คิดข้ามฟาก : ประภาส ทองสุข กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

หากเปิดใจรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์คำติเตียน อย่างน้อยเราจะแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาบางเรื่องได้ ซึ่งดีกว่าการที่เราไม่เคยรู้

เนื่องจากผมไม่ได้เป็นนักเขียนอาชีพ ดังนั้นปัญหาในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ในแต่ละสัปดาห์จึงเกิดขึ้นเสมอๆ

ผมชอบใช้วิธีของ Dr. Edward De Bono ปรมาจารย์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้ในการสร้างวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหา ด้วยวิธีที่เรียกว่า Random Stimulation แปลแบบตรงไป ตรงมา คือการสุ่มหยิบหรือเลือกเอาอะไรสักอย่างแบบไม่เฉพาะเจาะจง มาเป็นแนวคิดของการแก้ปัญหา

ซึ่งวิธีนี้ Edward De Bono เชื่อว่า เป็นการพาความคิดหลุดออกไปจากวังวนที่เราติดกับอยู่ (คือการคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี)

เวลาคิดอะไรไม่ออก ลองใช้วิธีนี้ดู สนุกและท้าทายความคิดของเราดีครับ

วันนี้ผมหยิบหนังสือของ Paul Arden อดีตนักโฆษณาที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของ Saatchi and Saatchi บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของโลก ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายนปีที่ผ่านมา

ผมสัญญากับตัวเองว่าบทความวันนี้ ต้องมาจากหนังสือเล่มนี้

หนังสือของเขา ผมมีอยู่หลายเล่ม แต่เล่มที่ช่วยผมไว้ในครั้งนี้ชื่อว่า It’s not how good you are, it is how good you want to be. เป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดีมากเล่มหนึ่ง

พลิกไปเจอบทหนึ่งถูกใจมาก เขาแนะนำวิธีพัฒนาความคิดและวิธีการทำงาน โดยบอกว่า Do not seek praise. Seek criticism. อย่าต้องการหรือค้นหาเฉพาะแต่คำสรรเสริญ ชื่นชม แต่ขอให้ค้นหาคำติเตียน วิพากษ์วิจารณ์

ไม่ว่าเป็นใคร แม้แต่ตัวผมเองล้วนพอใจ และอยากได้รับคำชมเชยในการทำงานมากกว่าคำตำหนิติเตียน ที่มักจะทำให้เราผิดหวัง ท้อถอย เบื่อหน่าย ฯลฯ โดยเฉพาะยิ่งถ้ามาจากเจ้านาย และบางครั้งหากเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมงานจากต่างฝ่ายต่างแผนก อาจเลยเถิดถึงขั้นไม่พอใจกัน

ในชีวิตจริงของการทำงาน เราคงเคยได้เจอมาทั้งสองแบบ

ที่ผมรับฟังข้อคิดของ Paul Arden ก็เพราะเขาเตือนสติไม่ให้เราลุ่มหลง พอใจเฉพาะกับคำชื่นชม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเรา

Paul Arden เชื่อว่า หากไม่มีการติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ เราจะไม่พยายามที่จะพัฒนา หรือปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นไปอีก เพราะคิดว่าคำชมคือการบอกว่าทุกอย่างดีแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงมันอาจจะยัง “ดีกว่า” นั้นได้อีก

วันนี้ผมเลยขอเอาแนวคิดของ Paul Arden เรื่องการรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นประเด็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดีกว่า

เรื่องแบบนี้ ผมเชื่อว่าก่อนอื่นต้องเริ่มต้นจากตัวเราครับ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เราจะไปเรียกร้องให้คนอื่นรับฟัง แต่หากเราเองยังหงุดหงิดและไม่พอใจ เมื่อมีใครมาวิพากษ์วิจารณ์งานที่เราทำอยู่ ดูเหมือนเริ่มต้นก็หาทางไปต่อไม่ได้แล้วครับ

มีศัพท์คำหนึ่ง คือคำว่า Snow Ball Effect ซึ่งใช้เรียกปรากฏการณ์ของการแพร่กระจายข่าวสารจากจุดเล็กๆ แล้วก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

ซึ่งเขาเปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของลูกบอลหิมะลูกเล็กๆ ที่กลิ้งลงมาจากภูเขา การหมุนตัวลงมาทำให้หิมะเกาะตัวหนาขึ้นกลายเป็นลูกบอลขนาดใหญ่ขึ้น และหมุนลงมาเร็วขึ้น

ผมเชื่อว่าต้องใช้วิธีการผสมผสานระหว่างแนวคิดขององค์กร กับความร่วมมือของพนักงาน ช่วยกันผลักดันให้ขบวนการเปิดใจรับฟังเกิดขึ้นทั้งองค์กร เมื่อช่วยกันผลักดันก็เปรียบ เสมือนทั้งองค์กรได้สร้างแรงเหวี่ยงของ Snow Ball

ในระดับองค์กร หากเราเปิดโอกาสและสร้างช่องทางให้พนักงานสามารถสื่อสารกับองค์กร เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมหรือเรื่องราวต่างๆ เท่ากับองค์กรนั้น เปิดใจที่จะรับฟังปัญหาบางอย่างที่อาจถูกมองข้ามไป

และที่สำคัญกว่านั้น องค์กรก็สามารถปลูกฝังและสร้างทัศนคติของการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้อื่นให้กับพนักงาน

ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องแก้ไขและปรับปรุงมันทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องผู้วิพากษ์วิจารณ์ อาจได้รับทราบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ข้อดีคือเราได้เรียนรู้ว่าการให้ข้อมูลยังมีจุดบกพร่อง เรื่องบางเรื่องหากคนในองค์กรเองยังไม่เข้าใจ จะให้คนภายนอกที่เป็นลูกค้าหรือผู้ให้บริการเข้าใจได้อย่างไร

ขณะเดียวกันในรูปแบบของการทำงาน หากเราและเพื่อนร่วมงานทุกคน ปรับวิธีคิดและเปิดใจรับฟังเท่ากับเรากำลังพัฒนาการทำงาน ความคิด ที่เรียนรู้จากคำติติง วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน จากหัวหน้า หรือจากเจ้านาย

ผมเชื่อว่าทุกองค์กรในโลกนี้ ไม่มีองค์กรไหนที่ดีและสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ละที่แต่ละแห่ง ต่างมีจุดด้อยหรือข้อบกพร่องแตกต่างกันออกไป ตามสภาพและเงื่อนไขที่ต่างกันของแต่ละองค์กร

แม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาจุดด้อยหรือข้อบกพร่องได้หมดทุกเรื่อง แต่หากเรามีขบวนการเปิดใจรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์คำติเตียน อย่างน้อยเราจะแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาบางเรื่องได้ ซึ่งดีกว่าการที่เราไม่เคยรู้ ไม่ได้แก้ไขหรือพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาอะไรเลย

และเช่นเดียวกับข้อเขียนของผมทุกชิ้นตรงนี้ ผมพร้อมรับฟังคำติติง วิพากษ์วิจารณ์จากผู้อ่านทุกท่าน ตั้งแต่เริ่มพิมพ์อักษรตัวแรกแล้วครับ

ที่มา http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q2/2009april10p3.htm