ถ้าปลูกฝังให้เยาวชนมีการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง มองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก จะทำให้สังคมมีกำลังคอยดูแลมิให้มันแย่ลงไปมากกว่าที่เป็น อันนำไปสู่วิธีทางการสร้างสันติในสังคมระดับใหญ่ขึ้นไป”

เป็นครั้งแรกกับการได้ร่วมประชุมนานาชาติในต่างประเทศของผม และเป็นการเปิดมุมมองที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องที่ว่าน่าสนใจในการประชุมครั้งนี้คือ การสร้างความปรองดองในหมู่เยาวชนผู้ซึ่งเป็นกำลังหลักของชาติ จากบรรดากลุ่มประเทศผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเยาวชนเอง ที่น่าเรียนรู้มากคือ ประสบการณ์จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวจากหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งมาถ่ายทอดบทเรียนให้เหล่าเยาวชนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพผู้จัดงานครั้งนี้

แต่ไม่ใช่ครั้งแรกของผม กับการร่วมงานกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ผมในนามตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาและเยาวชนเพื่อสันติภาพ ได้ร่วมกับพี่ที่เป็นอาสาสมัครของมอส. และพี่ที่ทำงานกับพี่น้องในพื้นที่ความขัดแย้ง ได้นำเสนอสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศไทยด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ให้เยาวชนที่ร่วมการประชุมเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศ ของตน เพื่อเสาะหาแนวทางในการลดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม คาดหวังว่าจะเกิดเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนาสังคมขึ้นมา เป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หลังการประชุมเสร็จสิ้น ผมนึกถึงสถานการณ์เยาวชนของไทย ซึ่งน่าวิตกมาก เพราะสังคมยังให้ความสำคัญกับเยาวชนน้อยไป และสังคมไทยควรลบคำว่า  “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”  ออกไปได้แล้ว ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมัวแต่คิดว่าเด็กก็คือเด็ก เป็นการปิดกั้นความคิดของเด็ก เพราะเด็กคือเยาวชน เยาวชนคือกำลังของสังคม ถ้าปลูกฝังให้เยาวชนมีการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง มองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก จะทำให้สังคมมีกำลังคอยดูแลมิให้มันแย่ลงไปมากกว่าที่เป็น อันนำไปสู่วิธีทางการสร้างสันติในสังคมระดับใหญ่ขึ้นไป อย่างที่นานาประเทศทั่วโลกต้องการ

“สันติภาพ” เป็นคำที่ถูกใช้อย่างมากในสังคม เพื่อการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลก แต่จะมีใครสักกี่คนที่ให้ความหมายของคำว่า “สันติภาพ” ได้เหมือนกันหรือตรงกันอย่างเหมาะเจาะ ไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างชัดแจ้งว่า “สันติภาพ” คืออะไรหรือมีอยู่จริงหรือไม่

อันที่จริงสันติภาพเป็นสิ่งที่มนุษยชาติไขว่คว้าหาจริงหรือไม่ มันอาจเป็นแค่จินตภาพของมนุษย์ผู้ช่างเพ้อฝันก็เป็นไปได้

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ได้ร่วมวงสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับผองเพื่อน ทั้งที่ไม่เคยรู้จักและรู้จักกันดี หลายกลุ่มคน หลายชาติพันธุ์ หลากภาษา มากวัฒนธรรม ได้ถามถึงความเป็นอยู่ในบ้านของเพื่อนๆ ได้รับคำบอกเล่าต่างเรื่องราว หลากหลายความรู้สึก ทุกข์ สุข เศร้า เจ็บปวด ถ่ายทอดออกมาทางแววตา น้ำเสียง ท่าทาง และคำพูดในวงสนทนา ซึ่งผู้ร่วมวงเสมือนเป็นหน้าต่างของบ้านแต่ละบ้าน ประเทศแต่ละประเทศ หน้าต่างหลายๆ บาน ดูแล้วสะเทือนอารมณ์ ดูแล้วโศก แต่หน้าต่างบางบานดูสดใส คละเคล้ากันไป แต่สิ่งที่ทำให้หน้าต่างหลายๆ บานมารวมกันได้ ก็ยังไม่มีใครพูดถึง สิ่งใดกันเล่าที่ทำให้เรามาเจอกัน

การก่อกำเนิดสังคม ก่อกำเนิดรัฐ ทำให้มีการแย่งอาณาบริเวณ มีการแย่งทรัพยากร มีการแย่งอำนาจ มีการเข่นฆ่ากัน เบียดเบียนกันอย่างไร้ซึ่งความละอาย ในบทบาทของเพื่อนมนุษย์ สมควรแก่การสร้างความเข้าใจ ให้เพื่อนมนุษย์ยุติการใช้ความรุนแรง ยุติสงคราม ความโหดร้าย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เพื่อนๆ ในวงเสวนาไม่ปรารถนาให้เกิดแก่บ้านตนเอง ความปรารถนานี้เอง ทำให้เรามาพบกันอย่างไม่บังเอิญ

โลกใบเดียวของเรา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ได้บันทึกมา ได้เห็นถึงความขัดแย้ง ความสงบ ตั้งแต่เริ่มกำเนิดสังคม มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นไปตามวิถีวงจรความจริง มีผู้สร้างย่อมมีผู้ทำลาย ไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้แต่พื้นผิวโลกเองยังได้รับความบอบช้ำ วงจรของโลกยังแปรปรวน แต่ยังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือหลายสิ่งที่ถ่วงดุลกันไว้ ก่อให้เกิดสภาวะที่สอดคล้องเท่าเทียม และมีความสมดุลต่อกันและกัน

เพื่อนผองที่ได้ร่วมสร้างงานเพื่อหาหนทางสู่สันติภาพบนโลกนี้ คงอยากเห็นภาพแห่งสันติ อยากเห็นธรรมชาติสมดุล อยากเห็นมนุษย์หยุดฆ่ากัน หยุดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่มีสงครามอีกต่อไป นั้นคือสันติภาพที่ทุกคนอยากสัมผัส

วาระแห่งการแลกเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง “สันติภาพ” ของเยาวชนจากหลายประเทศครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนเส้นทางอีกสายหนึ่งที่เหล่าคนเล็กคนน้อย จะได้ช่วยสร้างสรรค์ค้ำจุนให้โลกใบนี้มีดุลยภาพ และอบอุ่นปลอดภัยสำหรับมวลมนุษย์อย่างแท้จริง

Credit : http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…