Flbz2I602700-02

“จิตอาสา”…คืออะไร…สมัยก่อน ได้ยินแต่คำว่า “อาสาสมัคร” พอมาสมัยนี้…มีคำว่า “จิตอาสา”…

เมื่อกล่าวถึง “อาสาสมัคร” จะมีอีกคำหนึ่งที่มักจะถูกกล่าวถึงควบคู่กันเสมอ นั่นคือ คำว่า “จิตอาสา” ที่นี้มาดูกันว่าคำสองคำนี้ มีความสำคัญและความหมายแตกต่างกันอย่างไร

อาสาสมัคร (Volunteer) 

หมายถึง ผู้ที่สมัครใจและอาสาเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม โดยสมัครใจ เพื่อการดูแล ป้องกัน แก้ปัญหาเพื่อพัฒนาสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด ผลตอบแทนที่อาสาสมัครได้รับคือ ความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ

 คุณลักษณะของอาสาสมัครคือ มีความคิดเป็นอิสระในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ (ตามพรสวรรค์/ความสนใจ) มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และส่วนรวม ไม่หวังรางวัล หรือผลตอบแทนเป็นเงินทอง และไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ ในด้านสภาวะจิตใจของบุคคลที่จะเป็นอาสาสมัครนั้น ต้องมีความรักความปรารถนาที่จะให้ และมีจิตใจที่จะทำความดี เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงยอมเสียสละเวลา โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

จิตอาสา (Volunteer Spirit) 

หมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์ โดยเต็มใจ สมัครใจ อิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ ในการทำกิจกรรม หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อพบเห็นปัญหา หรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดี และเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัวเป็นตนของตนเองลงได้บ้าง

สำหรับ กระบวนการสร้างจิตอาสา ต้องประกอบด้วยการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของจิตอาสา การเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ และการติดต่อสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คุณลักษณะของผู้มีจิตอาสาคือ มุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำงานทุกอย่างเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของอามิส สินจ้าง หรือรางวัล ตลอดจนการอุทิศกาย กำลังใจ และเวลาให้แก่ส่วนรวม

สิ่งที่อาสาสมัคร..พึงมี และถือปฏิบัติคือ

มีความรักมนุษยชาติ ตามหลักพรหมวิหาร 4 และสังควัตถุ 4

หลักพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย

เมตตา : ความรัก ความปรารถนาดีให้ผู้อื่นมีความสุข,

กรุณา : ความสงสาร เห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

มุทิตา : ยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข

อุเบกขา : วางเฉยไม่ลำเอียง

สังควัตถุ 4 ประกอบด้วย

ทาน : การให้ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่

ปิยวาจา : กล่าวด้วยวาจาที่ซาบซึ้ง สุภาพอ่อนหวาน,

อัตถจริยา : ทำดี ประพฤติดี เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

สมานัตตตา : ทำตัวเสมอต้น เสมอปลาย

นอกจากนี้ อาสาสมัคร
ควรจะต้องมีการสื่อสารที่ดี
มีมโนกรรม
คิดดี คิดทางบวก :Positive thinkingมีวจีกรรม (ปิยวาจา)
ฝึกขอบคุณ ฝึกแสดงความยินดี ฝึกให้กำลังใจ
ฝึกชื่นชมผู้ที่มีจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ

 

จิตอาสางานที่เพิ่มค่าความเป็นมนุษย์เรื่องโดย อิสระพร บวรเกิด

ท่ามกลางการบริโภคจนมีแนวโน้มว่ามนุษย์โลกจะต้องแย่งชิงทรัพยากรกันในอนาคตอันใกล้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนเราจะเริ่มหวง ห่วง และตั้งหน้าตักตวงทรัพยากรโลกเพื่อตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านมาแล้วหลายปี โลกได้บอกเราเป็นนัยๆว่า การดำรงชีวิตแบบ “ตัวใครตัวท่าน” ยังไม่ใช่ทางออกและทางรอดอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นเดินสวนกระแส โดยเปลี่ยนจากชีวิตแบบ “เอาแต่ได้” มาใช้ชีวิตแบบ “มีแต่ให้” และวิถีชีวิตเช่นนี้เองที่นับเป็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ที่ทำให้เห็นว่า การแบ่งปันและการให้คือทางออกที่ใช่สำหรับโลกของเราในวันนี้และวันหน้า

จิตอาสาคือยาวิเศษ

แม้คำว่า เมตตา-กรุณา จะบัญญัติไว้ในพจนานุกรมมาเป็นเวลานานแล้ว แต่หลายคนก็เพิ่งจะสัมผัสถึงความหมายที่จริงแท้ของ จิตใจที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข (เมตตา) และ การลงมือช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา) ก็เมื่อคลื่นยักษ์สินามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อราวห้าปีก่อน

แม้ด้านมืดของเหตุการณ์จะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมหาศาล แต่ด้านสว่างของเหตุการณ์ดังกล่าวกลับเผยให้หลายคนมีโอกาสได้รู้จักคำว่า “จิตอาสา” อันเกิดจากการไม่อาจทนเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ เมื่อน้ำทะเลลด สิ่งที่ไหลมาแทนที่คือน้ำใจ อาสาสมัครจำนวนมากต่างสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างแข็งขัน แม้จะต่างถิ่นฐาน ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ทว่าผู้เสียหายเหล่านั้นต่างมีจิตดวงเดียวกันคือ “จิตอาสา”

พระไพศาล วิสาโล ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ จิตอาสา ” ไว้ในหนังสือ เมื่อดอกไม้บานสะพรั่งทั้งแผ่นดินว่า “จิตอาสาคือจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากเกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็นและพลังแห่งความดี”

กล่าวได้ว่า จิตอาสาหรือแห่งการเสียสละเปรียบเสมือนยาวิเศษ ที่ช่วยลดอาการของโรคเห็นแก่ตัว ( selfish ) อีกทั้งยังช่วยลดทอนตัวตนหรืออัตตาของคนเราลงได้เป็นอย่างดี