ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)
ฉบับที่ 102 (14 มกราคม 2554)

สมัชชาแรงงาน : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม  2554 เวลา 08.30-17.00 น. คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ร่วมจัดสมัชชาแรงงาน ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน “ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส” ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งให้เกิดการการผลักดันระบบประกันสังคมให้เป็นวาระ ทางสังคมและเป็นนโยบายสาธารณะ โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และร่วมรณรงค์สร้างการเรียนรู้เพื่อแสวงหาจุดร่วมในการสร้างสังคมสวัสดิการ ในอนาคตตามประกาศนโยบายรัฐบาลที่สังคมไทยจะเป็นสังคมสวัสดิการทั่วหน้าในปี 2560 มีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษเรื่อง ปฏิรูปประกันสังคม กับคุณภาพชีวิตแรงงาน คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานคือการมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ และการมีระบบประกันสังคมที่มั่นคง มีการบริหารจัดการที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระ  การปฏิรูปประกันสังคมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานและภาคประชาสังคมทุกส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องการเห็น แรงงานมีสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจากการติดตามระบบประกันสังคมมา คิดว่าวันนี้จำเป็นต้องปฏิรูปเพราะสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น จะไปหวังพึ่งแรงงานราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยแข่งขันด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็หมายถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของผู้ใช้แรงงานจะ ต้องดีขึ้นด้วย และไม่ควรมองว่า ค่าใช้จ่ายจากแรงงานเป็นต้นทุน แต่ให้มองเป็นคุณภาพที่จะเป็นกำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ทั้งนี้ตนเองพร้อมรับข้อเสนอจากผู้ใช้แรงงานทั้งเรื่องการขยายการครอบคลุม ด้านประกันสังคม เรื่องความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม อย่างไรก็ตามในด้านการบริหารจัดการจะต้องเน้นหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม และมีความเป็นอิสระ ก่อนหน้านี้ก็มีแนวคิดจะปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม แต่สาเหตุที่ยังไม่แก้ไข เพราะการปรับโครงสร้างดังกล่าวไม่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นอิสระของกองทุนได้ แต่ขอยืนยันจะผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานได้ยื่นเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคมต่อนายก รัฐมนตรี 5 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ สอง ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตน มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร และบริหารโดยมืออาชีพ สาม ให้ครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและยั่งยืน สี่ ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีสิทธิเข้ารักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมได้ทุกแห่งทั่ว ประเทศ ห้า ขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคม และให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ต่อมามีการเสวนาเรื่อง ทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตคนทำงานทุกภาคส่วน นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย เครือข่ายแรงงานในระบบ กล่าวว่า ลูกจ้างในสถานประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมมักประสบปัญหาได้รับยาและ การบริการทางการแพทย์ที่ด้อยกว่ามาตรฐาน  มีข้อยกเว้นหลายโรค  ส่วนลูกจ้างในระบบเหมาช่วง  เหมาค่าแรง ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ  ระบบประกันสังคมจึงควรต้องขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุม และปรับปรุงสิทธิประโยชน์และการบริการให้มีคุณภาพ เป็นธรรมต่อผู้จ่ายเงินประกันตน

นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมต้องครอบคลุมไปยังแรงงานทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม เช่น ลูกจ้างในภาคเกษตร ลูกจ้างในครัวเรือน เช่น คนขับรถ คนสวน คนรับใช้ในบ้าน และแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ผู้รับงานทำที่บ้าน  กลุ่มอาชีพอิสระ  ค้าขายหาบเร่  ขับแท็กซี่  ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง งานบริการต่างๆ  เป็นต้น โดยรัฐบาลต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เป็นธรรมและสอด คล้องกับบริบทการจ้างงานของแรงงานนอกระบบ

นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต สิทธิประโยชน์และกระบวนการเข้าถึงสิทธิจะต้องมีการปรับและพัฒนาให้เหมาะสม กับการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อความเจ็บ ป่วยจากการทำงาน การจ่ายเงินซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอีก 5 % ของเงินเดือนทุกเดือนนอกเหนือไปจากแต่ละปีที่ต้องจ่ายค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และบัตรประกันสุขภาพ 1,300 บาท ถือเป็นภาระหนักและไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของไทยยังไม่เป็นธรรม เพราะข้าราชการและบัตรทองรัฐบาลออกให้หมด แต่ประกันสังคมผู้ประกันตนออกเอง และการใช้เงินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ระบบปัจจุบันได้น้อยกว่าบัตรทองหลายเรื่อง ดังนั้นจึงควรโอนระบบการรักษาพยาบาลไปอยู่สปสช.ทั้งหมด เพราะประกันสังคมใช้เงินรักษาพยาบาลหัวละกว่า 2 พันบาทซึ่งแพงเกินไปและเงินได้เข้าไปสู่โรงพยาบาลแทน ทั้งนี้มีหลายสิ่งที่ผู้ประกันตนควรได้รับเพิ่มขึ้น อย่างกรณีการผ่าต้อกระจก หัวใจ เป็นต้น

นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กำลังดำเนินการเรื่องการรักษาพยาบาลข้ามโรงพยาบาล โดยกำลังคุยในรายละเอียด ซึ่งโรงพยาบาลประกันสังคมมี 90 แห่งซึ่งได้แนะนำให้จัดวงคุยกันเพื่อรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ และในเดือนเมษายน 2554 กำลังพิจารณาให้ข้ามวงจากเอกชนไปโรงพยาบาลรัฐได้ แต่กำลังคุยกันในเรื่องรายละเอียดค่าใช้จ่ายบางตัว เพราะอยากให้กระโดดข้ามวงมาได้ ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระนั้น ตอนนี้ประกันสังคมครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศแล้ว จึงควรเปลี่ยนจากระบบไตรภาคีเป็นพหุภาคี โดยการมีส่วนร่วม แทนที่การปฏิบัติจะถูกสั่งการจากใครก็ไม่รู้ มาเป็นผู้ประกันตนสั่งการและควบคุมดูแล คำถามคือการเข้ามาควบคุมแค่เฉพาะการเลือกตั้งหรือกรรมการแค่นั้นพอหรือไม่ ตนคิดว่าควรมีรูปแบบของสมัชชาเข้ามากำกับดูแลด้วย ซึ่งเชื่อว่านายกฯเองก็สนใจในแนวทางนี้อยู่

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทย 65 ล้านคน มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล คือ ผู้ประกันตน นอกจากนี้ รัฐบาลจ่ายให้หมด แม้ยังจ่ายให้ไม่เท่ากัน โดยจ่ายให้สส. 5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ผู้ประกันตนจ่ายเงินเองแล้วยังได้ของที่แย่กว่า ขณะที่ผู้ใช้แรงงานยังเชื่อว่าระบบประกันสังคมดีกว่า แต่ตนได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้ว พบว่ามีความต่างกันนับร้อยรายการ โดยขณะนี้ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกิน 2 ครั้งต่อปี และยังมีอีกว่า กว่า 10 กลุ่มรายการที่ประกันสังคมไม่มีให้ แต่บัตรทองกลับมี อยากเสนอทางออก คือ 1.ให้จัดชุดสิทธิประโยชน์เท่ากับบัตรทอง 2. อยากให้ระบบการจัดระบบสวัสดิการสุขภาพเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งทำให้มีความเป็นเอกภาพ

ส่วนในภาคบ่ายมีการสัมมนาวิชาการกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูปประกันสังคม และมาตรฐานบริการสุขภาพคนไทยในระบบหลักประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ เพื่อระดมสถานการณ์ปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดทำมติสมัชชาแรงงาน

ทั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาจึงมีมติในเรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส ดังต่อไปนี้

(1) ขอให้กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยการบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความ ถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส รวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของกลไกการบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบัน และขอให้ทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านระบบ ประกันสังคม

(2) ขอให้รัฐบาล สนับสนุนกระบวนการสมัชชาแรงงานแห่งชาติด้านประกันสังคม ให้เป็นกลไกนโยบายสาธารณะ และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลรวม 17 ข้อ ดังนี้ (1) ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ (2) เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม (3) กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง (4) สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี (5) การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมืออาชีพ (6) ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย (7) ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำ งาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน (8) ผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม (9) ผู้ประกันตน มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ (10) ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน และให้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเวลา 1 ปี (11) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า (12) ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (13) พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรง งานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน (14) การได้รับหลักประกันสังคม จะต้องไม่ตัดสิทธิของคนทำงานจากระบบสวัสดิการสังคมอื่นๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ (15) ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวะการจ้างงาน ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ (16) เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ (17) ให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานได้ยื่นมติดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันในระดับนโยบายต่อไป โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปิดพร้อมรับมติของสมัชชา โดยกล่าวว่า ระบบประกันสังคมถือเป็นความคุ้มครองและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนเพื่อ ให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นธรรม ซึ่งการประชุมสมัชชาแรงงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาและปรับปรุง ระบบประกันสังคมให้ทันสมัย เป็นสากล สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตนเองยืนยันไม่นิ่งเฉย พร้อมแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การแก้กฎระเบียบ หรือกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน และเร่งดำเนินการในสิ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวง ในแต่ละปีสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกติกา และระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงในสังคม