โครงการธนาคารต้นไม้ก่อเกิดและดำเนินการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน ตั้งแต่ปี 2549 บนพื้นฐานการมองเห็นปัญหาที่แท้จริง ของสังคมชนบทไทย ที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหนี้สิน มากกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีความเชื่อว่าไม่สามารถปลดหนี้ได้หมด ด้วยอาชีพที่ทำกินอยู่ปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อวิตกว่า สุดท้ายแล้วเกษตรกรไทย และคนในชนบทต้องขายที่ดินทำกิน นำเงินไปปลดหนี้ จนกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน  นำไปสู่การบุกรุกป่า และพื้นที่ส่วนรวม หาแหล่งทำกินใหม่ หรือไม่ก็ ผันตัวเองเข้าสู่ทาสแรงงาน ในระบบสังคมบริการและอุตสาหกรรม ทำให้ชนบทซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของชาติล้มลง สู่สภาพสังคมล่มสลาย อันจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมไม่มีที่สิ้นสุด

ธนาคารต้นไม้มีความเชื่อว่าต้นไม้คือกุญแจสำคัญ  เห็นได้จากกาลอดีตชาติไทยเคยมีต้นไม้และป่าไม้มากทำให้ประเทศไทย อุดมสมบูรณ์ มั่นคง มั่งคั่ง แต่พอต้นไม้ และพื้นที่ป่าไม้น้อยลง ชาติไทยเกิดวิกฤติทุกด้าน หากจะทำให้ประเทศไทย ฟื้นคืนอุดมสมบูรณ์ มั่นคง มั่งคั่ง ก็ต้องทำให้ประเทศไทยมีต้นไม้ และป่าไม้มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือภาครัฐไม่มีแรงจูงใจให้ประชาชนปลูกต้นไม้ ธนาคารต้นไม้มีแนวคิด ในการสร้างแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้  โดย การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในที่ดินทำกินของตนเองผสมผสานกับพืชเกษตร ตามแนวทางพระราชดำริการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง แล้วรับรองมูลค่าต้นไม้ขณะที่มีชีวิตให้มีมูลค่า  ภาย ใต้เงื่อนไขการรวมกลุ่มเป็นองค์กรภาคประชาชนลักษณะธนาคารต้นไม้สาขา  จากนั้นจึงนำมูลค่าต้นไม้เสนอให้รัฐรับรองมูลค่า และนำมูลค่าต้นไม้ไปใช้กันรัฐ เช่นการค้ำประกันหนี้สิน แทนที่ดิน ใช้เป็นหลักทรัพย์ ใช้เป็นเงินออม โดยรัฐให้ค่าตอบแทนอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นไม้

การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย รับรองมูลค่าต้นไม้ขณะที่มีชีวิตให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์ จะทำให้เกษตรกร และคนไทยในชนบทได้ใช้ศักยภาพของตนเอง จัดการตนเองเพื่อพึ่งพิงตนเองปลดเปลื้องหนี้สินได้ ทำให้ไม่สูญเสียที่ดิน และคงสภาพสังคมชนบทไว้ได้โดยใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือ ขณะนี้ประชาชนทั่วประเทศให้ความร่วมมือ จนเกิดธนาคารต้นไม้สาขา จำนวน  1,015 สาขา สมาชิก 100,350 คน ปลูกต้นไม้และดูแลรักษาต้นไม้ไปแล้วกว่า 10 ล้านต้น มีองค์กรธนาคารต้นไม้ เป็นเครือข่ายระดับชาติ จากคน 53 จังหวัด และทำการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะ ที่เป็นธรรมกับคนทั้งชาติ

โครงการธนาคารต้นไม้ ผ่านการผลักดันสู่นโยบายรัฐ โดยได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้  ใน สมัยรัฐบาล พล อ.สุรยุทธ  จุลานนท์ เมื่อ วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และ การประกาศนโยบายโดย นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ว่า จะใช้ธนาคารต้นไม้แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คนในชนบท ทั้งรัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการธนาคารต้นไม้เมื่อ วันที่  3 เมษายน  2552

คณะกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติจึงเสนอแผนปฏิบัติงาน โครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อให้รัฐบาลใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือ นำไปเป็นนโยบายในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง อันเป็นการแก้ปัญหาทั้งระยะเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการต่อเนื่องจากเริ่มต้นถึงสิ้นสุด เวลา 10 ปี โดยดำเนินการปีละ 5,000 สาขา ซึ่งเสนอเป็นแผนงาน ที่ธนาคารต้นไม้ 25,000 สาขา สมาชิก 2.5 ล้านรายๆ ละ 700 ต้น ได้ต้นไม้ 1,750 ล้านต้น พื้นที่ 43.75 ล้านไร่ มูลค่าต้นไม้ 1.91 ล้านล้านบาท

ค่าใช้จ่าย ; ค่าตอบแทนร้อยละ 5 ของมูลค่าไม้ จำนวน 506,725 ล้านบาท งบดำเนินการ 16,850 ล้านบาท   รวม 523,123.6 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อต้น 299 บาท ต่อไร่ 11,960 บาท คิดมูลค่าเป็น 3.7 เท่าของค่าใช้จ่าย

ธนาคารต้นไม้เป็นกระบวน ทัศน์ใหม่ในการปลูกต้นไม้ คือการสร้างต้นไม้ที่มีชีวิตให้มีมูลค่า สร้างความเท่าเทียมให้ประชาชน โดยการใช้การสะสมคาร์บอนในต้นไม้เป็นมูลค่ากลาง ประเทศไทยจะเป็นชาติแรกที่เสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาโลกร้อนพร้อมกับสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แก่สังคมไทย จึงเสนอเพื่อเป็นนโยบายรัฐบาลต่อไป หากรัฐบาลตัดสินใจทำ โลกและมนุษยชาติจะลุกขึ้นสรรเสริญ

คณะ กรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติ