คำนิยม

มนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาความสุข การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมทั้งหมดของเราล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาความ สุข แต่คนส่วนใหญ่นั้นเข้าใจว่าที่มาแห่งความสุขนั้นอยู่นอกตัว ต่อเมื่อมีเงินทอง ได้เสพรสอร่อย ได้ครอบครองโภคทรัพย์ ได้รับคำสรรเสริญ จึงจะมีความสุข ดังนั้นจึงพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อได้สมปรารถนาแล้วก็มีความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยาม จากนั้นก็ต้องเริ่มต้นไล่ล่าหาใหม่อีก ระหว่างนั้นจิตใจก็เร่าร้อนเป็นทุกข์ ยังไม่ต้องพูดถึงความทุกข์ในกรณีที่ได้ไม่สมอยากหรือได้ไม่ทันอยาก

กล่าวได้ว่าความทุกข์ของคนทุกวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการดิ้นรนแสวงหาความ สุขที่คิดว่าอยู่นอกตัว ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วความสุขมีอยู่แล้วที่ใจเรานี้เอง เราสามารถสัมผัสกับความสุขดังกล่าวได้หากเพียงแต่ทำใจให้นิ่งสงบ ปลอดจากความคิดฟุ้งซ่าน ความสุขยังเกิดขึ้นกลางใจในยามที่เราทำความดี ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น รวมทั้งในยามที่ทำสิ่งยากให้สำเร็จ โดยไม่จำต้องมีสิ่งใหม่มาปรนเปรอตน เราก็มีความสุขได้ไม่ยากหากรู้จักชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่เรามีอยู่ จะว่าไปแล้วแม้ประสบความทุกข์ยากลำบาก ใจก็ยังเป็นสุขได้หากรู้จักมอง เช่น นึกถึงคนที่เดือดร้อนกว่าเราหรือยอมรับว่ามันเป็นธรรมดา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขนั้นอยู่ที่ทัศนคติและการวางใจของเรายิ่งกว่าอะไรอื่น

โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา คือการเข้าถึงความสุขจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้โดยเห็นว่าทัศนคติอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ ๑) การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง ๒)การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว ๓) ความเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอยคอยโชค และ ๔)การรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล อันที่จริงทัศนคติทั้ง ๔ มีที่มาจากหลักธรรมทางพุทธศาสนานั้นเอง อีกทั้งเป็นสิ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังจากคำสอนของครู พระสงฆ์ นักบวชและผู้รู้ทางศาสนามาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้ง ๆ ที่มีการสอนเรื่องนี้มาช้านาน แต่เหตุใดทัศนคติดังกล่าวจึงไม่ซึมซับลงไปในจิตใจของผู้คนหรือก่อให้มีการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนก็ยังไขว่คว้าหาความสุขจากวัตถุ จนถึงกับแข่งขันแย่งชิงกัน จนละเลยความสุขที่มีอยู่แล้วในใจตน

คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ทุกวันนี้เราเน้น “การสอน” มากกว่าการส่งเสริม“การเรียนรู้” ผลก็คือทั้งๆ ที่มีการพรํ่าสอนมากมายแต่การเรียนรู้เกิดขึ้นกับนักเรียน เยาวชน และคนทั่วไปน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและพฤติกรรมเลย ตราบใดที่เรายังคงละเลยกระบวนการเรียนรู้ การสอนหรือการศึกษาทั้งหลายย่อมสัมฤทธิผลได้ยาก จุดเน้นหนักของโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา จึงมิได้อยู่ที่การพยายามเผยแพร่ทัศนคติทั้ง ๔ ประการผ่านการสอน การบรรยายหรือผ่านสื่อดังที่นิยมกระทำกัน แต่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จนประจักษ์ด้วยตนเองถึงคุณ ค่าของทัศนคติ ๔ประการ จะทำเช่นนั้นได้ “กระบวนการเรียนรู้” เป็นสิ่งสำคัญมาก

ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาได้พยายามพัฒนาและนำเสนอกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริม สร้างทัศนคติดังกล่าว โดยมีโครงการมากกว่า๑๕๐ โครงการทั่วประเทศมาร่วมเรียนรู้และทดลองกับเราด้วย โครงการเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเล็กๆ ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ เยาวชนคนพิการ ชาวบ้าน หลายโครงการพบว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์จริง รวมทั้งการทำงานแบบจิตอาสา โดยมีกระบวนการกลุ่มเป็นตัวรองรับ และมีการถอดบทเรียนที่เอื้อให้มีการย้อนมองตนและทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา นั้น สามารถเสริมสร้างทัศนคติทั้ง ๔ ประการและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ แม้ประสบการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันก็คือ แต่ละคนมีความสุขมากขึ้นและเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากใจของตน

ประสบการณ์ของ ๑๕๐ โครงการตลอด ๓ ปี เป็นประสบการณ์ที่ลํ้าค่ามากที่ไม่เพียงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้สนใจเท่า นั้น หากยังอุดมด้วยวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยว กับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและเข้าถึงความสุขภายใน ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาได้มีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผลก็คือหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นคู่มือสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประโยชน์สำหรับ ผู้คนในแวดวงต่าง ๆ

หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือที่ไม่เหมือนกับคู่มือทั่ว ๆ ไป เพราะนำพาผู้อ่านไปรู้จักกับการปลูกต้นไม้ทุกแง่ทุกมุม ราวกับจะเป็นคู่มือปลูกต้นไม้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า การปลูกทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุขใจนั้น ไม่ได้ต่างจากการปลูกต้นไม้เลย เพราะเป็นกระบวนการที่อิงกฎธรรมชาติเหมือนกัน แม้เหตุปัจจัยจะต่างกันแต่ก็อาศัยกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผลคล้ายๆ กัน ใช่แต่เท่านั้น การอุปมาโดยมีการปลูกต้นไม้เป็นตัวเปรียบ ยังช่วยให้เข้าใจกระบวนการปลูกทัศนคติและความสุขได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าผู้ที่อ่านและใช้คู่มือเล่มนี้ จะมีฉันทะในการปลูกต้นไม้มากขึ้นเป็นผลพลอยได้ ซึ่งย่อมช่วยให้ผู้ปลูกมีความสุขและช่วยให้โลกนี้งดงามขึ้นด้วย

คุณสุวรรณนภา คำไร เป็นผู้ที่เกาะติดอยู่กับโครงการสุขแท้ด้วยปัญญามาตลอด ๓ ปี ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ของโครงการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การอบรม ติดตามผล เป็นพี่เลี้ยง ถอดบทเรียน และประเมินผลในภาพรวม อีกทั้งได้สัมผัสความเป็นจริงในพื้นที่หลายจังหวัดที่ดำเนินโครงการย่อยต่าง ๆ เธอได้มีโอกาสสนทนาและเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมเป็น จำนวนไม่น้อย ข้อมูลมากมายที่เธอเก็บเกี่ยวนั้นช่วยให้หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างที่เห็น ได้ชัด ขณะเดียวกันวิธีการต่างๆ ที่นำเสนอในคู่มือก็มีรายละเอียดที่ปฏิบัติได้และเป็นรูปธรรม โดยครอบคลุมทุกขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้ไปตั้งแต่เริ่มวางแผนจนถึงการ ติดตามผลและหนุนเสริมให้เกิดผลที่ยั่งยืน ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ เธอเป็นคนรักต้นไม้และเป็นนักวาด จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และสามารถเป็นคู่มือที่ใช้จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองสำหรับ กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว โครงการสุขแท้ด้วยปัญญายังได้จัดทำหนังสืออีกเล่มหนึ่งควบคู่กัน คือ เปลี่ยนเป็นสุข : ประสบการณ์ ๓๐ ชีวิตบนเส้นทางสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการเรียนรู้ที่โครงการ สุขแท้ด้วยปัญญาให้การสนับสนุนในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา หากท่านอยากรู้เพิ่มเติมว่ากระบวนการเรียนรู้ที่พูดถึงในหนังสือปลูกความสุข กลางใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรแก่ผู้เข้าร่วม เปลี่ยนเป็นสุข สามารถให้คำตอบแก่ท่านได้

พระไพศาล วิสาโล
๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

ผู้แต่ง สุวรรณนภา คำไร
จัดพิมพ์โดย เครือข่ายพุทธิกา
พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๔

ที่มา http://www.visalo.org/prefaces/plookSook.htm