จากกล้าอ่อนสู่ไม้แกร่ง จากดงดอยสู่แดดแล้งแดนอีสาน

 

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ นี้
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน ร่วมกับอาสาสมัครรุ่น ๒๘ ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)
จะจัดโครงการกล้าอ่อนสู่ไม้แกร่ง การเรียนรู้ส่วนภูมิภาค เพื่อความเข้าใจองค์รวมในงานพัฒนา
ครั้งที่ ๒ ขึ้น ต่อเนื่องจากโครงการกล้าอ่อนสู้ไม้แกร่งฯ ครั้งที่ ๑
ซึ่งเครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคเหนือ ได้พาเพื่อนๆ จากต่างภูมิภาคลงศึกษาดูงานเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน
บ้านแม่คองซ้าย ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อ ๒๕-๒๘ มกราคม ๒๕๕๑
ที่ผ่านมา

 

เมื่อวันคืนย่างกรายเข้าสู่ฤดูดอกแดดสีฟาง
ลมหนาวปลายปีหวีดหวิว รวงข้าวลู่ระเนน และไม้ดอกหลากสีค่อยๆ คลี่บานขึ้น เป็นฤดูเดียวกับฤดูค่ายของหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยบางกลุ่ม
ที่ยกชมรมไปพักค้างอ้างแรมถึงหมู่บ้านสุดทางเกวียน หรือชุมชนบนเชิงดอยอวลหมอกเหมยที่ไหนสักแห่ง
เพื่อสร้างศาลา สร้างโรงเรียน สร้างประปาภูเขา ฯลฯ พร้อมโอกาสในการศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนไปพร้อมกัน

ไม่ต่างจากกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในวงงานพัฒนากว่า
๔๐ ชีวิต จากต่างเครือข่ายการทำงาน ต่างภูมิภาคทั้งเหนือกลางอีสานจรดใต้ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงทำความรู้จักกันไว้
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพตนเอง จนอาจหนุนเสริมการทำงานของเพื่อนได้ตามวาระตามโอกาส
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเน้นกระบวนการศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ หรือพื้นที่ที่เพื่อนบางคนทำงานอยู่
และแต่ละรอบของการจัดกิจกรรมจะเวียนลงเรียนรู้แต่ละพื้นที่ปัญหา แต่ละภูมิภาคต่างกันออกไป

ต้นปี ๒๕๕๑ น้องคนรุ่นใหม่ภาคเหนือพาเพื่อนๆ
ขึ้นไปศึกษาดูงานกับองค์กรชุมชน “บ้านแม่คองซ้าย” ชุมชนปกาเกอะญอขนาดหย่อม
ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมานานกว่า ๓๐๐ ปี กลายเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน
หลังโดนมรสุมจากนโยบายสัมปทานป่า และนโยบายย้ายคนออกจากป่าของรัฐส่วนกลาง
ชาวบ้านตื่นตัวรวมกลุ่มกันพิสูจน์ตัวเองจนคนภายนอกเห็นว่า คนอยู่กับป่านั้น รักษาป่าด้วยภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่อดีต
จนเติบโตสืบลูกสืบหลาน ป่าน้อยใหญ่ดั้งเดิมที่ชุมชนใช้สอยพึ่งพา ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์

แม่

โอกาสในการเรียนรู้ชุมชนครั้งนั้น นอกจากหนุ่มสาวจะได้หลายแง่มุมจากชุมชน
จากเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม มาปรับใช้กับหน้างานในความรับผิดชอบของตนเองแล้ว ยังได้โอกาสแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ
นักพัฒนาภาคเหนือหลายคน เป็นอีกหนึ่งความต้องการร้อยรัดให้น้องพี่ต่างรุ่นได้รู้จัก
ได้ถ่ายเทความรู้ประสบการณ์แก่กันและกันด้วย

 

เมื่อวันคืนย่างกรายเข้าสู่ฤดูดอกแดดสีฟาง
ลมหนาวปลายปีหวีดหวิว รวงข้าวลู่ระเนน และไม้ดอกหลากสีค่อยๆ คลี่บานขึ้น
เป็นฤดูเดียวกับฤดูอันเป็นหมายนัดดำเนินโครงการกล้าอ่อนสู่ไม้แกร่งฯ
ครั้งที่ ๒ ต่อเนื่องจากครั้งแรก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ
ที่เคยเข้าร่วมโครงการ
และยังเป็นโอกาสในการลงเรียนรู้ขบวนการรวมกลุ่มต่อสู้ขององค์กรชาวบ้าน ๒
องค์กร
ผ่าน ๒ ชุมชนตัวอย่าง ซึ่งมีบริบทปัญหาที่แตกต่างกัน
หากอยู่ในขอบเขตจังหวัดอุบลราชธานีเหมือนกัน
หนาวปลายปีนี้ จึงมีเครือข่ายคนรุ่นใหม่และอาสาสมัครรุ่น ๒๘ ภาคอีสาน
รับบทบาทเป็นเจ้าภาพหลัก

ชุมชนแรกที่จะลงไปเรียนรู้คือ “ชุมชนลับแล” เป็นชุมชนเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟอุบลราชธานี
ในเขตการปกครองของเทศบาลวารินชำราบ ลับแลเป็นชุมชนดั้งเดิม ผู้บุกเบิกถากถางทำกินอย่างสุจริตมาก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
จนปี พ.ศ.๒๔๙๗ รถไฟในสมัยที่ยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงจึงวิ่งปุเลงๆ มา พร้อมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
ได้ประกาศเขตรถไฟทับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ชุมชนลับแลจึงกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินไปโดยปริยาย

มีชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังหลายราย ก่อนคนในชุมชนจะกลายสถานภาพเป็นผู้เช่าเมื่อปี
๒๕๑๕ บนความจำกัดของเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน มีผู้อาศัยถึง ๒๖๕ หลังคาเรือน จนยุคฟองสบู่แตก
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ลงไปทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน จากกิจกรรมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
สู่การต่อรองเรื่องค่าเช่าที่เป็นธรรม จากกิจกรรมออมทรัพย์ กิจกรรมกับกลุ่มเยาวชน ยกระดับสู่การต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดิน
สิทธิในที่อยู่อาศัย ถึงเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องอื่นๆ

ปัจจุบัน “ลับแล” เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายชุมชนอุบลราชธานี ซึ่งมีอีกสิบกว่าชุมชนริมแม่น้ำมูลเป็นสมาชิก
ในเครือข่ายมีงานออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง มีสหกรณ์ มีการจัดระบบสวัสดิการชุมชน มีงานเยาวชน
และมีวงดนตรีของเครือข่ายเป็นแนวรบอีกทางหนึ่ง

กล่าวได้ว่าพี่น้องในเครือข่ายฯ
ไม่เคยขาดสายต่อการเข้าร่วมต่อสู้กับคนจนกลุ่มอื่น ทั้งในระดับประเทศ
และในระดับสากล ในนาม “เครือข่ายสลัม ๔ ภาค”
ซึ่งวันนี้ยังคงต่อรองผลักดันการเช่าที่ดินให้ได้ในระยะยาว ๓๐ ปี

หากมองตามสิทธิที่ชุมชนดั้งเดิมอย่างชุมชนลับแลควรมีควรได้นั้น
“สถานะผู้เช่าระยะยาว”
ยังเกรงจะเป็นข้อเรียกร้องที่น้อยเกินไป ไม่ควรค่าสมฐานะ “ผู้บุกเบิก” แม้แต่น้อย

ส่วนอีกหนึ่งชุมชนที่ทางเจ้าภาพจะพาเพื่อนๆ
ลงไปเรียนรู้ คือ “บ้านโนนหินแร่” ต.หนองทันน้ำ อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ตีนภูขาม
และเป็น ๑ ใน ๑๑ หมู่บ้านที่เป็นสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนภูขาม

กว่าจะมาเป็นเครือข่ายนั้น
ป่าใหญ่ภูขามถูกทำลายลงจนเหลือพื้นที่ป่าแค่ ๒,๖๐๐ ไร่ หลังนโยบายเปิดให้สัมปทานป่า
ปี ๒๕๑๔ ก่อนป่าภูขามจะถูกขีดให้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงขุมคำ เมื่อปี ๒๕๒๕ ผลจากคำประกาศให้ป่าภูขามเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ซึ่งทับที่อยู่ที่ทำกินของชาวบ้านโนนหินแร่ และหมู่บ้านใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่
๓ ตำบล ๒ อำเภอ(กุดข้าวปุ้น, เขมราฐ) ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกและอยู่อย่างผิดกฎหมาย
หนำซ้ำยังถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่นับแต่นั้น แต่ชาวบ้านยังคงขัดขืน

เมื่อกระแสการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นที่นิยม
สถานการณ์การรุกป่าก็รุนแรงขึ้น ก่อนปี ๒๕๔๗ เครือข่ายป่าชุมชนภูขามจึงพูดคุยหารือจริงจัง
เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าภูขามให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายป่าชุมชนดงขุมคำ
และสมาคมป่าชุมชนอีสาน

เมื่อชุมชนขัดขืน
และลุกขึ้นป่าวร้องทวงคืนซึ่งสิทธิอำนาจในการจัดการทรัพยากรจากรัฐ
เส้นทางสู่ชัยชนะถาวรคลับคล้ายยังทอดยาวไกล
ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนภูขามกว่า
๓๐๐ คน จึงยังคงค้นคิดหาคำตอบหลายระดับเป็นทางออกให้กับปัญหา
ระดับครัวเรือน มีความพยายามพึ่งตนเองด้วยการทำเกษตรผสมผสาน
ระดับชุมชนมีการหารือเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหัวไร่ปลายนาขึ้น
ระดับเครือข่ายมีกฎกติกาเพื่อดูแลรักษาป่าให้ได้หาอยู่หากินอย่างยั่งยืนสืบ
ถึงลูกหลาน
ในระดับนโยบายยังเข้าร่วมเคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน
ให้กฎหมายกลับมาคุ้มครองคนอยู่กับป่าให้ได้อีกด้วย

 

พี่แต-สนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการทามมูล
เคยกล่าวไว้ว่า การที่คนเราจะเรียนรู้ได้ต้องเกิดการเปรียบเทียบกันขึ้น
ระหว่างเรากับคนอื่น เรากับสิ่งอื่น จะโดยการพูดคุย การสัมผัส การเห็นจริง การฟัง
การอ่าน หรือวิธีอื่นใดอีกหลายวิธี ก่อนคนเราจะชั่งน้ำหนักหาความเหมาะสมลงตัวของใครมัน
แล้วพัฒนาการต่อยอดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

เช่นกัน การปะทะสังสรรค์กับเพื่อน ผ่านกิจกรรมลงศึกษาชุมชนในครั้งนี้
จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้
ด้วยกระบวนการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของสองชุมชน ทั้งบริบทที่มา
ปัญหา และศักยภาพของชุมชนในการคลี่คลายแล้วสร้างความเข้มแข็ง

ด้วยจิตเจตนาดีต่อความอยากเรียนรู้ของคนหนุ่มสาว
ซึ่งอยู่เบื้องหลังการก่อเกิดกิจกรรมดังกล่าว ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
อันอาจก่อประโยชน์โพธผลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ทั้งต่อคนในชุมชนเอง และตัวคนรุ่นใหม่
เพื่อการต่อยอดเรื่องราวคนทุกข์คนยาก
จนเกิดสำนึกเลือกยืนเคียงข้างความถูกต้องเป็นธรรมให้ได้ในระยะยาว
กิจกรรมการเรียนรู้ดีๆ แบบนี้ จึงสมควรแก่การค้นคิด
กระทำการสืบเนื่องไปเรื่อยๆ ส่วนจะเป็นรูปแบบใด
ชุมชนหรือสภาพปัญหาอะไร และพื้นที่ภาคไหนนั้น
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูความเคลื่อนไหวของพวกเขากันต่อไป

 

เมื่อวันคืนย่างกรายเข้าสู่ฤดูดอกแดดสีฟาง
ลมหนาวปลายปีหวีดหวิว รวงข้าวลู่ระเนน และไม้ดอกหลากสีค่อยๆ คลี่บานขึ้น
เป็นฤดูเดียวกับฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวนา ซึ่งในปีนี้ฤดูน้ำยาวนานกว่าปกติ ข่าวแว่วว่าในช่วงเริ่มลงมือเก็บเกี่ยวข้าว
ท้องทุ่งบางที่มี “เรือ” เป็นอุปกรณ์จำเป็นด้วย หากสมมติน้ำยังคงหลากจนถึงวันจัดกิจกรรม
ชาวบ้านภูขามได้พายเรือเกี่ยวข้าว น้องๆ ที่มีโอกาสลงเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน
ก็คงรู้สึกสนุกดี กับโอกาสมาช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวซึ่งมีแค่ประเดี๋ยวประด๋าว
แต่กับชาวนาคงได้แต่ก่นด่าฟ้าฝน และบ่นกับลมกับทุ่งไปตามประสา….

“อย่าเปลี่ยนแปลงไปนักเลย…วิถีชีวิต”

 

Credit : http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…