หากเรายังคงเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานพัฒนาสังคม ปลายทางที่อยากเห็นสังคมเป็นธรรมและเท่าเทียม คงไม่ไกลเกินเอื้อม…

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส. เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานสนับสนุนงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยจุดมุ่งหมายอยากร่วมสร้างสรรค์สังคมเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยมีความเชื่อว่าการพัฒนาสังคมนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน

30 ปี นับจากวันก่อตั้ง มีอาสาสมัครรุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน 33 รุ่นกว่า 700 คน ได้แทรกซึมกระจายตัวอยู่เกือบทั่วทุกวงการ บางส่วนยังทำงานพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง บางส่วนก็กลับไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย

พี่โชติ สมชาย อนุรัตน์ อาสาสมัคร รุ่น 23 จากอาสาสมัครสนามประจำโครงการป่าชุมชน จ.สุรินทร์ องค์กรต้นสังกัดตอนเป็นอาสาสมัคร กลายเป็นเจ้าหน้าที่สนามทำงานต่อเนื่องกับโครงการเดิมมากกว่า 10 ปี จนขณะนี้กลายเป็นหน่วยนำในองค์กร แต่เลือกย้ายลงไปฝังตัวอยู่ในชุมชนเป้าหมายที่เคยทำงาน กลายเป็นลูกเป็นหลาน เป็นหัวหน้าโชติ ซึ่งปักหลักเอาจริงเอาจังอยู่กับชุมชนถิ่นฐาน แม้ไม่ใช่บ้านเกิดของตน และนั่นอาจเป็นเช่นเดียวกับหรือแตกต่างจากวิถีทางของอดีตอาสาสมัครอีกหลายๆ คน

“หลังจากเรียนรู้ไประยะหนึ่งแล้ว ได้ค้นพบ ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเอ็นจีโอไปตลอด บางคนบอกว่าได้เรียนรู้จากบทบาทของอาสาสมัครแล้ว ก็ตัดสินใจไปทำอย่างอื่น ไปประกอบอาชีพส่วนตัว ไปทำธุรกิจ ไปเป็นพนักงานบริษัท เป็นข้าราชการ ซึ่งพอไปทำอยู่ในบทบาทอื่นแล้ว สิ่งที่ได้จากการเป็นอาสาสมัครก็จะยังอยู่ในตัวตนของคนทำงาน คนที่ไปเป็นนักธุรกิจหรือประกอบอาชีพต่างๆ ก็จะมีความเป็นจิตอาสา มีความอยากช่วยเหลือ เพราะการเป็นอาสาสมัครมันทำให้เราได้เรียนรู้ตรงนี้แหละ” อดีตอาสาสมัครกล่าว

งานอาสาสมัครของ มอส. คือการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานเต็มเวลา 1-2 ปี ไปทำงานหนุนช่วยโครงการพัฒนาสังคมขององค์กรพัฒนาเอกชนในหลากหลายประเด็น ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชาวบ้านแล้ว ยังหนุนเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และหล่อหลอมอุคมคติที่ดีงามเพื่อสังคม ท่ามกลางการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ โดย มอส.จะทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่อาสาสมัครเป็นช่วง ๆ ตลอดวาระของการทำงาน

“อยู่ที่ไหนก็เป็นอาสาสมัครได้ตลอดเวลา ในความเห็นผม หากมีใจอยากช่วยเหลือ มีใจอยากทำให้สังคมดีงามขึ้น ผมมีความสุขกับการอยู่ตรงนี้ รู้สึกว่ามันไม่ต้องขวนขวายไปทำอะไรอย่างอื่นแล้ว” เขากล่าวส่งท้ายด้วยแววตาเชื่อมั่น

ลุงเอียด ดีพูน หนึ่งในผู้มีส่วนก่อการปลุกปั้นงาน มอส. ในยุคบุกเบิก ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาอาวุโส เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่แค่นักพัฒนาอีสานเคารพนับถือ ยังเป็นนายกสมาคมป่าชุมชนอีสาน เป็นที่ปรึกษาซึ่งทำงานคลุกคลีกับโครงการป่าชุมชน จ.สุรินทร์มาโดยตลอด กล่าวว่า

“อาวุธทางสติปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่ติดอาวุธก็จะกลายเป็นปัญหาทางหลักคิด แนวคิด วิธีคิด ไม่ใช่สักแต่ว่ามาทำ หรือตกงานแล้วมาทำ ใจมันต้องไปด้วย ต้องเสียสละด้วย ใจต้องชอบด้วย ถ้าไม่ชอบมันก็ไม่มีความสุข ต้องหมั่นเพียรที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หมั่นเพียรที่จะตรวจสอบตัวเอง”

การสร้างสังคมยุติธรรมและสันติสุข อาจเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขาเหล่าอาสาสมัครหนุ่มสาว แต่ ณ วันนี้ ถ้าทุกคนมีความเชื่อร่วมกันว่า การพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นนั้น เป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน จุดหมายปลายทางที่อยากเห็นสังคมเท่าเทียมและ เป็นธรรม คงไม่ไกลเกินเอื้อม เช่นเดียวกับพี่โชติและอดีตอาสาสมัครหลาย ๆ คน ที่ยังคงเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานพัฒนาสังคม และเริ่มต้นสร้างสรรค์สังคมดีงาม จากบทบาทการเป็นอาสาสมัครของพวกเขา