มองให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา

สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓

มองให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา

พิธีกร คนไทยควรจะทำใจอย่างไรในสถานการณ์ขณะนี้

พระไพศาล อยากจะให้มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมดาของโลก เป็นธรรมดาของบ้านเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางความเชื่อหรือเพราะผลประโยชน์ขัดแย้งกันก็ตาม ยิ่งในระบบประชาธิปไตยด้วยแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องขัดแย้งกัน แต่ตราบใดที่ยังใช้วิธีการที่สันติ ทั้งสองฝ่ายคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมก็อยู่ในสันติวิธี ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทุกข์ร้อนอะไร เราก็จับตาดูไป อะไรที่เห็นว่าดีก็ควรสนับสนุน อะไรที่เห็นว่าไม่ดีก็ควรแนะนำตักเตือน

อาตมาคิดว่าในแง่ของชาวพุทธควรจะมองทุกฝ่ายว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ทุกคนก็รักสุขเกลียดทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่าไปมองเป็นฝักเป็นฝ่าย อย่าไปมองคนที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู การมองแบบนี้จะไม่ใช่แค่ช่วยเราเท่านั้น แต่ยังช่วยบ้านเมืองไม่ให้อยู่ในความรุ่มร้อนด้วย ตอนนี้ถ้าหากว่าเราไม่มีสติรักษาใจ ความโกรธความเกลียดก็ครอบงำใจเราได้ง่าย จะทำให้ใจเราร้อน อากาศร้อนอย่างเดียวไม่พอ ถ้าใจเราร้อนก็พลอยระบายความร้อน ความหงุดหงิด ความเครียดใส่ลูก ใส่ครอบครัว ใส่เพื่อนๆ กลายเป็นว่าเพิ่มความร้อนแรงให้บ้านเมืองหรือบรรยากาศรอบข้างมากขึ้น อาตมาคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องวางใจให้ถูก ส่วนจะมีช่องทางอะไรที่เราจะช่วยแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ก็ช่วยกันทำ อย่าไปทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้นในบ้านในเมือง หรืออย่างน้อยๆ ก็ในจิตใจของเรา อาตมาคิดว่านี่เป็นสิ่งแรกที่เราควรจะทำ

พิธีกร ได้ทราบว่าพระคุณเจ้าช่วยจัดตั้งเครือข่ายสันติวิธี ไม่ทราบว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร

พระไพศาล ที่เราพยายามทำก็ช่วยเตือนสติทุกฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปด้วย อย่างน้อยผู้ที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งคือประชาชนทั่วไปก็อยากให้มีสติ มีความอดทนและถ้าเสียงของเราดังไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมด้วยก็ยิ่ง ดีไปใหญ่ อาตมาคิดว่าตราบใดที่ทุกฝ่ายยังใช้สันติวิธีกันอยู่ มีสติ มีความอดกลั้น คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลักก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างก็เป็นธรรมดาของการชุมนุม แต่หวังว่าจะไม่มีความรุนแรง

พิธีกร อยากทราบว่าเครือข่ายสันติวิธีได้ทำอะไรบ้างในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

พระไพศาล อย่างแรกก็คือการทำกิจกรรมเพื่อเตือนสติผู้คนให้มั่นคงในสันติวิธี เรามีกิจกรรมตั้งแต่วันที่ ๑๓ (มีนาคม) เรามีภาวนาเพื่อสันติภาพ บิณฑบาตความรุนแรงที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา คือ ๑ วันก่อนการชุมนุม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมบิณฑบาตความรุนแรง เรานิมนต์พระหลายท่านเพื่อมาโปรดญาติโยม หลังจากนั้นเราก็มีกิจกรรมโดยเฉพาะที่ลานหน้าหอศิลปะกรุงเทพมหานคร มีการจุดเทียนสันติภาพเมื่อวานซืน (๑๕ มีนาคม) เมื่อวานก็มีรายการทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการเปล่ง เสียงว่าเราไม่เอาความรุนแรง

อีก กิจกรรมหนึ่งที่เราทำในพื้นที่คือมีอาสาสมัครที่ชื่อว่าสันติอาสาสักขีพยาน หมายความว่าเป็นผู้ที่จะเป็นพยานในเหตุการณ์เพื่อดูว่าความจริงเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเวลาเกิดการกระทบกระทั่งกัน สิ่งที่เป็นปัญหาเวลาที่กระทบกระทั่งกันก็คือ ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือข่าวลือ อาสาสมัครก็ไปทำหน้าที่สื่อสารความจริงให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งแนะนำให้กับทั้งสองฝ่ายว่ามีอุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรบ้างที่อาจทำให้ เกิดความรุนแรงขึ้นมา แล้วก็ทำรายงานถึงทั้งสองฝ่ายที่เราติดต่อกันอยู่เพื่อให้เขารักษาการชุมนุม หรือการทำหน้าที่ให้อยู่ในสันติวิธี เพราะบางครั้งมีความผิดพลาดเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจทั้งสองฝ่าย เราจะแจ้งให้แต่ละฝ่ายรู้ว่ามีความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องเกิดขึ้น อันนี้เป็นหน้าที่ของสันติอาสาสักขีพยาน ซึ่งจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่จะทำหน้าที่ยืนอยู่บนข้างความจริงแล้วก็ทำความจริงให้ปรากฏให้เป็น ประโยชน์ เพื่อรักษาสันติและความสงบสันติให้เกิดขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้

พิธีกร พระอาจารย์คะในกลุ่มผู้ชุมนุม เราเห็นมีพระสงฆ์ไปร่วมชุมนุมกันเยอะมาก พระอาจารย์ก็มาช่วยดูในเรื่องสันติวิธี ขณะที่พระสงฆ์ซึ่งอาจจะเห็นพ้องกับพวกชุมนุมก็มาร่วมกิจกรรมตรงนั้น มองกันตามวินัยสงฆ์หรือแนวปฏิบัติพระอาจารย์มีความเห็นตรงนี้อย่างไรบ้าง

พระไพศาล ถ้าพระสงฆ์ไปเพื่อเตือนสติผู้คนให้ไม่ลุแก่โทสะ ให้อยู่ในสันติธรรม มีเมตตากรุณา ไม่โกรธเกลียดผู้ใดผู้หนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าท่านไปฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใดก็ไม่น่าจะถูกต้องเพราะว่า จะทำให้ท่านสูญเสียความเป็นกลาง ความเป็นกลางในที่นี้ไม่ใช่ลอยตัวไม่ทำอะไร แต่หมายถึงความสามารถที่จะชี้ผิดชี้ถูกได้ เป็นกลางโดยยืนอยู่บนความจริง ยืนอยู่บนธรรมะ ถ้ามีความผิดพลาดไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ก็จะได้ตักเตือน แต่ว่าจะตักเตือนได้พระต้องเป็นกลาง เหมือนกับกรรมการในสนามกีฬา ที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องฟัง หรือต้องเชื่อว่ากรรมการเป็นธรรมถึงจะรับฟังกรรมการ กรรมการจึงจะสามารถตักเตือนได้ ถ้ากรรมการไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว เกมกีฬานั้นก็อาจกลายเป็นความรุนแรงขึ้นมาได้ อย่างเช่นที่เกิดการตีกันที่สนามฟุตบอลเมื่อเดือนที่แล้วก็เพราะมีคนเชื่อว่ากรรมการไม่เป็นกลาง อาตมาคิดว่าความเป็นกลางของพระสงฆ์จะมีส่วนช่วยในการทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามเป็นความรุนแรงได้ แต่ถ้าพระท่านสูญเสียความเป็นกลาง การที่จะช่วยตักเตือนไม่ให้เกิดความรุนแรง ก็อาจจะทำได้ยาก ถ้าวางตัวไม่ถูกก็อาจผู้ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นก็ได้ นี่เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ที่อยู่ในที่ชุมนุมพึงพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สถานการณ์ไม่รุนแรงหรือเป็นสันติ อาตมาคิดว่าควรอยู่ในดุลพินิจของท่านเอง

พิธีกร เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ผู้คนจับจ้องมองดู ที่เชียงใหม่ซ้ำร้ายพระสงฆ์หิ้วเลือดไปเองด้วย อันนั้นก็เหมือนไม่เป็นกลางแล้ว

พระไพศาล ก็ต้องระวังเพราะว่าเอาความชอบความชังนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่พุทธศาสนาก็เน้นย้ำว่าอย่าให้อัตตาธิปไตยเป็นใหญ่หรือว่ามากลบ ธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยคือความถูกต้อง อัตตาธิปไตยพูดง่ายๆ ก็คือความถูกใจ ถ้าเราเอาความถูกใจเป็นใหญ่ก็จะสูญเสียความถูกต้องไป ก็ต้องระวัง

พิธีกร ทุกวันนี้ชาวพุทธในประเทศไทยหลักธรรมน้อยไปหน่อยไหมคะ หรือธรรมะในใจน้อยไปหน่อยหรือคุณธรรมในใจไม่ค่อยมีหรือเปล่าคะ ที่มันเป็นปัญหา

พระไพศาล อันนี้มันเป็นปัญหาของทุกที่ทุกศาสนาก็ว่าได้ คือว่าคนเรามักติดอยู่กับเปลือกนอกคือพิธีกรรม หรืออย่างดีก็ไปถึงแค่การให้ทาน พุทธศาสนามีธรรมะหลายระดับ เริ่มจากทานแล้วก็ไปศีล แล้วก็ภาวนา หรือบางทีก็แยกเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราไปติดอยู่ที่ศาสนพิธีไปไม่ถึงศาสนธรรมก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ คือการดำเนินชีวิตหรือการปฏิบัติของผู้คนก็อาจจะฉาบฉวยและไม่มีธรรมะในใจเพราะว่าไปติดอยู่ที่ศาสนพิธี ถ้าเกิดว่าเราเข้าถึงศาสนธรรมได้ เราก็เกิดความสุขใจ ผู้คนที่อยู่รอบข้างก็มีความสุขใจไปด้วย

นี่เป็นเรื่องของการศึกษาด้วย ทั้งการศึกษาในโรงเรียน นอกโรงเรียน และการศึกษาในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างหลังสำคัญมากคือการเลี้ยงดู ถ้าการเลี้ยงดูไม่เข้มแข็งก็จะทำให้เข้าถึงศาสนธรรมลำบาก คือคนสมัยก่อนไม่ใช่ว่าเข้าวัดกันบ่อย แต่ว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปวัดแล้วกลับมาบ้านก็ถ่ายทอดให้ลูกหลานฟัง ผ่านนิทานบ้าง ชาดกบ้างก็จะทำให้คนเข้าถึงศาสนธรรมได้ บางทีอาจจะไล่ศีล ๕ ไม่ถูกว่ามีอะไรบ้าง แต่ว่าการปฏิบัติก็เป็นไปตามหลักศีล ๕ เพราะการเลี้ยงดูที่เป็นการสื่อให้ธรรมะจากวัดกระจายมาสู่บ้าน

ภาพสะท้อนความเจ็บป่วยของสังคม

พิธีกร พระจะช่วยได้มากไหมคะให้ลักษณะสังคมในบ้านเรา

พระไพศาล คือตอนนี้ต้องยอมรับว่าวัดกับบ้านห่างกัน สมัยก่อนวัดกับบ้านใกล้กันชาวบ้านไปวัดแล้วก็เอาธรรมะกลับมาสอนลูกหลาน ลูกหลานอาจจะห่างวัด แต่พ่อแม่ก็เอาธรรมะมาสู่ลูกหลาน ตอนนี้พระก็พยายามดึงคนเข้าวัด แต่ดึงโดยอาศัยพิธีกรรม โดยอาศัยวัตถุมงคลเป็นเครื่องล่อให้คนเข้าวัด แต่พอคนเข้าวัดแล้วก็ติดอยู่กับวัตถุมงคลเข้าไม่ถึงศาสนธรรม ไปได้แค่ศาสนพิธี ก็ต้องมีการปรับปรุงบทบาทของพระหรือของวัดเพื่อให้เป็นไปในแนวรุก แต่แนวนี้ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นแกน

เรื่องนี้อาตมาคิดว่าพระไทยยังไม่ชำนาญ เพราะว่าในช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมาเราถนัดแต่ให้ชาวบ้านมาหาพระที่วัด แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่เข้าวัดแล้ว พระก็ต้องปรับบทบาทถ้าเขาไม่เข้าวัดเราก็ต้องออกไปหา ต้องใช้สื่อใช้กิจกรรมต่างๆ ดึงคนเข้าวัด เดี๋ยวนี้ก็มีการนิมนต์พระไปเทศน์ตามห้างสรรพสินค้า ตามห้างร้าน อาตมาว่าเป็นเรื่องดี แต่ว่าอย่านึกถึงพระอย่างเดียวเวลาพูดถึงพุทธศาสนา พูดถึงญาติโยมด้วย อันนี้ก็เป็นแง่ดีว่าเดี๋ยวนี้ญาติโยมหันมาสนใจธรรมะ มาปฏิบัติกรรมฐานกันมากขึ้น อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

พิธีกร แต่ว่าหลายๆ เรื่องเป็นไปในเชิงพิธีกรรม เพราะว่าถ้าดูกันในเรื่องของความขัดแย้งวันนี้ ผ่ากันไปลึกๆ มันเป็นเรื่องของบุคคล อาจจะคาดไม่ถึง หรือว่าตัวบุคคลที่จะพิจารณาไปถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

พระไพศาล อันนี้เป็นเรื่องจริง คือเป็นเรื่องของการศึกษา เวลาอาตมาพูดถึงการศึกษาไม่ได้หมายถึงโรงเรียนอย่างเดียว อาตมาหมายถึงการกล่อมเกลา หรือการเรียนรู้ของคนในสังคมซึ่งอาจจะผ่านทางสื่อมวลชนก็ได้ ผ่านทางครอบครัวก็ได้ ซึ่งตอนนี้อ่อนแอมาก ทำให้เกิดทัศนคติบริโภคนิยม หรือทัศนคติที่อยากรวย อยากสำเร็จแต่ไม่อยากลงมือทำความเพียร นิยมทางลัด อันนี้เป็นปัญหาของคนไทยมาก คือเราไม่ค่อยเชื่อมั่นความเพียรของตัวเรา เราชอบใช้ทางลัด การที่คนเราเข้าหาอบายมุข การพนัน การคอรัปชั่นก็ดี ทั้งหมดนี้ก็เพราะเชื่อว่าเป็นทางลัดไปสู่ความรวยเร็ว หรือแม้กระทั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เฟื่องฟูในหมู่คนไทยมากเวลานี้ก็เพราะเราต้องการรวยแต่ไม่ต้องเหนื่อย อันนี้เป็นวัฒนธรรมในปัจจุบัน ที่อาตมาเรียกว่าวัฒนธรรมบริโภคนิยม ที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยพึ่งความเพียรของตัว

อาตมาคิดว่าส่วนหนึ่งมันเป็นผลจากระบบหรือโครงสร้างสังคมด้วย เวลาคนไม่ค่อยขยัน เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบเข้าทำงานก็ไม่ค่อยอ่านหนังสือ เพราะหวังพึ่งเส้นสาย เดี๋ยวนี้จะเข้าไปมีตำแหน่งหรือมีงานทำต้องมีเส้นมีสาย พยายามเท่าไร ถ้าไม่มีเงินหรือไม่มีเส้นก็เข้าไม่ได้ แม้แต่ตำแหน่งผู้กำกับถ้าไม่มีเงินไม่มีเส้นก็ย้ายไม่ได้ ถึงจะเสียสละอย่าง พ.ต.อ. สมเพียรซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งว่าเสียสละอย่างไรก็ไม่เจริญถ้าไม่มีเงินไม่มีเส้น

นี่เป็นระบบที่เกิดขึ้นทุกวงการไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ การศึกษา การเมือง อาจจะรวมไปถึงในวัดด้วย ระบบนี้ไม่ทำให้คนพึ่งความเพียรหรือว่าใฝ่ดี แต่จะแสวงหาเฉพาะเส้นสายหรือเงินทอง ดังนั้นต้องไปแก้ที่ระบบด้วย แก้ที่ตัวบุคคลอย่างเดียวคงไม่พอ

พิธีกร ดิฉันคุยกับเพื่อนว่าคนไทยสมัยนี้เป็นอะไร ง่ายไปหมดแล้วก็เชื่อไปหมด

พระไพศาล ใช่ ที่เชื่อง่ายเพราะว่าเราไม่ได้ถูกฝึกมาให้ใช้ความคิด เพราะว่าคิดมากก็ปวดหัว อ่านหนังสือมากๆ ก็ปวดหัว ผู้คนมักจะพูดว่า จะให้ทำอะไรก็บอกมา ขี้เกียจคิดแล้ว อาตมาคิดว่านี่เป็นความง่ายเข้าว่า ซึ่งก็เกิดมาจากที่เราไม่ได้ถูกฝึกมาให้รู้จักใช้คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราคุ้นกับระบบที่มีการสั่งกันมาเป็นทอดๆ เรียกว่าเป็นระบบอำนาจนิยม คือใช้อำนาจ ใครมีอำนาจกว่าก็สั่งเอา เริ่มจากพ่อแม่สั่งลูก พี่สั่งน้อง ครูสั่งนักเรียน เจ้านายสั่งลูกน้อง เป็นอย่างนี้เพราะระบบราชการเป็นตัวอย่าง เช่น ผู้อำนวยการก็สั่งครู รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง ถ้ารุ่นน้องขัดขืนก็จะถูกรุ่นพี่ซ้อม รุ่นพี่รังแกได้ เรียกว่าระบบโซตัส มันเป็นระบบอำนาจนิยม ที่แพร่หลายซึมลึกในเมืองไทย

ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราไม่ค่อยใช้ความคิดกัน อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่าทุกวันนี้มันเป็นระบบเงินและเส้นสาย เส้นสายก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ ใครมีเส้นสายมากก็คือผู้ที่อยู่ข้างบนหรือมีตำแหน่งสูงก็จะมีอำนาจมาก คนที่อยากจะใหญ่โตก็ต้องยอมรับเส้นสายนี้ ต้องยอมรับผู้ที่มีอำนาจมากกว่าถึงจะเจริญได้ ในระบบอย่างนี้จะคิดไปทำไม ขยันไปทำไม เก่งแค่ไหนก็ไม่เจริญ ยอมตามเขาไปดีกว่า ประจบประแจงดีกว่าเดี๋ยวก็เจริญเอง

พิธีกร สุดท้ายตรงนี้คนไทยควรจะทำอย่างไรกับสถานการณ์อย่างนี้

พระไพศาล อย่างแรกที่ควรทำก็คือมีสติ อย่ามองเพื่อนร่วมชาติเป็นศัตรู อันนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมืองตอนนี้ ขณะเดียวกันอาตมาก็อยากให้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออาการที่สะท้อนถึง ความป่วยไข้ของสังคม เป็นความป่วยไข้ในระดับโครงสร้างและวัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่แค่นายก. ทะเลาะกับนายข. นายก.มีพวกมาก นายข.มีพวกมาก ก็เลยเอาพลพรรคมาปะทะกัน มันเป็นเรื่องของความป่วยไข้ทางสังคม ทางวัฒนธรรมและทางโครงสร้าง เช่น มีความไม่เป็นธรรมในสังคม มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันมากระหว่างเมืองกับชนบท คนรวยคนยากจน จึงทำให้คนไทยเวลานี้แบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย มองประชาธิปไตยและผู้นำที่ปรารถนาไม่เหมือนกัน บางคนมองว่าผู้นำต้องแจกเงิน คอรัปชั่นไม่เป็นไร แต่ขอกระจายเงินไปสู่ประชาชนก็แล้วกัน บางคนบอกว่าประชาธิปไตยต้องมีผู้นำที่ดีที่ซื่อสัตย์สุจริต อ่อนแอบ้างไม่เป็นไร นี่เป็นตัวอย่างของการมองประชาธิปไตยแตกต่างกัน มองผู้นำต่างกันเพราะว่าในสังคมมีความแตกแยกกัน ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างนี้ด้วย อาตมาอยากให้มองปัญหาโดยสาวหาถึงต้นเหตุในลักษณะนี้ด้วย อย่าไปมองแค่เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่งั้นเราจะแก้ปัญหาไม่ได้เลย หมดปัญหานี้เดี๋ยวก็มีปัญหาใหม่คือมีการชุมนุมประท้วงกันต่อ

พิธีกร พระอาจารย์เคยพูดถึงกาลามสูตร

พระ อาจารย์ กาลามสูตรเป็นหลักเตือนเราว่าอย่าหลงเชื่อง่ายๆ กาลามสูตรเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนพวกกาลามะ ๑๐ ข้อ อาตมาจัดได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ อย่าไปเชื่อเพียงเพราะว่าคนส่วนใหญ่เขาเชื่อกันอย่างนั้น คนรอบตัวเขาว่าอย่างนั้น เขาลือกันอย่างนั้น เขาทำกันมาอย่างนั้น สองอย่าไปเชื่อเพราะว่าแหล่งที่มาของข่าวน่าเชื่อถือ จะเป็นหนังสือ ตำรา ครูบาอาจารย์ หรือเป็นคนที่มีลักษณะน่าเชื่อถือ ก็อย่าไปเชื่อเพียงเท่านั้น และสาม อย่างปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับความคิดของเรา เราเห็นคนนี้เลว พอมีข่าวว่าคนนี้เลว เราก็เชื่อทันทีเพราะมันเข้าได้กับความเชื่อของเราอยู่แล้ว อย่าเชื่อแม้กระทั่งว่าสมเหตุสมผล สมเหตุสมผลก็ยังเชื่อไม่ได้ บางทีมันอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ต้องใช้ความไตร่ตรอง อย่าเชื่อง่าย การใช้หลักกาลามสูตรอาจจะทำให้เราต้องเหนื่อยหน่อย เพราะว่าต้องคิดด้วยตัวเอง แต่จะทำให้เราไม่เป็นเครื่องมือของใคร และจะทำให้เราตั้งมั่นอยู่บนความจริงความถูกต้องได้ ไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นเหยื่อของผู้คน เป็นเหยื่อของความคิดของเราเอง ความคิดของเราถ้าไม่รู้จักทักท้วงก็พาเราเข้ารกเข้าพงได้ ทิฏฐุปาทานหรือความยึดติดในความคิดของตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องระวัง พุทธศาสนาสอนว่าอย่าหลงเชื่อแม้กระทั่งความคิดของเรา

พิธีกร เป็นหลักที่สอนให้คนระแวงกันไหมคะ

พระไพศาล ไม่หรอก มันช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปด่วนเชื่อ เช่น เราไปเห็นแฟนเราคุยกับเพื่อนต่างเพศ เราก็สรุปไปแล้วว่าแฟนไม่ซื่อสัตย์ ถ้าเราหลงเชื่อข้อสรุปนี้เราก็อาจเกิดปัญหากับแฟนได้ เขาอาจจะไม่ได้นอกใจ แค่คุยเรื่องงานการกับเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเพราะเราด่วนสรุป การที่แฟนเราอยู่กับชายหนุ่ม รูปลักษณะอาการมันเหมือนเขานอกใจ แต่ว่าความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น สิ่งที่เราเห็นกับความเป็นจริงอาจจะไม่เหมือนกัน เราต้องรู้จักทักท้วงความคิดของเรา ไม่ได้ทักท้วงใคร ไม่ได้ระแวงใคร แต่ต้องรู้จักสอบหาความจริง ต้องไปถามเขา ต้องไปถามผู้เกี่ยวข้อง การที่เราไม่ด่วนสรุปทำให้เราใช้ดุลยพินิจมากขึ้น และมีสติ

พิธีกร นี้เป็นประเด็นอันหนึ่งที่ว่าคนสมัยนี้เชื่อง่ายบอกอะไรก็เชื่อไปหมด

พระไพศาล ถ้าเรามีศรัทธามาก ถ้าเราหูเบา ก็เชื่อง่าย เราต้องหูหนักและปากเบา หูหนักคืออย่าไปเชื่อง่าย ปากเบาคือชอบถาม มีอะไรก็อย่าไปเชื่อก่อน ให้ถาม ถามว่ามันเป็นอย่างไร เราไม่ค่อยถามกัน ใครลืออะไรมาก็เชื่อเลย นี่เป็นเรื่องหูเบา เราต้องหูหนักและปากเบา ปากเบาไม่ใช่พูดบ่นไปเรื่อย แต่ต้องรู้จักถามบ้าง

ที่มา http://www.visalo.org/columnInterview/peace530317.htm