แล้วเขาทำ แล้วมันเปลี่ยนเขาได้ก็โอเคอยู่ แต่มันใช้เงินเยอะ จนแหล่งทุนเขารู้สึกว่าเขาไม่อยากลง cost พวกนี้ ทีนี้จะให้อาสาสมัครจ่าย บ้านเราก็ยังไม่ขนาดนั้น ถ้าไปดูเมืองนอก ถ้าคุณอยากไปอาสาสมัครคุณจ่ายนะ แต่บ้านเราแหล่งทุนจ่ายให้คุณมาอาสา แต่ฝรั่งเขาต้องจ่ายเพื่อจะมาประเทศไทยแล้วก็ทำงานอาสาสมัคร แต่บ้านเรายังไม่ถึงขนาดนั้น เราก็บอกว่าเราอยากจะจับกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนยุคใหม่ และเป็นคนยุคหน้า ส่วนชาวบ้านเขาอาสาสมัครอยู่ในวิถีอยู่แล้ว เขาเป็น อสม. จริงๆ ถ้าไม่มีคำว่าอาสาสมัครเขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้ถ้าไปฟังชาวบ้าน เขาก็จะบอกว่าเขาเป็นอาสาสมัคร เขาทำของเขาอยู่แล้วเป็นปกติ

เมื่อวานมีอาสาสมัครที่เขาดูผู้ป่วยโรคจิตที่โรงพยาบาล แกก็เป็นชาวบ้านปกติ แต่แกก็ไปโรงพยาบาลทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ อันนี้ไปเป็นนักให้คำปรึกษาเลย ชาวบ้านนะ

อีกคนหนึ่ง ลูกเป็นโรคจิตเภท เขาก็ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก พอสักพักหนึ่งเขาเก่ง โรงพยาบาลก็ต้องให้เขาไปช่วยงานโรงพยาบาล ไปตั้งกลุ่มจังหวัดอื่นๆ เขาก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ ปัจจุบันเขาก็ไม่มีงานประจำ เขาก็รับแต่บำนาญ แล้วก็เอาเวลาไปทำงานแบบนี้

ผมคิดว่าในระดับพื้นที่งานส่วนตัว ส่วนรวมค่อนข้างไม่ซับซ้อน แต่พออยู่ในเมืองแบบนี้ โอ่.. ผมทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็นแล้ว จะให้ผมไปเป็นอาสาสมัครที่ไหน เสาร์อาทิตย์ก็อยากจะอยู่กับบ้าน แต่ถ้ามันสามารถทำในระดับที่ทำงาน ในระดับมหาวิทยาลัย ก็ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องไปหาเวลา เพราะสิ่งที่เราอยากเปลี่ยนคือแถวๆ นี้ กับแถวๆ นี้ (ใจ กับ ระบบคิด)

การเพิ่มโอกาสให้สามารถเป็นผู้ให้ได้มากขึ้น และเป็นอาสาสมัครให้มากขึ้น มาตรการ ช่องทาง ภาษี งานรณรงค์ ความสะดวก พูดถึงกลไกที่ช่วยทำให้บริษัทเปิดมากขึ้น ตอนนั้นพูดเรื่อง ISO CSR ซึ่งปัจจุบันก็ไปค่อนข้างเยอะแล้ว

และทำให้เรื่องอาสาสมัครเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ต้องไปเป็นเรื่องไกลตัว และช่วงที่ผมพยายามผลักดัน คือ อยากจะทำให้เป็นอาชีพให้ได้ คือ มันมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า การเป็นอาสาสมัครด้านที่ไม่ดีของอาสาสมัครคือ คุณพร้อมเมื่อไหร่คุณก็มาทำ คุณไม่พร้อมคุณก็ไม่ทำ แต่ในฝั่งคนที่คุณเข้าไปช่วยเหลือ คุณไม่ทำไม่ได้ เขาต้องการความช่วยเหลือ มันก็มีข้อสังเกตว่าต้องยกระดับอาสาสมัครให้เป็นมืออาชีพ ที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ แต่งานนั้นเป็นงานบริการสังคมด้วย ตอนนั้นผมก็อยากผลักเรื่องนี้ แต่ก็หยุด

ตอนนั้นเราพูดเรื่องผู้ประกอบการทางสังคม ผมอยู่ ngo มาก่อน เรารู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่แหล่งทุนหมดเราก็ลำบาก เพราะว่างานที่ ngo ทำไม่มีกำไร เราจึงอยากให้ ngo คิดถึงงานบริการสังคม แต่มีกำไรด้วย ซึ่งต้องใช้วิธีคิดอีกแบบหนึ่งเข้าไปประกอบ และค่อยๆ พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้คิดแบบนี้ให้มากขึ้น เช่น อยากจะทำบ้านพักผู้สูงอายุ แต่ถ้าไม่ใช่งานสงเคราะห์ แต่ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ต้องทำอย่างไร เราอยากให้มีการคิดแบบนี้ให้เยอะขึ้น เพื่อทำให้งานบริการทางสังคม ไม่ใช่งานสงเคราะห์ แต่เป็นงานที่คุณสามารถให้บริการได้ด้วย และคุณก็อยู่ได้ด้วย ครอบครัวก็อยู่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าทำแต่ ngo ถ้าเงินไม่มี ลูกเอาอะไรกิน เมียเอาอะไรกิน เราก็จะอยากจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ กับอีกอันหนึ่งคือ เราคิดว่ากลไกมหาวิทยาลัยน่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยมีความ พร้อม ทั้งการเป็นอาสาสมัคร ทั้งการเป็นบัณฑิตที่มีวิธีคิดแบบใหม่ ตอนนั้นก็เริ่มคุยกับคณะบัญชี MBA ที่อยากจะทำหลักสูตรผู้ประกอบการทางสังคม หลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคม บัญชีนี้คุยได้สองครั้ง แล้วก็หยุด

มีแนวคิดที่การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการให้ คือเขาพูดถึงว่าปัจจุบันบ้านเราเป็น เป็นเศรษฐกิจที่ต้องซื้อขาย แต่เขาบอกว่าในประเทศอย่างในยุโรป มันมีเศรษฐกิจ มีสังคมที่เป็นสังคมแห่งการให้อยู่ด้วย ตอนที่ผมเสนอที่ สสส. เราบอกว่าเราอยากจะทำให้สองอันนี้มีขนาดโตเท่าๆ กัน เพราะเรารู้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบการซื้อขายเยอะ เรามีเศรษฐกิจหรือสังคมที่มีการให้น้อย ความยากจนจะยังมีอยู่ ลองเปรียบเทียบแผนที่เรื่องการกระจายรายได้ทั่วโลก เราจะพบว่าประเทศที่มีการกระจายรายได้ดี มีความเท่าเทียมกันเยอะๆ จะอยู่แถวบนๆ หมดเลย พวกแถวสแกนดิเนเวีย แคนาดา และแถวล่างนี่ช่องว่างรายได้สูงมาก ไปดู HVI (Human Development Index) ดัชนีคุณภาพมนุษย์ ประเทศที่อยู่ด้านบน เป็นประเทศที่มี HVI ดี สูง นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สวีเดน แคนาดา ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีระบบสังคมที่เอื้อต่อการให้เยอะ มีกลไก มีระบบ มีโครงสร้างที่เอื้อ และเราคิดว่าถ้ามีแบบนี้สังคมน่าจะดีขึ้นกว่านี้ ช่องว่างรายได้นี้น่าจะดีขึ้น ก็พยายามจะเสนอเพื่อปรับ

ตอนที่อยู่ สสส. คือ ทำ 2 แบบ อันแรกคือการเข้าไปช่วยกันปรับระบบ กลไก โครงสร้าง กับการให้ทุน ทีนี้การปรับระบบ กลไก โครงสร้างนี่ต้องการการช่วยกันหลายองค์กร หลายคนช่วยกันทำ แต่ปัญหาคือ มันมาติดตรงการให้ทุนที่ไม่เอื้อต่อการขยับ เช่น เราบอกว่าเราอยากให้มูลนิธิกองทุนไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทุนจาก สสส. ไปทำงานกับบริษัทเอกชนเพื่อ่ให้บริษัทเอกชนเปิดรับอาสาสมัครแล้วดึงพนักงาน ในบริษัทออกมาเป็นอาสาสมัคร ตอนแรกเราบอกว่าเราเชื่อว่ามูลนิธิกองทุนไทยเขาน่าจะมีเครื่องมือ มีวิธีการที่ดี เราก็อยากให้เขาทำต่อ ในฐานะผู้จัดการ คือลงทุนกับมูลนิธิกองทุนไทยมา 2 ปี ผมเชื่อว่าเขามีอะไรดีอยู่ มีความรู้ มีสายสัมพันธ์ แล้วเขาน่าจะตะลุยกับธุรกิจเอกชนได้ ส่วนใหญ่ส่ง proposal มาแล้วก็ส่งให้ reviewer แล้วเขาก็ comment กลับมา ผมก็จะมีหน้าที่ปกป้องโครงการย่อยๆ ก็ต้องทำจดหมายด่า reviewer กลับ

ผมคิดว่ามีปัญหา ฐานคิดที่เปลี่ยนยาก คือ ฐานคิดเรื่องศาสนา เรื่องบุญ ที่เป็นฐานใหญ่ ในพระไตรปิฎกถึงกับบอกว่า การให้ทานกับสัตว์ กับพระ กับคนจน กับสุนัข คุณได้บุญต่างกัน ผมก็ต้องให้กับคิงอยู่แล้วถ้าอยากได้บุญเยอะ ผมไม่เลี้ยงหมาหรอก ผมก็ให้คิงตลอด ไม่ผมก็ให้พระเพราะว่าถ้าคุณให้ในระดับที่ต่างคุณก็ได้ผลบุญต่าง แล้ววัดกับสถาบันกษัตริย์ก็เป็นแหล่งเงินบริจาคที่ใหญ่มากที่ไม่มีการตรวจ สอบ ถ้าเราสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรของวัด หรือของสำนักงานพระมหากษัตริย์ได้ ก็จะนำมาทำงานเหล่านี้ได้เยอะมากๆ แค่วัดสุทธิฯ เปิดให้จอดรถวันหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ เคยมีการสำรวจวัดของลำปาง ซึ่งมีวัดเยอะมาก เดือนหนึ่งได้เงินเป็นสิบๆ ล้าน

ผมเคยไปนำเสนอแล้วก็เอารูปนี้ให้ดู มหาเจดีย์ที่ร้อยเอ็ด สร้างบนยอดเขาเลย กับพระอลงกต ถามว่าชาวบ้านเขาให้เงินใคร ผมคิดว่าเกือบร้อยบริจาคเงินสร้างเจดีย์ มหาเจดีย์ โอ้โห..คุณได้ ผมว่านี่คือฐานใหญ่ที่เราอยากจะปรับว่า บุญทำแล้วได้เลยไม่ต้องรอชาติหน้า แล้วตอนนั้นก็มีการเสนองานวิจัย เสนอเป็น proposal อยากจะไปทำกับวัด ตอนนั้นก็ติดต่อหลวงพี่สุทิศ ซึ่งแกเป็นลูกศิษย์ที่คณะ แกเป็นรองเจ้าอาวาสและเราก็อยากจะทำ จะเอาเงินวัดมาลองใช้ประโยชน์ดู

มีเรื่องเยอะที่น่าทำ แม้แต่เรื่องที่ผมเล่าว่ามูลนิธิตามต่างจังหวัด ซึ่งมีตัวตนจริง มีการบริจาคเงินจริงจากห้างร้านต่างๆ ในจังหวัด อย่างบ้านผมขายโชว์ห่วย เราก็รู้ว่าเราอยู่ตระกูลลิ้ม ทุกวันที่นี้ๆๆๆ เขาจะมีมาเก็บตังค์ เพื่อเอาตังค์นี้ไปเป็นทุนการศึกษา ไปช่วยน้ำท่วม หรือพวกโรตารี่ ไลออนส์ พวกนี้เขามีระบบการจัดการทุนของเขา แต่ทำอย่างไรให้มียุทธศาสตร์ของจังหวัด ผมเคย review เรื่องมูลนิธิชุมชนของแคนาดา แคนาดานี่แต่ละเมืองเขาจะมีคนทำ mapping เลยว่า พื้นที่ตรงนี้ เมืองนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรที่ต้องทำก่อนหลัง เขาจะขึ้น list เอาไว้ พอมีแผนที่ปุ๊บ ใครจะทำอะไรจะมาดูตาม list นี้ ทุกอย่างจะลงหมดเลย ไม่ต้องไปทำในอันดับที่ 10 ที่ไม่เร่งด่วน แต่เมืองนี้ต้องการทำอันดับ 1 ก่อน คุณก็ไปทำอันนี้แหละ เพราะมันมีสถิติมันมีข้อมูลอยู่แล้ว คือตอนนั้นเราอยากทำแบบนี้